วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

ความหนักแน่น


 ความหนักแน่น
                ถ้าจะถามว่า อะไรที่ทำให้มนุษย์ในโลกนี้เกิดความหวั่นไหว คำตอบคงไม่พ้นเรื่องใหญ่ๆ ๘ เรื่อง คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา มีความสุข และประสบกับความทุกข์ที่รวมเรียกว่าโลกธรรม แปลว่าเรื่องประจำโลก ที่ผู้มีชีวิตอยู่ในโลกต้องประสบ เหมือนเมื่อไปทะเลก็ต้องพบเห็นคลื่น เข้าป่าก็ต้องเจอต้นไม้
                โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เมื่อประสบกับฝ่ายที่น่าปรารถนา มีได้ลาภ ได้ยศ เป็นต้น จะเกิดความหวั่นไหวในลักษณะหลงระเริง มัวเมาและยึดติด กระทั่งกลายเป็นความประมาท เมื่อประสบกับฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา ก็มักทำให้น้อยเนื้อต่ำใจ หมดกำลังที่จะต่อสู้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประคองจิตใจไว้ในระดับที่ได้มาก็พอใจ เสียไปก็เข้มแข็ง โดยอุบายวิธีดังนี้
                ๑.มองอย่างทั่วถึง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีหลายด้าน หลายมุม มองได้ครบทุกด้านเมื่อไหร่ ความหวั่นไหวก็น้อยลงเมื่อนั้น เพราะจะรู้ทันว่า ทันทีที่ได้สิ่งใด ก็หมายถึงได้รับการสูญเสียสิ่งนั้นมาพร้อมกันด้วย ถ้าไม่ได้อะไร โอกาสที่จะเสียอะไรก็ไม่มี ที่มีการเสียเพราะมีการได้เกิดขึ้นนั่นเอง
                ๒.ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง จึงต้องยอมรับปรับการกระทำและวิธีคิดให้สอดคล้องกับหลักความเป็นจริงแทน ยิ่งนำชีวิตใกล้ความจริงเข้าไปเท่าไหร่ ความทุกข์ก็น้อยลงเท่านั้น
                หากปฏิบัติได้เช่นนี้ก็จะไม่เสียความหนักแน่น แม้ต้องประสบกับโลกธรรมอย่างรุนแรง ความทุกข์ก็ไม่รุนแรงตาม ดังคำสอนของท่านพุทธทาส ภิกขุ ที่ว่า
ยามจะได้ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์   ยามจะเป็นเป็นให้ถูกตามวิถี
ยามจะตายตายให้เป็นเห็นสุดดี   ถ้าอย่างนี้ไม่มีทุกข์ทุกวันเอย
............................................

ปฏิสันถาร


 ปฏิสันถาร
                คำว่า “ปฏิสันถาร” หมายถึง การต้อนรับตามมารยาทและธรรมเนียมที่มีอยู่ แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “ปฏิสันถาร” มากกว่านั้น ถึงกับยกขึ้นเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่เรียกว่า “ปฏิสันถารคารวตา” หมายถึง ปฏิสันถารนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคารพ ทำอย่างระมัดระวังไม่ให้บกพร่องเสียหาย และเป็นเรื่องที่ต้องออกจากใจ ไม่ใช่เป็นเพียงปฏิบัติตามธรรมเนียม พร้อมกันนั้น ก็แนะวิธีการไว้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ
     ๑.อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของ เช่น เครื่องดื่ม ข้าวปลาอาหาร ที่พัก ที่อาศัย ฯลฯ
     ๒.ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม ได้แก่ ความดีงามที่จะพึงปฏิบัติต่อผู้มาเยือน เริ่มตั้งแต่เต็มใจต้อนรับ ปราศรัยโดยสุภาพไพเราะ เอาใจใส่ช่วยเหลือธุระของเขา ฯลฯ
                ในหน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานที่ต้องติดต่อสัมพันธ์ ทั้งกับบุคคลทั่วไปหรือประชาชนในลักษณะให้บริการ ทั้งกับหน่วยราชการด้วยกันเอง ในลักษณะการติดต่อประสานงาน ปฏิสันถาร จึงเป็นหัวข้อที่ข้าราชการควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธัมมปฏิสันถารคือ ความดีงามที่พึงปฏิบัติต่อผู้มาเยือน เพราะแสดงถึงระดับของการพัฒนาองค์กร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และคุณธรรมที่มีในหัวใจของบุคลากรในหน่วยงาน นอกจากนั้นยังเป็นบ่อเกิดแห่งมิตรภาพ ความประทับใจ นำมาซึ่งความรักใคร่กลมเกลียว พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต เป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ประโยชน์มากมาย และคุ้มค่า
                เมื่อมีผู้อื่นเข้ามาพบ ไม่ว่าจะต้อนรับดีหรือไม่ดีก็ใช้เวลาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ประทับอยู่ในใจของผู้มาเยือนทั้งด้านบวกและลบจะคงอยู่ยาวนาน หลายเดือนหลายปี บางครั้งคงอยู่ชั่วชีวิตการปฏิสันถารจึงเป็นเหมือนการพิพากษาตัวเองต่อหน้าผู้อื่นนั่นเอง
............................................

