วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สวรรค์บนดิน

สวรรค์บนดิน
                สวรรค์เป็นถิ่นของเทวดา (เขาว่ากันมาอย่างนั้น) คนจำนวนมากปรารถนาไปเกิดในสวรรค์ เพราะเชื่อว่า สวรรค์นั้นเป็นภพภูมิที่สมบูรณ์ด้วยความสุข พรั่งพร้อมด้วยสิ่ง อันพึงปรารถนา
                แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้สอนให้คนพัฒนาจิตใจตนเองให้ประณีตขึ้น สูงขึ้น จนเป็นเทวดาได้ แม้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นี่เอง ด้วยการยึดมั่นอยู่ในเทวธรรม ๒ ประการ คือ หิริ- ความละอายแก่ใจที่จะกระทำชั่ว และโอตตัปปะ- ความเกรงกลัวต่อผลที่จะได้รับจากการกระทำชั่ว
ในส่วนของความละอายนั้นมีวิธีที่สามารถสร้างให้เกิดได้กับตนเอง ๔ ประการคือ
                ๑.ปรารภชาติตระกูล ว่าตนเองมีชาติตระกูลอันสูงส่ง หรือแม้เป็นตระกูลต่ำต้อยด้อยศักดิ์ บรรพบุรุษไม่เคยสร้างความชั่วเป็นที่เสื่อมเสียมัวหมอง หากวงศ์ตระกูลที่บริสุทธิ์ต้องมาด่างพร้อยเพราะตนเองเป็นเหตุ จึงเป็นเรื่องน่าละอาย
                ๒.ปรารภวัย คือพิจารณาถึงอายุหรือวัยของตนเอง แล้วเกิดความรังเกียจละอายว่า การกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรนี้ หาควรแก่คนวัยนี้ไม่
                ๓.ปรารภความเข้มแข็ง คือมองให้เห็นความจริงว่าการทำชั่วทำผิดนั้น ความจริงเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ ไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ อารมณ์ หรือสิ่งยั่วยุต่างๆ ได้ คนมีความเข้มแข็งกล้าหาญอย่างเราจะต้องอดทนและบากบั่นแก้ปัญหาในทางที่ถูกที่ควรเท่านั้น
                ๔.ปรารภภูมิรู้หรือฐานะทางการศึกษา เช่น คิดว่าการทำเรื่องที่น่าละอายเช่นนี้เป็นเรื่องของคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ไม่คู่ควรกับคนมีการศึกษาอย่างเรา
                เหตุทั้ง ๔ นี้ ถ้าระลึกถึงให้เห็นถ่องแท้แก่ใจจนเป็นความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ของตนเอง จะสามารถทำคนให้เป็นเทวดาได้ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ เว้นความชั่วและมีชีวิตที่เป็นสุขได้ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอให้ไปเกิดบนสวรรค์ที่ไหนเลย
ความเกรงกลัวต่อผลที่จะได้รับจากการทำชั่ว ด้วยการนึกถึงโทษที่จะได้รับ ๓ อย่าง คือ
                ๑.โทษคือการติเตียนตนเอง การตำหนิตนเองนั้น โดยความหมายก็คือความรู้สึกเป็นทุกข์หรือ เสียใจในการกระทำที่ผ่านมา ในทางพระพุทธศาสนาเรียกวิปฏิสาร แปลว่าเดือดร้อนใจ ในภาษาไทยมีคำพูดที่เรียกว่า ตราบาป คือเรื่องที่ให้ผลร้ายแก่จิตใจอันเกิดจากการทำชั่ว การกระทำใดๆ ที่เป็นช่องทางให้ติเตียนตนเองได้ ก็คือการสร้างตราบาปให้ติดตัวตลอดไปนั่นเอง
                ๒.โทษคือการถูกผู้อื่นติเตียน เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้ จะดีชั่วอย่างไรก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ความสามารถในการสู้หน้ากับคนอื่นได้อย่างเปิดเผยอาจหาญ ไม่สะดุ้งระแวง หรือมีปมด้อย จึงเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต หากต้องคอยสะดุ้งผวาเกรงจะมีใครรู้ จะมีใครกล่าวโทษติเตียน ก็เท่ากับสูญเสียความสุขและอิสรภาพที่สำคัญไป
                ๓.โทษของความชั่วโดยตรง เพราะความชั่วนั้น ตนเองจะสำนึกได้หรือไม่ก็ตาม ผู้อื่นจะรู้เห็นตำหนิติเตียนหรือไม่ก็ตาม แต่โทษคือความเสียหายโดยตรงจากการกระทำนั้นก็มีอยู่จริงและต้องได้รับผลจริงอยู่อย่างนั้น เช่น การทุจริต โหดร้าย หรือหมกมุ่นอบายมุข เหล่านี้ล้วนมีผลร้ายอยู่ในตัวมันเองทั้งสิ้น การที่ผลร้ายเหล่านี้จะต้องมาเกิดแก่ชีวิตอันเป็นที่รักและหวงแหนของเราจึงเป็นเรื่องน่ากลัว
                คนหนึ่งคน กลัวผลของความชั่ว ชีวิตของเขาจะประเสริฐ มีความสุข ถ้าคนหมื่นคนแสนคนกลัวผลของความชั่ว สังคมจะประเสริฐ มีความสุข และหากคนทุกคนมีความกลัวผลจากความชั่ว แผ่นดินจะเริ่มเปลี่ยนเป็นแดนสวรรค์ที่มีแต่ความรื่นรมย์ เพราะมนุษย์ต่างมุ่งเข้าหาความดี มีแต่ความดีให้กันและกันตลอดเวลาตลอดไป

............................................