วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ดินทรายกับดินเหนียว


ดินทรายกับดินเหนียว
                 ดินทรายกับดินเหนียวมีลักษณะต่างกัน คือดินทรายมีลักษณะร่วนซุย แยกกันอยู่เป็นเม็ดๆ ไม่เกาะติดกัน แม้จะอยู่ในที่หรือภาชนะ ก็ไม่สามารถรวมตัวกันได้ ส่วนดินเหนียวมีลักษณะเป็นปึกแผ่น เกาะติดกันเป็นก้อน แม้จะนำมาจากต่างที่กัน ก็สามารถสมานรวมตัวกันได้เป็นอย่างดี
                หากนำเอาลักษณะของดินทั้งสองชนิดมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องสามัคคีแล้ว สามารถอธิบายได้ว่า ดินทรายเปรียบเหมือนการแตกความสามัคคีในหมู่คณะ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำคนประเภทดินทรายจึงมักมีจิตใจไม่พร้อมที่จะสมานหรือร่วมมือกับคนอื่น ส่วนดินเหนียวเปรียบเหมือนความสมัครสมานสามัคคี ความพร้อมเพรียงปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คนประเภทดินเหนียวจึงพร้อมที่จะสมานหรือร่วมมือกับคนอื่นในการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา หมู่คณะใดมีแต่คนประเภทดินทราย หมู่คณะนั้นก็มักจะ ก่อความขัดแย้ง แสดความวิบัติ ขจัดพลัง สร้างความทุกข์ใจไม่เป็นที่รัก หมดความภักดี มีแต่ฉิบหาย ตรงกันข้าม หมู่คณะที่มีคนประเภทดินเหนียวมาก ก็จะไม่ก่อความขัดแย้ง ไม่แสดงความวิบัติ ไม่ขจัดพลัง สร้างความสุขใจ กลายเป็นที่รัก เพิ่มความภักดี มีแต่ความสุข
                หากคนในสังคมต้อการทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่หนักให้กลายเป็นเบา ทำสิ่งที่ช้าให้กลายเป็นเร็ว และทำทุกข์ให้กลายเป็นสุข ก็ควรทำตนให้เป็นคนประเภทดินเหนียว เพราะจะช่วยให้หมู่คณะมีความเป็นปึกแผ่น มีความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและช่วยให้ทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่ายอย่างไม่ต้องสงสัยเลย
............................................

ความกล้าหาญ


ความกล้าหาญ
                ความกล้าหาญ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่ง ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนตร์ในหลายๆ เรื่องทั้งไทยและต่างประเทศได้แสดงออกมาในรูปแบบของการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ครอบครัวและทรัพย์สินของตนเอง ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงคุณธรรมในลักษณะที่ทำให้เกิดความกล้าหาญไว้ เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม มีด้วยกัน ๕ ประการคือ
                ๑. ศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่ามีอยู่จริง
                ๒.ศีล คือประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดระเบียบวินัย ไม่ผิดศีลธรรม
                ๓.พาหุสัจจะ คือศึกษาเล่าเรียนหรือค้นคว้ามามาก เป็นผู้คงแก่เรียน
                ๔.วิริยารัมภะ คือตั้งใจทำกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจัง ด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระ
                ๕. ปัญญา คือรู้รอบและรู้ชัดในสิ่งที่ควรรู้ รู้จักเหตุของความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ รู้ดี รู้ชั่ว รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
                คนที่มีธรรมทั้งประการดังกล่าวจะเป็นคนที่มีความกล้าหาญในสังคม ไม่หวาดหวั่น สะทกสะท้าน หรือเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง ถูกนินทา หรือถูกจับกุม ลงโทษใดๆ
                ความกล้าหาญที่แท้จริง ต้องเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าหาญในทางสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดโทษหรือความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น
                ปัจจุบัน มีคนจำนวนมากได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง มีความกล้าหาญ ก็เพราะเขาได้ปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว จงสำรวจดูตนเองว่ามีธรรมเพื่อความเป็นคนกล้าหาญแล้วหรือยัง
............................................

วิธีสร้างยศ



                ยศ เป็นเครื่องหมายหรือเครื่องกำหนดฐานะหรือชั้นของบุคคลอย่างหนึ่งว่าอยู่ในระดับใด มีสามประเภท คือ ๑.อิสริยยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งสำคัญ  ๒.เกียรติยศ หมายถึงชื่อเสียง ความยกย่องนับถือ ความมีหน้ามีตา ๓.บริวารยศ หมายถึงมีพวกพ้อง บริวาร มีคนคอยช่วยเหลือ ยศทั้งสามนี้ เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป เพราะช่วยให้ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนามากกว่าคนที่ไม่มียศ แต่การจะได้มาซึ่งยศได้มาแล้วรักษาไว้ได้ หรือยศจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จะต้องทำตนให้เป็นคนมีคุณธรรม ๗ ประการ คือ
                ๑.มีความเพียร คือขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
                ๒.มีสติ คือระมัดระวังตนอยู่ตลอดเวลา ควบคุมสติอารมณ์ไว้ได้
                ๓.มีการงานสะอาด คือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษแก่ใคร
                ๔.มีความรอบคอบ คือมีความละเอียดรอบคอบ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน
                ๕.มีความสำรวม คือมีกิริยามารยาทเรียบร้อยน่าเลื่อมใส สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่โอ้อวด
                ๖.เป็นอยู่โดยธรรม คือมั่นคงอยู่ในศีลธรรม ยึดธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
                ๗.ไม่ประมาท คือไม่หลงมัวเมา ไม่ทำงานให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย
                หากคนเราต้องการจะมียศ เพื่อความเป็นใหญ่ ก็ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว เมื่อปฏิบัติได้ยศที่ไม่มี ก็จะมี เมื่อมีแล้วก็จะรักษาไว้ได้ และจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปโดยลำดับ และยศที่ได้มาด้วยวิธีนี้จะอยู่ได้นาน เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ตรงกันข้าม หากได้ยศมาโดยไม่ชอบธรรม ยศก็จะไม่ยั่งยืนถาวร ยิ่งหากได้ยศมาแล้วมัวเมาหลงอำนาจ พอหมดยศลงเมื่อไร ก็จะตกอับทันที จะหวังพึ่งพาใครก็ไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคมด้วย ดังนั้น เมื่อสร้างยศขึ้นมาแล้ว ก็ควรรักษาไว้ให้ดีด้วยหลักธรรมทั้ง ๗ ประการข้างต้น ไม่ทำตนเองให้เป็นที่เสื่อมเสีย ไม่หลงในยศ ดังคำพระที่ว่า “ยโส ลัทธา น มัชเชยยะ – ได้ยศแล้วไม่พึงเมายศ” จึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
............................................