มนุษย์กับวัตถุ


 มนุษย์กับวัตถุ
                มนุษย์กับวัตถุย่อมคู่กันเสมอ แต่ปัจจุบัน การพัฒนาในด้านวัตถุที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ได้ก้าวหน้าไปทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบอย่างไม่มีขีดจำกัด หากมนุษย์ไม่พัฒนาตัวเองไปด้วย ก็จะตกสู่กระแสบริโภคนิยมเห็นว่าชีวิตนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การได้มาและเสพเสวยวัตถุตามที่ปรารถนา คือเอาวัตถุเป็นอุดมการณ์สูงสุด ดังเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า มนุษย์สามารถปล้นผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น เพียงเหตุผลว่าต้องการนำเงินไปใช้เพื่อการเที่ยวเตร่ ซื้อสิ่งของ อันเป็นความสุขทางวัตถุเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ คุณค่าของมนุษย์ก็จะต่ำลงเรื่อยๆ จากการเป็นผู้กำหนดวัตถุ กลายเป็นผู้ถูกวัตถุกำหนด มนุษย์จึงจำเป็นจะต้องรักษาคุณภาพและความเข้มแข็งของตนไว้ให้ได้ ด้วยการพัฒนาตามหลักพุทธศาสนาในห้าจุด คือ
                ๑.ศรัทธา เชื่อมั่นในความดีและความถูกต้องว่าเป็นคุณค่าแท้ของมนุษย์ ไม่อายเมื่อขาดแคลนวัตถุ ไม่ท้อเมื่อต้องทำความดี และไม่หวั่นไหวเมื่อมีสิ่งล่อใจ
                ๒.ศีล ควบคุมความประพฤติของตัวเองได้ ถึงบางครั้งจิตใจจะดิ้นรนไขว้เขว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของความคิด ไม่ยอมละเมิดกรอบที่ตั้งไว้ ด้วยการกระทำผิด
                ๓.สุตะ ใฝ่ใจต่อการศึกษา เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม จนกำหนดจุดยืนของตัวเองได้ถูกต้อง
                ๔.จาคะ ฝึกเรื่องการเผื่อแผ่เสียสละ จนทำให้พบความจริงที่ว่า ความสุขและความภาคภูมิใจของมนุษย์บางครั้งก็เกิดจากการให้ ไม่ใช่ต้องได้มาอย่างเดียว
                ๕.ปัญญา เห็นความจริง รู้ว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามสภาวธรรม มีเหตุและปัจจัยประกอบกันครบก็เกิดเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เมื่อมนุษย์เอาความรู้สึกและค่านิยมเข้าไปปรุงแต่ง จึงยึดติด ถือมั่น และนี่เป็นต้นเหตุแห่งการดิ้นรนกระวนกระวายทั้งปวง
                ทั้งห้าข้อนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกให้มนุษย์แข็งแกร่ง แม้ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุแต่ก็จะไม่ทำให้สูญเสียคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไปได้อย่างแน่นอน
............................................