วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สวรรค์บนดิน

สวรรค์บนดิน
                สวรรค์เป็นถิ่นของเทวดา (เขาว่ากันมาอย่างนั้น) คนจำนวนมากปรารถนาไปเกิดในสวรรค์ เพราะเชื่อว่า สวรรค์นั้นเป็นภพภูมิที่สมบูรณ์ด้วยความสุข พรั่งพร้อมด้วยสิ่ง อันพึงปรารถนา
                แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้สอนให้คนพัฒนาจิตใจตนเองให้ประณีตขึ้น สูงขึ้น จนเป็นเทวดาได้ แม้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นี่เอง ด้วยการยึดมั่นอยู่ในเทวธรรม ๒ ประการ คือ หิริ- ความละอายแก่ใจที่จะกระทำชั่ว และโอตตัปปะ- ความเกรงกลัวต่อผลที่จะได้รับจากการกระทำชั่ว
ในส่วนของความละอายนั้นมีวิธีที่สามารถสร้างให้เกิดได้กับตนเอง ๔ ประการคือ
                ๑.ปรารภชาติตระกูล ว่าตนเองมีชาติตระกูลอันสูงส่ง หรือแม้เป็นตระกูลต่ำต้อยด้อยศักดิ์ บรรพบุรุษไม่เคยสร้างความชั่วเป็นที่เสื่อมเสียมัวหมอง หากวงศ์ตระกูลที่บริสุทธิ์ต้องมาด่างพร้อยเพราะตนเองเป็นเหตุ จึงเป็นเรื่องน่าละอาย
                ๒.ปรารภวัย คือพิจารณาถึงอายุหรือวัยของตนเอง แล้วเกิดความรังเกียจละอายว่า การกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรนี้ หาควรแก่คนวัยนี้ไม่
                ๓.ปรารภความเข้มแข็ง คือมองให้เห็นความจริงว่าการทำชั่วทำผิดนั้น ความจริงเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ ไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ อารมณ์ หรือสิ่งยั่วยุต่างๆ ได้ คนมีความเข้มแข็งกล้าหาญอย่างเราจะต้องอดทนและบากบั่นแก้ปัญหาในทางที่ถูกที่ควรเท่านั้น
                ๔.ปรารภภูมิรู้หรือฐานะทางการศึกษา เช่น คิดว่าการทำเรื่องที่น่าละอายเช่นนี้เป็นเรื่องของคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ไม่คู่ควรกับคนมีการศึกษาอย่างเรา
                เหตุทั้ง ๔ นี้ ถ้าระลึกถึงให้เห็นถ่องแท้แก่ใจจนเป็นความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ของตนเอง จะสามารถทำคนให้เป็นเทวดาได้ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ เว้นความชั่วและมีชีวิตที่เป็นสุขได้ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอให้ไปเกิดบนสวรรค์ที่ไหนเลย
ความเกรงกลัวต่อผลที่จะได้รับจากการทำชั่ว ด้วยการนึกถึงโทษที่จะได้รับ ๓ อย่าง คือ
                ๑.โทษคือการติเตียนตนเอง การตำหนิตนเองนั้น โดยความหมายก็คือความรู้สึกเป็นทุกข์หรือ เสียใจในการกระทำที่ผ่านมา ในทางพระพุทธศาสนาเรียกวิปฏิสาร แปลว่าเดือดร้อนใจ ในภาษาไทยมีคำพูดที่เรียกว่า ตราบาป คือเรื่องที่ให้ผลร้ายแก่จิตใจอันเกิดจากการทำชั่ว การกระทำใดๆ ที่เป็นช่องทางให้ติเตียนตนเองได้ ก็คือการสร้างตราบาปให้ติดตัวตลอดไปนั่นเอง
                ๒.โทษคือการถูกผู้อื่นติเตียน เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้ จะดีชั่วอย่างไรก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ความสามารถในการสู้หน้ากับคนอื่นได้อย่างเปิดเผยอาจหาญ ไม่สะดุ้งระแวง หรือมีปมด้อย จึงเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต หากต้องคอยสะดุ้งผวาเกรงจะมีใครรู้ จะมีใครกล่าวโทษติเตียน ก็เท่ากับสูญเสียความสุขและอิสรภาพที่สำคัญไป
                ๓.โทษของความชั่วโดยตรง เพราะความชั่วนั้น ตนเองจะสำนึกได้หรือไม่ก็ตาม ผู้อื่นจะรู้เห็นตำหนิติเตียนหรือไม่ก็ตาม แต่โทษคือความเสียหายโดยตรงจากการกระทำนั้นก็มีอยู่จริงและต้องได้รับผลจริงอยู่อย่างนั้น เช่น การทุจริต โหดร้าย หรือหมกมุ่นอบายมุข เหล่านี้ล้วนมีผลร้ายอยู่ในตัวมันเองทั้งสิ้น การที่ผลร้ายเหล่านี้จะต้องมาเกิดแก่ชีวิตอันเป็นที่รักและหวงแหนของเราจึงเป็นเรื่องน่ากลัว
                คนหนึ่งคน กลัวผลของความชั่ว ชีวิตของเขาจะประเสริฐ มีความสุข ถ้าคนหมื่นคนแสนคนกลัวผลของความชั่ว สังคมจะประเสริฐ มีความสุข และหากคนทุกคนมีความกลัวผลจากความชั่ว แผ่นดินจะเริ่มเปลี่ยนเป็นแดนสวรรค์ที่มีแต่ความรื่นรมย์ เพราะมนุษย์ต่างมุ่งเข้าหาความดี มีแต่ความดีให้กันและกันตลอดเวลาตลอดไป

