ยศ
เป็นเครื่องหมายหรือเครื่องกำหนดฐานะหรือชั้นของบุคคลอย่างหนึ่งว่าอยู่ในระดับใด
มีสามประเภท คือ ๑.อิสริยยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งสำคัญ ๒.เกียรติยศ หมายถึงชื่อเสียง ความยกย่องนับถือ
ความมีหน้ามีตา ๓.บริวารยศ หมายถึงมีพวกพ้อง บริวาร มีคนคอยช่วยเหลือ ยศทั้งสามนี้
เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป
เพราะช่วยให้ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนามากกว่าคนที่ไม่มียศ
แต่การจะได้มาซึ่งยศได้มาแล้วรักษาไว้ได้ หรือยศจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
จะต้องทำตนให้เป็นคนมีคุณธรรม ๗ ประการ คือ
๑.มีความเพียร คือขยันหมั่นเพียร
ไม่เกียจคร้าน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
๒.มีสติ
คือระมัดระวังตนอยู่ตลอดเวลา ควบคุมสติอารมณ์ไว้ได้
๓.มีการงานสะอาด
คือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษแก่ใคร
๔.มีความรอบคอบ
คือมีความละเอียดรอบคอบ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน
๕.มีความสำรวม คือมีกิริยามารยาทเรียบร้อยน่าเลื่อมใส
สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่โอ้อวด
๖.เป็นอยู่โดยธรรม
คือมั่นคงอยู่ในศีลธรรม ยึดธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
๗.ไม่ประมาท คือไม่หลงมัวเมา
ไม่ทำงานให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย
หากคนเราต้องการจะมียศ เพื่อความเป็นใหญ่
ก็ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว เมื่อปฏิบัติได้ยศที่ไม่มี ก็จะมี
เมื่อมีแล้วก็จะรักษาไว้ได้ และจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
และยศที่ได้มาด้วยวิธีนี้จะอยู่ได้นาน เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ตรงกันข้าม
หากได้ยศมาโดยไม่ชอบธรรม ยศก็จะไม่ยั่งยืนถาวร ยิ่งหากได้ยศมาแล้วมัวเมาหลงอำนาจ
พอหมดยศลงเมื่อไร ก็จะตกอับทันที จะหวังพึ่งพาใครก็ไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคมด้วย
ดังนั้น เมื่อสร้างยศขึ้นมาแล้ว ก็ควรรักษาไว้ให้ดีด้วยหลักธรรมทั้ง ๗ ประการข้างต้น
ไม่ทำตนเองให้เป็นที่เสื่อมเสีย ไม่หลงในยศ ดังคำพระที่ว่า “ยโส ลัทธา น มัชเชยยะ –
ได้ยศแล้วไม่พึงเมายศ” จึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
............................................