วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

ส่วนเกิน

 


                 เดิมที มนุษย์สามารถที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกก็แค่ปัจจัยสี่เท่านั้น คือ กินเมื่อหิว มีที่อยู่อาศัยกันแดดฝน มีเครื่องนุ่งห่มปิดกาย และมียารักษาเมื่อเจ็บป่วย ต่อมาก็เริ่มมีการแสวงหาสิ่งที่เป็นส่วนเกินจากปัจจัยที่จำเป็นต่อการยังชีพเพิ่มเข้าเรื่อยๆ โดยพยายามแสงหาทรัพย์สินเงินทองให้ได้มากๆ ด้วยวิธีต่างๆ แม้วิธีการแสวงหาทรัพย์บางอย่างอาจจะไม่ถูกต้องก็ตาม ในที่สุดก็เป็นการสร้างสมบัติ การสั่งสม รู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ครอง ทำให้ยึดติด จนกลายเป็นว่าความสุขของมนุษย์ ต้องขึ้นอยู่ที่ว่ามีสมบัติส่วนเกินนี้ไว้เสพเสวยเท่าไร ลำพังตัวมนุษย์เองไม่สามารถสร้างความสุขให้เกิดได้ เป็นการกดตัวเองให้จมดิ่งในบริโภคนิยม ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มีเกณฑ์ง่ายๆ เพื่อสำรวจความคิดที่มีต่อปัจจัยส่วนเกินนี้ ว่าได้ตกไปสู่บริโภคนิยมเพียงใด แบ่งเป็นสามระดับคือ

                ระดับที่หนึ่ง ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ เป็นระดับที่เสียอิสรภาพ เพราะถูกบังคับให้ต้องดิ้นรนเอามาให้ได้ ถ้าไม่ได้ชีวิตก็ไร้ความสุข แต่มีแนวโน้มว่าถึงได้มาจริง ก็จะยังไม่พอง่ายๆ ต้องดิ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ

                ระดับที่สอง มีก็ดี ไม่มีก็ได้ เป็นระดับที่เห็นอิสรภาพ เพราะปัจจัยส่วนเกินนั้นไม่ใช่ทางเดียวของความสุขของเขา ถ้ามีก็เกิดความสุข แต่ถ้าไม่มีก็ยังหาความสุขให้กับชีวิตได้อยู่

                ระดับที่สาม มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เป็นระดับที่มีอิสรภาพ เป็นการนำชีวิตเข้าถึงคุณค่าแท้ จนรู้สึกว่ามีก็ได้คือไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว แต่ถ้าไม่มีจะดีกว่า เพราะไม่เป็นภาระต่อการปลดเปลื้องจิตใจที่บริสุทธิ์ สงบเย็น

                ถ้าคิดว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ หรือคิดว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดีปัจจัยส่วนเกินก็มีหน้าที่รับใช้ชีวิต แต่ถ้าคิดว่า ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ ชีวิตก็เป็นเครื่องรับใช้ปัจจัยส่วนเกิน กลายเป็นมนุษย์ที่ยอมจำนนต่อวัตถุ นับเป็นความสูญเสียอย่างถึงที่สุดทีเดียว

............................................

วิถีแห่งธรรม

 


                 ดูเหมือนว่าชาวพุทธในประเทศไทยเราไม่น้อยที่พากันหลงใหลในวัฒนธรรมของชาวตะวันตกกันจนลืมความสำคัญของคำว่า มาฆบูชา หรือวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันตสาวกจำนวน  ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมีสาระสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยธรรมคือ

                ๑.อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายกัน

                ๒.อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนกัน

                ๓.ปาติโมกเข จะ สังวโร เคร่งครัดในระเบียบวินัย เคารพในแบบแผนที่มีอยู่

                ๔.มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่แต่พอประมาณ ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น

                ๕.ปัตตัญจะ สยะนาสะนัง อยู่ในสถานที่สงบ ไม่วุ่นวาย

                ๖.อธิจิตเต จะ อาโยโค ฝึกจิตให้มั่นคง มีคุณธรรม ประกอบด้วยปัญญา

                อันที่จริงชีวิตคือความเรียบง่าย แต่ความเจริญของโลกอย่างที่เจริญอยู่นี้ ทำให้ชีวิตต้องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เช่นต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ต้องปรับตัวอย่างเร็วให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง และความยุ่งยากซับซ้อนนี้ก็กลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่มักก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน การใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ การเป็นอยู่ที่ฟุ้งเฟ้อลืมตัว ตลอดจนไม่ให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจและคุณธรรม

                ความจริงมีอยู่ว่า ยิ่งเราปฏิเสธวิถีแห่งโลกไม่ได้เพียงใด ก็ยิ่งมีความต้องการวิถีแห่งธรรมมากขึ้นเพียงนั้น ชีวิตจึงจะสงบสุข วันมาฆบูชา จึงไม่เพียงเป็นวันที่ชาวพุทธไม่ควรลืม แต่ควรเป็นวันแห่งการสำรวจชีวิตของตนเองด้วยว่า ได้เดินออกนอกทางที่เป็นวิถีแห่งความดีงามมากน้อยเพียงใด หรือเรียกว่ายังอยู่ในวิถีแห่งธรรมมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

............................................

ความเปลี่ยนแปลง

 


                ปัจจุบัน เทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างมาก กับทั้งวิธีชีวิตคนส่วนใหญ่ก็ต่างมุ่งแข่งขันกันหลายๆ ด้าน ความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและวิถีชีวิตทั้งสองประการนี้ทำให้จำเป็นต้องใช้ธรรมะที่เป็นหลักสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างน้อยสี่ประการ คือ

                ๑.สัจจะ ความจริงใจ หรือซื่อสัตย์ทั้งจริงต่อตัวเอง ต่อหน้าที่การงาน ต่อวาจา ต่อบุคคลและต่อความดี

                ๒.สุจริต คือประพฤติชอบ อยู่ในกรอบของกฎหมายและทำนองคลองธรรม ทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่ถูกที่ควร ไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเอง

                ๓. เสียสละ ได้แก่เสียสละกำลังกาย ขวนขวายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เสียสละกำลังความคิด เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ รวมทั้งเสียสละกำลังทรัพย์เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

                ๔.สามัคคี ร่วมมือร่วมใจกระทำภารกิจต่างๆ อย่างพร้อมเพียงด้วยความเต็มใจ ไม่สร้างหรือสนับสนุนให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

                โลกและวิธีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง เฉพาะในส่วนที่ทำให้เกิดผลร้าย ก็คงไม่พ้นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับหัวข้อข้างต้น คือทำให้คนขาดความจริงใจ ไม่ประพฤติสุจริต คิดเอาแต่ได้ และแบ่งฝ่ายขัดแย้งกันเอง แต่ถึงชีวิตมนุษย์จะต้องเปลี่ยนไปตามโลกและยุคสมัยเพียงใดก็ตาม หากยึดมั่นในคุณธรรมสี่ประการนี้ ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงย่างมีหลัก คือถึงจะเปลี่ยนอย่างไร สาระและความดีของชีวิตก็ยังคงอยู่ได้และชีวิตที่มีสาระนี้เท่านั้น ที่จะแข็งแกร่งมั่นคงพอที่จะต้านกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป

............................................