วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นักโทษคดีธรรม

นักโทษคดีธรรม
                การจัดแบ่งประเภทโทษทัณฑ์คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ ในทางพุทธศาสนา ได้จัดแบ่งไว้เป็นสองทางได้แก่ คดีโลก และคดีธรรม ในทางคดีโลกนั้นยึดกฎหมายหรือระเบียบของสังคมเป็นเครื่องตัดสิน ส่วนคดีธรรมมีผลกรรมเป็นเครื่องตัดสิน ในโทษทัณฑ์ทั้งสองอย่างนี้มีความกว้างแคบต่างกันคือ ถ้าทำผิดคดีโลก ก็จะต้องผิดคดีธรรมด้วย ในขณะที่ผิดคดีธรรมอาจไม่ผิดคดีโลกก็ได้ ในทางกลับกัน ทำถูกในทางคดีโลกอาจยังผิดคดีธรรมได้ แต่ถ้าทำถูกคดีธรรมแล้ว จะไม่ผิดคดีโลกเลย จึงมีคำพูดที่ว่า “ถ้ามนุษย์ทุกคนมีศีลห้าบริบูรณ์ โรงพัก ศาลสถิตยุติธรรม และเรือนจำ ก็ไม่จำเป็น”
                ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ กฎทางคดีโลกที่วางไว้อาจไม่เสมอภาคกันได้ เพราะผู้ทำผิดอาจหลบหนีหรือมีวิธีต่อสู้จนพ้นผิด หรือผู้บังคับใช้อาจย่อหย่อนเอนเอียง แต่กฎในคดีธรรมมีความเที่ยงตรงแน่นอน เพราะเป็นกฎแห่งกรรม ไม่มีการอภัยโทษ ไม่มีอายุความ และไม่มีที่ให้หลบซ่อน เรียกว่าหมดโอกาสลอยนวลจริงๆ
                ดังนั้น ผู้หวังความมั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง ควรระมัดระวังความผิดในคดีธรรมให้มากด้วยอย่างน้อยก็ควรมีศีลห้าเป็นเครื่องคุ้มครองตัวเอง เพราะเมื่อไม่ต้องโทษในคดีธรรมเสียแล้ว ก็จะไม่ต้องถูกพิพากษาให้เป็นผู้รับผิดในทุกคดีความ

............................................

คุณสมบัติของคนดี

คุณสมบัติของคนดี
                ถ้าถามว่า “ผู้ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร” คำตอบจะมีหลากหลายไม่ตรงกัน บางคนอาจเล็งไปถึงชาติตระกูล บางคนอาจเห็นว่าต้องมีความรู้ดี มีมรรยาทดี แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงคุณสมบัติของคนดีที่ครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ไว้มีชื่อเรียกว่า “สัปปุริสธรรม” ๗ ประการ ได้แก่
      ๑.รู้จักเหตุ คือรู้ว่าเมื่อทำเหตุเช่นนี้ย่อมได้รับผลอย่างนี้ เมื่อเห็นชัดอย่างนั้นแล้ว ก็เว้นเหตุชั่ว ประกอบแต่เหตุที่ส่งผลดีเท่านั้น
      ๒.รู้จักผล คือรู้ว่าผลที่ได้รับอย่างนี้มาจากสาเหตุนี้ แล้วยินดีรับผลเท่าที่ประกอบเหตุไว้ หรือเมื่อได้รับผลชั่วก็ไม่โวยวาย เข้าใจในสิ่งที่ผิดพลาดและยินดีที่จะแก้ไข
      ๓.รู้จักตน คือรู้ว่าตนเองเป็นเช่นไร ในด้านฐานะ ความรู้ ความสามารถ หน้าที่การงาน และคุณธรรม แล้วประพฤติให้เหมาะสมกับภาวะที่เป็นอยู่
      ๔.รู้จักประมาณ คือรู้จักความพอดี ทั้งความพอดีในการแสงหา การบริโภคใช้สอย และการดำรงชีวิต ในทุกๆ ด้าน
       ๕.รู้จักกาล คือรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไร แล้วทำให้ถูกเวลา ทำให้ทันเวลา ทำให้คุ้มกับเวลา
       ๖.รู้จักชุมชน คือเข้าใจชุมชนหรือสังคม รวมทั้งมารยาท วัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนนั้นๆ แล้วปฏิบัติหรือปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งที่ดีงามในสังคมนั้น
        ๗.รู้จักบุคคล คือเข้าใจถึงอัธยาศัยของแต่ละบุคคลว่าผิดถูก ดีเลว หยาบหรือประณีตอย่างไร แล้วเข้าไปสัมพันธ์กับผู้นั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
                ผู้ใดมีคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนั้น จัดว่าเป็นผู้ดีสมบูรณ์ ไม่ว่าชาติตระกูลจะเป็นอย่างไร ยากจนแค่ไหน หรือหน้าตาอัปลักษณ์เพียงใด แต่จะเป็นที่ต้องการของคนทั้งหลาย เพราะมีสมบัติของคนดีอยู่กับตัว
............................................

โจรทิม

โจรทิม
                ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับฎีกาจากโจรทิมซึ่งติดคุกด้วยข้อหาปล้นทรัพย์ในฎีการะบุว่า ตั้งแต่ต้องโทษก็ตั้งใจฝึกฝนวิชาจักสานมาโดยลำดับ บัดนี้ล่วงเลยมาถึงสิบปี มั่นใจฝีมือเป็นเลิศไม่มีใครสู้ได้ จึงผลิตงานฝีมือถวาย หากทรงโปรด ก็จะขอพระราชทานอภัยโทษสักครั้งเพื่อออกบวชเลิกประพฤติชั่วไปตลอดชีวิต และเมื่อได้ทอดพระเนตรกาถังน้ำร้อนฝีมือจักสานของโจรทิมที่เจ้าพักงานนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงพอพระทัยในฝีมืออันประณีตงดงามไม่มีใครเทียบ จึงพระราชทานอภัยโทษ และโปรดให้จัดบวชเป็นนาคหลวง
                ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พระทิมได้มาแจ้งต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ตนเองได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับการต่อสู้มาบ้าง บัดนี้ บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม จะมาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขาออกไปช่วยรบกับข้าศึก เพื่อทดแทนพระมหากรุณาธิคุณ ต่อเมื่อสิ้นการศึกหากรอดชีวิตจะขอกลับมาบวชอีกครั้งหนึ่ง
                สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อทรงทราบ ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า “มนุษย์เรานี้ ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” และโปรดให้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งไปถึงพระทิมว่าทรงขอบใจ แต่พระทิมอายุมากแล้ว ขออาราธนาให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด จนภายหลังเมื่อพระทิมมรณภาพ ยังได้พระราชทานจัดการศพอย่างมีเกียรติยศยิ่ง
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดสำคัญ ๒ ประการ
                ๑.ความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนจนรู้จริง ดีจริง ย่อมอำนวยประโยชน์ให้ชีวิตได้จริงเมื่อโอกาสมาถึง จึงไม่ควรดูหมิ่นวิชาความรู้แม้ในเรื่องเล็กน้อยว่าไม่สำคัญ
                ๒.มนุษย์ปุถุชนไม่มีใครถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด แต่ถ้าผิด ต้องพร้อมที่จะกลับตัวหรือแก้ไข
                วิชาความรู้และการแก้ไขปรับปรุงตนเอง เป็นตัวกำหนดชีวิตของคนให้ดีหรือเลว สูงหรือต่ำได้อย่างจริงแท้แน่นอนเพียงใด โปรดดูโจรทิมเป็นตัวอย่าง

............................................

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เปิดใจ

เปิดใจ
                ชีวิตของทุกคนเปรียบเหมือนขุมทรัพย์อันมหาศาล เพราะแม้จะเกิดมาตัวเปล่า แต่ถ้าใช้ศักยภาพได้ถูกต้องเต็มที่ก็จะประสบความสำเร็จสูงสุดได้อย่างน่าพิศวง จะเห็นว่าผู้ที่สร้างตัวจนเป็นมหาเศรษฐีก็ดี ผู้นำที่เพียบพร้อมด้วยอำนาจยศศักดิ์ก็ดี ศิลปินผู้มีชื่อเสียงก้องโลกก็ดี ตลอดจนผู้ประสบความสำเร็จด้านอื่นๆ ล้วนใช้ศักยภาพที่ขุดค้นเอามาจากชีวิตที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อ ลมหายใจ และหนึ่งสมองสองมือนี้เองเป็นเครื่องมือ ชีวิตของแต่ละคนจึงเป็นแหล่งมหาสมบัติอย่างแท้จริง
                แต่ขุมทรัพย์นี้ มักมีมารคอยปิดกั้นซ่อนเร้นไว้ไม่ให้เจ้าของใช้ประโยชน์ได้ พูดให้ง่ายเข้าก็คือความบกพร่องด้านต่างๆ เช่น ความเกียจคร้าน ความเห็นแก่ตัว ความประพฤติชั่วอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตตกต่ำ ข้อบกพร่องเหล่านี้บางครั้งมองเห็น บางครั้งมองไม่เห็น ถ้ามองเห็นก็มีโอกาสกำจัดออกไปได้ แต่ถ้ามองไม่เห็นจะทำอย่างไร
                ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงบัญญัติการทำปวารณาสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ สาระสำคัญคือเมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ภิกษุสงฆ์ต้องประชุมกันแล้วกล่าวคำปวารณาต่อกันมีใจความว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ หากสงฆ์ได้เห็น ได้ฟัง หรือแม้แต่เพียงเกิดความระแวงสงสัย ว่าข้าพเจ้าประพฤติบกพร่องอย่างไร ขอจงว่ากล่าวตักเตือน เพื่อข้าพเจ้าจะได้แก้ไขต่อไป” การปวารณาจึงเป็นการเปิดใจอย่างแท้จริง ทั้งเปิดให้ผู้อื่นทราบความประสงค์และเปิดเพื่อยอมรับและแก้ไข ซึ่งเป็นวิธีสำคัญที่จะขจัดข้อบกพร่องที่มองไม่เห็นออกไป
                สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปีเป็นวันมหาปวารณา นอกจากมีการประกอบบุญกุศลตามประเพณีแล้ว สมควรอธิษฐานจิตเปิดใจตัวเองให้กว้าง ยินดีและน้อมรับคำตักเตือนชี้แนะจากผู้อื่นด้วย เพราะหากเปิดใจตัวเองไม่ได้ ก็ยากที่จะเปิดขุมทรัพย์ใดๆ ได้

............................................

