เพื่อนเล่าว่า

....เกิดจากประสบการณ์ตรงของเพื่อนที่ ได้ปฏิบัติตรงแล้วมาแชร์ให้เพื่อนๆ ในกลุ่ม เพื่อเป็นแนวทางและความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องที่ตนเองประสบและเข้าใจมา แต่เพื่อนไม่ต้องการจะแสดงตน ผู้ดูแลบล็อคนี้จึงขอนำมาเสนอให้ผู้ที่ผ่านเข้ามาในบล็อค ได้อ่านและพิจารณาในความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เพื่อนได้ประสบมาและมีแนวคิดเช่นไร อย่างไร.... 

สมาธิ  เป็นการทำให้จิตสงบนิ่ง    เพราะปกติจิตเราไม่เคยสงบนิ่ง     ถ้าจิตสงบนิ่งจะทำให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต
จิตที่ไม่สงบนิ่ง   เปรียบเหมือนน้ำที่มีตะกอนแขวนลอย (นิวรณ์)  อยู่เต็มไปหมด   ถ้าเราทำให้น้ำนิ่งใส  เราจึงจะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำได้ (กิเลส)
พอจิตนิ่ง  เราจะเห็นกิเลส  ความไม่บริสุทธิ์  ที่ปรุงแต่งอยู่ในจิต 

คนไม่ทำสมาธิ  จะไม่รับรู้จิตในระดับของจิตใต้สำนึก  (เหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำ)   จริง ๆ จิตระดับนี้จะตอบโต้กับความรู้สึกที่ชอบ  (โลภ)    ไม่ชอบ (โกรธ)  หรือแม้แต่รู้สึกเฉย ๆ (หลง)  อยู่ตลอดเวลา        แล้วสั่งสมตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต  เหมือนหินดาน  เป็นกิเลสที่เรียกว่าอนุสัย  (สันดาน)  แก้ไขสันดานโดยการสั่งสอน    การคิดนึก  การห้ามกระทำ   ยากที่สุดเพราะจิตมันยึดไว้อย่างเหนียวแน่น

คนทำสมาธิ   เมื่อทำสมาธิได้ในระดับที่จิตนิ่ง  การรับรู้จะชัดเจน  และทำสมาธิลึกลงไปจนรับรู้การปรุงแต่งของจิตใต้สำนึกได้  เช่น เวลาที่จิตมีความโกรธ  (แม้เพียงเล็กน้อย แบบไม่พอใจ หงุดหงิด)  เจ้าตัวก็จะรับรู้ได้  เพราะมันจะมีอาการ   เช่น รู้สึกเป็นก้อน
จุกอก  จุกคอหอย  ร้อนเป็นก้อนแข็งในจิต  (แต่ละคนจะรู้สึกไม่เหมือนกัน)   บางคนอาจเห็นจิตตัวเองได้เหมือนตาเห็น  ว่าจิตเป็นสีแดงเวลาโกรธ  ซึ่งคนไม่ปฏิบัติจะรับรู้ไม่ได้  หรือได้บ้างแต่ไม่ชัดเจน
เวลาไปเห็นของอย่างหนึ่ง  แล้วชอบอยากได้  มันก็จะมีสภาวะของความโลภ  เข้ามาที่จิตมันเป็นความเหนี่ยวรั้ง   อึดอัดเกิดขึ้นให้รับรู้ได้   ชอบก็เหนี่ยวรั้งเป็นแรงดึงเข้ามา   ไม่ชอบก็ผลักไสเป็นแรงดันออกไป   ทุกอย่างจะรับรู้ได้เป็นสภาวะความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น ๆ แม้ไม่ได้หลับตาทำสมาธิ      จึงไม่ใช่จินตนาการ  เพราะรู้สึกจริงอยู่แบบตื่น ๆ ลืมตานี่แหละ

ที่เราต้องทำสมาธิ
เพราะเรารู้สึกได้เวลาที่กิเลสเกิด    ว่ามันมีความอึดอัด
