วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้


รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้
                  เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่มีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์มือถือ นอกจากจะใช้สำหรับโทรออก และรับสายเข้าแล้ว ยังมีการพัฒนาให้สามรถถ่ายรูปได้ ฯลฯ ส่งผลให้มีราคาสูงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะนอกจากจะต้องคอยซื้อบัตรเติมเงินแล้ว ยังอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการล้าง – อัดรูปด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้หากเราไม่รู้จักระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อหรือตกเป็นทาสได้โดยไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ หนี้สินเพิ่มพูนโดยไม่จำเป็น
                พระท่านสอนไว้ว่า คนฉลาดต้องรู้จักระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมาร ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายต่ำ ที่สังคมจัดขึ้นมาเพื่อหลอกล่อให้เราหลงใหลอยู่ตลอดเวลา บางครั้งต้องดิ้นรนแสวงหาโดยวิธีการที่ผิด ด้วยการทุจริตคดโกง จี้ ปล้น เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งของเหล่านั้นไว้สนองความต้องการของตนเอง
                วิธีการที่จะไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนั้น ให้ยึดหลักสามประการ คือ
                ๑.ระวังกาย (กายสุจริต) คือ รู้จักระมัดระวังการกระทำของตนเอง ไม่ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่น
                ๒.ระวังวาจา (วจีสุจริต) คือ รู้จักพูดสิ่งที่มีสาระ ไม่พูดส่อเสียดใส่ร้ายผู้อื่น และรู้จักบริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์
                ๓.ระวังใจ (มโนสุจริต) คือ รู้จักนึกคิดในทางที่สร้างสรรค์หรือก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ไม่โลภอยากได้ของของเขา ไม่อาฆาตหรือพยาบาทปองร้ายคนอื่น
                ผู้ที่รู้จักระมัดระวังกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ จะเป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่มีความผิดพลาดในเรื่องที่คิด ในกิจที่ทำ และในถ้อยคำที่พูด ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญไม่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจฝ่ายต่ำ จนต้องประกอบการทุจริตดังกล่าวข้างต้น หากทำได้เช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่า “รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้” อย่างแท้จริง
............................................

วิธีแสวงหาและจัดสรรรายได้


วิธีแสวงหาและจัดสรรรายได้
                   สังคมปัจจุบัน เป็นสังคมบริโภคนิยมและวัตถุนิยม เป็นสังคมที่มีสิ่งยั่วยวนชวนเชื่อให้ต้องกินต้องใช้ ต้องมี โดยไม่จำกัด และต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาอยู่ตลอดเวลา รายได้แม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกๆ คน แต่หากสังเกตดูจะพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นที่ปริมาณว่าจะมีรายได้มากเท่าไร บางครั้งเพราะความโลภ ความอยากเกินขอบเขต ความไม่รู้จักเพียงพอ หรือไม่รู้จักวางแผนในการใช้จ่าย ทำให้ต้องแสวงหาหากการแสวงหานั้นกระทำโดยสุจริตก็เป็นผลดี แต่หากแสวงหาโดยวิธีที่ผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมายบ้านเมือง จนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ  ทั้งปัญหาการทุจริต คดโกง ฉ้อโกง ปัญหาหนี้สิน ฯลฯ ตามมา ทั้งในระดับส่วนตัว และในสังคมรอบตัว รวมถึงอาจเป็นปัญหาระดับชาติหากผู้กระทำเป็นนักปกครอง
                ในทางพระพุทธศาสนา สอนให้คนรู้จักแสวงหารายได้โดยวิธีที่ถูกต้อง โดยการขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพโดยสุจริตตามกำลังความสามารถ รักษารายได้ที่หามาได้แล้ว คบหากับมิตรที่ดี และรู้จักดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสม แก่อัตภาพ ไม่ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองจนเกินไป และสอนให้รู้จักจัดสรรรายได้ เป็น ๔ ส่วน คือ ๑ ส่วน ใช้เลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนที่เกี่ยวข้องและทำประโยชน์  ๒ ส่วนใช้ลงทุนประกอบการงาน และอีก ๑ ส่วน เก็บไว้ใช้คราวจำเป็น
                ในยุคสังคมบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม หากผู้ใดปฏิบัติตนได้ตามแนวทางดังกล่าว ก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ไม่พอกับรายจ่าย รวมทั้งปัญหาหนี้สินและความยากจนก็จะหมดไป สามารถสร้างตัวให้มีฐานะดีขึ้น โดยลำดับ ชีวิตก็จะประสบกับความสุขได้โดยไม่ต้องดิ้นรนมากมายอะไร
............................................

วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เศรษฐีทางธรรม


เศรษฐีทางธรรม
                  สมัยหนึ่ง พระนางยโสธราได้ให้พระราหุลกุมารไปทูลขอทรัพย์จากพระพุทธเจ้าตามสิทธิ์ที่จะพึงได้ในฐานะเป็นพระโอรส พระพุทธองค์ไม่ทรงประทาน เพราะทรงเห็นว่าทรัพย์ที่ขอเป็นสมบัติภายนอก ไม่ทำให้พ้นความทุกข์ได้ แต่เพื่อมิให้พระราหุลกุมารเสียพระทัย จึงทรงประทานทรัพย์ภายในที่เรียกว่า อริยทรัพย์ แทน อริยทรัพย์นั้นมีด้วยกัน ๗ ประการ คือ
                ๑.ศรัทธา - เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
                ๒.ศีล - รักษากายวาจาให้เรียบร้อย เช่น สำรวมระวังไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนผู้อื่น ฯลฯ
                ๓.หิริ - ละอายแก่ใจ คือละอายใจตัวเองต่อการกระทำความชั่ว
                ๔.โอตตัปปะ - เกรงกลัว คือสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว เช่น การถูกจับกุมลงโทษจากการกระทำผิด
                ๕.พาหุสัจจะ - เป็นคนคงแก่เรียน คือ สนใจในการสดับตรับฟัง ศึกษาค้นคว้าหาความรู้อยู่เป็นนิจ
                ๖.จาคะ - เสียสละแบ่งปัน เช่น เสียสละวัตถุสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม
                ๗.ปัญญา - รอบรู้ คือรู้บาปบุญคุณโทษ รู้ดีรู้ชั่ว รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้สิ่งที่ควรไม่ควร
                ทรัพย์สินภายนอ เช่น เงิน ทอง เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และใครๆ ก็ปรารถนา แต่เป็นเพียงของนอกกาย มีวันหมดสิ้นหรือบางกรณีอาจก่อให้เกิดโทษได้ หากไม่ระมัดระวังในการใช้สอย แต่อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ภายใน ใช้จ่ายเท่าใดก็ไม่มีวันหมดสิ้น มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และไม่ก่อให้เกิดโทษแต่อย่างใด
............................................

กำลังชีวิต



                 มีผู้กล่าวไว้ว่าหาก “ชีวิตคือการเดินทาง” เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง ชีวิตจำเป็นต้องมีเรี่ยวแรงเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน หรือหาก “ชีวิตคือการต่อสู้” เพื่อให้ชนะอุปสรรคต่างๆ ชีวิตก็จำเป็นต้องมีอาวุธเป็นเครื่องช่วยในการต่อสู้นักปราชญ์เรียกตัวช่วยชีวิตเหล่านี้ว่า “กำลังชีวิต”
                คติความเชื่อดังกล่าว สอดคล้องกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “มนุษย์มีศักยภาพในตัวเองเพียงพอที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกช่วยดลบันดาลให้ แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน อบรมตนเองเป็นสำคัญ”  ศักยภาพที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมนั้น มนุษย์สามารถสร้างได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักพลธรรมหรือธรรมอันเป็นกำลังชีวิต ๔ ประการ ได้แก่
                ๑.ปัญญาพละ-กำลังปัญญา คือได้ศึกษา มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องชัดเจนในเรื่องราวและกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง เปรียบเสมือนมีแสงสว่างส่องทางให้ชีวิต และเป็นเสมือนมีอาวุธสำหรับต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” และ “ปัญญาประดุจดังอาวุธ”
                ๒.วิริยพละ-กำลังความเพียร คือประกอบกิจทำหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความบากบั่นพยายามกล้าหาญเข้มแข็ง ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคต่างๆ โดยยึดหลักว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
                ๓.อนวัชชพละ-กำลังความสุจริต หรือกำลังความบริสุทธิ์ คือมีความประพฤติและหน้าที่การงานสุจริต ไร้โทษ สะอาดบริสุทธิ์ อันจะก่อให้เกิดพลังการป้องกันภยันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “สุจริตคือเกราะบังสาตร์พ้อง”
                ๔.สังคหพละ-กำลังสงเคราะห์ คือบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กัน อันจะก่อให้เกิดพลังความรัก ความผูกพัน ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ความพร้อมเพียงของหมู่คณะยังประโยชน์ให้สำเร็จ”
                พลธรรม หรือกำลังชีวิตทั้ง ๔ ประการ นั้น เป็นหลักประกันชีวิตที่สำคัญยิ่ง หากบุคคลฝึกฝนอบรมให้เกิดมีในตัวแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิด พลานุภาพที่ยิ่งใหญ่ เข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความสำเร็จสมความปรารถนาที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์
............................................