มหาศาลา


                มีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง มีประตูเข้าออกได้เพียง ๒ ประตู คือ ชาติทวารและมรณทวาร บนเพดานของศาลาประดับด้วยโคมไฟใหญ่ ๒ ดวง ชื่อ ตาวัน ดวงหนึ่ง และ ตาคืน อีกดวงหนึ่ง นอกจากนี้ ก็มีโคมเล็กประดับที่เพดานอีกนับไม่ถ้วน ศาลาหลังนี้เป็นศาลาที่ใหญ่ที่สุด ภายในมีสิ่งของสารพัด ใครอยากได้อะไรก็สามารถไขว่คว้าหาเอาได้ แต่ผู้ที่จะเข้าไปภายในศาลาต้องเข้าทางประตูชาติทวาร และเวลาจะออกก็ต้องออกทางประตูที่ชื่อมรณทวารเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในศาลาหลังนี้มีกฎเหล็กอยู่ข้อหนึ่งใครก็ตามจะละเมิดมิได้ นั่นก็คือ เมื่อได้เข้าพักในศาลานี้จะกอบโกยเอาข้าวของสมบัติพัสถานไว้เท่าไรก็ได้ แต่เวลาจะออกจากศาลาหลังนี้ไป จะนำสิ่งของอะไรติดตัวไปแม้แต่นิดเดียวไม่ได้เด็ดขาด ต้องไปแต่ตัวเท่านั้น
                ศาลาหลังนี้ ก็คือโลกมนุษย์นี้เอง โลกมนุษย์ที่เราทุกคนต้องเข้ามาทางประตู คือการเกิด และออกไปทางประตู คือความตาย มีแสงสว่างจากกลางวันและกลางคืน เป็นที่ประชุมทรัพย์สินเงินทองและผลประโยชน์ที่แล้วแต่ใครจะสามารถไขว่คว้าไว้ได้ แต่เมื่อตายไม่สามารถนำติดตัวไปได้สักอย่าง
                การคิดว่าโลกนี้เป็นเพียงที่พักชั่วคราว เป็นทั้งที่พบและที่จาก เป็นทั้งที่ได้และที่เสีย จะช่วยฝึกใจให้มองเห็น ความจริง รู้จักโลกและชีวิตดีขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมใน ๓ ด้าน คือ
                ๑.ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นสาระแก่นสารได้จริง นอกจากความดี
                ๒.ปฏิบัติต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น เพราะมองไม่เห็นว่าจะเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบไปเพื่ออะไร สู้อยู่กันด้วยไมตรีเห็นอกเห็นใจกันจะเป็นสุขกว่า
                ๓.ปฏิบัติต่อจิตใจได้ถูกต้องขึ้น เพราะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นลงได้ ไม่ว่าได้มาหรือเสียไป ก็จะไม่เป็นทุกข์เกินเหตุ เพราะรู้เท่าทันความจริงของชีวิต
                หากทบทวนด้วยปัญญาถึงการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติต่อผู้อื่น และการปฏิบัติต่อจิตใจของตนเสียแต่บัดนี้ก็จะได้ประโยชน์ อย่างน้อยชีวิตก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ ตราบเท่าที่ยังนั่งอยู่ในมหาศาลาแห่งนี้

............................................

อย่าเติมฟืนให้ไฟ


                พระเถระรูปหนึ่ง รับนิมนต์ไปแสดงธรรมต่างจังหวัด พอลงจากรถไฟ พบแม่ค้าสองคนกำลังโต้เถียงด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคายชนิดไม่มีใครยอมใคร หลังจากยืนฟังได้พักหนึ่งจึงเดินเข้าไปหา แม้ค้าทั้งสองหันมามองด้วยความไม่พอใจและพูดเป็นทำนองว่า ไม่ใช่เรื่องของพระ วันนี้ไม่อยากได้บุญ จะขอด่ากันให้หายแค้น ไม่ต้องมาอบรมสั่งสอนใดๆ ทั้งสิ้น
                พระเถระจึงเอ่ยขึ้นว่า “อาตมาไม่ได้มาสั่งสอน แต่จะมาช่วยแนะให้ด่ากันได้อย่างที่ต้องการต่างหาก” แล้วอธิบายว่า การด่าแบบเอ็ดตะโร ไม่มีใครยอมฟังใครอย่างนี้มันเปล่าประโยชน์ เพราะแทบจะฟังไม่รู้ว่าใครด่าใครว่าอย่างไร จึงขอให้ด่าอย่างเป็นระเบียบ คือ จับเวลาให้คนละ ๕ นาที ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเริ่มด่า อีกฝ่ายต้องฟังอย่างเดียวรอจนครบ ๕ นาที จึงจะเริ่มด่าตอบได้และฝ่ายตรงข้ามจะต้องหยุดพัก ผลัดกันไปอย่างนี้ จึงจะด่ากันได้เต็มที่ชัดเจน และสำเร็จตามที่ต้องการ พร้อมกันนั้น ท่านก็ล้วงนาฬิกาออกมาจากย่ามจับเวลา
                แม่ค้าทั้งสองเริ่มลังเลในท่าทีของพระ แต่ก็เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น จึงเริ่มด่ากันใหม่ ปรากฏว่าคนแรกกว่าจะด่าได้ครบ ๕ นาที ก็ทำเอาเหงื่อแทบตก คนที่สองยิ่งกว่านั้น เพราะด่าไปได้แค่ ๓ นาทีก็เริ่มอึกๆ อักๆ หาคำด่าไม่ได้ ที่นึกได้ก็มีแต่คำซ้ำๆ ที่ใช้ด่าไปแล้ว จะหยุดก็ไม่ได้ จะด่าต่อไปก็นึกไม่ออก รู้สึกอึดอัดกระดากใจ ทั้งสองฝ่าย ที่สุดก็เลยต้องเลิกรากันไปเอง
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า ถ้าจุดไฟขึ้นมากองหนึ่ง อย่างไรเสียมันก็ต้องดับ แต่ถ้าเอาฟืนเติมเข้าไปอีก ไฟก็ไม่ดับ ความโกรธก็เป็นดังนี้ คือถ้าปล่อยให้โกรธ ปล่อยให้ด่าไปเสีย ไม่นานก็จบ ถ้าโกรธตอบ ด่าตอบ ก็คือช่วยกันโหมไฟเป็นสองแรง โอกาสที่จะไหม้จนพินาศก็มีสูง ปัญหาอยู่ที่ว่า มนุษย์เราจะอดทนให้คนอื่นโกรธหรือด่าทอได้เพียงนั้นเชียวหรือ คำตอบก็คืออยู่ที่การฝึก โดยเฉพาะฝึกคิด ถ้าคิดว่าเราต้องเป็นฝ่ายทน บางทีก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องหนักและเสียศักดิ์ศรี แต่ถ้าคิดว่า เมื่อเราดับไฟไม่ได้ ธุระอะไรจะต้องเอาฟืนไปเติมอีก คิดให้ได้ดังนี้ ก็จะช่วยให้สบายใจได้มากขึ้น ปัญหาหรือเรื่องราวอื่นๆ ก็จะไม่ตามมา

............................................

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วันคืนล่วงไป

วันคืนล่วงไป
                เวลามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่ง เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เวลามีความสำคัญที่พอจะกล่าวได้โดยสรุป คือ
                ๑.เวลามีค่า เพราะเป็นต้นทุนของทุกอย่าง จะทำมาหากิน จะเล่าเรียนศึกษา หรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ จำเป็นต้องมีเวลาเสียก่อน จึงจะทำได้ ถ้าเวลาหมดไปแล้วโอกาสก็สิ้นไปด้วย
                ๒.เวลายุติธรรม หนึ่งนาทีของเศรษฐีร้อยล้าน ก็เท่ากันกับหนึ่งนาทีของคนถีบสามล้อ ไม่มีใครร้องขอหรือใช้อำนาจบังคับให้เวลาเปลี่ยนไปจากที่มันเป็นได้
                ๓.เวลาศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนคนจนให้เป็นคนรวย เปลี่ยนคนรวยให้เป็นคนจน และเปลี่ยนชีวิตของคนให้เป็นไปต่างๆ อีกมาก ชนิดที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของใครก็ตาม ถ้ามีอยู่ ก็ไม่สามารถจะแสดงปาฏิหาริย์ได้ขนาดนั้น
                พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ลำดับแห่งวัยย่อมล่วงเลยไป ผู้เล็งเห็นภัยในมรณะ พึงทำบุญอันสุขมาให้ และยังได้สอนย้ำไว้อีกว่า อย่าหวนละห้อยถึงอดีตและอย่าพะวงถึงอนาคตจนเกินควร เพราะอดีตได้ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง อะไรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่หวั่นไหว ไม่วุ่นวาย สิ่งที่จะต้องทำก็ให้ทำในวันนี้แหละ เพราะไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้เราจะมีชีวิตอยู่หรือไม่
                ขณะนี้ชีวิตของทุกคนยังมีเวลาอยู่ นั่นก็เท่ากับว่าเรามีสิ่งที่มีค่า มีสิ่งที่ยุติธรรมและมีสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่กับตัว จึงควรใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยเร็วที่สุด เพราะถ้าผ่านเลยไปแล้ว แม้เป็นเศรษฐีร้อยล้านก็ไม่สามารถเอาเงินร้อยล้านนั้นไปซื้อเมื่อวานนี้ให้กลับมาเป็นสมบัติของตัวเองได้อีก จึงควรพิจารณาเนืองๆ ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
............................................

