วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

น้ำขึ้น-น้ำลง


น้ำขึ้น-น้ำลง
                   น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่กระทำต่อส่วนต่างๆ ของโลก ที่เป็นทะเลหรือมหาสมุทร เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลต่อ น้ำขึ้น-น้ำลง มากกว่าดวงอาทิตย์ ในบางช่วงเมื่อดวงจันทร์โคจรรอบโลกมาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดจะเสริมกัน ทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงมีระดับสูงหรือมาก และในบางช่วงเมื่อดวงจันทร์โคจรรอบโลกมาอยู่ในแนวฉากกับดวงอาทิตย์แรงดึงดูดจะแยกกัน ทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงมีระดับต่ำมาก
                น้ำขึ้น-น้ำลง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่อาจเปรียบได้กับชีวิตของคนเราได้เช่นกัน กล่าวคือ ในบางช่วงของชีวิต ได้พบแต่ความสุขสบาย มีโชคลาภ มีเงินทองมากมาย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป มีคนยกย่องสรรเสริญ แต่ในบางช่วงก็พบแต่ความทุกข์ ความสับสนวุ่นวาย ความเดือดร้อนไม่สิ้นสุด เงินทองไม่พอใช้จ่าย ซ้ำยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ชื่อเสียงก็มัวหมอง อีกทั้งคนทั้งหลายก็คอยตำหนินินทา
                ในทางพระพุทธศาสนาได้สอนว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเหล่านั้น เป็นความจริงของโลก หรือเป็นของคู่กับโลกที่ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องการหรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครหนีพ้นไปได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ให้พิจารณารู้เท่าทันความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ควรมีสติสัมปชัญญะให้มั่นคง ไม่หลงระเริงหรือมัวเมา เมื่อมีโชคลาภหรือมีชื่อเสียง และไม่เสียใจ ไม่แสดงอาการหดหู่หรือทุกข์ระทม เมื่อต้องพบกับเคราะห์กรรม ให้คิดเสียว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ต่างอะไรกับน้ำที่มีขึ้นมีลง หากพิจารณาได้เช่นนี้ก็จะทำให้พบกับความสบายใจ ไม่เดือดร้อนใจ ทุกข์ใจ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตนหรือที่ตนพบเจอนั้น จะไม่น่าปรารถนาเลยก็ตาม
............................................

รอยร้าวทั้งห้า


 รอยร้าวทั้งห้า
                อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย แม้จะก่อสร้างอย่างมั่นคงดีเลิศเพียงใด หากพื้นซึ่งเป็นที่รองรับไม่แข็งแรงดีพอก็จะทรุดตัว แตกร้าว และพังทลายลงได้ ฉันใด ชีวิตของคนก็เช่นกัน คือถ้าพื้นไม่ดีเสียอย่างเดียว ก็จะล่มสลายได้ในที่สุด และวิธีดูความมั่นคงของพื้นท่านให้สังเกตที่รอยร้าว เช่นถ้าเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวปรากฏก็สันนิษฐานได้ว่า ฐานหรือพื้นของตึกหลังนั้นไม่ดี ในส่วนของคนในทางพุทธศาสนาให้ดูรอยร้าวได้ที่พฤติกรรม ๕ อย่างที่เปรียบได้ดั่งศีล ๕ ดังต่อไปนี้
                ๑.โหดร้าย ฆ่าหรือเบียดเบียนผู้อื่นในทางชีวิตและร่างกาย
                ๒.มือไว ลักขโมยหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
                ๓.ใจเร็ว ประพฤติผิดประเวณี ขาดการยับยั้งชั่งใจ
                ๔.ขี้ปด ละทิ้งความสัตย์ความจริง ใช้ความเท็จเอาตัวรอดหรือแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการพูดเท็จ
                ๕.ไม่มีสติ เสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด จนเกิดบกพร่องทางสติปัญญา จนขาดการยับยั้ง
                ผู้ใดมีพฤติกรรมห้าอย่างนี้ปรากฏออกมา แสดงว่าพื้นชีวิตของผู้นั้นมีความเสียหาย ถ้าเป็นอาคารก็เริ่มมีรอยร้าวปรากฏ หากรอยร้าวนั้นใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาคารนั้นก็จะพังถล่มลงในที่สุด แต่ตึกร้าวก็ยังไม่น่ากลัวเท่าคนร้าว เพราะคนร้าวสร้างความเสียหายได้ลึกและกว้างไกลกว่ามาก ปัญหาอาชญากรรม และความเดือดร้อนวุ่นวายในทุกวันนี้ก็พอเป็นเครื่องยืนยันได้ ศีล ๕ จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่สำคัญในทุกๆ ที่  ชีวิตตั้งอยู่บนฐานคือ ศีล ๕ จะมั่นคง ไม่แตกร้าวพังทลายอย่างแน่นอน
............................................

ฟังแล้วไม่โกรธ


 ฟังแล้วไม่โกรธ
                คำพูดสร้างความสุขและทุกข์ให้คนได้ง่ายที่สุด ในสุตตันตปิฎก คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จึงสอนวิธีฟังคำพูดของผู้อื่นเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ไว้ว่า ถ้อยคำที่ผู้อื่นจะพูดกับเรานั้นมีห้าลักษณะคือ
                ๑.พูดได้ถูกกาลเวลาบ้าง ไม่ถูกกาลเวลาบ้าง
                ๒.พูดเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
                ๓.พูดคำอ่อนหวานบ้าง คำหยาบคายบ้าง
                ๔.พูดเรื่องมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง
                ๕.พูดด้วยเมตตาบ้าง พูดด้วยโทสะบ้าง
                เมื่อเขากล่าวถ้อยคำเหล่านี้อยู่ พึงตั้งใจให้มั่นว่า จิตของเราจะไม่แปรปรวน จะไม่เปล่งวาจาหยาบคาย โต้ตอบ เราจะเกื้อกูลแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขาเท่าที่ทำได้ จะมีเมตตาต่อเขา ไม่โกรธตอบ เราจะปรารถนาให้เขามีความสุข ไม่มีเวร ไม่พยาบาทต่อเขาเลย
                เพราะเราบังคับคนทั้งโลกให้พูดตามที่เราต้องไม่ได้ จึงต้องบังคับตัวเองให้เข้มแข็งแทนด้วยการปฏิบัติตามคำสอนข้างต้น จิตใจที่เข้มแข็งและมีเมตตาจะทำให้บรรเทาความโกรธเสียได้ ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นดังคำประพันธ์ที่ว่า
                                                ฆ่าความโกรธได้ก็หายทุกข์               เกษมสุขเสพสันต์และหรรษา
                                ไร้ธุลีกลุ้มรุมสุมอุรา                                           ดั่งจันทราเมฆหมดไม่บดบัง
                                ไม่ฆ่าโกรธให้ตายไม่คลายทุกข์                        จะหมายสุขเสพสันต์นั้นอย่างหวัง
                                เหมือนเมฆหมอกราคีมีพลัง                             เข้าบดบังเปื้อนปะศศิธร
............................................