วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้


รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้
                  เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่มีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์มือถือ นอกจากจะใช้สำหรับโทรออก และรับสายเข้าแล้ว ยังมีการพัฒนาให้สามรถถ่ายรูปได้ ฯลฯ ส่งผลให้มีราคาสูงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะนอกจากจะต้องคอยซื้อบัตรเติมเงินแล้ว ยังอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการล้าง – อัดรูปด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้หากเราไม่รู้จักระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อหรือตกเป็นทาสได้โดยไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ หนี้สินเพิ่มพูนโดยไม่จำเป็น
                พระท่านสอนไว้ว่า คนฉลาดต้องรู้จักระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมาร ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายต่ำ ที่สังคมจัดขึ้นมาเพื่อหลอกล่อให้เราหลงใหลอยู่ตลอดเวลา บางครั้งต้องดิ้นรนแสวงหาโดยวิธีการที่ผิด ด้วยการทุจริตคดโกง จี้ ปล้น เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งของเหล่านั้นไว้สนองความต้องการของตนเอง
                วิธีการที่จะไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนั้น ให้ยึดหลักสามประการ คือ
                ๑.ระวังกาย (กายสุจริต) คือ รู้จักระมัดระวังการกระทำของตนเอง ไม่ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่น
                ๒.ระวังวาจา (วจีสุจริต) คือ รู้จักพูดสิ่งที่มีสาระ ไม่พูดส่อเสียดใส่ร้ายผู้อื่น และรู้จักบริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์
                ๓.ระวังใจ (มโนสุจริต) คือ รู้จักนึกคิดในทางที่สร้างสรรค์หรือก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ไม่โลภอยากได้ของของเขา ไม่อาฆาตหรือพยาบาทปองร้ายคนอื่น
                ผู้ที่รู้จักระมัดระวังกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ จะเป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่มีความผิดพลาดในเรื่องที่คิด ในกิจที่ทำ และในถ้อยคำที่พูด ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญไม่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจฝ่ายต่ำ จนต้องประกอบการทุจริตดังกล่าวข้างต้น หากทำได้เช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่า “รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้” อย่างแท้จริง
............................................

วิธีแสวงหาและจัดสรรรายได้


วิธีแสวงหาและจัดสรรรายได้
                   สังคมปัจจุบัน เป็นสังคมบริโภคนิยมและวัตถุนิยม เป็นสังคมที่มีสิ่งยั่วยวนชวนเชื่อให้ต้องกินต้องใช้ ต้องมี โดยไม่จำกัด และต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาอยู่ตลอดเวลา รายได้แม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกๆ คน แต่หากสังเกตดูจะพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นที่ปริมาณว่าจะมีรายได้มากเท่าไร บางครั้งเพราะความโลภ ความอยากเกินขอบเขต ความไม่รู้จักเพียงพอ หรือไม่รู้จักวางแผนในการใช้จ่าย ทำให้ต้องแสวงหาหากการแสวงหานั้นกระทำโดยสุจริตก็เป็นผลดี แต่หากแสวงหาโดยวิธีที่ผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมายบ้านเมือง จนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ  ทั้งปัญหาการทุจริต คดโกง ฉ้อโกง ปัญหาหนี้สิน ฯลฯ ตามมา ทั้งในระดับส่วนตัว และในสังคมรอบตัว รวมถึงอาจเป็นปัญหาระดับชาติหากผู้กระทำเป็นนักปกครอง
                ในทางพระพุทธศาสนา สอนให้คนรู้จักแสวงหารายได้โดยวิธีที่ถูกต้อง โดยการขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพโดยสุจริตตามกำลังความสามารถ รักษารายได้ที่หามาได้แล้ว คบหากับมิตรที่ดี และรู้จักดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสม แก่อัตภาพ ไม่ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองจนเกินไป และสอนให้รู้จักจัดสรรรายได้ เป็น ๔ ส่วน คือ ๑ ส่วน ใช้เลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนที่เกี่ยวข้องและทำประโยชน์  ๒ ส่วนใช้ลงทุนประกอบการงาน และอีก ๑ ส่วน เก็บไว้ใช้คราวจำเป็น
                ในยุคสังคมบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม หากผู้ใดปฏิบัติตนได้ตามแนวทางดังกล่าว ก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ไม่พอกับรายจ่าย รวมทั้งปัญหาหนี้สินและความยากจนก็จะหมดไป สามารถสร้างตัวให้มีฐานะดีขึ้น โดยลำดับ ชีวิตก็จะประสบกับความสุขได้โดยไม่ต้องดิ้นรนมากมายอะไร
............................................