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เงาเมฆ


เงาเมฆ
                  เมื่อดวงอาทิตย์ถูกเมฆลอยมาบดบัง ย่อมทำให้เกิดร่มเงาขึ้นที่ภาคพื้นดิน แต่ร่วมเงาเมฆนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อเมฆลอยพ้นไป เงาก็ย่อมจะหายไปด้วย ไม่อาจเป็นเงาที่ถาวรได้ คนที่พึ่งร่มเงาเมฆจึงพึ่งได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ไม่อาจพึ่งได้ตลอดไป
                ในทางพระพุทธศาสนา มีสิ่งที่เปรียบได้กับร่มเงาเมฆนั้นคือ การพนัน ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยหวังสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นหรือหวังรวยทางลัด ด้วยการเล่นการพนัน บางครั้งแม้จะโชคดีได้ทรัพย์สินเงินทองมา ก็ได้มาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ด้วยเวลาที่ไม่นานนัก ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มานั้นก็จะค่อยๆ มลายสูญสิ้นไป จึงกล่าวได้ว่าไม่มีใครสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะให้แก่ตัวเอง หรือแม้แต่สร้างมรดกไว้ให้ลูกหลานได้ด้วยการเล่นการพนันเลย เพราะในที่สุดแล้ว ย่อมจะพบกับความหายนะ ความวิบัติเดือดร้อนต่างๆ จนถึงสิ้นเนื้อประดาตัว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ดังนั้นพระท่านจึงพูดว่าการพนันเป็นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อมประการหนึ่ง
                ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความขยันหมั่นเพียร ประกอบอาชีพที่สุจริต รู้จักประหยัดอดออม ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว ก็ย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ลำบากฝืดเคือง ถึงแม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่เป็นรายได้ที่มั่นคงได้ เหมือนร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ย่อมเป็นร่วมเงาที่ถาวรกว่าร่มเงาเมฆ
                ผู้หวังสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น จึงควรประกอบอาชีพที่สุจริต และไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการพนัน เพราะหวังร่ำรวยทางลัด เป็นความเพ้อฝัน เปรียบเหมือนการหวังพึ่งร่มเงาเมฆโดยแท้
............................................

กบ


กบ
                 มีนิทานเล่าว่า กบตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในสระน้ำในวัดแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมันสังเกตดูกิจวัตรของพระสงฆ์ เห็นพระสงฆ์ออกไปบิณฑบาตและนำอาหารกลับมาฉันที่วัด มันคิดว่าเป็นพระสงฆ์นี้สบายได้อาหารมาอย่างง่ายดาย ต่างกับตนที่ต้องดิ้นรนหาอาหาร ซ้ำยังมีชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงภัยตลอดเวลา จึงนึกอยากเป็นพระสงฆ์  ต่อมามันเห็นพระสงฆ์นำอาหารที่เหลือไปโปรยให้ไก่กิน ก็อิจฉาไก่ที่ไม่ต้องลำบากออกหาอาหารกินเอง จึงนึกอยากเป็นไก่ แต่ขณะนั้นเองมีสุนัขตัวหนึ่งวิ่งไล่ไก่ที่กำลังคุ้ยเขี่ยจิกกินอาหารอย่างเพลิดเพลิน มันจึงอยากเป็นสุนัข ต่อมาสุนัขก็ถูกชายคนหนึ่งใช้ไม้ไล่ตีมัน มันจึงเปลี่ยนใจอยากเป็นคน แต่สักครู่หนึ่งมันก็เห็นแมลงวันบินมาตอมชายคนนั้นจนเขารำคาญแล้วเดินหนีไป จึงอยากเป็นแมลงวัน ในขณะที่กบกำลังนึกเคลิบเคลิ้มอยากเป็นนั่นเป็นนี่อยู่นั่นเอง แมลงวันตัวหนึ่งก็บินมาจับตรงปลายจมูกของมันพอดี ด้วยความเคยชิน มันจึงแลบลิ้นตวัดแมลงวันเข้าปาก พอรู้รสแมลงวันเท่านั้น มันก็คิดได้ว่าเป็นอะไรก็ไม่ดีเท่ากับเป็นกบนั่นเอง
                เรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงนิทาน แต่ก็ให้ข้อคิดว่า ตัณหาหรือความอยากนั้น เป็นไฟอย่างหนึ่งที่สามารถเผาไหม้จิตใจทั้งของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน คอยบังคับบัญชาจิตใจให้อยากเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ร่ำไป จนเกิดอาการกระสับกระส่าย ฟุ้งซ่าน ทุรนทุราย ระทมทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด วิธีที่จะระงับหรือดับความอยากได้นั้น ก็คือต้องพยายามฝึกจิตให้ชื่นชมยินดีในภาวะของตน จนดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น และพอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนได้ ทำเช่นนี้ได้ก็จะไม่ถูกไฟคือความอยากเผาไหม้อีกต่อไป
............................................