อย่าดูแค่ความสำเร็จ

อย่าดูแค่ความสำเร็จ
                การแข่งขันกีฬาระดับโลกในแต่ละครั้งที่ผ่าน นักกีฬาในแต่ละประเภทกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ในระดับต่างๆ เป็นที่น่าพอใจ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ เป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบุคคลอื่น แต่ความสำเร็จนั้น มิใช่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความสามารถของนักกีฬา เทคนิคของครูผู้ฝึกสอน กำลังใจจากผู้สนับสนุนฝ่ายต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญที่สุด นักกีฬาเองจะต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มที่และยาวนาน
                ในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปก็เช่นกัน การลงมือทำอย่างจริงจังเด็ดเดียว นับเป็นการก้าวเดินที่สำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาชีวิตให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการ และเมื่อเริ่มก้าวเดิน ต้องมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่และต่อเนื่อง แม้จะเหนื่อยยากและมีปัญหาอุปสรรคเพียงใดก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเสียกลางคัน โดยยึดคำสอนที่ว่า “วา ยะ เม เถ วะ ปุริโส  เกิดเป็นคนควรพยายามเรื่อยไป” ดุจพระมหาชนกที่พยายามว่ายน้ำแม้จะไม่เห็นฝั่ง เพราะคิดว่าจะประพฤติธรรมคือความเพียร แม้ไม่สำเร็จ บัณฑิตก็ติเตียนไม่ได้
                ถ้าจะเอาผู้อื่นเป็นตัวอย่าง การสนใจต่อความสำเร็จของเขาเป็นความสนใจแค่ปลายเหตุ แต่การสอนใจเบื้องหลังความสำเร็จของเขาเป็นความสนใจที่เข้าถึงเนื้อแท้ เพราะจะเห็นความสำคัญของการลงมือทำ การฝึกฝน เหนื่อยยากและอดทนอย่างยาวนานว่าเป็นหนทางเดียวที่ผู้ประสบความสำเร็จคนแล้วคนเล่าใช้เดินซ้ำๆ กันอยู่ และหนทางนี้ไม่เคยมีลิขสิทธิ์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของผูกขาด
                และแน่นอนว่า ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถเดินบนหนทางนั้นและไปสู่เส้นชัยได้

............................................

ความเห็นไม่ตรงกัน

ความเห็นไม่ตรงกัน
                ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน ย่อมมีการถกเถียงโต้แย้งกันเป็นธรรมดา ประโยชน์ของการถกเถียงโต้แย้งก็คือ ทำให้มีโอกาสฉุกคิดและทบทวนให้รอบคอบยิ่งขึ้น ที่สำคัญไม่กระทำเพื่อเอาชนะคะคานกัน เพราะจะทำให้เสียเวลาและเสียมิตรภาพไปเปล่าๆ ดังนั้น เมื่อมีการโต้แย้งกันครั้งใด จึงควรยึดหลักสำคัญสามประการ คือ
                ๑.เป็นผู้พูดที่ดี คือแสดงความเห็นด้วยถ้อยคำสุภาพ ตรงประเด็น ถูกเรื่องถูกราว ให้ผู้ฟังกำหนดสาระและความมุ่งหมายของเรื่องที่พูดได้โดยง่าย
                ๒.เป็นผู้ฟังที่ดี คือเปิดใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นที่แม้จะขัดแย้งกับความคิดของตนและอดทนต่อการล่วงเกินด้วยคำพูดของผู้อื่น
                ๓.เป็นนักศึกษาที่ดี คือการโต้แย้งนั้น ทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะต้องมุ่งเน้นค้นหาความจริง อยากได้ความจริงของปัญหานั้นๆ ความอยากชนิดนี้มีมากเท่าใด ก็จะตัดความอยากเด่นอยากดัง อยากเอาชนะคะคานหรือความอยากชนิดอื่นๆ ที่จะมีปิดบังการแสวงหาความจริงออกไป
                เมื่อมีการโต้แย้งหรือความเห็นไม่ตรงกัน มองผิวเผินเหมือนเป็นความแตกแยก แต่มองในแง่ดีกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นเอกภาพ เพราะเป็นเหตุให้แสวงหาความจริง และความจริงนั้นจะทำให้คนรวมเป็นหนึ่งได้ เหมือนคนร้อยคนไม่เคยรู้จักว่ารสเค็มเป็นอย่างไรมาก่อน ถ้าถามถึงรสเค็ม ก็คงจะได้คำตอนที่แตกต่างและสันสนอย่างยิ่ง แต่เมื่อใดให้อมเกลือคนละเม็ดแล้วบอกว่านี่คือรสเค็ม เขาจะรู้จักได้ทันที ภายหลังเมื่อได้ฟังเพียงคิดถึงรสเค็ม ความคิดของคนร้อยคนจะมุ่งไปสู่จุดเดียวกัน เข้าใจตรงกันหมดว่ารสเค็มเป็นอย่างไร ไม่ผิดเป้า ไม่แตกแยก เพราะทุกคนเข้าถึงความจริงในเรื่องนี้มาแล้ว และความจริงนั้นทำให้ความเข้าใจของเขารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
                ความจริงเป็นสิ่งที่ตรงกันหมด แต่ความเห็นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันได้ เมื่อมีการถกเถียงขัดแย้งกันขึ้นควรทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการเริ่มต้นแสวงหาความจริงเพื่อนำไปสู่เอภาพทางความคิดบนพื้นฐานของการเป็นผู้พูดที่ดี เป็นผู้ฟังที่ดี และเป็นผู้ศึกษาสนใจใคร่รู้ที่ดี หากทำได้ ความเห็นที่แตกต่างก็จะเป็นคุณประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว และจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เลย

............................................

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

เกราะกันทุกข์

เกราะกันทุกข์
                คำว่า “เกราะ” ตามพจนานุกรม ให้ความหมายไว้หลายอย่าง ในที่นี้ เกราะ หมายถึงเครื่องสวมใส่หรือเครื่องหุ้มสำหรับป้องกันอาวุธหรืออันตราย เช่น เสื้อเกราะ รถเกราะ เป็นต้น ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายแต่เพียงร่างกายภายนอกเท่านั้น
                ยังมีเกราะอีกชนิดหนึ่งได้แก่ ศีล ซึ่งเป็นเกราะภายใน สามารถป้องกันตนให้รอดพ้นจากความทุกข์ ความชั่ว ความเสื่อมเสียในชีวิตได้แน่นอน ทำให้ได้ความสบายใจ เย็นใจ ไม่ต้องหวาดผวาเพราะระแวงว่าคนนั้นจะฟ้องร้องคนนี้จะจองเวร คนโน้นจะกล่าวโทษ เพราะคนมีศีลนั้น จะอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี ยินดีในสิทธิของตน ไม่สบสนในประเวณี เปล่งวจีโดยซื่อสัตย์ และเคร่งครัดในความไม่ประมาท ศีลจึงเป็นหลักประกันที่มั่นคง เพื่อความสุขและความปลอดภัยของชาวโลกดังคำว่า สีลัง กะวะจะมัพภุตัง แปลว่า ศีลเป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์
                แต่การจะให้คนมีศีล รักษาศีลโดยปราศจากค่านิยมในศีลย่อมเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องมีธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะคุณธรรมคือ เมตตา สัมมาอาชีพ ความรู้จักพึงพอใจในคู่ครอง ความซื่อสัตย์ และสติปัญญา รู้จักแยกแยะผิดถูกบาปบุญ จะช่วยปรุงแต่งจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบ มีความประณีตโน้มเอียงเข้าหาความสงบสำรวมสามารถตั้งมั่นอยู่ในศีลได้ตลอดไป
                เมื่อพูดถึงการป้องกันตนเอง คนทั้งหลายมักมุ่งถึงการป้องกันตนเองจากคนอื่นหรือสิ่งอื่นซึ่งแม้จะจำเป็นแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยแท้ แต่การป้องกันตนเองจากตนเองที่ย่อหย่อนศีลธรรมด้วยการดำรงมั่นอยู่ในศีลธรรม เป็นความปลอดภัยสูงสุด เป็นเกราะวิเศษ เพราะคุ้มครองได้ทั้งตนเองและเพื่อนมนุษย์ ดังคำสุภาษิตว่า
                                ศีลธรรมนำโลกให้              จำเริญ
                                โลกห่างธรรมธรรมเหิน    โลกเศร้า
                                ธรรมกับโลกร่วมเดิน         เคียงคู่ สราญพ่อ
                                โลกสุขทุกค่ำเช้า                  ชิดเชื้อธรรมเสมอ

............................................

