วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เงาเมฆ


เงาเมฆ
                  เมื่อดวงอาทิตย์ถูกเมฆลอยมาบดบัง ย่อมทำให้เกิดร่มเงาขึ้นที่ภาคพื้นดิน แต่ร่วมเงาเมฆนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อเมฆลอยพ้นไป เงาก็ย่อมจะหายไปด้วย ไม่อาจเป็นเงาที่ถาวรได้ คนที่พึ่งร่มเงาเมฆจึงพึ่งได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ไม่อาจพึ่งได้ตลอดไป
                ในทางพระพุทธศาสนา มีสิ่งที่เปรียบได้กับร่มเงาเมฆนั้นคือ การพนัน ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยหวังสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นหรือหวังรวยทางลัด ด้วยการเล่นการพนัน บางครั้งแม้จะโชคดีได้ทรัพย์สินเงินทองมา ก็ได้มาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ด้วยเวลาที่ไม่นานนัก ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มานั้นก็จะค่อยๆ มลายสูญสิ้นไป จึงกล่าวได้ว่าไม่มีใครสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะให้แก่ตัวเอง หรือแม้แต่สร้างมรดกไว้ให้ลูกหลานได้ด้วยการเล่นการพนันเลย เพราะในที่สุดแล้ว ย่อมจะพบกับความหายนะ ความวิบัติเดือดร้อนต่างๆ จนถึงสิ้นเนื้อประดาตัว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ดังนั้นพระท่านจึงพูดว่าการพนันเป็นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อมประการหนึ่ง
                ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความขยันหมั่นเพียร ประกอบอาชีพที่สุจริต รู้จักประหยัดอดออม ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว ก็ย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ลำบากฝืดเคือง ถึงแม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่เป็นรายได้ที่มั่นคงได้ เหมือนร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ย่อมเป็นร่วมเงาที่ถาวรกว่าร่มเงาเมฆ
                ผู้หวังสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น จึงควรประกอบอาชีพที่สุจริต และไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการพนัน เพราะหวังร่ำรวยทางลัด เป็นความเพ้อฝัน เปรียบเหมือนการหวังพึ่งร่มเงาเมฆโดยแท้
............................................

กบ


กบ
                 มีนิทานเล่าว่า กบตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในสระน้ำในวัดแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมันสังเกตดูกิจวัตรของพระสงฆ์ เห็นพระสงฆ์ออกไปบิณฑบาตและนำอาหารกลับมาฉันที่วัด มันคิดว่าเป็นพระสงฆ์นี้สบายได้อาหารมาอย่างง่ายดาย ต่างกับตนที่ต้องดิ้นรนหาอาหาร ซ้ำยังมีชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงภัยตลอดเวลา จึงนึกอยากเป็นพระสงฆ์  ต่อมามันเห็นพระสงฆ์นำอาหารที่เหลือไปโปรยให้ไก่กิน ก็อิจฉาไก่ที่ไม่ต้องลำบากออกหาอาหารกินเอง จึงนึกอยากเป็นไก่ แต่ขณะนั้นเองมีสุนัขตัวหนึ่งวิ่งไล่ไก่ที่กำลังคุ้ยเขี่ยจิกกินอาหารอย่างเพลิดเพลิน มันจึงอยากเป็นสุนัข ต่อมาสุนัขก็ถูกชายคนหนึ่งใช้ไม้ไล่ตีมัน มันจึงเปลี่ยนใจอยากเป็นคน แต่สักครู่หนึ่งมันก็เห็นแมลงวันบินมาตอมชายคนนั้นจนเขารำคาญแล้วเดินหนีไป จึงอยากเป็นแมลงวัน ในขณะที่กบกำลังนึกเคลิบเคลิ้มอยากเป็นนั่นเป็นนี่อยู่นั่นเอง แมลงวันตัวหนึ่งก็บินมาจับตรงปลายจมูกของมันพอดี ด้วยความเคยชิน มันจึงแลบลิ้นตวัดแมลงวันเข้าปาก พอรู้รสแมลงวันเท่านั้น มันก็คิดได้ว่าเป็นอะไรก็ไม่ดีเท่ากับเป็นกบนั่นเอง
                เรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงนิทาน แต่ก็ให้ข้อคิดว่า ตัณหาหรือความอยากนั้น เป็นไฟอย่างหนึ่งที่สามารถเผาไหม้จิตใจทั้งของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน คอยบังคับบัญชาจิตใจให้อยากเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ร่ำไป จนเกิดอาการกระสับกระส่าย ฟุ้งซ่าน ทุรนทุราย ระทมทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด วิธีที่จะระงับหรือดับความอยากได้นั้น ก็คือต้องพยายามฝึกจิตให้ชื่นชมยินดีในภาวะของตน จนดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น และพอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนได้ ทำเช่นนี้ได้ก็จะไม่ถูกไฟคือความอยากเผาไหม้อีกต่อไป
............................................