เกราะกันภัย


เกราะกันภัย
                  เกราะเป็นเครื่องสวมใส่หรือเครื่องหุ้มชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับป้องกันอาวุธหรือภัยอันตรายต่างๆ เช่น เสื้อเกราะ รถหุ้มเกราะ เป็นต้น เกราะดังกล่าวเป็นเกราะทางโลก ใช้สำหรับป้องกันภัยภายนอกซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้อื่น แต่บางครั้งก็ไม่สามารถป้องกันได้หากมีอาวุธที่สามารถทำลายเกราะได้ หรือฝ่ายตรงข้ามมีขีดความสามารถที่ดีกว่า
                ยังมีเกราะอีกชนิดหนึ่งในทางธรรมะ เป็นเกราะทางธรรมใช้สำหรับป้องกันภัยภายใน คือภัยที่เกิดจากการกระทำของตนเอง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำลายทั้งผู้อื่นและตนเองให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ ความโหดร้ายทารุณ เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นนิจ ล่วงละเมิดสิทธิ์ด้วยการถือเอาทรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตนประพฤติผิดทางกามในสามีภรรยาผู้อื่นด้วยอำนาจกิเลสราคะ โกหกหลอกลวงผู้อื่นด้วยหวังให้เกิดความเสียหายและลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเสพติดให้โทษ วิธีจะป้องกันภัยภายในดังกล่าวได้ ต้องป้องกันด้วยเกราะภายในคือ การรักษาศีล ๕ ข้อ ได้แก่ ไม่เบียดเบียนฆ่าทำลายกัน โดยให้มีความเมตตากรุณาต่อกัน ไม่ลักขโมยสิ่งของกันและกัน โดยให้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ ไม่ล่วงเกินสามีภรรยาของกันและกัน โดยให้มีความยินดีพอใจในคู่ครองของตน ไม่พูดโกหกหลอกลวงกัน โดยให้พูดคำสัตย์จริงเหมาะสมเป็นที่น่าเชื่อถือ และไม่เสพสิ่งเสพติดให้โทษ โดยให้มีสติครองตนอยู่เป็นนิจ
                ผู้ที่รักษาศีล ๕ อยู่เสมอ ย่อมเป็นเหมือนมีเกราะกันภัยให้แก่ตนเอง เพราะช่วยควบคุมวาจาของตนไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีงาม ไม่ต้องหวาดระแวงกลัวจะถูกนินทาว่าร้ายหรือถูกจับกุมลงโทษ นอกจากนั้นยังช่วยให้สังคมมีความปลอดภัย อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จึงกล่าวได้ว่า ศีล ๕ เป็นเกราะกันภัยได้อย่างสำคัญ ดังคำพระที่กล่าว “สีลัง กะวะจะมัพภุตัง” ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์ หากทุกคนในสังคมมีเกราะภายใน คือศีล ๕ แล้ว เกราะภายนอก เช่น เสื่อเกราะ ก็ไม่จำต้องใช้อีกต่อไป
............................................


วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ดินทรายกับดินเหนียว


ดินทรายกับดินเหนียว
                 ดินทรายกับดินเหนียวมีลักษณะต่างกัน คือดินทรายมีลักษณะร่วนซุย แยกกันอยู่เป็นเม็ดๆ ไม่เกาะติดกัน แม้จะอยู่ในที่หรือภาชนะ ก็ไม่สามารถรวมตัวกันได้ ส่วนดินเหนียวมีลักษณะเป็นปึกแผ่น เกาะติดกันเป็นก้อน แม้จะนำมาจากต่างที่กัน ก็สามารถสมานรวมตัวกันได้เป็นอย่างดี
                หากนำเอาลักษณะของดินทั้งสองชนิดมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องสามัคคีแล้ว สามารถอธิบายได้ว่า ดินทรายเปรียบเหมือนการแตกความสามัคคีในหมู่คณะ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำคนประเภทดินทรายจึงมักมีจิตใจไม่พร้อมที่จะสมานหรือร่วมมือกับคนอื่น ส่วนดินเหนียวเปรียบเหมือนความสมัครสมานสามัคคี ความพร้อมเพรียงปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คนประเภทดินเหนียวจึงพร้อมที่จะสมานหรือร่วมมือกับคนอื่นในการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา หมู่คณะใดมีแต่คนประเภทดินทราย หมู่คณะนั้นก็มักจะ ก่อความขัดแย้ง แสดความวิบัติ ขจัดพลัง สร้างความทุกข์ใจไม่เป็นที่รัก หมดความภักดี มีแต่ฉิบหาย ตรงกันข้าม หมู่คณะที่มีคนประเภทดินเหนียวมาก ก็จะไม่ก่อความขัดแย้ง ไม่แสดงความวิบัติ ไม่ขจัดพลัง สร้างความสุขใจ กลายเป็นที่รัก เพิ่มความภักดี มีแต่ความสุข
                หากคนในสังคมต้อการทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่หนักให้กลายเป็นเบา ทำสิ่งที่ช้าให้กลายเป็นเร็ว และทำทุกข์ให้กลายเป็นสุข ก็ควรทำตนให้เป็นคนประเภทดินเหนียว เพราะจะช่วยให้หมู่คณะมีความเป็นปึกแผ่น มีความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและช่วยให้ทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่ายอย่างไม่ต้องสงสัยเลย
............................................