สมาธิในชีวิตประจำวัน

สมาธิในชีวิตประจำวัน
                คำว่า สมาธิ แปลว่า “ความตั้งมั่นแห่งจิต” ในทัศนะทางพระพุทธศาสนา ความตั้งมั่นแห่งจิตให้ประโยชน์แก่คนมากมาย ทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การทำงานให้ได้ผลรวดเร็ว และรวมถึงการเกิดในภูมิภพที่ดี เราสามารถสร้างสมาธิในชีวิตประจำวันได้ดังนี้
                ๑.สมาธิตามวิธีธรรมชาติ วิธีเจริญสมาธิแบบนี้ ก็เพียงแต่นึกถึงการกระทำที่ดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราภาคภูมิใจ เช่น ความมีน้ำใจขอตนที่ให้กับคนอื่น ความกตัญญูกตเวทีที่มีกับพ่อแม่และผู้มีพระคุณ การละความชั่วทำดี เป็นต้น เมื่อระลึกเป็นอารมณ์ไว้เช่นนี้ ความที่จิตตั้งมั่นโดยวิธีนี้เรียกว่า “สมาธิตามวิธีธรรมชาติ
                ๒.สมาธิตามหลักการทำงาน หลักการทำงานให้ได้ผลสำเร็จนั้น ต้องประกอบด้วยความมีใจรักงาน พากเพียรทำเอาจิตฝักใฝ่ และใช้ปัญญาสอบสวน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้ปฏิบัติเป็นผู้กำหนดเอางานที่ทำ หรือจุดหมายที่ต้องการมาเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว ใส่ความรัก ความพากเพียร การเอาจิตฝักใฝ่ และใช้ปัญญาสอบสวนลงไปในงานอย่างตั้งใจ หากทำได้ สมาธิก็จะเกิดขึ้น เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ สมาธิก็จะแข็งกล้า ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี
                คนผู้หวังความสุขและความสำเร็จของชีวิต หากไม่มีปัจจัยอื่นใดมาสนับสนุนแล้ว ขอได้โปรดฝึกสมาธิในชีวิตประจำวันไว้เถิด จะพบว่าความสุขและความสำเร็จอยู่ในตัวเรานี่เอง

............................................

สอนลูกให้ถูกวิธี

สอนลูกให้ถูกวิธี
                คนที่อยากมีลูก ถ้าไม่มีก็เป็นทุกข์เพราะไม่มีลูก แม้มีลูกแล้วก็คงไม่พ้นทุกข์ สองอย่าง คือทุกข์เพราะลูกตายและทุกข์เพราะลูกชั่ว บรรดาความทุกข์เหล่านี้ ทุกข์เพราะลูกชั่วเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ต้องเสียใจทุกข์ระทม และคอยแก้ปัญหาอยู่ไม่รู้จบสิ้น
                พระพุทธองค์ตรัสหน้าที่ของพ่อแม่ไว้ข้อหนึ่งว่า ปาปา นิวาเรนติ แปลว่า ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอก็คือพ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะอบรมสั่งสอนลูก โดยยกสภาพสังคมปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบแข่งขันในการประกอบอาชีพขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ชวนให้คิดต่อไปว่า แท้จริง งานสั่งสอนลูกนั้นต้องใช้เวลาเท่าไหร่กันแน่ และถ้าทุกคนถูกปิดกั้นด้วยเวลาเช่นนั้นจริงแล้ว จะทำอย่างไร
                ปัญหานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความเคยชินและยึดติดในภาพของการสอน คือพอพูดถึงคำว่าสอน ก็มองเห็นเป็นภาพว่า ต้องมีผู้สอน ผู้รับการสอน ต้องมีเวลาอย่างนั้น มีบรรยากาศอย่างนี้ เป็นต้น แต่ความจริงการสอนประกอบด้วยหลักสำคัญ ๒ ประการคือ สอนให้จำ และทำให้ดู ใน  ๒ อย่างนั้น การทำให้ดูไม่มีข้อจำกัดทั้งเวลาหรืออุปกรณ์ ข้อสำคัญการทำให้ดูทำให้เกิดความประทับใจ จูงใจ และฝังใจได้ดีกว่า ดังคำสุภาษิตจีนว่า ภาพภาพเดียว มีค่ากว่าคำพูดพันคำ แต่ต้องมีการปรับพฤติกรรมของตนเอง เลือกแสดงออกแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วแนะนำชี้แจงให้รู้จักผลของความดีความชั่วประกอบกันไป
                การสอนคนนั้น หากเป็นเรื่องเกี่ยวพันด้วยพฤติกรรม แบบอย่างจะมีบทบาทสำคัญมาก ดังนั้น หากสามารถทำได้ทั้งสอนให้จำ ทั้งทำให้ดู ก็มั่นใจได้ว่า การสอนไม่ให้ลูกทำความชั่ว จะประสบความสำเร็จได้ และถ้าทำได้เช่นนั้นแล้วถึงพ่อแม่จะทุกข์เพราะจน ทุกข์เพราะเจ็บป่วย หรือทุกข์เพราะงานหนัก แต่จะไม่ต้องทุกข์เพราะลูกชั่วเลย

............................................

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นึกไม่ถึง

นึกไม่ถึง
                ผู้ที่ติดตามข่าวสารหรืออ่านหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ นอกจากจะทำให้เป็นคนทันโลกทันเหตุการณ์แล้ว ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาไปพร้อมกัน ก็จะได้แง่คิดทางธรรมะไปด้วย เพราะข่าววันเดียวกัน จะมีทั้งข่าวของผู้ที่ประสบความสุข สมหวัง ปีติโสมนัส และข่าวของผู้ประสบความทุกข์ เศร้าโศก หรือความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ
                การอ่านข่าวแล้วนำมาเป็นข้อคิดเตือนใจ เป็นสิ่งสำคัญและได้ประโยชน์ยิ่ง แต่หลายคนไม่ชอบหรือไม่ฝึกคิดในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสูญเสีย เพราะเห็นว่าความสูญเสียเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่เป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจ เช่น คิดถึงความเจ็บป่วยก็จะเป็นการแช่งตัวเอง คิดถึงความตายก็จะไม่เป็นมงคลแก่ตัว เป็นต้น จึงทำให้ขาดการเตรียมตัวเตรียมใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์ จึงมักทำใจไม่ค่อยได้ และทำให้เกิดคำพูดที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ นึกไม่ถึงเลยว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ แต่หากได้นำเหตุการณ์เรื่องราวที่รับทราบมาพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเป็นคติเตือนใจให้ไม่ประมาทและรู้เท่าทัน สามารถปฏิบัติและวางท่าทีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดได้
                เหตุการณ์ดีร้ายที่เกิดกับคนทั้งหลายดังที่เป็นข่าว ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดซ้ำๆ เดิมๆ ไม่แปลกประหลาด ไม่อัศจรรย์ เพราะเป็นเรื่องที่คิดได้ นึกได้อยู่โดยปกติ แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ นอกจากนึกได้จะต้องนึกให้ถึงด้วย คือนึกให้ถึงตัวเอง เปรียบเทียบกับตัวเอง ให้เกิดคติเตือนใจและตั้งอยู่ในความไม่ประมาทหากทำได้ เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็จะมั่นคงเยือกเย็น ไม่ลิงโลดลืมตัวหรือทุกข์ระทมหม่นไหม้เพราะเหตุแห่งการ “นึกไม่ถึง” นั่นเอง

............................................

เพียงผู้โดยสาร

เพียงผู้โดยสาร
                ผู้ที่เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง จำต้องจองตั๋วโดยสาร เมื่อได้รับแล้วมักเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของที่นั่งตามหมายเลขในตั๋ว หากมีใครมานั่งแทนที่ เราจะอ้างกรรมสิทธิ์ว่าที่นั่งตรงนั้นเป็นของเรา ขณะที่ใช้บริการอยู่ เมื่อยังไม่ถึงที่หมาย ก็เข้าใจว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่ตราบนั้น แต่พอถึงที่หมายปลายทางก็จะลงจากพาหนะที่โดยสารนั้นไปโดยไม่มีความอาลัย ประหนึ่งรู้ว่ากรรมสิทธิ์ของเรามีเพียงเท่านี้เอง ปล่อยให้ที่นั่งเป็นของคนอื่นต่อไป
                หากเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดทั้งตำแหน่งหน้าที่ ก็เปรียบเหมือนอุปกรณ์สำหรับโดยสาร ในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยให้ดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเท็จจริงมักเกิดปัญหาขึ้น ๒ อย่างคือ
                ๑.ละเลย คือ ไม่ใช้อุปกรณ์โดยสารนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่น มีทรัพย์ก็ไม่ใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดสาระแก่ชีวิต มียศมีอำนาจก็ปล่อยให้โอกาสที่จะสร้างคุณประโยชน์หลุดลอยไป เป็นต้น
                ๒.ยึดติด ได้แก่ ลุ่มหลงหมกมุ่นจนเกินพอดี เมื่อจะได้ บางครั้งก็ไม่คำนึงถึงถูกผิดและความเหมาะสม เมื่อจะเสียก็กลัดกลุ้มฟูมฟายจนมีแต่ทุกข์ เต็มไปด้วยความหวงแหนยึดมั่นประการหนึ่งว่าแม้ตายก็จะเอาติดตัวไปด้วยได้
                เมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม รถยนต์ที่โดยสารไป เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยในการไป ไม่ใช่เป้าหมายที่จะไป ในข้อเท็จจริง เมื่อต้องลงจากรถโดยสาร จึงไม่มีใครอาลัยอาวรณ์ หวงแหนยึดมั่นกับรถคันนั้นอีก ทรัพย์สมบัติและลาภยศก็เช่นกัน คือ เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย จึงต้องวางท่าทีในลักษณะที่ว่า ใช้ให้เกิดประโยชน์เมื่อได้และไม่ทุกข์ใจเมื่อเสีย
                ทำได้อย่างนี้ การเดินทางของเราจึงจะไม่เป็นทุกข์โดยที่ไม่ควรจะเป็น และจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดโปร่งใจ

............................................

