วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ยึดมั่นถือมั่น



                ในที่ประชุมของราชสำนักแห่งหนึ่ง มีการพิจารณาความเดือดร้อนของชาวเมืองตามที่เชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะตัวอุบาทว์ แต่ก็พบทางตันตรงที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวอุบาทว์นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร พระราชาจึงโปรดให้ทหารผู้หนึ่งไปหาตัวอุบาทว์มาให้ได้ภายในเจ็ดวัน ทหารผู้นั้นพยายามเสาะหาจนได้มาพบกับฤๅษีตนหนึ่ง และได้บอกความประสงค์ให้กับฤๅษีฟัง  ฤๅษีจึงได้เอาสิ่งของสิ่งหนึ่งใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่พร้อมกับปิดไว้อย่างแน่นหนา มอบให้และกำชับว่านี่คือตัวอุบาทว์ ฤทธิ์เดชของมันร้ายกาจยิ่งนัก เมื่อเปิดดูต่อหน้าพระที่นั่งก็ให้ส่องดูในกระบอกนี้เท่านั้น ห้ามเทออกมาเด็ดขาด
                เมื่อทหารผู้นั้นนำตัวอุบาทว์ในกระบอกไม้ไผ่มาถึงราชสำนัก การพิสูจน์ทราบก็เริ่มขึ้น อำมาตย์คนแรกเปิดออกและส่องดูก่อน แต่การมองเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่นั้นเป็นเรื่องอยากที่จะให้เห็นได้ชัดเจน จึงทำให้อำมาตย์คนแรกบอกว่าตัวอุบาทว์นี้เหมือนลูกเขียด คนที่สองรับไปดูบ้างส่องไปส่องมาหามุมที่ว่าชัดที่สุด แล้วบอกว่าไม่เหมือนลูกเขียด แต่เหมือนอึ่งอ่างมากที่สุด คนที่สาม ที่สี่ และคนต่อๆ ไป พอรับไปดูก็ทำเช่นกันและก็เห็นกันไปคนละอย่าง แตกต่างกันและต่างก็ยืนยันแข็งขันตามที่ตนเห็น จึงเกิดความขัดแย้งอยู่อื้ออึง พวกที่เถียงสู้ไม่ได้ถึงกับบันดาลโทสะ ในที่สุดก็ลุกขึ้นวางมวยชกต่อยกันเป็นโกลาหน พระราชาจึงทรงระงับเหตุด้วยการรับสั่งให้ผ่ากระบอกไม้ไผ่ออกมาดูเดี๋ยวนั้น และพบว่าเป็นแค่ชานหมาก จึงทำให้อำมาตย์ทุกคนคิดได้และเห็นตรงกันว่า ตัวอุบาทว์นั้น แท้ที่จริงก็คือ ความคิดเห็นที่ยึดมั่นชนิดไม่มีใครยอมใครนั่นเอง
                การมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคู่ไปกับการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นยิ่งเป็นความเห็นหรือเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ ยิ่งต้องให้ความสำคัญเพราะผิดพลาดได้น้อยกว่า หลายๆ คนที่คิดได้จึงถือเอาส่วนรวมเป็นมาตรฐานตรวจสอบตนเอง เมื่อส่วนรวมเห็นว่าดีมีประโยชน์ แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับ ไม่ยึดมั่นในความเห็นของตนแต่ถ่ายเดียว เพราะการยึดมั่นถือมั่น ถึงจะไม่เกิดความรุนแรงมากมาย แต่ก็เป็นทุกข์แก่ผู้ที่ยึดติดนั่นเอง ไม่เว้นแม้แต่การยึดมั่นถือมั่นในการทำความดี ก็อาจเป็นทุกข์ได้เช่นกัน
............................................