 ความหนักเป็นก้อน ๆ   จะเรียกว่าก้อนทุกข์ก็ได้   แล้วใครจะอยากอยู่กับความรู้สึกอย่างนั้น  การทำสมาธิ และวิปัสสนา  จะช่วยให้เห็นสภาวะของกิเลส  การวิปัสสนา ช่วยสลาย ทำลายสภาพนั้น  จิตก็จะเคลียร์ใส  ว่าง  สะอาด
มันก็เหมือนได้กวาดบ้าน   ถูบ้าน  บ้านก็สะอาด

จะพ้นทุกข์ได้จริงมั้ย
จากประสบการณ์ตัวเอง  นั่งแบบไม่ขยับ หนึ่ง ชม. ขึ้นไป  มีความเจ็บปวด ทรมานมาก  แต่พอพิจารณาไปจนเห็นอุปาทาน  ความยึดของจิตว่าความปวดเป็นของเรา จิตมันตัดความยึด ปล่อยวางแบบยอมตาย ไม่มีตัวเรา ของเรา  จิตก็แยกออกมาเป็นอิสระ  ไม่ไปจมอยู่กับความปวด
       ความทุกข์จากความปวดมันก็ดับไม่เหลือ
 ความรับรู้ว่าปวดก็ยังอยู่นะเหมือนสายของความปวดไหลผ่านให้รับรู้  จิตแยกมารู้อยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปติดกับความปวดนั้น   ความปวดไม่ได้ถูกตีความว่าดีหรือไม่ดี  เป็นแค่สภาวธรรมให้จิตรับรู้     ไม่ได้นั่งหลับเพราะเสียงข้างนอกก็รับรู้  ไม่ได้จินตนาการเพราะปวดจริง
แต่จิตแยกออกมาจากความปวดได้  ไม่ทุกข์

เพราะเคยเห็น เคยรู้ว่า จิตแยกจากทุกข์ได้จริง  จึงเกิดศรัทธาในการปฏิบัติ  ทำให้ยิ่ง  ๆ ขึ้นไป  เพื่อให้จิตแยกตัวออกจากทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด  ไม่กลับมาติดกับทุกข์อีก    มีร่างกาย  ก็เจ็บป่วย เสื่อมสภาพไป
ตามธรรมดาโลก   แต่ต้องการฝึกจิตให้พ้นทุกข์แบบถาวรไม่ต้องเวียนตาย  เวียนเกิดอีก  เพราะถ้าเกิดก็เจอทุกข์แบบนี้ร่ำไป


ถ้าไม่ทำสมาธิ
จะเป็นคนที่พอรับผัสสะ  (เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส  กายสัมผัส)  ก็จะชอบบ้าง   ชังบ้าง  สะสมกิเลสตกตะกอนไปเรื่อย ๆ  จนกิเลสพอกจิต  ดำปี๋  เหมือนกระจกไม่ได้เช็ด มองอะไรก็บิดเบือนไปตามการปรุงแต่งของกิเลส    ตัวจิตเดิมที่ประภัสสรไม่มีโอกาสได้เกิดปัญญา   การเรียนรู้ที่จะขจัดกิเลส ก็ไม่มี 
พอทุกข์เรื่องใดก็ยึดว่าเป็นทุกข์ของตัวเอง แล้วก็แบกทุกข์ไว้  ใช้วิธีทางโลกแก้ทุกข์ไปได้เป็น
คราว ๆ  แล้วก็หลอกตัวเองว่าไม่มีทุกข์  (อันนี้แหละโมหะความหลงชัดเจน)

ทั้งนี้ สมาธิ มี ๒ แบบนะ  สัมมาสมาธิ  กับ มิจฉาสมาธิ
สัมมาสมาธิ  จะเป็นสมาธิแบบจิตตั้งมั่น เป็นกลาง รับรู้ทุกอย่างแบบไม่แทรกแซง   พัฒนาขึ้นไปเป็นกำลังแก่การวิปัสสนา 
มิจฉาสมาธิ  สมาธิให้สงบ บางทีสงบสุขอย่างเดียว  แล้วจิตก็ติดสมาธิแบบนี้     บางทีทำให้เกิดกำลังจิต  เอากำลังจิตไปใช้ในทางมิชอบ  อ่านใจคน  ครอบงำคนอื่น เพื่อลาภสักการะ  
.....................................