............................................

อวดดี


                ธรรมชาติของคนที่คล้ายกันอย่างหนึ่งคือ ต้องการความดีหรือสิ่งดีๆ ให้เกิดมีในชีวิตตน เพราะคำว่า ดี เป็นสภาวะที่จรรโลงใจ น่าปรารถนา น่าพอใจ แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อมีดีแล้ว ต้องรักษาดีที่มีอยู่ให้คงไว้ดุจเกลือรักษาความเค็ม หรือทำความดีให้มากๆ อย่ารู้สึกเบื่อหน่ายหรืออิ่มตัวในการสร้างความดี ต้องทำดีเพื่อความดี บูชาความดีด้วยใจจริง และมีดีแล้วต้องไม่อวดดี มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายเพราะการอวดดี ดังเรื่องเล่าปรัมปรามาว่า วันหนึ่งนิ้วมือทั้งห้าคุยกัน ในเชิงโอ้อวดว่าตนเก่ง ตนดี มีความสำคัญกว่านิ้วอื่นอย่างนั้นอย่างนี้
                นิ้วหัวแม่มือ พูดขึ้นก่อนว่า ข้านี้สำคัญที่สุด เพราะเพียงชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหัวหน้า บางครั้งเจ้านายไม่เงิน พาเข้าโรงจำนำ ก็ใช้ข้านี่แหละพิมพ์หัวแม่มือแทน ยิ่งเมื่อจะเอ่ยถึงคนไหน สิ่งใดที่ดีเลิศหรือเป็นที่หนึ่ง ก็มักจะยกข้าขึ้นแสดง
                นิ้วชี้ คุยอวดบ้างว่า ตัวข้าสำคัญกว่า เพราะงานทั้งหลายที่เจ้านายสั่งให้ทำ จะสำเร็จได้ต้องอาศัยข้า เป็นคนชี้บอก
                นิ้วกลาง คุยอวดทับว่า ท่านทั้งสองสำคัญก็จริงแต่ข้าสำคัญที่สุด ไม่ต้องอะไรมาก เพียงแค่เรื่องความสูงเด่นเป็นสง่า ข้าก็กินขาดแล้ว
                นิ้วนาง ไม่ยอมน้อยหน้าคุยว่า ข้านี่แหละคือผู้มีความสำคัญตัวจริง เพราะเจ้านายรักและไว้ใจข้ามากขนาดแหวนเพชร แหวนทอง ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ท่านก็สวมใส่ให้ข้าคนเดียว
                นิ้วก้อยน้องน้อยสุด คุยอวดว่า ถึงฉันจะตัวเล็กอยู่ท้ายแถวก็จริง แต่เวลาที่เจ้านายไหว้พระหรือประณมมือไหว้ ฉันนี่แหละอยู่ข้างหน้า พวกพี่ๆ ต้องตามหลังฉันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ฉันจึงสำคัญที่สุด
                เมื่อเกิดการขัดแย้งไม่ลงรอยกัน นิ้วทั้งห้า ก็บิดพลิ้วเกี่ยงงอนไม่ยอมร่วมมือกัน ปากจะกินอาหาร นิ้วก็ไม่ช่วยกันหยิบจับอาหารใส่ปากให้ เมื่อร่างกายเกิดอาการคัน ก็เกี่ยงกันไม่มีนิ้วไหนยอมเกาให้หายคัน สุดท้ายแม้จะเขียนหนังสือทำงานอะไรอื่น ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งสิ้น จนชีวิตต้องพบกับความเสื่อมโทรม เพราะเหตุที่นิ้วมือแตกความสามัคคี

