วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เรื่องธรรมดา


                เรื่องธรรมดา หมายถึง เรื่องที่ไม่แปลกประหลาด ไม่น่าอัศจรรย์ คนทั่วไปมักให้ความสำคัญน้อยกว่าเรื่องผิดธรรมดาที่เป็นปรากฏการณ์พิเศษ บางครั้งอาจถึงขั้นมองข้าม ไม่อยากสนใจให้เสียเวลา แต่ในชีวิตของคนเรานี้มีเรื่องธรรมดาอยู่ห้าเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด

                ๑.ชราธัมมตา ต้องแก่เป็นธรรมดา 

                ๒.พยาธิธัมมตา ต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา

                ๓.มรณธัมมตา ต้องตายเป็นธรรมดา

                ๔.ปิจวินาภาวตา ต้องพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา

                ๕.กัมมัสสกตา ต้องรับผลกรรมเป็นธรรมดา

                ทั้งห้าหัวข้อนี้ ในทางธรรมสอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเอาใจใส่ ต้องพิจารณาเนืองๆ ให้เข้าใจและยอมรับอย่างถ่องแท้ เพราะจะทำให้เข้าใจชีวิตได้ถูกต้องและมีความพร้อมทั้งสองระดับ คือ พร้อมที่จะรับอันหมายถึงเมื่อความแก่ ความเจ็บ มาถึงก็จะมีสติ ไม่ตื่นตระหนก หรือเป็นทุกข์เกินกว่าเหตุ เป็นต้น และพร้อมที่จะเริ่ม อันหมายถึงเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่หนีไม่พ้น จะได้เริ่มตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทแล้วเร่งสร้างคุณค่าและสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง

                ลองคิดล่วงหน้าดูก่อนก็ได้ว่า ถ้าต้องประสบกับปรากฏการณ์ห้าข้อนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเดือดร้อนวุ่นวายจนไม่สงบทุเลา หรือท้อแท้ซบเซาจนสิ้นสุข ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจ ยังปฏิบัติผิด แม้ต่อเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องธรรมดาๆ

............................................


ความทุกข์กินเปล่า


                 มีผู้คนจำนวนมากที่มักวิตกกังวล หมกมุ่นครุ่นคิดถึงเรื่องต่างๆ จนเกิดความทุกข์ล่วงหน้าทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่เกิด เช่น นักเรียนบางคนกังวลว่าจะสอบไม่ได้ จะเรียนไม่จบ กลัวไปสารพัด จะกินจะนอน จะทำกิจวัตรใดๆ ก็ครุ่นคิดแต่เรื่องที่จะสอบไม่ได้ทั้งที่ยังไม่ได้สอบ ข้าราชการบางคนเมื่อได้รับมอบหมายงาน ก็เริ่มวิตกกังวล กลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวผู้บังคับบัญชาจะกวดขันเพ่งเล็ง หรือกลัวว่าจะเกิดอุปสรรคอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ตลอด จนขาดความมั่นใจและรู้สึกเครียด บางคนก็วิตกกังวลกับเรื่องของชีวิต ห่วงว่าถ้าต้องเจ็บป่วยไปเสียคนหนึ่ง ครอบครัวจะอยู่ได้อย่างไร แล้วก็หวดหวั่นกลัดกลุ่มไปกับความคิดที่คิดขึ้นมาเองนั้น

                ทั้งที่เป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาเอง จะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะถ้าสอบตกขึ้นมาจริงๆ ก็คงไม่ดีเป็นแน่ ถ้าทำงานแล้วเกิดความเสียหายผิดพลาดก็ต้องทุกข์ใจเป็นธรรมดา หรือถ้าเจ็บป่วยทุพพลภาพลงก็จะเป็นมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ จริงๆ ที่คิดทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องที่มีสาระนั่นแหละ เพียงแต่จับสาระไม่ถูก เพราะสาระของเรื่องที่เหล่านั้นก็คือต้องเอาความกังวลนั่นแหละเป็นเครื่องตัดความกังวล เมื่อกังวลว่าจะสอบไม่ผ่านก็ต้องศึกษาค้นคว้า อย่างเต็มที่ จดจ่อทุ่มเทให้กับการอ่านจนไม่มีเวลาไปกังวลกับเรื่องที่จะสอบไม่ผ่านอีก

                มนุษย์เรามีข้อเสียโดยส่วนใหญ่อย่างหนึ่งคือ ลำพังความคิดอย่างเดียวก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้เป็นความทุกข์กินเปล่า ที่แทบจะหาที่มาที่ไปไม่ได้เลย แต่สามารถกัดกร่อนชีวิตได้อย่างเหลือเชื่อ แต่หากมองในแง่ดีคือ ลำพังความคิดนี้เหมือนกันถ้าคิดดีคิดถูก ก็จะทำให้นำมาซึ่งความสุขได้อย่างไม่ยาก ฉะนั้นจึงควรศึกษาที่จิตใจนี้เถิด จึงจะสามารถทำให้ไม่ต้องพบกับคำว่า “ความทุกข์กินเปล่า” อีกต่อไป

............................................