งูพิษหรือจะเท่าคนพาล

งูพิษหรือจะเท่าคนพาล
                งูมีหลายชนิด ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ ใครพบเห็นเข้ามักสะดุ้งหวาดกลัวทุกครั้ง และแม้เป็นชนิดที่มีพิษร้ายแรง แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่างูจะเกะกะระรานไล่ขบกัดทำร้ายคน นอกจากรู้ว่าภัยจะมาถึงจึงป้องกันตัวเองเท่านั้น ต่างกับคน ที่เรียกว่าคนพาล ซึ่งมีลักษณะ ๕ ประการคือ
                ๑.ชักนำไปในทางที่ผิด
                ๒.ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่
                ๓.เห็นผิดเป็นถูก
                ๔.พูดดีๆ ก็โกรธ
                ๕.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย
                เป็นบุคคลที่น่ากลัวกว่า ในอรรถกถามงคลสูตร ได้วิเคราะห์พฤติกรราของคนพาลไว้ว่า เมื่อจะพูดก็มักพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง พูดหยาบ และพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ เมื่อจะทำอะไรก็มักจะไปเบียดเบียนผู้อื่นทางชีวิตร่างกายบ้างทางทรัพย์สินบ้าง ประพฤติผิดทางเพศบ้าง แม้เมื่อจะคิดก็ยังคิดด้วยความโลภเห็นแก่ตัวบ้าง คิดขุ่นเคืองพยาบาทบ้าง หรือคิดแบบดึงดันไม่ยอมรับเหตุผลบ้าง ทำให้เห็นว่าคนพาลนี้มีพิษรอบตัวทีเดียว
                การไม่เข้าใกล้หรือไม่อยู่ร่วมกับงูพิษนั้นง่าย แต่คนพาลนั้นแม้ไม่ต้องการอยู่ใกล้หรือสมาคมด้วยบางทีก็ทำได้ยาก จำเป็นต้องมีเกราะป้องกันตัวเอง คือใช้ความระมัดระวังสังเกตทั้งลักษณะและพฤติกรรมไว้ให้ดีและไม่เผลอตัวไปเห็นดีเห็นงามด้วย เปรียบเหมือนมีงูพิษเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในบ้าน เจ้าของบ้านต้องระมัดระวังในทุกอิริยาบถ จึงจะปลอดภัย ดังกลอนที่ว่า
                                อยู่คนเดียวต้องระวังยั้งความคิด       อยู่ร่วมมิตรต้องระวังยั้งคำขาน
                                อยู่รวมราชต้องคอยตั้งระวังการณ์   อยู่ร่วมพาลต้องระวังทุกอย่างเอย

............................................

สาระจากงานศพ

สาระจากงานศพ
                ทุกคนคงเคยไปงานศพกันมาแล้ว และถ้าไม่ใช่ศพของญาติผู้ใหญ่หรือคนสำคัญในครอบครัว ความรู้สึกที่ไปก็คงไม่มีอะไรพิเศษนัก คือสามารถพูดได้รวมๆ ว่า ไปเพื่อปฏิบัติภารกิจทางสังคมอย่างหนึ่ง ถ้าประโยชน์ของการไปงานศพได้รับเพียงการไปออกงานสังคม ก็นับว่าเสียดาย เพราะเป็นการสูญเสียโอกาสของการศึกษาที่สำคัญ
                หลักความจริงมีอยู่ว่า ทุกคนต้องตาย แต่ในระหว่างที่ยังไม่ตายนี้ บางทีก็ลืมตัว ใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับกิเลส หลงโกรธแค้นอาฆาตคนอื่นจนชีวิตไม่มีความสุขบ้าง โลภโมโทสัน เอาเปรียบคนอื่นไม่เลือกถูกผิดบ้าง หรืออย่างธรรมดาที่สุดก็ปล่อยตัวปล่อยใจไปวันๆ ให้ชีวิตสูญเปล่าบ้าง แต่ถ้านึกถึงความตายและมองเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะจะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้น ในที่สุดจะขวนขวายปรับปรุงตนเองในทุกทาง ไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ เหมือนคนที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ไฟดับลงโดยเร็วที่สุด
                ดังนั้น การไปงานศพจึงไม่ควรไปเพียงเพราะเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกันหรือเป็นผู้เคารพนับถือกันเท่านั้น แต่ควรไปเพื่อศึกษาของจริงให้รู้ว่านี่แหละชีวิต นี่แหละคนเรา สุดท้ายก็ต้องจบลงที่นี่ เวลาของคนตายหมดลงแล้ว เวลาของตัวเราเหลืออีกเท่าใด และจะทำอย่างไรกับชีวิตในเวลาที่เหลืออยู่ จึงจะดีที่สุดสำหรับตัวเอง เพียงแค่ระลึกได้อย่างนี้ การไปงานศพทุกครั้งก็จะมีคุณค่ามหาศาล

............................................

วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สำคัญที่ตนเอง

สำคัญที่ตนเอง
                มีคนจำนวนหนึ่งมักพูดในทำนองว่า การที่ตัวเขาทำชั่วลงไปบ้าง ชีวิตต้องตกอับบ้าง ต้องพลาดหวังจากลาภยศตำแหน่งบ้าง ถูกคนอื่นรังเกียจบ้าง ถูกจับกุมคุมขังบ้าง ก็เพราะมีคนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นสาเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น โดยที่ไม่ได้เหลียวมองถึงจุดบกพร่องของตนเอง
                ทั้งนี้ก็เพราะปกติคนเรานั้นมักจะเข้าข้างตัวเองเสมอ คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก พูดถูก คิดถูก และทำถูกต้องแล้ว ถึงแม้จะมีผิดบ้างก็มีเหตุผลที่น่าเห็นใจ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่สบปรารถนาเกิดขึ้นกับตนจึงมักจะโทษผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เช่น กล่าวโทษว่าดวงไม่ดี โทษว่าเพราะมีคนบังคับให้ทำบ้าง มีสิ่งล่อใจให้ทำบ้าง ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือถูกใส่ร้ายป้ายสีบ้าง แต่โดยข้อเท็จจริง สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยข้อเท็จจริง แม้สังคมและสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์อยู่บ้างก็ตาม แต่หลักการใหญ่ก็อยู่ที่การปฏิบัติของตนเองเป็นสำคัญ
                เราห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้ แต่ห้ามตัวเองไม่ให้เปียกฝนได้
                เราห้ามไม่ให้แดดออกไม่ได้ แต่ห้ามตัวเองไม่ให้โดนแดดได้
                ดังนั้น เมื่อสิ่งที่ไม่พึงปรารถนามากระทบชีวิต ผู้มีปัญญาก็จะพิจารณาถึงตนเองก่อนเป็นอันดับแรกว่าจะปฏิบัติตนเองอย่างไรจึงจะเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะอยู่ในวิสัยที่ทำได้อย่างเต็มที่ ทำได้ทุกเวลา และหวังผลได้แน่นอน ต่างจากการจะปฏิบัติต่อคนอื่นหรือสิ่งอื่น แม้หลักพระพุทธศาสนาก็ยังระบุว่า “คนจะดี จะชั่ว จะบริสุทธิ์ หรือเศร้าหมอง อยู่ที่ตนเองว่าทำดีหรือชั่วเป็นสำคัญ ส่วนผู้อื่นจะมาทำให้เราดีหรือชั่ว ให้บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง มิได้” ฉะนั้นจึงควรเพ่งพิจารณาที่ตนเป็นสำคัญ ดังโคลงโลกนิติที่ว่า
                                อย่าโทษไทท้าวท่วย            เทวา
                                อย่าโทษสถานภูเผา             ย่านกว้าง
                                อย่าโทษหมู่วงศา                 มิตรญาติ
                                โทษแต่กรรมเองสร้าง        ส่งให้เป็นเอง

............................................

