คำพูดสร้างความสุขและทุกข์ให้คนได้ง่ายที่สุด
ในสุตตันตปิฎก คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
จึงสอนวิธีฟังคำพูดของผู้อื่นเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ไว้ว่า
ถ้อยคำที่ผู้อื่นจะพูดกับเรานั้นมีห้าลักษณะคือ
๑.พูดได้ถูกกาลเวลาบ้าง
ไม่ถูกกาลเวลาบ้าง
๒.พูดเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
๓.พูดคำอ่อนหวานบ้าง คำหยาบคายบ้าง
๔.พูดเรื่องมีสาระบ้าง
ไร้สาระบ้าง
๕.พูดด้วยเมตตาบ้าง
พูดด้วยโทสะบ้าง
เมื่อเขากล่าวถ้อยคำเหล่านี้อยู่
พึงตั้งใจให้มั่นว่า จิตของเราจะไม่แปรปรวน จะไม่เปล่งวาจาหยาบคาย โต้ตอบ
เราจะเกื้อกูลแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขาเท่าที่ทำได้ จะมีเมตตาต่อเขา
ไม่โกรธตอบ เราจะปรารถนาให้เขามีความสุข ไม่มีเวร ไม่พยาบาทต่อเขาเลย
เพราะเราบังคับคนทั้งโลกให้พูดตามที่เราต้องไม่ได้
จึงต้องบังคับตัวเองให้เข้มแข็งแทนด้วยการปฏิบัติตามคำสอนข้างต้น
จิตใจที่เข้มแข็งและมีเมตตาจะทำให้บรรเทาความโกรธเสียได้
ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นดังคำประพันธ์ที่ว่า
ฆ่าความโกรธได้ก็หายทุกข์ เกษมสุขเสพสันต์และหรรษา
ไร้ธุลีกลุ้มรุมสุมอุรา ดั่งจันทราเมฆหมดไม่บดบัง
ไม่ฆ่าโกรธให้ตายไม่คลายทุกข์ จะหมายสุขเสพสันต์นั้นอย่างหวัง
เหมือนเมฆหมอกราคีมีพลัง เข้าบดบังเปื้อนปะศศิธร
............................................