ภาวะโลกร้อน


                ปัจจุบัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาในแต่ฤดูกาลที่แปลกออกไปจากที่เคยจะเป็น เชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเพื่อการอุตสาหกรรม ที่ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจำนวนมากจนโลกมีสภาพคล้ายถูกครอบไว้ด้วยเรือนกระจก ทำให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลกไม่สามารถระบายออกไปจากชั้นบรรยากาศได้จึงเกิดภาวะโลกร้อน

                สำหรับในตัวมนุษย์เอง ในทางธรรมะได้กล่าวไว้ว่าสิ่งที่จะทำให้มนุษย์เกิดความเร่าร้อนมีสามอย่างคือ

                ๑.ราคัคคิ ไฟราคะ ได้แก่ ความติดใจ อยากได้ ทำให้กระวนกระวาย ยังไม่ได้ก็เร่าร้อนดิ้นรน ครั้นได้มาก็กังวลหวงแหน เกรงจะสูญเสียพลัดพราก คือไม่ว่าจะผิดหวังหรือสมหวังก็หนีทุกข์ไม่พ้น ยิ่งอยากแบบไม่มีสิ้นสุด ยิ่งไม่มีทางสงบเย็นได้

                ๒.โทสัคคิ ไฟโทสะ ได้แก่ความขัดเคือง ไม่พอใจ ทำให้ร้อนรุ่มอยู่ในอก แม้จะคิดแก้ไขก็มักใช้วิธีจัดการกับผู้อื่น ไม่จัดการตัวเองทั้งที่เป็นเจ้าของความไม่พอใจ กลายเป็นไฟไหม้บ้านหลังหนึ่งแต่พยายามไปดับที่บ้านอีกหลังหนึ่ง

                ๓.โมหัคคิ ไฟโมหะ ได้แก่ ไม่เข้าใจความจริง เห็นผิดว่าถูก เห็นถูกว่าผิด เป็นตัวการทำให้การตัดสินใจ การพูด การทำผิดไปหมด เมื่อมีการปฏิบัติผิดไปจากเหตุผลและความถูกต้องของเรื่องต่างๆ ย่อมประสบแต่ความทุกข์ร้อนอย่างไม่ต้องสงสัย

                จะว่าไฟทั้งสามนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็คงไม่ผิดนัก เพราะถ้ามนุษย์ไม่ทำลาย โลกก็ยังมีความสมดุล ไม่วิปริต และมนุษย์จะทำลายไปทำไม่ถ้าไม่ใช่เพราะโลภไม่มีสิ้นสุด โกรธไม่รู้จักยับยั้ง และหลงชนิดเห็นผิดเป็นถูก ดังนั้น ถ้ายังดับไม่ก็ต้องควบคุมไฟทั้งสามให้ดีที่สุด โลกจึงจะเย็นลงได้

............................................

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

ส่วนเกิน

 


                 เดิมที มนุษย์สามารถที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกก็แค่ปัจจัยสี่เท่านั้น คือ กินเมื่อหิว มีที่อยู่อาศัยกันแดดฝน มีเครื่องนุ่งห่มปิดกาย และมียารักษาเมื่อเจ็บป่วย ต่อมาก็เริ่มมีการแสวงหาสิ่งที่เป็นส่วนเกินจากปัจจัยที่จำเป็นต่อการยังชีพเพิ่มเข้าเรื่อยๆ โดยพยายามแสงหาทรัพย์สินเงินทองให้ได้มากๆ ด้วยวิธีต่างๆ แม้วิธีการแสวงหาทรัพย์บางอย่างอาจจะไม่ถูกต้องก็ตาม ในที่สุดก็เป็นการสร้างสมบัติ การสั่งสม รู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ครอง ทำให้ยึดติด จนกลายเป็นว่าความสุขของมนุษย์ ต้องขึ้นอยู่ที่ว่ามีสมบัติส่วนเกินนี้ไว้เสพเสวยเท่าไร ลำพังตัวมนุษย์เองไม่สามารถสร้างความสุขให้เกิดได้ เป็นการกดตัวเองให้จมดิ่งในบริโภคนิยม ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มีเกณฑ์ง่ายๆ เพื่อสำรวจความคิดที่มีต่อปัจจัยส่วนเกินนี้ ว่าได้ตกไปสู่บริโภคนิยมเพียงใด แบ่งเป็นสามระดับคือ

                ระดับที่หนึ่ง ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ เป็นระดับที่เสียอิสรภาพ เพราะถูกบังคับให้ต้องดิ้นรนเอามาให้ได้ ถ้าไม่ได้ชีวิตก็ไร้ความสุข แต่มีแนวโน้มว่าถึงได้มาจริง ก็จะยังไม่พอง่ายๆ ต้องดิ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ

                ระดับที่สอง มีก็ดี ไม่มีก็ได้ เป็นระดับที่เห็นอิสรภาพ เพราะปัจจัยส่วนเกินนั้นไม่ใช่ทางเดียวของความสุขของเขา ถ้ามีก็เกิดความสุข แต่ถ้าไม่มีก็ยังหาความสุขให้กับชีวิตได้อยู่

