มนุษย์กับวัตถุ
มนุษย์กับวัตถุย่อมคู่กันเสมอ
แต่ปัจจุบัน
การพัฒนาในด้านวัตถุที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ได้ก้าวหน้าไปทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบอย่างไม่มีขีดจำกัด
หากมนุษย์ไม่พัฒนาตัวเองไปด้วย ก็จะตกสู่กระแสบริโภคนิยมเห็นว่าชีวิตนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การได้มาและเสพเสวยวัตถุตามที่ปรารถนา
คือเอาวัตถุเป็นอุดมการณ์สูงสุด ดังเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า
มนุษย์สามารถปล้นผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น
เพียงเหตุผลว่าต้องการนำเงินไปใช้เพื่อการเที่ยวเตร่ ซื้อสิ่งของ อันเป็นความสุขทางวัตถุเท่านั้น
หากเป็นเช่นนี้ คุณค่าของมนุษย์ก็จะต่ำลงเรื่อยๆ จากการเป็นผู้กำหนดวัตถุ
กลายเป็นผู้ถูกวัตถุกำหนด
มนุษย์จึงจำเป็นจะต้องรักษาคุณภาพและความเข้มแข็งของตนไว้ให้ได้
ด้วยการพัฒนาตามหลักพุทธศาสนาในห้าจุด คือ
๑.ศรัทธา
เชื่อมั่นในความดีและความถูกต้องว่าเป็นคุณค่าแท้ของมนุษย์
ไม่อายเมื่อขาดแคลนวัตถุ ไม่ท้อเมื่อต้องทำความดี และไม่หวั่นไหวเมื่อมีสิ่งล่อใจ
๒.ศีล
ควบคุมความประพฤติของตัวเองได้ ถึงบางครั้งจิตใจจะดิ้นรนไขว้เขว
ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของความคิด ไม่ยอมละเมิดกรอบที่ตั้งไว้ ด้วยการกระทำผิด
๓.สุตะ ใฝ่ใจต่อการศึกษา
เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม จนกำหนดจุดยืนของตัวเองได้ถูกต้อง
๔.จาคะ
ฝึกเรื่องการเผื่อแผ่เสียสละ จนทำให้พบความจริงที่ว่า
ความสุขและความภาคภูมิใจของมนุษย์บางครั้งก็เกิดจากการให้
ไม่ใช่ต้องได้มาอย่างเดียว
๕.ปัญญา เห็นความจริง
รู้ว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามสภาวธรรม
มีเหตุและปัจจัยประกอบกันครบก็เกิดเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้
แต่เมื่อมนุษย์เอาความรู้สึกและค่านิยมเข้าไปปรุงแต่ง จึงยึดติด ถือมั่น
และนี่เป็นต้นเหตุแห่งการดิ้นรนกระวนกระวายทั้งปวง
ทั้งห้าข้อนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกให้มนุษย์แข็งแกร่ง
แม้ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุแต่ก็จะไม่ทำให้สูญเสียคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไปได้อย่างแน่นอน
............................................