สนใจปฏิบัติธรรมเพราะอะไร
สืบเนื่องจากการเผาศพหลานชายที่จมน้ำตาย   ด้วยวัยเพียง หนึ่งขวบแปดเดือน   ขณะที่สัปเหร่อกำลังเปิดหน้าเตาเผาศพ  เพื่อเขี่ยศพ    เราก็ยืนดูอยู่   ขณะนั้นจิตเกิดพิจารณาว่า 
 “ดูสิเด็กตัวแค่นี้ก็ต้องมาตายแล้ว”
 แล้วจิตก็พิจารณาไปอีกว่า
 “อ้าว  อีกหน่อยพ่อแม่เราก็ต้องมาถูกเผาอยู่ตรงนี้นี่”  
อย่างรวดเร็วจิตย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง
“เฮ้ย เราด้วยนี่หว่า”   ขณะนั้นจิตเหมือนถูกกระชาก   ชาไปทั้งตัว   เหมือนถูกไฟช็อต 
ก็มาคิดพิจารณาว่า  แล้วเราเกิดมาทำไม  เกิดมาแล้วก็ตาย      ทำอย่างไรเราจะเรียนรู้ที่จะไม่โศกเศร้าเสียใจเวลาที่พ่อแม่เราตาย   หรือแม้แต่ตัวเรา   เราจะเตรียมตัว เตรียมใจอย่างไร  ที่จะไม่เศร้าเสียใจเมื่อคนที่เรารัก  หรือแม้แต่ตัวเรากำลังจะตาย    แล้วเราจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร    ก็มีคำตอบว่า   เราต้องศึกษาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะท่านเคยสอนเรื่องการพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์  และท่านสอนวิธีการพ้นทุกข์      จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่า   เราต้องเริ่มปฏิบัติธรรมแล้ว
///////
เริ่มอย่างไร

                หลังจากที่คิดว่าจะเริ่มปฏิบัติธรรมแล้ว    เป็นจังหวะที่ธรรมจัดสรร  สามีไปขนของจากบ้านน้องสาวที่ขายบ้านไปอยู่คอนโด  ได้หนังสือธรรมะมาจำนวนมาก  เลยได้อ่านหนังสือหลวงพ่อจรัญ  วัดอัมพวัน  เกี่ยวกับกฎแห่งกรรมทั้งหลาย และการวิปัสสนา  จึงมุ่งที่จะไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน  จ. สิงห์บุรี    โดยได้โทร. ขอข้อมูลกับเพื่อนที่ชอบบวชชีพราหมณ์  เกี่ยวกับการไปวัดอัมพวัน   แต่เพื่อนคนนี้ก็เล่าให้ฟังว่าเพิ่งไปเข้าคอร์ส  อ. โกเอ็นก้า  ที่ธรรมกมลา จ. ปราจีนบุรีมา  ดีมาก เราก็สนใจถามเพื่อนว่าเธอมีหนังสือมั้ย  เค้าสอนอย่างไร  เพื่อนก็ส่งหนังสือธรรมบรรยายฉบับย่อให้อ่าน  ปรากฏว่าอ่านแล้วชอบมาก   ตัดสินใจว่าจะต้องสมัครไปที่นี่     แต่ก็ยังห่วงลูกคนเล็กที่อายุเพียง หนึ่งขวบกว่า ๆ    ได้บอกเพื่อนไปว่ารอให้ลูกโตกว่านี้หน่อย    ช่วงนั้น   เพื่อนตอบกลับมาว่า  มันเป็นข้ออ้างของตัวเราเอง  ถ้าจะไปจริง ๆ  ทำไมเราจะหาเวลาไม่ได้      ในช่วงเช้าวันหนึ่งขณะทำงานบ้านก็เปิดวิทยุฟังธรรมะไปด้วย      พระท่านเทศน์ว่า  เวลาคนเราจะไปปฏิบัติธรรม  มักจะห่วงโน่น   ห่วงนี่    การที่เราจะไปเอาธรรมะ  ให้ตัดใจต่อสิ่งที่เราห่วงใย  ท่านใช้คำว่า  “ให้จากไปเหมือนตายจาก”   ตอนนั้นคิดพิจารณาตามได้เลยว่า   หากแม้เราขับรถออกไปถนนใหญ่แล้วรถชนเราตาย  