วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

น้ำใจ


 น้ำใจ
                คำว่า “น้ำใจ” แม้จะเข้าใจตรงกันแล้วว่าหมายถึงใจจริง นิสัยใจคอและความเอื้อเฟื้อ แต่ในแง่ของการใช้ถ้อยคำก็ชวนให้ฉงนว่า “น้ำ” ก็มีความหมายชัดเจนอย่างหนึ่ง “ใจ” ก็มีความหมายเฉพาะไปอีกอย่างหนึ่งเหตุใดเมื่อพูดถึงจิตใจที่ดีงามจึงต้องเอาคำว่าน้ำมาเกี่ยวข้องด้วย
                เรื่องนี้ถ้าจะตีความเพื่อมุ่งให้เกิดแง่คิดที่เป็นประโยชน์ ก็น่าจะเป็นเพราะเพื่อให้คนที่ได้ยินได้ฟังและได้คิดไปพัฒนาจิตใจในด้านต่างๆ โดยถือเอาคุณสมบัติของน้ำเป็นตัวอย่าง
                ๑.น้ำ มีลักษณะชุ่มเย็น ใจก็ควรมีความเมตตา รู้จักเห็นอกเห็นใจ ชุ่มเย็นด้วยคุณธรรม ไม่รุ่มร้อนด้วยริษยาอาฆาต เป็นต้น
                ๒.น้ำ รวมกันเป็นเนื้อเดียว ใจก็ควรน้อมไปในความสามัคคี สมานน้ำใจ ไม่ถือดี ขัดแย้งแบ่งฝ่าย แต่คิดไปในทางที่จะรวมพลังเพื่อการสร้างสรรค์ความดีให้เกิดขึ้น
                ๓.น้ำ บอกระดับได้เที่ยงตรง ใช้วัดระดับของสิ่งต่างๆ ได้ ใจก็ควรเที่ยงธรรม ปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยยึดความถูกต้อง อย่างเสมอหน้า ไม่ลุแก่อำนาจคติ
                ๔.น้ำปรับตัวเข้าได้กับทุกภาชนะ ใจก็ควรรู้จักปรับให้เข้ากับสถานการณ์ รับรู้และเข้าใจตามเหตุผล ความจริง ไม่ยึดติดเฉพาะความคิดของตน เวียนวนอยู่กับมานะและทิฐิ แต่เปิดกว้างสำหรับเหตุผลเสมอ
                น้ำเป็นที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตฉันใด ผู้ที่ชุ่มเย็นด้วยเมตตา ใฝ่ความสามัคคี มีความเที่ยงธรรม และยอมตามเหตุตามผล ก็เป็นที่ปรารถนาของโลกนี้ฉันนั้น เพราะเขาเป็นผู้มีน้ำใจ เป็นผู้หล่อเลี้ยงโลกนี้ให้อยู่เป็นสุขได้นั่นเอง
............................................

หัวใจของความสำเร็จ


 หัวใจของความสำเร็จ
                มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วจะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องทำงาน ต้องปฏิบัติหน้าที่ และการทำงานนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตทั้งชีวิต ผู้ทำงานจึงต้องทำให้เต็มที่อย่างน้อยสามเรื่อง
                ๑.เต็มเวลา เวลาที่กำหนดไว้สำหรับการทำงานมีอยู่เท่าใด ก็ใช้เวลานั้นทำงานให้ครบ ให้เต็มที่เพราะงานแต่ละเรื่อง ยิ่งมีเวลาลงมือทำใคร่ครวญและวางแผนแก้ไขปรับปรุงมาก ก็ยิ่งมีความสมบูรณ์ ถูกต้องและเกิดประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย เวลาของการทำงานยังมีอยู่ก็คือโอกาสที่ดีที่ยังเหลืออยู่นั่นเอง
                ๒.เต็มกำลัง คือใช้ความสามารถของตนให้เต็มที่ ทั้งกำลังกายกำลังความรู้ และสติปัญญา ไม่ใช่ทำแค่ให้เสร็จๆ ไป โดยไม่คำนึงถึงว่าได้ใช้ความสามารถไปแค่ไหนบ้าง
                ๓.เต็มใจ ยินดีและเต็มใจที่จะทำงานนั้น เพราะจะทำให้รักงาน ไม่ฝืนใจ ไม่จำใจ มีความสุขกับงาน พร้อมที่จะแก้ไขอุปสรรค เสียสละเพื่อให้งานที่ตนรักและรับผิดชอบนั้นสำเร็จตามเป้าหมายและได้ผลดีที่สุด
                ที่พูดๆ กันว่า “คนนั้น คนนี้ประสบความสำเร็จในชีวิต...” นั่น ก็คือการทำงานของเขาประสบความสำเร็จนั่นเอง เพราะไล่เลียงดูการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่การกิน นอน อาบน้ำ พักผ่อน เดินทาง ฯลฯ ไม่มีเรื่องใดเลยที่จะถือว่าเป็นความสำเร็จได้ มีแต่การทำงานเท่านั้น ผู้ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตจึงควรทำงานของตนนั่นแหละให้เต็มเวลา เต็มกำลัง และเต็มใจ ดีกว่าที่จะไปหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ทั้งนั้น
............................................