ความกล้าหาญ


ความกล้าหาญ
                ความกล้าหาญ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่ง ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนตร์ในหลายๆ เรื่องทั้งไทยและต่างประเทศได้แสดงออกมาในรูปแบบของการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ครอบครัวและทรัพย์สินของตนเอง ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงคุณธรรมในลักษณะที่ทำให้เกิดความกล้าหาญไว้ เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม มีด้วยกัน ๕ ประการคือ
                ๑. ศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่ามีอยู่จริง
                ๒.ศีล คือประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดระเบียบวินัย ไม่ผิดศีลธรรม
                ๓.พาหุสัจจะ คือศึกษาเล่าเรียนหรือค้นคว้ามามาก เป็นผู้คงแก่เรียน
                ๔.วิริยารัมภะ คือตั้งใจทำกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจัง ด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระ
                ๕. ปัญญา คือรู้รอบและรู้ชัดในสิ่งที่ควรรู้ รู้จักเหตุของความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ รู้ดี รู้ชั่ว รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
                คนที่มีธรรมทั้งประการดังกล่าวจะเป็นคนที่มีความกล้าหาญในสังคม ไม่หวาดหวั่น สะทกสะท้าน หรือเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง ถูกนินทา หรือถูกจับกุม ลงโทษใดๆ
                ความกล้าหาญที่แท้จริง ต้องเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าหาญในทางสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดโทษหรือความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น
                ปัจจุบัน มีคนจำนวนมากได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง มีความกล้าหาญ ก็เพราะเขาได้ปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว จงสำรวจดูตนเองว่ามีธรรมเพื่อความเป็นคนกล้าหาญแล้วหรือยัง
............................................

วิธีสร้างยศ



                ยศ เป็นเครื่องหมายหรือเครื่องกำหนดฐานะหรือชั้นของบุคคลอย่างหนึ่งว่าอยู่ในระดับใด มีสามประเภท คือ ๑.อิสริยยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งสำคัญ  ๒.เกียรติยศ หมายถึงชื่อเสียง ความยกย่องนับถือ ความมีหน้ามีตา ๓.บริวารยศ หมายถึงมีพวกพ้อง บริวาร มีคนคอยช่วยเหลือ ยศทั้งสามนี้ เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป เพราะช่วยให้ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนามากกว่าคนที่ไม่มียศ แต่การจะได้มาซึ่งยศได้มาแล้วรักษาไว้ได้ หรือยศจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จะต้องทำตนให้เป็นคนมีคุณธรรม ๗ ประการ คือ
                ๑.มีความเพียร คือขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
                ๒.มีสติ คือระมัดระวังตนอยู่ตลอดเวลา ควบคุมสติอารมณ์ไว้ได้
                ๓.มีการงานสะอาด คือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษแก่ใคร
                ๔.มีความรอบคอบ คือมีความละเอียดรอบคอบ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน
                ๕.มีความสำรวม คือมีกิริยามารยาทเรียบร้อยน่าเลื่อมใส สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่โอ้อวด
                ๖.เป็นอยู่โดยธรรม คือมั่นคงอยู่ในศีลธรรม ยึดธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
                ๗.ไม่ประมาท คือไม่หลงมัวเมา ไม่ทำงานให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย
                หากคนเราต้องการจะมียศ เพื่อความเป็นใหญ่ ก็ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว เมื่อปฏิบัติได้ยศที่ไม่มี ก็จะมี เมื่อมีแล้วก็จะรักษาไว้ได้ และจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปโดยลำดับ และยศที่ได้มาด้วยวิธีนี้จะอยู่ได้นาน เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ตรงกันข้าม หากได้ยศมาโดยไม่ชอบธรรม ยศก็จะไม่ยั่งยืนถาวร ยิ่งหากได้ยศมาแล้วมัวเมาหลงอำนาจ พอหมดยศลงเมื่อไร ก็จะตกอับทันที จะหวังพึ่งพาใครก็ไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคมด้วย ดังนั้น เมื่อสร้างยศขึ้นมาแล้ว ก็ควรรักษาไว้ให้ดีด้วยหลักธรรมทั้ง ๗ ประการข้างต้น ไม่ทำตนเองให้เป็นที่เสื่อมเสีย ไม่หลงในยศ ดังคำพระที่ว่า “ยโส ลัทธา น มัชเชยยะ – ได้ยศแล้วไม่พึงเมายศ” จึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
............................................