ทุกคนเค้าก็อยู่ต่อกันไปได้    ไม่มีใครยอมตายตามเราไปแน่     หรือแม้ว่าเราป่วยหนักต้องนอนโรงพยาบาลเป็นสิบวัน  เราก็หายไปจากงาน  จากครอบครัวได้       เลยตัดความห่วงได้  ส่งใบสมัครไปเข้าคอร์ส  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546  ซึ่งเป็นช่วงเวลาค่อมวันหยุดอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา      ถือว่าได้ปฏิบัติบูชาด้วย     แต่ได้รับคำตอบว่าคอร์สเต็มแล้ว  เราอยู่ในกลุ่มสำรอง   ต้องรอมีคนสละสิทธิ์ก่อน เราจึงจะได้     เลยอธิษฐานขอบารมีหลวงตามหาบัว  ขอให้ได้ไปปฏิบัติธรรม  ต่อมาก็ได้รับจดหมายตอบรับให้เข้าคอร์สได้
//////
วันแรกที่ไปถึงศูนย์ปฏิบัติธรรม

                การเข้าคอร์สในวันแรกเดินทางไปถึงศูนย์ธรรมกมลา ต. ดงขี้เหล็ก อ. เมือง จ. ปราจีนบุรี ประมาณบ่ายสองโมง   รายงานตัว  ลงทะเบียนเจ้าหน้าที่ได้ให้ฝากกระเป๋าสตางค์  สิ่งของมีค่าเก็บไว้ที่ผู้จัดการคอร์ส  รวมทั้งเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด  สมัยก่อนเรายังไม่มีโทรศัพท์มือถือ   จึงฝากแค่กระเป๋าสตางค์     ไปถึงห้องพักซึ่งเป็นเรือนแถวยาวมีห้องเล็ก ๆ กั้นด้วยไม้อัด  ทั้งเรือนมีประมาณ  20 ห้อง    เขตผู้หญิงมี 3 เรือนแถว   ใช้ห้องน้ำรวมซึ่งอยู่บริเวณทางเชื่อมระหว่างเรือน  มีห้องน้ำทั้งหมด  16 ห้อง     ภายในห้องมีเตียงนอนเล็ก ๆ  โต๊ะตัวเล็กที่ข้างหัวเตียง  เก้าอี้  ไม่มีพัดลม  มีพัดมือถือให้ 1 อัน  มุ้ง  หมอน ที่นอนยางพาราอย่างบาง ชุดผ้าปู ปลอกหมอน  ผ้าห่ม  ซักสะอาดวางไว้ให้เราสวมจัดที่นอนเอง       ในเย็นวันแรกมีอาหารเย็นให้ทานตอน 5 โมงเย็นเป็นอาหารง่าย ๆ เช่นราดหน้า  หรือ ผัดซีอิ๊ว      หลังจากทานอาหารเย็นฟังปฐมนิเทศตอน  6 โมงเย็น  เกี่ยวกับกฎระเบียบการปฏิบัติตนระหว่างอยู่ในคอร์ส   ได้แก่ การไม่พูดคุยกันระหว่างผู้ปฏิบัติ  หากมีความจำเป็นขาดสิ่งของที่ต้องใช้ให้ติดต่อกับ ธรรมบริกร  หรือผู้จัดการคอร์ส  (ศิษย์เก่าที่อาสามาทำงานรับใช้ในคอร์ส)     การไม่ถูกต้องเนื้อตัวกัน  การไม่แสดงสัญญาณการสื่อสารด้วยสายตา  หรือท่าทาง    ให้อยู่แบบไม่สนใจใคร  เหมือนมีตัวคนเดียวในโลก      ช่วงสองทุ่มให้กลับมาที่โถงส่วนกลาง    เพื่อเบอร์ที่นั่ง (อาสนะ)   การใช้อาสนะให้นั่งประจำที่ตนเอง จนกว่าจะจบคอร์ส    ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสามารถขอนั่งเก้าอี้ได้       หลังจากได้เบอร์ที่นั่ง  ธรรมบริกรได้นำเราขึ้นไปยังห้องปฏิบัติรวม  ซึ่งอยู่บนศาลาใหญ่ด้านบนสร้างเป็นเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ   ทั้งคอร์สมีผู้เข้าปฏิบัติหญิงประมาณ  60 คน  ฝั่งผู้ชายถ้าเข้าเต็มจะได้ 40 คน แต่คอร์สแรกของเรามีผู้ชายบางตา  น่าจะประมาณ สิบกว่าคน  ผู้หญิงเต็มพิกัด  ซึ่งเป็นอย่างนั้นตลอดมา  แต่ช่วงหลัง ๆ สังเกตว่าผู้ชายก็เข้าเต็มเหมือนกัน