                ระดับที่สาม มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เป็นระดับที่มีอิสรภาพ เป็นการนำชีวิตเข้าถึงคุณค่าแท้ จนรู้สึกว่ามีก็ได้คือไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว แต่ถ้าไม่มีจะดีกว่า เพราะไม่เป็นภาระต่อการปลดเปลื้องจิตใจที่บริสุทธิ์ สงบเย็น

                ถ้าคิดว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ หรือคิดว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดีปัจจัยส่วนเกินก็มีหน้าที่รับใช้ชีวิต แต่ถ้าคิดว่า ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ ชีวิตก็เป็นเครื่องรับใช้ปัจจัยส่วนเกิน กลายเป็นมนุษย์ที่ยอมจำนนต่อวัตถุ นับเป็นความสูญเสียอย่างถึงที่สุดทีเดียว

............................................

วิถีแห่งธรรม

 


                 ดูเหมือนว่าชาวพุทธในประเทศไทยเราไม่น้อยที่พากันหลงใหลในวัฒนธรรมของชาวตะวันตกกันจนลืมความสำคัญของคำว่า มาฆบูชา หรือวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันตสาวกจำนวน  ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมีสาระสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยธรรมคือ

                ๑.อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายกัน

                ๒.อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนกัน

                ๓.ปาติโมกเข จะ สังวโร เคร่งครัดในระเบียบวินัย เคารพในแบบแผนที่มีอยู่

                ๔.มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่แต่พอประมาณ ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น

                ๕.ปัตตัญจะ สยะนาสะนัง อยู่ในสถานที่สงบ ไม่วุ่นวาย

                ๖.อธิจิตเต จะ อาโยโค ฝึกจิตให้มั่นคง มีคุณธรรม ประกอบด้วยปัญญา

                อันที่จริงชีวิตคือความเรียบง่าย แต่ความเจริญของโลกอย่างที่เจริญอยู่นี้ ทำให้ชีวิตต้องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เช่นต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ต้องปรับตัวอย่างเร็วให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง และความยุ่งยากซับซ้อนนี้ก็กลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่มักก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน การใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ การเป็นอยู่ที่ฟุ้งเฟ้อลืมตัว ตลอดจนไม่ให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจและคุณธรรม

                ความจริงมีอยู่ว่า ยิ่งเราปฏิเสธวิถีแห่งโลกไม่ได้เพียงใด ก็ยิ่งมีความต้องการวิถีแห่งธรรมมากขึ้นเพียงนั้น ชีวิตจึงจะสงบสุข วันมาฆบูชา จึงไม่เพียงเป็นวันที่ชาวพุทธไม่ควรลืม แต่ควรเป็นวันแห่งการสำรวจชีวิตของตนเองด้วยว่า ได้เดินออกนอกทางที่เป็นวิถีแห่งความดีงามมากน้อยเพียงใด หรือเรียกว่ายังอยู่ในวิถีแห่งธรรมมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

............................................

ความเปลี่ยนแปลง

 


                ปัจจุบัน เทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างมาก กับทั้งวิธีชีวิตคนส่วนใหญ่ก็ต่างมุ่งแข่งขันกันหลายๆ ด้าน ความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและวิถีชีวิตทั้งสองประการนี้ทำให้จำเป็นต้องใช้ธรรมะที่เป็นหลักสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างน้อยสี่ประการ คือ

                ๑.สัจจะ ความจริงใจ หรือซื่อสัตย์ทั้งจริงต่อตัวเอง ต่อหน้าที่การงาน ต่อวาจา ต่อบุคคลและต่อความดี

                ๒.สุจริต คือประพฤติชอบ อยู่ในกรอบของกฎหมายและทำนองคลองธรรม ทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่ถูกที่ควร ไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเอง

                ๓. เสียสละ ได้แก่เสียสละกำลังกาย ขวนขวายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เสียสละกำลังความคิด เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ รวมทั้งเสียสละกำลังทรัพย์เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

                ๔.สามัคคี ร่วมมือร่วมใจกระทำภารกิจต่างๆ อย่างพร้อมเพียงด้วยความเต็มใจ ไม่สร้างหรือสนับสนุนให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

                โลกและวิธีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง เฉพาะในส่วนที่ทำให้เกิดผลร้าย ก็คงไม่พ้นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับหัวข้อข้างต้น คือทำให้คนขาดความจริงใจ ไม่ประพฤติสุจริต คิดเอาแต่ได้ และแบ่งฝ่ายขัดแย้งกันเอง แต่ถึงชีวิตมนุษย์จะต้องเปลี่ยนไปตามโลกและยุคสมัยเพียงใดก็ตาม หากยึดมั่นในคุณธรรมสี่ประการนี้ ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงย่างมีหลัก คือถึงจะเปลี่ยนอย่างไร สาระและความดีของชีวิตก็ยังคงอยู่ได้และชีวิตที่มีสาระนี้เท่านั้น ที่จะแข็งแกร่งมั่นคงพอที่จะต้านกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป

............................................