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2562

ประกันชีวิต


ประกันชีวิต
                เป็นที่ทราบกันว่า การประกันชีวิต ก็คือการส่งเบี้ยประกันให้บริษัทที่รับประกัน แล้วได้รับความคุ้มครองตามวงเงินและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เมื่อเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจะทำให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปของค่าใช้จ่าย เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อยู่ข้างหลังได้วิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการประกันชีวิตด้วยวัตถุ เป็นวิธีการทางโลก
                แต่ยังมีการประกันชีวิตที่ดีกว่านั้น ก็คือการประกันชีวิตด้วยคุณธรรม เป็นวิธีการทางธรรม ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง เป็นสุข และก้าวหน้าอย่างแท้จริงโดยการสร้างหลักประกัน ๓ อย่างขึ้นในตัวเอง คือ
                ๑.ศีล ฝึกหัดและควบคุมคำพูด การกระทำ ให้อยู่ในกฎหมายและศีลธรรม เป็นหลักประกันว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและผู้อื่น
                ๒.สมาธิ ฝึกหัดและควบคุมจิตใจให้มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปตามเหตุการณ์และอารมณ์ อย่างไร้จุดหมายเป็นหลักประกันว่า จะมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ฝ่ายต่ำมีพลังที่จะนำชีวิตก้าวไปสู่จุดหมายอย่างไม่ย่อท้อ
                ๓.ปัญญา พัฒนาความคิดจนเข้าใจในเหตุและผล ไม่ติดอยู่แค่เรื่องที่เห็นประเด็นที่เกิด แต่เข้าไปสัมผัสจนถึงความเป็นจริงที่มีอยู่ในสิ่งนั้นๆ เป็นหลักประกันว่า การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ทั้งหลายจะถูกตรงต่อเนื้อแท้ ไม่ผิดพลาดและวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายในโลกได้อย่างชาญฉลาด ไม่เกิดทุกข์
                ถ้าจะประกันชีวิตตามกรมธรรม์ ก็เป็นสิ่งดี เพราะทำให้ได้รับประโยชน์เมื่อเกิดอันตรายหรือเสียชีวิตแต่ต้องคิดด้วยว่าขณะที่ยังไม่เจ็บ ไม่ตายคือตอนที่ยังดีๆ อยู่นี่แหละ หากเราได้ทำประกันสำหรับชีวิตจริงๆ ให้กับตัวเองแล้ว รับประกันว่าชีวิตของเราจะมั่นคง เป็นสุขอย่างแน่นอน และเมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็จะได้รับความคุ้มครองตลอดไปหากยังไม่ได้ทำ ขอได้โปรดพิจารณาหลักประกันทั้ง ๓ ดังกล่าวข้างต้น
............................................

ให้คือได้


ให้คือได้
                ถ้าเรามีเมตตาต่อใครสักคนหนึ่ง ก็มักจะพูดกันว่าให้ความเมตตา อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ได้รับความเมตตา คำพูดนี้สร้างมโนภาพให้เห็นเป็นคนสองคน คือคนหนึ่งให้ อีกคนหนึ่งได้ ทำให้เข้าใจต่อไปว่าเมื่อจะเมตตาก็ต้องเป็นฝ่ายให้ ต้องพักเรื่องคิดที่จะได้ไว้ก่อน ทั้งที่ความจริง ผู้มีเมตตาคือผู้ได้ในทันที ดั่งเช่น
                ๑.ได้โลกทัศน์ที่ดี ผู้มีเมตตาจะเห็นผู้อื่นเป็นมิตร อย่างน้อยก็เห็นเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พร้อมจะเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น เป็นคนมองโลกในแง่ดี คนที่มองโลกในแง่ดี ถึงเกิดเรื่องร้ายก็แก้ไขให้กลับดีได้ง่าย แต่คนที่มองโลกในแง่ร้าย ถึงมีเรื่องดีก็อาจกลายเป็นร้ายไปจนได้
                ๒.ได้สุขภาพจิต ข้อนี้สำคัญมาก เพราะการสูญเสียสุขภาพจิต เช่น เครียด วิตกกังวล หงุดหงิด ฉุนเฉียว เป็นต้น เป็นการสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ และนำมาซึ่งความสูญเสียในลักษณะอื่นๆ อีกมาก
                ๓.ได้คุณสมบัติของผู้นำ เพราะเป็นผู้มีน้ำใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เอาเปรียบใคร แม้ต้องลงโทษผู้อื่น ก็ไม่ลงโทษเพราะเกลียดชัง แต่มุ่งยับยั้งห้ามปรามจากความชั่ว คือทำเพื่อหวังประโยชน์แก่ผู้ถูกลงโทษนั้นเอง ดุจพ่อแม่เฆี่ยนตีลูกก็เพราะความรัก หาใช่เพราะเกลียดชังไม่
                เมตตาเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ปรารถนาความเป็นดีอยู่ดีของผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่คิดแม้แต่จะได้ความรู้สึกที่ดีตอบแทนมาหรือไม่ ผู้มีเมตตาจึงไม่มีทางผิดหวังกลับมีแต่ได้ เพราะทันทีที่ความเมตตาเกิดขึ้นในใจ ก็จะได้สุขภาพจิต คุณภาพจิต และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน เป็นการได้ก่อนที่จะลงมือให้เสียอีก
............................................