////
เริ่มปฏิบัติ

                เมื่อเข้านั่งประจำที่อาสนะ  ผู้ช่วยอาจารย์ซึ่งนั่งรออยู่ก่อนแล้ว ได้กล่าวต้อนรับการเข้ามาปฏิบัติสั้น ๆ แล้วเป็นการเปิดเทปคำสอนของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า  โดยการสวดนะโม 3 จบ ตามด้วยการขอรับศีลห้าสำหรับศิษย์ใหม่ครั้งแรก  รับศีลแปดสำหรับศิษย์เก่า     แล้วก็คำขอกรรมฐาน   หลังจากนั้นสอนวิธีทำสมาธิโดยหลักอานาปานสติ   คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ที่กระทบทางเข้าจมูกบริเวณสามเหลี่ยมทางเข้าช่องจมูก  คือช่วงรูจมูกสองข้าง  ลงมาถึงส่วนที่เหนือริมฝีปาก (ตรงหนวด)    หากจับความรู้สึกจนชำนาญแล้วจะกำหนดให้แคบลงจนรู้สึกอยู่ที่ร่องเหนือริมฝีปาก  ในวันแรกนั่งสมาธิช่วงหัวค่ำน่าจะประมาณ ครึ่งชั่วโมง  พอสามทุ่มก็ปล่อยให้กลับไปพักผ่อน
                เสียงระฆังปลุกตอนตีสี่  ทุกคนต้องตื่นมาทำธุระส่วนตัวให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง   แล้วขึ้นไปนั่งสมาธิที่ห้องปฏิบัติรวม  หรือที่ห้องพักตัวเองก็ได้   ตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง จนถึงหกโมงเช้า  ในวันแรกที่นั่งสมาธิดูลมหายใจเข้าออกของตัวเอง   มันช่างยากนักเพราะพอตั้งใจดูจะจดจ่ออยู่ได้ไม่กี่วินาที  แล้วจิตก็จะแวบไปคิดเรื่องอดีตบ้าง   อนาคตบ้าง  ไม่ยอมรับรู้ลมหายใจในปัจจุบันเอาซะเลย    วันแรกผ่านไปแบบไม่มีสมาธิ  แถมเมื่อยขาขยับเปลี่ยนท่ายุกยิกตลอด
                วันที่สองของการเข้าคอร์ส  แต่นับว่าเป็นวันที่หนึ่งของการปฏิบัติ  ก็ยังคงปฏิบัติแบบเดิมคือทำอานาปานสติโดยการดูลมหายใจ   ซึ่งในคอร์ส 10 วันนี้จะแบ่งเวลาทำสมาธิ  3 วัน  แล้วในบ่ายวันที่ 4  จึงจะเริ่มสอนการทำวิปัสสนา   ในวันที่สองนี้ก็ยิ่งมีความเบื่อหน่ายเหมือนไม่ได้อะไร    แต่เพื่อนก็ได้เคยบอกแล้วว่าในช่วง  2-3 วันแรก จะน่าเบื่อมาก    ต้องอดทนและมีความเพียรมาก ๆ  จึงจะผ่านไปได้  หลังจากนั้นก็จะอยู่ได้ตลอดคอร์สแน่     สำหรับเราไม่คิดที่จะถอยอยู่แล้วถ้าทำอะไรต้องทำให้จบ     ก็มาคิดทบทวนว่าเราเอาจิตไปผูกไว้กับเวลานั่นเอง   เวลานั่งก็คอยคิดว่าเมื่อไหร่จะครบชั่วโมง   แล้วก็กระวนกระวายเพราะเมื่อย  อยากหนีทุกข์     ถ้าเราไม่ต้องไปยึดถือว่ากี่นาทีแล้ว  จะจบหรือยังหน้าที่เราก็นั่งแล้วก็เฝ้าดูลมหายใจไปเรื่อย ๆ   มันจะครบชั่วโมงเมื่อไหร่ก็ช่าง   ไม่ต้องรอ  ไม่ต้องลุ้น  จดจ่อกับงานของเราไป   พอคิดได้อย่างนั้นการนั่งก็ดีขึ้น