............................................

โอวาทสำหรับคู่สมรส

โอวาทสำหรับคู่สมรส
                พิธีมงคลสมรสนับว่าเป็นพิธีที่มีความหมายและสำคัญยิ่งของคู่สมรส นับแต่วันสมรสนี้ไปคู่สมรสส่วนมากก็ต้องแยกออกจากความปกครองและอ้อมกอดของบิดามารดาไปสร้างครอบครัวใหม่ มีอิสระในการดำเนินชีวิต เป็นก้าวแรกที่จะต้องต่อสู้กับปัญหาชีวิตทุกด้าน คู่สมรสก็ต้องเป็นเพื่อนคู่คิดในการแก้ปัญหานั้นๆ ให้กันและกัน ในพิธีจัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสจึงนิยมเชิญผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในพิธี กล่าวอวยพรและให้โอวาท เพื่อทั้งคู่จะได้ยึดถือเป็นแนวทางในการครองรักครองเรือน และเพื่อความเป็นสิริมงคล เข้าทำนองว่า “อยากรู้ทางข้างหน้า ต้องถามคนเคยเดิน”
                ธรรมะหมวดหนึ่งที่เป็นโอวาทสำหรับคู่สมรสคือ ฆราวาสธรรม มีด้วยกัน ๔ ข้อคือ
                ๑.สัจจะ ความจริงใจต่อกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างซื่อตรงทั้งคำพูดและการกระทำ
                ๒.ทมะ ฝึกฝน ปรับแก้พฤติกรรมและบุคลิกภาพของแต่ละฝ่ายให้เข้ากันได้ เพราะทุกคนย่อมมีข้อบกพร่อง หรือจุดเสียอยู่ในตัวเอง ถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไขนานเข้าก็จะเป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกัน
                 ๓.ขันติ อดทน ความอดทนนี้เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะความเหน็ดเหนื่อย ความโกรธ ความทุกข์ใจที่เกิดในชีวิตนั้นไม่ยั่งยืนถาวร เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวดับ เดี๋ยวมีเดี๋ยวหาย ถ้าเกิดขึ้นแล้วอดทนไว้ได้ช่วงหนึ่ง ไม่ช้าก็จะบรรเทาเบาบางไปได้ แต่ถ้าไม่มีความอดทนมาแทรกไว้เสียก่อน ทุกอย่างอาจพินาศลง
                ๔.จาคะ รู้จักการสละละวาง ทั้งในแง่สละวัตถุสิ่งของ เพื่อการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และสละอารมณ์ ความคิด ที่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ เจ็บแค้น เศร้าหมอง ฯ
                คำว่า “ลิ้นกับฟัน” เป็นคำอุปมาที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตคู่ เพราะทำให้เห็นภาพได้เองโดยไม่ต้องอธิบาย ฆราวาสธรรม จึงเป็นธรรมะที่เหมาะที่สุดสำหรับชีวิตคู่ ผู้มีโอกาสกล่าวอวยพรแก่คู่สมรส หรือแม้แต่ผู้ที่ครองชีวิตคู้อยู่แล้ว ควรสนใจธรรมะข้อนี้ให้มาก เพราะเป็นจุดตัดสินความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตคู่ ได้แน่นอน
                                คนใดครองคฤหาสน์ด้วย   ศรัทธา
                                สัตย์หนึ่งฝึกอาตมา           หนึ่งไซร้
                ฯลฯ

............................................