ขี้เหร่ก็รัก


 ขี้เหร่ก็รัก
                ความรักย่อมเป็นที่มาของความเห็นใจ ความช่วยเหลือ เสียสละ ให้อภัย และอื่นๆ อีกสารพัด ที่จะนิยามกันมา การเป็นที่รักของผู้อื่นจึงเป็นที่ปรารถนาของทุกคน ทำให้มีการเสริมแต่งร่างกาย ผิวพรรณ และแสวงหาเครื่องประดับเพื่อเสริมความงามกันอย่างเอาจริงเอาจัง จนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก แต่วิธีทำให้คนอื่นรักที่ได้ผลที่สุดก็คือทำตัวเองนั่นแหละให้น่ารัก ซึ่งสามารถลงมือปฏิบัติได้เอง ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
                ๑.ไหว้ผู้อื่น เพราะการไหว้หรือรับไหว้คือการเผยให้เห็นความรู้สึกที่ดีที่มีให้ผู้อื่น เป็นการสร้างเสน่ห์ตั้งแต่แรกพบ
                ๒.ขอโทษและขอบคุณ คำว่าขอโทษ ก็คือการยอมรับว่าตนเป็นฝ่ายผิด คำว่าขอบคุณก็คือการมองเห็นน้ำใจของเขา ทั้งสองคำนี้ไพเราะสำหรับผู้ฟัง เป็นวิธีหยิบยื่นความพึงพอใจให้ผู้อื่นที่ง่ายที่สุด
                ๓.ไม่เก่งคนเดียว รู้จักยกย่องความสามารถของผู้อื่น และรู้จักถ่อมตัว ในโอกาสที่เหมาะสม
                ๔.มีอารมณ์ขัน เพราะอารมณ์ขันที่ถูกกาลเทศะ จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ความตึงเครียดของผู้อื่น อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้มองโลกในแง่ดีขึ้น มีอารมณ์แจ่มใสขึ้น ไม่แจกจ่ายความเครียดให้คนรอบข้าง
                ๕.เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักเสมอ สำหรับการให้โดยจริงใจและบริสุทธิ์ไม่หวังผล
                ในแง่ที่จะทำให้คนอื่นรัก ถ้าจะพูดว่าคนสวยที่สุด กับคนขี้เหร่ที่สุด มีต้นทุนเท่ากัน ก็คงไม่ผิดเพราะสุดท้ายจะต้องตัดสินกันที่ความน่ารัก และความน่ารักที่แท้จริงนั้นก็เป็นคุณสมบัติ ไม่ใช่รูปสมบัติ คุณสมบัตินั้นเป็นเสน่ห์ตัวจริง ศักดิ์สิทธิ์ชนิดไม่มีอะไรทำลายล้างได้ มีอยู่ในคนขี้เหร่ที่สุด ก็ทำให้เป็นคนที่น่ารักที่สุดได้ คนทั้งหลายจะนิยมชมชอบเขาโดยไม่นึกรังเกียจในความขี้เหร่เลย
............................................