คนมีสี

คนมีสี
                คนมีสี ความหมายก็คือคนในเครื่องแบบ หรือข้าราชการ ผู้มียศศักดิ์ มีอำนาจหน้าที่ในทางราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ ตลอดจนข้าราชการพลเรือน ส่วนบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์แต่งเครื่องแบบของทางราชการก็ถือกันว่าเป็นคนไม่มีสี บุคคลประเภทนี้ถ้าจะพึงมีอำนาจ หรือเป็นผู้กว้างขวางขึ้นมา ก็มักนิยมเรียกกันไปอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อ
                ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนที่เกิดมาต่างก็มีชีวิตที่มีส่วนประกอบสำคัญอยู่สองส่วนเหมือนกันคือ กายส่วนหนึ่ง กับใจอีกส่วนหนึ่ง ทั้งกายและใจของทุกคนก็มีสีอยู่อย่างน้อยสองสี คือ สีดำกับสีขาว สีขาวดำที่อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น เป็นเรื่องของรูปธรรมตามธรรมชาติและสังเกตได้ง่าย แต่ในส่วนของจิตใจนั้นมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยการคบค้าสมาคม ใช้เวลาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันจึงจะรู้ได้ เมื่อว่าโดยสภาวะ ใจคนจะขาวหรือดำนั้นย่อมขึ้นอยู่กับมโนธรรมของคนคนนั้น ถ้าเป็นคนมีจิตใจบริสุทธิ์ มีคุณธรรม ก็ถือว่าเป็นคนมีใจสีขาว ส่วนคนที่มีใจไม่บริสุทธิ์ คิดอกุศล ตกอยู่ในอำนาจความโลภ โกรธ หลง ก็ถือว่าเป็นคนมีน้ำใจสีดำ ดังนั้น คนมีสีจะพึงพอใจเฉพาะเครื่องแบบ อาชีพและยศถาบรรดาศักดิ์เท่านั้นหาเพียงพอไม่ เพราะเป็นแต่เพียงสีภายนอก จำเป็นต้องตกแต่งขัดเกลาความคิดจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรืออย่างน้อยก็ต้องมีการพัฒนาคุณธรรมที่สำคัญ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละอดทน ให้มีขึ้นในใจ จึงจะชื่อว่ามีสีสดใสงดงามอย่างครบถ้วน แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่องแบบเป็นสีประจำชีวิตหรือแม้แต่คนที่สีกายอัปลักษณ์ การพัฒนาตนเองไปสู่ความสะอาดบริสุทธิ์และมีคุณธรรม จะทำให้จิตใจมีสีสันที่งดงาม มีชีวิตที่ทรงคุณค่า เข้าทำนอง “ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ”
                คนมีสีตามความหมายทั่วไปมักมีความภาคภูมิใจ มั่นใจ และอบอุ่นใจ เพราะหมายถึงมีสถาบัน มีองค์กรเป็นที่พึ่ง และหากชำระจิตใจของตนให้ขาวบริสุทธิ์ได้ด้วย ก็จะมีตนเองเป็นที่พึ่งอีกชั้นหนึ่ง ความภาคภูมิใจ มั่นใจและอบอุ่นใจ ย่อมจะเพิ่มเป็นทวีคูณแน่นอน

............................................

ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน

ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน
                การทำใจ โดยความหมายก็คือ การปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อจิตใจ ดังนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติ แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติ อาจมีผู้สงสัยบ้างว่าเราควรทำใจของเราให้เป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีทำใจไว้อย่างหนึ่งที่ทุกคนควรนำไปฝึกฝนก็คือ การทำใจให้เหมือนแผ่นดิน โดยทรงยกคุณลักษณะของแผ่นดินไว้ ๕ ประการคือ
                ๑.แผ่นดินนั้นแม้ใครจะเอาของหอม หรือของเหม็นก็ตามเททิ้งลงไป แผ่นดินก็วางเฉยเป็นปกติ ข้อนี้ท่านสอนให้หัดทำใจวางเฉย ไม่ว่าใครจะติหรือชมอย่างไรก็ไม่ต้องหวั่นไหวสะทกสะท้าน
                ๒.แผ่นดินแม้จะไร้เครื่องประดับตกแต่ง แต่แผ่นดินก็ทรงคุณค่านานัปการในตัวของมันเอง ข้อนี้ท่านสอนให้รักษาศีล เพราะศีลเป็นคุณค่าพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี เพราะจะทำให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ แม้ปราศจากค่าที่ใครๆ จะสถาปนาให้ก็ตาม
                ๓.แผ่นดินมีลักษณะแน่นหนา คงทน ข้อนี้ท่านสอนว่า เมื่อมีความดีแล้วต้องรักษาไว้ให้ดี มั่นคง ยืนหยัดในความดีนั้น ไม่หวั่นไหว
                ๔.แผ่นดินแม้ต้องรับน้ำหนักมากมายเพียงใด ก็ไม่เคยย่อท้อ ข้อนี้ท่านสอนให้มีความบากบั่น ไม่ท้อแท้ แม้ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ เมื่อยังไม่บรรลุผลสำเร็จก็ไม่ละความเพียรพยายามนั้น
                ๕.แผ่นดินไม่ยินดียินร้ายในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน ไม่ว่าน้ำจะท่วม พายุจะพัด ภูเขาไฟจะระเบิดก็ตามที ในข้อนี้ท่านสอนไม่ให้ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะสุขหรือทุกข์ จะรวยหรือจน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของการต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ยึดติดจนหาความสุขไม่ได้
                การพัฒนาจิตใจให้รู้จักวางเฉย มีศีล ยึดมั่นในความดี ไม่ท้อแท้ และรู้จักปล่อยวาง แม้จะไม่ง่ายนักแต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะจะเป็นการช่วยปรับสภาพจิตใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ไม่ว่าชีวิตจะเผชิญกับสิ่งใด ก็จะไม่กวัดแกว่งรวนเร ไม่พินาศแตกสลายอย่างแน่นอน

............................................

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คิดบวก


                คนเราเกิดมาไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี ในส่วนประโยชน์ตน การทำชีวิตให้อยู่อย่างมีความสุขได้ จึงนับว่าคุ้มค่าที่สุด วิธีหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขก็คือ ให้หัดคิดทางบวกไว้เสมอการคิดทางบวกนี้ก็คือ การคิดในแง่ดีนั่นเอง เช่น คิดให้คนอื่นอยู่ดีมีสุข เผื่อแผ่ความรักความเมตตาไปสู่สรรพสัตว์เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ เมื่อมีสถานการณ์ที่คับขันหรือที่จะนำไปสู่ความเครียด ก็ไม่หงุดหงิด หรือโวยวายกับสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมนั้น แต่รู้จักคิดในอีกแง่หนึ่งที่ทำให้เกิดความสบายใจทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องด้วย เช่น เมื่อขับรถมาถึงสี่แยกแล้วติดไปแดงเป็นคันแรกพอดี แทนที่จะนึกโมโหว่าเกือบจะไปได้อยู่แล้วแต่ต้องมาเสียเวลาอยู่อีก ก็ให้นึกว่า นี่ยังโชคดีนะที่ได้รอคิดเป็นคันแรกเลย เดี๋ยวพอไฟเขียวเราก็จะได้ออกรถไปก่อนเป็นคันแรก เป็นคนโชคดีที่สุดในบรรดาผู้ติดไฟแดงอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าต้องติดอยู่ปลายแถวก็ให้คิดว่า คนที่มาถึงก่อนเราก็ยังไปไม่ได้ อีกไม่นานก็จะเป็นสัญญาณไฟเขียวเราก็จะไปได้ แต่คันที่รออยู่ต้นแถวต้องรอนานกว่าเรา เปลืองน้ำมันมากกว่าเรา
                จากตัวอย่างการคิดข้างต้น แม้ฟังดูเผินๆ จะดูเหมือนพูดเล่นๆ ไม่มีสาระ แต่ความจริงแฝงนัยสำคัญไว้ นั่นคือ สรรพสิ่งย่อมมีหลายด้านหลายมุม และการเข้าไปสัมผัสยึดถือในแง่มุมที่ต่างกันนั้น ก็ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันได้ด้วย เมื่อเป็นดังนั้น เหตุไรคนเราจึงไปสัมผัสยึดถือในมุมที่จะสร้างทุกข์ให้ตนเอง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องความคิดของตนเองล้วนๆ ไม่มีใครบังคับสั่งการได้ นี้เป็นการบ้านที่ผู้ต้องการความสุขในชีวิตควรนำไปคิด
                ในทางสังคม คนที่ได้ฝึกตนเองให้ “คิดทางบวก” จนเป็นนิสัยนั้น จะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขันไม่หงุดหงิดง่าย เป็นที่ชื่นชมของคนที่ได้คบค้าสมาคมด้วย ทำให้รู้สึกสบายใจเมื่อได้เข้าใกล้ แต่ถ้าเป็นคน “คิดทางลบ” อยู่ร่ำไป ก็จะกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคมด้วย นานวันเข้าก็อาจจะถูกทอดทิ้งให้อยู่เดียวดาย ไร้เพื่อนฝูง ต้องหงอยเหงาอยู่แต่เพียงลำพัง
                มีคำพูดว่า “คิดอย่างที่ต้องการคิด เป็นเสรีภาพอย่างเดียวของมนุษย์” หากมนุษย์ใช้เสรีภาพทางความคิดนี้ไปในทางที่ดี ประกอบด้วยปัญญา จนเป็นคุณแก่ตัวเองได้ ความสุขในชีวิตก็เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก

............................................

