วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ประหยัดกับตระหนี่


                “ประหยัด” หมายถึง การใช้ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ได้ประโยชน์มากที่สุดหรือใช้อย่างสิ้นเปลืองสูญเปล่าน้อยที่สุดโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นการใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่น ความหมายสั้นๆ ของความประหยัดก็คือ “ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น” ส่วนความตระหนี่ หมายถึงการไม่ยอมเสียในเมื่อถึงเวลาที่ควรจะเสีย เช่น เมื่อหิวถึงเวลาควรกินก็ไม่ยอมกินเพราะกลัวหมด เมื่อเจ็บป่วยจำเป็นต้องรักษาพยาบาลก็ไม่ยอมรักษาเพราะกลัวยากจน ถึงคราวที่ควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นบ้างก็ไม่ทำเพราะกลัวสิ้นเปลือง อย่างนี้เรียกว่า “ตระหนี่” ความหมายสั้นๆ ก็คือ “แม้ในยามจำเป็นก็ไม่ยอมใช้จ่าย”
                มีผู้เข้าใจสับสนว่า เมื่อเห็นคนประหยัดก็คิดว่าเขาตระหนี่ ส่วนคนที่ตระหนี่ก็มักเข้าใจว่าตนประหยัด ทั้งสองข้อนี้ มีบางคนเข้าใจว่า เมื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ก็จะทำให้ทรัพย์สินเจริญพอกพูนขึ้นได้ดุจเดียวกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นจริงได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางหลักธรรม ความประหยัดกับความตระหนี่ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติต่างกัน คือ ความประหยัดส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากคุณธรรม เป็นฝ่ายกุศล จึงทำให้บุคคลผู้ดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมในลักษณะนี้นั้นมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย มีวิธีการที่จะใช้ทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคม รู้จักบำรุงรักษาทรัพย์อย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยปละละเลย ทำให้ทรัพย์นั้นมีอายุการใช้งานได้นาน ส่วนความตระหนี่มักเกิดจากกิเลสฝ่ายอกุศล จึงทำให้ผู้ดำเนินชีวิตตามกิเลส หวงแหนทรัพย์สินในทางที่ไม่ถูกต้อง บุคคลตระหนี่จึงมักเป็นอยู่อย่างลำบากโดยไม่จำเป็นและมักขาดคนเห็นใจ ขาดพวกพ้องบริวาร ดังมีคำที่ว่า “บริวารมาเพราะน้ำใจมี บริวารหนีเพราะน้ำใจลด บริวารหมดเพราะน้ำใจแห้ง”
                เมื่อทราบถึงความแตกต่างนี้แล้ว เราจึงควรมีอุตสาหะในการประหยัดพร้อมทั้งกำจัดความตระหนี่ กล่าวเฉพาะความประหยัด ไม่ว่าจะประหยัดในเรื่องใดก็ตามล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็นและทรงคุณค่า ต่อการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น โดยเฉพาะความประหยัดเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าตนเอง ดังมีคำประพันธ์ท่ว่า
                                “ ง เงินนั้นหายาก               ต้องลำบากตราตรำไป
                                ทำงนแทบขาดใจ กว่าจะได้เงินนั้นมา
                                ใช้จ่ายอย่างประหยัด           รัดเข็มขัดให้แน่นหนา
                                หนี้สินอย่าสร้างมา             ภายภาคหน้าสบายเอย”


..........................................