เกราะกันภัย


เกราะกันภัย
                  เกราะเป็นเครื่องสวมใส่หรือเครื่องหุ้มชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับป้องกันอาวุธหรือภัยอันตรายต่างๆ เช่น เสื้อเกราะ รถหุ้มเกราะ เป็นต้น เกราะดังกล่าวเป็นเกราะทางโลก ใช้สำหรับป้องกันภัยภายนอกซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้อื่น แต่บางครั้งก็ไม่สามารถป้องกันได้หากมีอาวุธที่สามารถทำลายเกราะได้ หรือฝ่ายตรงข้ามมีขีดความสามารถที่ดีกว่า
                ยังมีเกราะอีกชนิดหนึ่งในทางธรรมะ เป็นเกราะทางธรรมใช้สำหรับป้องกันภัยภายใน คือภัยที่เกิดจากการกระทำของตนเอง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำลายทั้งผู้อื่นและตนเองให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ ความโหดร้ายทารุณ เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นนิจ ล่วงละเมิดสิทธิ์ด้วยการถือเอาทรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตนประพฤติผิดทางกามในสามีภรรยาผู้อื่นด้วยอำนาจกิเลสราคะ โกหกหลอกลวงผู้อื่นด้วยหวังให้เกิดความเสียหายและลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเสพติดให้โทษ วิธีจะป้องกันภัยภายในดังกล่าวได้ ต้องป้องกันด้วยเกราะภายในคือ การรักษาศีล ๕ ข้อ ได้แก่ ไม่เบียดเบียนฆ่าทำลายกัน โดยให้มีความเมตตากรุณาต่อกัน ไม่ลักขโมยสิ่งของกันและกัน โดยให้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ ไม่ล่วงเกินสามีภรรยาของกันและกัน โดยให้มีความยินดีพอใจในคู่ครองของตน ไม่พูดโกหกหลอกลวงกัน โดยให้พูดคำสัตย์จริงเหมาะสมเป็นที่น่าเชื่อถือ และไม่เสพสิ่งเสพติดให้โทษ โดยให้มีสติครองตนอยู่เป็นนิจ
                ผู้ที่รักษาศีล ๕ อยู่เสมอ ย่อมเป็นเหมือนมีเกราะกันภัยให้แก่ตนเอง เพราะช่วยควบคุมวาจาของตนไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีงาม ไม่ต้องหวาดระแวงกลัวจะถูกนินทาว่าร้ายหรือถูกจับกุมลงโทษ นอกจากนั้นยังช่วยให้สังคมมีความปลอดภัย อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จึงกล่าวได้ว่า ศีล ๕ เป็นเกราะกันภัยได้อย่างสำคัญ ดังคำพระที่กล่าว “สีลัง กะวะจะมัพภุตัง” ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์ หากทุกคนในสังคมมีเกราะภายใน คือศีล ๕ แล้ว เกราะภายนอก เช่น เสื่อเกราะ ก็ไม่จำต้องใช้อีกต่อไป
............................................