ยึดมั่นถือมั่น



                ในที่ประชุมของราชสำนักแห่งหนึ่ง มีการพิจารณาความเดือดร้อนของชาวเมืองตามที่เชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะตัวอุบาทว์ แต่ก็พบทางตันตรงที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวอุบาทว์นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร พระราชาจึงโปรดให้ทหารผู้หนึ่งไปหาตัวอุบาทว์มาให้ได้ภายในเจ็ดวัน ทหารผู้นั้นพยายามเสาะหาจนได้มาพบกับฤๅษีตนหนึ่ง และได้บอกความประสงค์ให้กับฤๅษีฟัง  ฤๅษีจึงได้เอาสิ่งของสิ่งหนึ่งใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่พร้อมกับปิดไว้อย่างแน่นหนา มอบให้และกำชับว่านี่คือตัวอุบาทว์ ฤทธิ์เดชของมันร้ายกาจยิ่งนัก เมื่อเปิดดูต่อหน้าพระที่นั่งก็ให้ส่องดูในกระบอกนี้เท่านั้น ห้ามเทออกมาเด็ดขาด
                เมื่อทหารผู้นั้นนำตัวอุบาทว์ในกระบอกไม้ไผ่มาถึงราชสำนัก การพิสูจน์ทราบก็เริ่มขึ้น อำมาตย์คนแรกเปิดออกและส่องดูก่อน แต่การมองเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่นั้นเป็นเรื่องอยากที่จะให้เห็นได้ชัดเจน จึงทำให้อำมาตย์คนแรกบอกว่าตัวอุบาทว์นี้เหมือนลูกเขียด คนที่สองรับไปดูบ้างส่องไปส่องมาหามุมที่ว่าชัดที่สุด แล้วบอกว่าไม่เหมือนลูกเขียด แต่เหมือนอึ่งอ่างมากที่สุด คนที่สาม ที่สี่ และคนต่อๆ ไป พอรับไปดูก็ทำเช่นกันและก็เห็นกันไปคนละอย่าง แตกต่างกันและต่างก็ยืนยันแข็งขันตามที่ตนเห็น จึงเกิดความขัดแย้งอยู่อื้ออึง พวกที่เถียงสู้ไม่ได้ถึงกับบันดาลโทสะ ในที่สุดก็ลุกขึ้นวางมวยชกต่อยกันเป็นโกลาหน พระราชาจึงทรงระงับเหตุด้วยการรับสั่งให้ผ่ากระบอกไม้ไผ่ออกมาดูเดี๋ยวนั้น และพบว่าเป็นแค่ชานหมาก จึงทำให้อำมาตย์ทุกคนคิดได้และเห็นตรงกันว่า ตัวอุบาทว์นั้น แท้ที่จริงก็คือ ความคิดเห็นที่ยึดมั่นชนิดไม่มีใครยอมใครนั่นเอง
                การมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคู่ไปกับการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นยิ่งเป็นความเห็นหรือเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ ยิ่งต้องให้ความสำคัญเพราะผิดพลาดได้น้อยกว่า หลายๆ คนที่คิดได้จึงถือเอาส่วนรวมเป็นมาตรฐานตรวจสอบตนเอง เมื่อส่วนรวมเห็นว่าดีมีประโยชน์ แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับ ไม่ยึดมั่นในความเห็นของตนแต่ถ่ายเดียว เพราะการยึดมั่นถือมั่น ถึงจะไม่เกิดความรุนแรงมากมาย แต่ก็เป็นทุกข์แก่ผู้ที่ยึดติดนั่นเอง ไม่เว้นแม้แต่การยึดมั่นถือมั่นในการทำความดี ก็อาจเป็นทุกข์ได้เช่นกัน
............................................