จันทร์เพ็ญ

จันทร์เพ็ญ
                งานกำกับดูแล ปกครองคน เป็นงานที่ท้าทายความรู้ความสามารถของผู้นำเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผสมผสานกันอย่างเหมาะเจาะ จึงจะบังเกิดผลสำเร็จ เนื่องจากคนอยู่ด้วยกันทำงานร่วมกันจำนวนมาก ย่อมมีทัศนคติ อุปนิสัย และความประพฤติที่แตกต่างกัน บางคนอยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ เป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา บางคนก็ทำผิดบ้าง บางคนก็สร้างแต่ปัญหาให้หนักใจบ้าง แต่ถึงกระนั้น ผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาก็ต้องดูแลช่วยเหลือ ปกครองทุกคนที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของตนอยู่นั่นเอง จะเลือกติดต่อสมาคมเฉพาะผู้ที่ตนชอบ ตัดคนที่ตนเกลียดก็ไม่ได้ เพราะผู้นำต้องเป็นใหญ่ให้เต็มตามหน้าที่และใหญ่สำหรับทุกคน ถ้าจะเปรียบเทียบก็เป็นเหมือนพระจันทร์บนท้องฟ้า ธรรมดาว่าพระจันทร์ หากคิดจะส่องแสงให้ชื่นใจเฉพาะคนที่รัก สัตว์ที่ชอบ และเก็บแสงนวลให้พ้นจากสายตาของหมู่พวกที่ตนไม่ชอบเสียแล้ว พระจันทร์ดวงนั้นก็จะไม่มีโอกาสได้เป็นจันทร์เพ็ญที่สวยงามได้เลย แต่คงมีสภาพเป็นพระจันทร์ที่ถูกบดบังด้วยเมฆหมอกมลทินไร้สง่าราศี ผู้นำจึงไม่ควรตัดความสัมพันธ์กับคนในปกครองบางคนเพราะเหตุคือความไม่ชอบใจ เพียงแต่ต้องแยกแยะความสัมพันธ์และหน้าที่ให้เหมาะกับบุคคลและเหตุการณ์ อย่างน้อยที่สุดต่อบุคคล ๓ ประเภท คือ
                คนดี หมายถึง คนที่ตั้งอยู่ในสุจริต ไม่ทำผิดหรือก่อเรื่องให้หนักใจ คนประเภทนี้ต้องยกย่องส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
                คนเจ็บ หมายถึง คนที่ทำผิดบ้างถูกบ้าง หรือผิดๆ ถูกๆ ดีชั่วปะปนกันไป ประเภทนี้ต้องคอยเอาใจใส่ประคับประครอง ชักนำให้ไปสู่ความถูกต้องดีงาม ไม่ปล่อยปละละเลย
                คนตาย หมายถึง คนที่ทำผิดจังๆ ไม่มีทางที่จะว่าเป็นอย่างอื่นได้ ก็ต้องจัดการไปตามระเบียบ ไม่ปล่อยไว้จนกระทบกระเทือนถึงคนดี หรือทำให้คนเจ็บทำตาม เพราะจะเป็นผลเสียแก่ส่วนรวมได้
                หากทำได้อย่างนี้ จะชื่อว่าไม่เพียงทำหน้าที่ต่อคนทุกคนอย่างทั่วหน้าเท่านั้น แต่ยังทำได้อย่างดีมีคุณภาพเหมือนจันทร์เพ็ญยามไร้เมฆหมอก ย่อมส่องได้ทั่วถึง ส่องได้กระจ่าง สร้างความเย็นตาเย็นใจต่อผู้พบเห็นยิ่งนัก

............................................

พินาศเพราะกิเลส

พินาศเพราะกิเลส
                มีเรื่องเล่าว่า ชายสองคนเป็นสหายกัน พากันไปบวงสรวงเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏว่าเทพเจ้าพอใจอนุญาตให้เขาทั้งสองขอสิ่งที่ปรารถนาได้โดยเสรี โดยบอกว่าใครขอก่อนขอเท่าใดก็จะได้เท่านั้น ส่วนคนที่ขอภายหลังจะได้สิ่งนั้นเหมือนกัน แต่ได้มากเป็นสองเท่า สหายทั้งสองต่างดูเชิงกันอยู่พักใหญ่ เพราะเกี่ยงกันว่า คนขอก่อนจะได้เพียงส่วนเดียว ส่วนคนขอทีหลังจะได้มากถึงสองส่วน ในที่สุดคนแรกก็ตัดสินใจขอพรจากเทพเจ้าก่อน แต่แทนที่จะขอทรัพย์สินเงินทอง กลับขอให้ดวงตาของตนบอดไปข้างหนึ่ง ด้วยหวังว่าเพื่อนที่ขอที่หลังจะได้ตาบอดทั้งสองข้าง ผลก็คือตาของตัวองบอดไปข้างหนึ่งจริงๆ ส่วนคนที่สองเข้าใจว่า คนแรกจะขอทรัพย์สินเงินทองเป็นแน่ และเทพเจ้าก็คงจะประทานความร่ำรวยให้ ในเมื่อตนขอภายหลังก็จะต้องร่ำรวยกว่าคนแรกถึงสองเท่าอย่างแน่นอน คิดดังนั้น เขาจึงได้ขอพรเช่นเดียวกับที่คนแรกขอไว้ ในที่สุดดวงตาของเขาก็บอดสนิททั้งสองข้าง
                เรื่องนี้ เมื่อมองในแง่หลักธรรมพบว่า คนแรกมีจิตริษยาคนอื่น ไม่เว้นแม้กระทั่งเพื่อนรักกัน จิตประเภทนี้จะคอยคิดในทางตัดรอนหรือทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น เห็นใครได้ดีกว่าแล้วทนไม่ได้ ส่วนคนที่สองมีลักษณะละโมบจัด เห็นแก่ได้เป็นหลัก ไม่มีความคิดเรื่องการเสียสละอยู่ในใจ เมื่อคนทั้งสองมาคบกันผลสุดท้ายก็พินาศทั้งสองฝ่าย
                พระพุทธศาสนาสอนว่า จิตที่มีลักษณะริษยาและโลภจัดนั้น เป็นเหมือนสนิมที่คอยกันกินจิตใจให้เสื่อมทราม ดุจสนิมที่กัดกินเหล็กให้ผุกร่อน คนมีปัญญาจึงหมั่นกำจัดสนิมดังกล่าวออกจากจิตใจตนเอง และวิธีที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ หัดชื่นชมยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นและเสียสละประโยชน์ส่วนตนดูบ้าง หากทำได้ นอกจากจะป้องกันมิให้ความพินาศเกิดขึ้นได้แล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้จิตใจเยือกเย็นอิ่มเอิบ มีความสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย

............................................

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ปฏิเสธตัวเองเสียบ้าง

ปฏิเสธตัวเองเสียบ้าง
                มีคนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่รู้จักปฏิเสธหรือไม่กล้าปฏิเสธ อาจเป็นเพราะความเกรงใจหรือต้องการตอบแทนพระคุณ แม้ในเรื่องผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี ก็ไม่กล้าปฏิเสธ ผลตามมาคือความเดือดร้อน คนเราจึงต้องมีความกล้าหาญพอที่จะต้องปฏิเสธ เมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้วเห็นว่า ควรปฏิเสธ ความเกรงใจหรือความใจอ่อนไม่กล้าปฏิเสธมักจะนำความยุ่งยากมาสู่ชีวิตเราเสมอ
                การปฏิเสธที่สำคัญที่สุดก็คือการปฏิเสธตัวเอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการหักห้ามใจตัวเอง ผู้ที่สามารถปฏิเสธตัวเองได้นับว่าเป็นยอดคน เพราะจะต้องใช้ ทมะคือความข่มใจอย่างแรงกล้า เนื่องจากใจคนจะมีธรรมชาติอยู่ ๒ อย่างอยู่ภายใน คือ ธรรมชาติฝ่ายสูงและธรรมชาติฝ่ายต่ำ ความคิดฝ่ายสูงจะให้ความคิดและความรู้แก่เราในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ แต่ความคิดฝ่ายต่ำจะชักนำเราไปทางที่ผิด ไร้สาระ และเข้าข้างตนเอง คนส่วนมากมักจะพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติฝ่ายต่ำก็เพราะไม่เข้มแข็งหรือไม่กล้าหาญพอที่จะปฏิเสธตัวเอง จึงตกอยู่ใต้อำนาจของ โลภะ โทสะ และโมหะ ตลอดเวลา
                พระพุทธศาสนาสอนว่า การเอาชนะคนอื่นได้ยังไม่ถือว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริง เพราะชนะแล้วก็ยังมีโอกาสเกิดทุกข์ ก่อเวร หรือกลับแพ้อีกได้ แต่บุคคลที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้ชนะเลิศนั้น จะต้องสามารถเอาชนะตัวเองได้ และการรู้จักปฏิเสธตัวเองไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำ เป็นวิธีการสำคัญที่จะนำไปสู่การชนะตัวเองได้ในที่สุด

............................................

สิ่งที่รู้ไม่ได้

สิ่งที่รู้ไม่ได้
                ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการศึกษาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ และวิชาความรู้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาไปจนตาย เรียนกันไม่มีวันจบ และแม้ปัจจุบัน มนุษย์จะมีการศึกษาดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีการเปิดเผยความรู้ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเสมอ หรือจะกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดในพิภพนี้ที่มนุษย์จะรู้ไม่ได้” ก็คงไม่ผิด แต่มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่รู้และไม่อาจจะรู้ได้ นั่นคือชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องความตาย พระพุทธศาสนากล่าวว่ามีสิ่งที่รู้ไม่ได้ ๕ ประการ คือ
                ๑.ชีวิต เรารู้ไม่ได้เลยว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด
                ๒.ความป่วยไข้ รู้ไม่ได้ว่าจะตายด้วยโรคอะไร หรือด้วยสาเหตุอะไร
                ๓.เวลาตาย คนส่วนใหญ่รู้วันเวลาที่ตนเกิดแน่นอน แต่ไม่มีใครที่รู้ว่าตัวเองจะต้องตายวันไหน เวลาใด
                ๔.สถานที่ตาย รู้ไม่ได้ว่าจะตายในบ้านหรือนอกบ้าน ในน้ำ หรือบนบก
                ๕.ตายแล้วไปไหน จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ หรือเป็นเทพ เป็นอะไร อยู่ที่ไหน รู้ไม่ได้
                ผู้ไม่ประมาท ถึงจะรู้หรือไม่รู้ก็มีค่าเท่ากัน เพราะจะพิจารณาเห็นว่าชีวิตนี้น้อยนัก พร้อมที่จะแตกดับเสมอ แค่หายใจเข้าแล้วไม่ออก หรือหายใจออกแล้วไม่เข้า ก็ตาย จึงต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้มากเข้าไว้  เพื่อเป็นที่พึ่งทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ
                สิ่งที่รู้ไม่ได้มักทำให้คนทั่วไป หวาดหวั่นหรืออย่างน้อยก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนจะดีหรือร้าย ยิ่งเกี่ยวกับชะตาชีวิตด้วยแล้วบางคนถึงขั้นเป็นทุกข์ ความไม่ประมาท คือทำตัวเองให้เป็นคนดีมีค่าเสียแต่บัดนี้ เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับเผชิญหน้ากับสิ่งที่รู้ไม่ได้ในทุกสถานการณ์

............................................

