วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

ระดับของความดี


                 คำว่า “ความดี” มีความหมายในหลายๆ อย่าง เช่น ดีคือไม่เสีย ดีคือมีประโยชน์ ดีคือมีความสุข ฯลฯ ความดีนั้นมีหลายระดับ ทั้งยังกว้างขวางและลึกซึ้ง ในชาดก ได้กล่าวถึงความดีลักษณะหนึ่งของผู้ครองเรือนไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเป็นสี่ระดับคือ

                ๑.ขยั่นหมั่นเพียร จัดเป็นความดีขั้นพื้นฐาน เพราะจะทำให้ชีวิตอยู่รอด ทำให้ร่างกาย สมองและความคิดมีพัฒนาการ เป็นคนที่มีคุณภาพในระดับแรกสุด เป็นต้นทุนทำให้มีการต่อสู้และสร้างสรรค์

                ๒.รู้จักแบ่งปัน เป็นความดีที่สูงขึ้นไปอีก เพราะรู้จักมองให้พ้นไปจากผลประโยชน์ของตัวเอง มีการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้อื่นยินดีแบ่งปันแม้ผลประโยชน์อันได้จากความหมั่นเพียรซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม แม้การได้ครอบครองจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ แต่บางครั้งการเสียสละกลับเป็นความยิ่งใหญ่กว่า

                ๓.เมื่อได้ลาภยศก็ไม่หลงระเริง คือไม่ตกเป็นทาสวัตถุ ไม่หลงมัวเมาในลาภยศชื่อเสียงถือเอาสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะทำความดีได้อย่างสะดวกและกว้างขวางขึ้น ความพรั่งพร้อมที่มีอยู่ก็เป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาตัวเองให้มีค่ายิ่งขึ้น

                ๔.เมื่อถึงคราววิบัติก็ไม่ท้อแท้ ด้วยมองเห็นว่าทุกคนล้วนเกิดมาตัวเปล่า เมื่อเริ่มจากศูนย์ หากวันหนึ่งต้องกลับไปเหลือศูนย์อีก ก็เป็นความเสมอตัวเท่านั้น ไม่ใช่ขาดทุน แล้วประคองชีวิตเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง เยือกเย็น และสง่างาม เป็นบุคคลชนิดยิ้มได้เมื่อภัยมา

                ความดีทั้งสี่ระดับนี้ เป็นการแบ่งจากต่ำไปหาสูง จากง่ายไปหายาก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มนุษย์ยกระดับการทำความดีให้สูงขึ้น ก้าวหน้าขึ้น และเป็นเครื่องทดสอบตัวเองว่า ขณะนี้เรามีความดีอยู่ในระดับใด

............................................