วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ประหยัดกับตระหนี่


                “ประหยัด” หมายถึง การใช้ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ได้ประโยชน์มากที่สุดหรือใช้อย่างสิ้นเปลืองสูญเปล่าน้อยที่สุดโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นการใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่น ความหมายสั้นๆ ของความประหยัดก็คือ “ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น” ส่วนความตระหนี่ หมายถึงการไม่ยอมเสียในเมื่อถึงเวลาที่ควรจะเสีย เช่น เมื่อหิวถึงเวลาควรกินก็ไม่ยอมกินเพราะกลัวหมด เมื่อเจ็บป่วยจำเป็นต้องรักษาพยาบาลก็ไม่ยอมรักษาเพราะกลัวยากจน ถึงคราวที่ควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นบ้างก็ไม่ทำเพราะกลัวสิ้นเปลือง อย่างนี้เรียกว่า “ตระหนี่” ความหมายสั้นๆ ก็คือ “แม้ในยามจำเป็นก็ไม่ยอมใช้จ่าย”
                มีผู้เข้าใจสับสนว่า เมื่อเห็นคนประหยัดก็คิดว่าเขาตระหนี่ ส่วนคนที่ตระหนี่ก็มักเข้าใจว่าตนประหยัด ทั้งสองข้อนี้ มีบางคนเข้าใจว่า เมื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ก็จะทำให้ทรัพย์สินเจริญพอกพูนขึ้นได้ดุจเดียวกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นจริงได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางหลักธรรม ความประหยัดกับความตระหนี่ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติต่างกัน คือ ความประหยัดส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากคุณธรรม เป็นฝ่ายกุศล จึงทำให้บุคคลผู้ดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมในลักษณะนี้นั้นมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย มีวิธีการที่จะใช้ทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคม รู้จักบำรุงรักษาทรัพย์อย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยปละละเลย ทำให้ทรัพย์นั้นมีอายุการใช้งานได้นาน ส่วนความตระหนี่มักเกิดจากกิเลสฝ่ายอกุศล จึงทำให้ผู้ดำเนินชีวิตตามกิเลส หวงแหนทรัพย์สินในทางที่ไม่ถูกต้อง บุคคลตระหนี่จึงมักเป็นอยู่อย่างลำบากโดยไม่จำเป็นและมักขาดคนเห็นใจ ขาดพวกพ้องบริวาร ดังมีคำที่ว่า “บริวารมาเพราะน้ำใจมี บริวารหนีเพราะน้ำใจลด บริวารหมดเพราะน้ำใจแห้ง”
                เมื่อทราบถึงความแตกต่างนี้แล้ว เราจึงควรมีอุตสาหะในการประหยัดพร้อมทั้งกำจัดความตระหนี่ กล่าวเฉพาะความประหยัด ไม่ว่าจะประหยัดในเรื่องใดก็ตามล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็นและทรงคุณค่า ต่อการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น โดยเฉพาะความประหยัดเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าตนเอง ดังมีคำประพันธ์ท่ว่า
                                “ ง เงินนั้นหายาก               ต้องลำบากตราตรำไป
                                ทำงนแทบขาดใจ กว่าจะได้เงินนั้นมา
                                ใช้จ่ายอย่างประหยัด           รัดเข็มขัดให้แน่นหนา
                                หนี้สินอย่าสร้างมา             ภายภาคหน้าสบายเอย”


..........................................

ความดี ๔ ระดับ


                พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงระดับความดีของคนไว้เป็นขั้นๆ โดยกำหนดเอาลักษณะอุปนิสัยผู้นั้นแสดงออกมาเป็นเกณฑ์กำหนด ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่า ใครมีลักษณะนิสัยอย่างไร เป็นคนประเภทไหน ควรคบหรือไม่ควรคบ ควรเลือกเป็นสามี ภรรยาหรือไม่ควรอย่างไร  ซึ่งมีอยู่ ๔ ระดับด้วยกัน คือ
                ๑.ผู้มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงาน ไม่เกียจคร้าน หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอย มีความรับผิดชอบในการทำมาหากิน คนประเภทนี้ชื่อว่ามีความดีในระดับต้น เพราะความขยันอย่างนี้ทำได้ไม่ยากนัก
                ๒.ผู้มีอาหารหรือมีของกินอะไรแล้วคิดถึงคนอื่น เช่น คิดถึงบุพการีชน คิดถึงญาติมิตรหรือคิดถึงคนที่เคยอุปการะตนมา เป็นต้น ต้องการให้คนเหล่านั้นได้ลิ้มรสของนั้นบ้าง แล้วก็จัดแจงแจกแบ่งไปให้ตามสมควร คนประเภทนี้เรียกว่าเป็นคนมีน้ำใจ มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อ จัดว่ามีความดีในระดับสอง เพราะทำได้ยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
                ๓.ผู้ได้ลาภผลอะไรแล้วไม่หลงระเริงดีใจจนเกินเหตุ เช่น ได้ยศ ได้ตำแหน่งมาก็ไม่แสดงอาการฟูขึ้น คือไม่ลิงโลดจนออกนอกหน้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นคนตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรม ไม่อาจวางใจเฉยได้ คนที่ได้อะไรแล้วหลงระเริงหลงติดหรือตกเป็นทาสของสิ่งนั้น เวลาเสื่อมลาภจะทุกข์ระทมหนักพอๆ กับดีใจเมื่อได้ลาภ ผู้ที่ไม่หลงระเริงดีใจจนเกินเหตุเมื่อได้ลาภผลอย่างนี้ จัดว่ามีความดีในระดับสาม
                ๔.ผู้ประสบกับความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เสื่อมลาภที่ตนได้มา หรือต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักของตน ก็ไม่ลำบากใจและไม่เสียใจจนเกินควร สามารถทำใจให้เป็นปกติ ตั้งสติได้มั่นคง คนที่ทำได้อย่างนี้จัดว่ามีความดีระดับสี่ ซึ่งสูงที่สุดในจำพวกความดี ๔ ระดับ เพราะทำได้ยากยิ่ง
                ใครจะมีความดีระดับไหน ก็ลองนำจิตใจและอุปนิสัยที่แท้จริงของตนเองขึ้นมาวัดกับความดีทั้ง ๔ นี้ซึ่งเป็นเสมือนตาชั่ง ก็จะสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง และเมื่อรู้แล้วจะได้เกิดความภูมิใจว่าตนมีความดีอยู่ในระดับใด หรือถ้าหากชั่งดูแล้วยังไม่ติดอันดับ ก็จะได้ยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น เพื่อจะได้ติดอันดับความดีกับเขาบ้าง อย่างน้อยสักระดับหนึ่ง