คุณธรรมผู้ใหญ่

คุณธรรมผู้ใหญ่
                ในเรื่อง “รามเกียรติ์” มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายตอนด้วยกัน มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ วิธีที่จะแก้ไขก็คือ ต้องไปหาสรรพยาอันได้แก่ สังกรณี ตรีชวา และน้ำจากปัญจมหานที มาแก้ไขพิษหอกโมกขศักดิ์ และต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผู้ที่รับอาสาไปเอาสรรพยาก็คือ หนุมาน แต่หนุมานมีปฏิภาณว่องไว แทนที่จะรีบไปหาสรรพยามาให้ทันชั่วคืนเดียว กลับเหาะไปยึดรถพระอาทิตย์ เพื่อมิให้ส่องสว่างมายังพื้นโลก อันเป็นเงื่อนไขความเป็นความตายของพระลักษมณ์ หลังจากพระอาทิตย์หันมาทอดพระเนตรจนหนุมานร่างไหม้เป็นจุลแล้วชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ถามถึงความประสงค์ เมื่อทราบความต้องการ แต่พระอาทิตย์ไม่สามารถตอบสนองได้เพราะผิดวิสัยราศีจักร แต่ก็สามารถยืดหยุ่นให้ได้โดยชักราชรถเข้าไปหลบในกลีบเมฆมิให้ส่องแสง มายังพื้นโลก ทำให้หนุมานสามารถไปเอาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ได้ทันท่วงที
                ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คือ พระอาทิตย์แม้มีอานุภาพมาก แต่ก็ยังมีความเห็นอกเห็นใจ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว แก้ปัญหาด้วยวิธีนุ่มนวล เป็นการประสานประโยชน์ผู้อื่นและตนเองก็ไม่เสียหลักการ พร้อมสร้างคุณธรรมตรึงใจ ๕ ประการ คือ
                ๑.พึ่งพาได้ เมื่อใดที่ผู้น้อยมีปัญหา ก็ขวนขวายช่วยเหลือ หรือแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาได้
                ๒.ใช้หลักการ คือมีเป้าหมายที่ชัดเจน และดำเนินไปตามหลักการนั้นๆ มิใช่ว่า วันนี้มีหลักการอย่างหนึ่ง รุ่งขึ้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
                ๓.หาญรับหน้า เมื่อเกิดความผิดพลาดเสียหาย ก็พร้อมรับผิดชอบ มิใช่ว่า ผิดไม่รับ แต่ชอบนั้นต้องการ
                ๔.กล้าตัดสินใจ อันเป็นเครื่องแสดงออกถึงความกล้าหาญทางความคิดและการตัดสินใจ
                ๕.ไม่ไร้มนุษยสัมพันธ์ คือมีคุณธรรม ได้แก่ ความโอบอ้อมอารี มีวจีไพเราะ สงเคราะห์ทุกคน วางตนได้เหมาะสม อันเป็นฐานทำให้สามารถประสานสัมพันธ์กับคนได้ทุกระดับชั้น
                ดังนั้น ผู้ใหญ่หรือผู้กำลังเป็นใหญ่ ควรศึกษาวิธีการและคุณธรรมดังกล่าวแล้วนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหลักชัยตรึงใจผู้น้อยต่อไป

............................................

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

๓ อย่างของดีชั่ว และ ความฉลาด

ดีชั่ว ๓ อย่าง
                ถ้ามนุษย์ทำดีต่อกัน ชีวิตจะมีสุข และโลกก็น่าอยู่ ถ้าทำชั่วต่อกัน ชีวิตก็เป็นทุกข์ โลกก็จะลุกเป็นไฟ ความจริงข้อนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้ จึงมีผู้รู้พยายามสนับสนุนให้คนเว้นชั่วและทำดีต่อกัน โดยแยกการปฏิบัติให้เห็นชัดเจนเป็น ๓ ระดับ คือ
                ๑.อย่าทำชั่วตอบสนองความชั่ว คือ อย่าเอาความชั่วเข้าต่อสู้กับความชั่ว เช่น ผูกใจเจ็บไว้ แล้วคิดแก้แค้นผู้ที่ทำชั่วต่อตน การกระทำเช่นนี้เป็นการผูกเวรอย่างไม่รู้จบสิ้น จะเกิดทุกข์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เข้าทำนอง “สาดน้ำรดกัน” ต่างคนก็ต่างเปียก หรือเหมือนกับการล้างของที่สกปรกด้วยน้ำสกปรก ก็จะไม่ทางที่จะสะอาด
                ๒.อย่าทำชั่วตอบสนองความดี คืออย่าคิดร้ายต่อผู้ที่ทำดีต่อเรา เช่น เนรคุณต่อผู้มีบุญคุณ เปรียบเหมือนเมื่อได้อาศัยร่มเงาของต้นไม้ใด ก็ไม่ควรไปหักกิ่งของต้นไม้นั้น หากเราอยู่ใต้ร่มของต้นไม้เพื่อพักอาศัย เมื่อเราหักกิ่งของต้นไม้ออกไป ร่มที่เราอาศัยก็จะหายไปด้วยจนไม่มีร่มเงาให้เราอาศัย
                ๓.อย่าทำชั่วแม้แต่ผู้ไม่ได้ทำอะไรต่อตนเลย คือ งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง
                ตรงกันข้าม มนุษย์เราทุกคนต้องทำดี ๓ ประการ ได้แก่
                ๑.ทำดีตอบสนองความชั่ว คือ ใช้ความดีชนะความชั่ว เช่น เอาเมตตาชนะความโกรธ เอาความมีน้ำใจชนะความเห็นแก่ตัว เป็นการลบล้างความชั่วให้หมดไป เปรียบเหมือนล้างของสกปรกด้วยน้ำสะอาด
                ๒.ทำดีตอบสนองความดี คือ ทำดีต่อผู้อื่นที่ทำดีกับตน คือ รู้จักบุญคุณของผู้มีอุปการะแล้วตอบแทน
                ๓.ทำดีแม้ต่อผู้มิได้ทำอะไรให้ตนเลย คือ ทำด้วยจิตใจที่รู้สึกนึกในความดี เช่น การเสียสละ การช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในภาวะที่ด้อยกว่า เป็นต้น
                ผู้ไม่ละชั่ว เหมือนคนที่ปล่อยให้ร่างกายสกปรก ผู้ที่แม้ละชั่วแล้วแต่ไม่ได้ทำดี ก็เหมือนคนที่ร่างกายสะอาดแต่ยังไม่ได้นุ่งห่มเสื้อผ้า จะเรียกว่าดีแท้ยังไม่ได้เสียทีเดียว ฉะนั้นต้องละชั่วแล้วหันมาทำดีไปพร้อมกันด้วยจึงจะเป็นคนดีจริง

............................................

ความฉลาด ๓ อย่าง
                ในโลกนี้มีคนที่ฉลาดหลักแหลมและเชี่ยวชาญในด้านวิชาการมากมายหลายสาขา แต่มีวิชาการในพุทธศาสนา ๓ สาขา ที่หาผู้ฉลาดและเชี่ยวชาญได้ยากคือ
                ๑.อายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในความเจริญ หมายถึง ผู้ที่รอบรู้แนวทางที่จะทำให้ตัวเองเจริญก้าวหน้าและรู้สาเหตุของความเจริญ ซึ่งจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิต และพัฒนาชีวิตให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
                ๒.อปายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในความเสื่อม หมายถึง ผู้ที่รอบรู้ แนวทางที่จะทำให้ตัวเองเสื่อมและรู้สาเหตุของความเสื่อม เพื่อจะได้หาทางป้องกันตัวเอง และคนรอบข้างไม่ให้เสื่อมจากคุณธรรม และความดีทั้งปวง
                ๓.อุปายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในอุบายต่างๆ หมายถึง ผู้ที่รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าได้อย่างดี และรู้วิธีที่จะจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และคนรอบข้างให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้อง
                ความฉลาดใน ๓ สาขานี้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญได้ และทำให้เกิดมีขึ้นได้โดยอาศัยหลัก
                                สุ มาจาก สุตะ คือ การฟัง ได้แก่การแสวงหาความรู้ในเหตุการณ์และวิชาการต่างๆ อยู่เสมอ
                                จิ มาจาก จินตะ คือเมื่อฟังแล้วก็ใครครวญพิจารณาเหตุผลด้วยปัญญา
                                ปุ มาจาก ปุจฉา คือ ถาม นั่นคือต้องสนใจค้นคว้าหาคำตอบให้ได้ ไม่ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ
                                ลิ มาจาก ลิขิต คือ จดบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อใช้อ้างอิงหรือเตือนความจำ
                ความสำเร็จ ความล้มเหลว สมหวัง ผิดหวัง  เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวาง ดังนั้น คนที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ไม่ฉลาดในความเจริญ ความเสื่อม และอุบายต่างๆ จึงมีโอกาสล้มเหลวในชีวิตค่อนข้างสูง
............................................