                จนช่วงเย็นวันที่สองของการปฏิบัติก็สามารถจับลมหายใจเข้าออก ได้ชัดเจน  รับรู้ลมหายใจได้เป็นสายเข้าออก  และรับรู้เหมือนหนังตรงเหนือริมฝีปากบนเบาเหมือนสำลี  กระพือขึ้นลงตามแรงลมหายใจเข้าออก     รับรู้ได้ต่อเนื่องนานขึ้น  มีความอิ่มเอิบ    รู้สึกเย็น ชุ่มฉ่ำใจ  ได้รับรู้ว่าสมาธิมันมีอยู่จริงนะ  ทำได้แล้วก็ให้ผลจริง   ทำให้เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติต่อไป
                ความยากของด่านต่อไป  คือการต่อสู้กับความปวดขาที่ต้องนั่งครั้งละ 1 ชม.  เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยที่จะไม่ขยับตลอดชั่วโมงได้สักครั้ง   เรามักจะทนไม่ได้เมื่อผ่าน 40 นาทีไปแล้วจะปวดขามากจนต้องขยับเปลี่ยนท่านั่ง
                จนมาถึงบ่ายวันที่สาม  นั่งไปแล้วปวดขามาก  ตอนนั้นปวดจนชาไปครึ่งตัว     แต่ด้วยขณะนั้นจิตเกิดฮึดสู้ขึ้นมา  บอกตัวเองว่าวันนี้ฉันจะไม่ยอมแพ้แล้ว  ไม่ขยับหนีความปวด   “ตายเป็นตาย  ถ้าจะกลายเป็นหินก็ยอม”     พอเราปล่อยวางแบบยอมตาย  ปรากฏสภาพนิมิตภาพให้เห็นในจิต  ว่าขาข้างซ้ายที่ปวดอยู่ ขยายใหญ่เหมือนขาช้าง  แล้วเห็นสภาพของจุดดำ ๆ เล็ก ๆ ที่บรรจุรวมตัวกันขึ้นมาเป็นขา  มีสภาพหมุนวนเคลื่อนที่แล้วภาพนั้นก็ดับไป  พร้อมกับความปวดขาดับพรึ่บลงไป  ไม่มีความปวดเหลืออยู่เลย  มีแต่ความเบาสบาย  จิตอุทานขึ้นมาว่า  “เฮ้ย  อนิจจังมีจริงด้วยเว้ย”     ทุกอย่างมันไม่เที่ยง  พอเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป  ตามที่พระพุทธเจ้าสอนจริง ๆ   ในวันนั้นก็ถือว่าเราได้ประสบกับสิ่งมหัศจรรย์  แบบที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะมีอยู่จริง
                วันที่สี่ ของการปฏิบัติ  หลังจากที่ทำสมาธิได้อย่างต่อเนื่องมีกำลังของความสงบ  ในช่วงตีสี่ครึ่งได้นั่งสมาธิจนจิตสงบลึกลงไปเรื่อย ๆ  ได้ประสบกับสภาวะเหมือนมีถุงใสเป็นรูปหยดน้ำ หุ้มตัวเราไว้ในท่านั่งสมาธิ  แล้วก็ไม่สามารถขยับ  หรือเคลื่อนจิตออกจากสภาวะนั้นได้  สภาวะข้างนอกรอบ ๆ ตัวก็รับรู้ได้อยู่นะ  ยังได้ยินเสียงนกร้องในตอนเช้า    แต่มันนิ่งออกจากสภาวะไม่ได้   ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร   ในเมื่อ อาจารย์สอนว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง  เราก็นั่งดูมันไป  เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเอง    นั่งดูอยู่อย่างนั้น  จนจิตค่อย ๆ คลายออกจากสภาพนั้น  (ต่อมาภายหลังได้สอบถามผู้รู้  ได้อธิบายให้ทราบว่าสภาพนั้นคือดวงปฐมมรรค  เป็นลักษณะจิตของผู้ที่จะเจริญเข้าสู่มรรคผลต่อไปได้)       หรืออีกนัยยะหนึ่งของสาย  ธรรมกายอธิบายไว้ว่า ดวงปฐมมรรคเป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในอยู่แล้ว   จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อทำใจให้หยุดตั้งมั่นเป็นสมาธิในระดับอัปนาสมาธิไปถึงปฐมฌาน