.............................................

เครื่องกรองอารมณ์


                ในแต่ละวันเราจะได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง บางเรื่องทำให้ใจฟูขึ้น บางเรื่องทำให้ใจฝ่อลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของผู้รับข้อมูลว่ามีการพิจารณาใคร่ครวญและอดทนมากน้อยเพียรไร แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้เห็นหรือได้ฟังแต่ละครั้ง ย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจไม่มากก็น้อย หากเป็นเรื่องไกลตัว จะดีหรือร้ายก็อาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวก็อาจทำให้รู้สึกเป็นสุขหรือเศร้าได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้พบเห็นอะไรหรือได้ฟังอะไรแล้วจึงไม่ควรด่วนสรุปว่า คงเป็นอย่างนี้ หรือคงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด หลักปฏิบัติก็คือ เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วจะต้องใช้หลักที่พระท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือพิจารณาใคร่ครวญโดยอุบายอันแยบคายเสียก่อน ตรงกับหลักพุทธภาษิตว่า นิสัมมะ กะระณัง เสยโย แปลว่า ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า หรือคำโบราณที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าจำไว้ในใจ” ล้วนเป็นคำสอนที่ให้ใช้ความรอบคอบ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจเข้าใจผิด และตัดสินใจผิดพลาดส่งผลเสียหายต่อการดำเนินชีวิตได้ จึงต้องมีสติ ยั้งคิด พินิจให้รอบคอบก่อน ก่อนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะสังคมปัจจุบันมีสิ่งที่ลวงตามากมาย อาจทำให้หลงผิด แล้วยึดติดโดยมิทันรู้ตัว
                ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาดี เมื่อได้รับข้อมูลมา จะโดยการได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม จะต้องกลั่นกรองให้รอบคอบก่อน จึงค่อยตัดสินใจ เพราะผู้มีใจหนักแน่นในเหตุผล ยิ่งมีความอดทนและแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะดำรงตนอยู่ในฐานะใดๆ ก็จะไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ที่ปรากฏ ทั้งฝ่ายดีหรือฝ่ายเสีย แต่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นกลางเที่ยง ธรรมสม่ำเสมอ ไม่ทำให้ต้องเสียศูนย์ อันจะเป็นเหตุให้สูญเสียความถูกต้องดีงามทั้งปวง

.............................................

