วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อภัยทาน


 อภัยทาน
                “อภัยทาน” ตามรูปศัพท์แปลว่า ให้ความไม่มีภัย หมายถึงการให้ทานด้วยการยกโทษให้อภัยทานนี้มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้อกับชีวิตจริงของทุกคน เนื่องจากเมื่อมีการอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติงานร่วมกัน ย่อมมีโอกาสขัดใจและขุ่นเคืองกันบ้างเป็นธรรมดา หากให้อภัยไม่ได้ก็จะทำให้จิตใจเร่าร้อน ขุ่นมัวไม่เป็นสุข อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกสามัคคีกันในที่สุด
                การจะให้อภัยผู้อื่นได้ เบื้องต้น จะต้องคิดว่าทุกคนย่อมผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น แม้การกระทำของเขาจะเป็นการจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความจงใจนั้นก็คือความผิดพลาดในลักษณะหนึ่งที่เรียกว่าหลงผิด ถึงตัวเราเองก็จะต้องเคยทำผิดและได้รับอภัยจากผู้อื่นมาแล้วเช่นกัน คิดได้เช่นนี้ก็จะให้อภัยกันได้ง่ายขึ้น
                มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ผู้ใดคอยผูกความโกรธไว้ว่า คนนี้ด่าเรา คนนี้ทำร้ายเรา คนนี้เอาชนะเรา คนนี้ลักขโมยทรัพย์สินของเรา เวรของผู้นั้นย่อมไม่สงบลงได้” และเมื่อเวรไม่สงบ ย่อมจะทำลายล้างกันนำไปสู่การจองเวรกันเป็นทอดๆ ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใดเลย
                ที่สำคัญ เวรของผู้ใดไม่ระงับ เจ้าของเวรนั้นจะถูกเผาผลาญก่อน เขาจะรุ่มร้อน คั่งแค้น เป็นทุกข์ด้วยเวรที่ตนเองผูกไว้นั่นแหละ ทุกคนจึงควรรู้จักให้อภัย เพราะคำว่าอภัยทานนี้ แม้โดยชื่อจะแปลว่าการให้แต่ทันทีที่ให้ ก็จะกลับเป็นการได้ขึ้นมาทันที แรกสุดก็จะได้จิตใจที่เป็นสุขกลับคืนมาอย่างแน่นอน
............................................