                 ตอนบ่ายของวันที่สี่นี้เอง  ได้เริ่มสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนา  โดยการรับรู้เวทนา  (คำว่าเวทนาหมายถึง  ความรู้สึก ซึ่งแยกเป็นความรู้สึกทางกาย  และทางใจ  แต่ในการสอนเน้นการรับรู้เวทนาทางกาย)    วิธีการก็คือทำสมาธิจับจุดกระทบของลมหายใจได้ชัดเจนแล้ว   ให้เคลื่อนความรับรู้จากจุดเดิม   ขึ้นไปที่กระหม่อมรับรู้การเต้นของกระหม่อม  แล้วเคลื่อนความรับรู้ไปรอบ ๆ หัวทีละจุด  เคลื่อนเป็นวงกลมในพื้นที่ประมาณ 2 ตารางนิ้วไปเรื่อย ๆ จนทั่วตัว
                ในตอนที่เรากำหนดเคลื่อนความรับรู้จากจุดจมูก  ขึ้นไปที่กระหม่อม  ก็ปรากฎนิมิตให้จิตเห็นหัวตัวเองสลายกลายเป็นอณูฝุ่นผงที่ละเอียดมาก   สลายจนหัวเราหายมาถึงคอ   เกิดเอะใจว่า  “เฮ้ยแล้วมันจะหายหมดตัวมั้ยเนี่ย”   สภาวะนั้นเลยหยุด  แล้วก็กลับมารับรู้ปกติ   แต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างปฏิบัติ  เราก็ค้างความสงสัยไว้แค่นั้น  แล้วก็ทำตามคำสอนต่อไป  ซึ่งก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย  และรู้สึกสนุก เพราะมันทำได้  สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ทุกจุดชัดเจนเมื่อเคลื่อนจิตไปสัมผัส  และรู้สึกได้ด้วยว่ารู้ ลึกลงไปในเนื้อได้ด้วย  ไม่เพียงรับรู้เฉพาะผิวหนัง     พอช่วงกลางคืนหลังฟังธรรมบรรยายก็จะมีการให้สอบถามปัญหาการปฏิบัติกับผู้ช่วยอาจารย์ได้  (คืออาจารย์คนไทยที่ทำหน้าที่เปิดเทปคำสอน และตอบปัญหาการปฏิบัติ  แต่อาจารย์ตัวจริงคือ อ. โกเอ็นก้า ซึ่งสอนด้วยเทปตัวจริงอยู่อินเดีย   ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมแล้ว) 
 เราจึงไปถามอาจารย์  ว่าตอนกำหนดจิตขึ้นกระหม่อม     “หัวของหนูสลายกลายเป็นอณูฝุ่นหายไปถึงคอ  ถ้าปฏิบัติไปเรื่อย ๆ หนูจะหายไปทั้งตัวมั้ยคะ”   อาจารย์ก็หัวเราะแล้วตอบว่า “อาจารย์ไม่รู้ว่าคุณเคยทำอะไรมาบ้าง”    เราก็ตอบกลับไปว่า “หนูไม่เคยทำสมาธิมาก่อนเลยนะคะ  มาที่นี่ครั้งแรก”     อาจารย์ก็ตอบว่า   “ไม่ใช่  อาจารย์หมายถึงในชาติก่อน ๆ คุณปฏิบัติมาอย่างไรอาจารย์ไม่รู้   แต่ไม่ว่าคุณจะเจอสภาวะอะไร  ให้คุณอุเบกขาเสีย  (หมายถึงปล่อยวางซะ)   เพราะมันเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป  ไม่ต้องไปสนใจมัน”     ตอบแค่นี้จบเลย
//////