ชีวิตกับความสันโดษ


                ในบรรดาคำสอนที่มีผู้เข้าใจผิดนั้น ความสันโดษนับเป็นคำสอนหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมอยู่ เช่น เข้าใจว่าความสันโดษ คือความมักน้อยไม่อยากได้อะไรมาก บางคนเข้าใจว่า ความสันโดษทำให้คนเกียจคร้าน ทำให้ประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า เป็นต้น
                คำว่า “สันโดษ” ในทางธรรมหมายถึง การมีความสุขความพอใจกับสิ่งที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันสุจริต ไม่โลภไม่ริษยาใคร ผู้มีสันโดษในหัวใจจะรู้สึกรักใคร่อิ่มใจในสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง เช่น รักชาติ รักครอบครัว รักหน้าที่ รักเกียรติของตน ในทางพุทธศาสนาจำแนกสันโดษไว้ ๓ ประการ คือ
                ๑. ยถาลาภสันโดษ แปลว่า ยินดีในสิ่งทั้งหลายตามที่ได้ เป็นความรู้สึกพอใจ อิ่มใจกับสิ่งที่ตนได้รับ ยถาลาภสันโดษนี้ เมื่อซึมซับอยู่ในใจของใครแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นไม่โลภ ไม่อิจฉาริษยาคนอื่น ไม่รู้สึกเดือดร้อนเพราะไม่ได้อย่างใจ ผู้ขาดสันโดษข้อนี้จะหิวโหยอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ตนได้นั้นไม่ดี ที่ดียังไม่ได้
                ๒. ยถาพลสันโดษ แปลว่า ยินดีตามกำลัง เป็นความรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ได้มาตามความรู้ความสามารถของตน ซึ่งได้ทำลงไปเต็มสติกำลังแล้ว รวมไปถึงการใช้สอยที่เหมาะแก่ความจำเป็น
                ๓. ยถาสารุปปสันโดษ แปลว่า ยินดีตามสมควร คือ สมควรแก่สถานภาพที่ต้องมีอยู่ เป็นอยู่ ในทางปฏิบัติ ก็หมายถึงการรู้ตัวฐานะอย่างเรา ควรมีควรใช้อะไรแค่ไหน อย่างไร เมื่อมีเมื่อใช้สิ่งที่เหมาะสมแก่ฐานะของตัวก็พอใจอิ่มใจ ไม่รู้สึกน้อยหน้าใคร ผู้ขาดสันโดษข้อนี้ชีวิตจะขาดความพอดีอยู่เสมอ
                สันโดษ ๓ ประการนี้ มีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ปฏิบัติรู้จักบริโภคใช้สอยสิ่งของด้วยสติปัญญา ให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนได้มาหรือมีอยู่ จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตไม่น้อย ผู้มีสันโดษดังกล่าวมา จะช่วยให้ชีวิตมีปัญหาน้อยลง มีความสุขมากขึ้น คนมีคู่ครองถ้ารู้จักสันโดษในคู่ของตนก็จะทำให้ครอบครัวพบแต่ความสงบสุขตลอดไป

.........................................

ทำดีได้ดีจริงหรือ


                กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง แปลว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นพุทธภาษิตที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับว่า ถูกต้องชัดเจนไม่มีข้อสงสัย แต่ก็มีอีกหลายคนเกิดสงสัยว่า “ทำดีได้ดีจริงหรือ” เพราะไปเห็นบางคนทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่บางคนทำไม่ดีกลับได้ดี จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นี่เป็นความเข้าใจผิด ตีความหมายพุทธภาษิตผิด พุทธภาษิตก็บอกแล้วว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ส่วนทำแล้วจะได้ลาภยศเงินทองหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้เพราะลาภยศเงินทองนั้นไม่ใช่ตัวความดี และไม่จำเป็นต้องได้มาด้วยการทำความดีเสมอไป
                ส่วนคนที่ทำดีแล้วผลของความดียังไม่ปรากฏก็อาจจะเกิดความน้อยใจ ท้อใจ และคิดพาลพาโลโทษคนอื่นไปต่างๆ นานา เรื่องนี้ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลแล้วจะเห็นว่า เกิดข้อบกพร่องที่ตัวเราเอง ข้อบกพร่องที่เป็นปมด้อยของการทำงานที่สำคัญ มี ๓ ประการ คือ
                ๑. ทำไม่ถูกดี คือ ไม่ถูกดีของงาน งานทุกอย่าง ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ มีดีประจำในตัวงานอยู่แล้ว เช่น งานซักผ้า ดีอยู่ตรงที่สะอาดเรียบร้อย งานกวาดบ้านดีอยู่ตรงที่ทำให้หมดฝุ่นผง เมื่อซักผ้าไม่สะอาดเรียบร้อย กวาดบ้านไม่หมดฝุ่นผง ก็ถือว่าทำไม่ถูกดี
                ๒. ทำไม่ถึงดี ดีของงานแต่ละงาน อยู่ตื้นลึกไม่เท่ากัน ใกล้ไกลไม่เท่ากัน เช่น งานซักผ้าแต่ละชนิด ใช้เวลาซักไม่เท่ากัน ผ้าเช็ดหน้าใช้เวลาซัก ๕ นาที สะอาด ผ้าเช็ดตัวใช้เวลาซัก ๑๐ นาที สะอาด ถือว่าถึงดี หากซักผ้า ดังกล่าวใช้เวลาน้อยกว่าที่กำหนด ผาก็ไม่สะอาด ถือว่าทำไม่ถึงดี
                ๓. ทำไม่พอดี คือ ทำหย่อนดี ทำน้อยเกินไป หรือทำเกินดี ทำมากเกินไป เช่น ซักผ้าเช็ดหน้าใช้เวลา ๓ นาที เวลาน้อยเกินไป ผ้าก็ไม่สะอาด ใช้เวลา ๒๐ นาที เวลามากเกินไปผ้าอาจขาดได้ เมื่อใช้เวลาน้อยหรือมากเกินไป ถือว่าทำไม่พอดี
                งานทุกอย่างเมื่อทำให้ถูกดี ให้ถึงดี และให้พอดี กับดีของงานนั้นๆ แล้ว ก็จะได้ดีแน่นอน ดังนั้น ข้อสงสัยที่ว่า ทำดีได้ดีจริงหรือ ขอยืนยันตามพุทธภาษิตว่า “ทำดีได้” จริง
..........................................