แค่นิดหน่อย


แค่นิดหน่อย
                คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” กันมาแล้ว คำพูดเช่นนี้เท็จจริงเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มีข้อที่น่าคิดว่า การทำตามใจตัวเองโดยยอมละทิ้งกฎเกณฑ์ทั้งๆ ที่เป็นของดีนั้น สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากความคิดที่ว่า “ก็แค่นิดหน่อย” คือในส่วนของผิดถูกนั้นรู้อยู่เต็มอก แต่เรื่องนี้มันแค่นิดหน่อยเท่านั้น คงไม่เป็นอะไร
                ความคิดนี้เป็นเหตุให้ตัวเองทำผิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเมื่อทำได้ครั้งสองครั้งก็จะรู้สึกว่าไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหายอะไร จนเคยชิน จนเห็นเป็นเรื่องถูกต้องและเป็นเรื่องปกติไปในที่สุด ทำให้เกิดผลเสียแก้ไขได้ยากตามมา ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในคือ ปัญหาการจราจร ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเอาเปรียบกันเพียงเล็กน้อย ทำให้ติดขัดล่าช้า หรือเพราะไม่ระมัดระวังด้วยเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ จนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตนาน นับเป็นชั่วโมง เป็นต้น
                ความจริง ความคิดว่าก็แค่นิดหน่อยนี้ เป็นประโยชน์มากถ้าเอามาใช้ในเรื่องที่ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา เช่น การเสียสละ ก็คิดว่าไม่เป็นไร แค่นิดหน่อยเท่านั้น ถึงคราวต้องอดทนหรือเหนื่อยยาก ก็คิดว่าเรื่องแค่นี้นิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้เหลือวิสัยอะไรเลย แล้วพอใจในการทำดี กลายเป็นความเคยชิน ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไม่ต้องคอยขวนขวายหาเลยแม้แต่น้อย
                เรื่องใหญ่ย่อมมาจากเรื่องเล็ก เหมือนไฟที่เผาผลาญอาคารหรือชุมจนเป็นเถ้าถ่าน ย่อมเกิดจากจุดไฟจุดเล็กๆ เท่านั้น ความคิดว่าก็แค่นิดหน่อย ก็เป็นเรื่องเล็กที่นำไปสู่เรื่องใหญ่ๆ ได้ คือถ้าใช้ในทางที่ถูกก็จะทำให้เกิดกำลังใจ ทำความดีจนแผ่ไพศาล ถ้าใช้ผิดก็จะเป็นเหตุให้ทำผิดไม่รู้จบ กลายเป็นนิดหน่อยอย่างถาวร เกิดความเสียหายยาวนาน เหมือนเปลวไฟเล็กๆ ที่ทำลายล้างได้กว้างไกลจนอาจคิดไม่ถึง
............................................

คมเฉือนคม



                จากเรื่องเล่าชาดก หมีตัวหนึ่ง อาศัยร่มเงาต้นตะคร้อใหญ่ต้นหนึ่งเป็นที่พักผ่อน วันหนึ่งขณะที่มันหลับเพลินอยู่นั่นเอง มีลมพายุพัดกระโชกมาวูบหนึ่ง ทำให้กิ่งแห้งของไม้ตะคร้อหักลงมาทิ่มคอของมันอย่างแรง มันสะดุ้งตื่นวิ่งหนีด้วยความตกใจ พอได้สติย้อมกลับมาดูก็ไม่พบว่ามีอันตรายอะไร เห็นแต่กิ่งไม้ที่หล่นมาอยู่กับพื้น มันแน่ใจว่าต้องเป็นฝีมือของเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ต้นตะคร้อนั้น จึงผูกใจเจ็บว่าสัตว์อื่นมาอาศัยต้นตะคร้อนี้มากมายเหตุใดเทวดาตนนี้จึงเกลียดชังมุ่งร้ายต่อเราผู้เดียว แบบนี้ต้องได้เห็นดีกันแน่ จึงได้อาศัยวนเวียนอยู่บริเวณนั้นด้วยแรงอาฆาต
                ขณะนั้น มีพวกช่างไม้แบกเลื่อยและขวานมาเพื่อตัดไม้เอาไปทำกงรถ พอรู้ความประสงค์มันจึงพูดขึ้นว่า ข้าเป็นสัตว์ป่า รู้จักไม้ทุกชนิด ไม้อะไรจะวิเศษเท่าไม้ตะคร้อเป็นไม่มี ถ้าเอาไปทำกงรถจะทั้งสวยและทนทาน รับรองไม่ผิดหวังแน่ แล้วรีบพาไปยังตะคร้อต้นนั้น เมื่อพวกช่างไม้ลงมือตัด เจ้าหมีตัวนั้นก็ถอยออกมายืนดูด้วยความกระหยิ่ม
                ฝ่ายรุกขเทวดาคิดว่าเราไม่เคยทำอะไรให้หมีตัวนี้เดือดร้อนสักนิด แม้แต่กิ่งไม้ที่หล่นลงไปก็เพราะลมพัดแท้ๆ แต่มันยังใช้เล่ห์เหลี่ยมผลาญเราจนได้ จึงแปลงร่างเป็นมนุษย์ เข้าไปกระซิบพวกช่างไม้ว่าเมื่อท่านทำกงรถเสร็จแล้ว ต้องใช้หนังสัตว์หุ้มอีกทีหนึ่งจึงจะสวยงามและคงทน หนังสัตว์ที่ว่านี้ ไม่มีหนังอะไรวิเศษเท่าหนังหมี ยิ่งเป็นตัวที่ยืนอยู่ข้างๆ นั่นด้วยแล้วยิ่งเหมาะสมเป็นที่สุด ผลสุดท้าย ตะคร้อก็ถูกโค่น หมีก็โดนฆ่าไปด้วยกัน
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า ถ้าเอาคมมีดเฉือนลงบนคมมีอีกเล่มหนึ่ง ย่อมเสียหายทั้งสองเล่ม เพราะวัตถุประสงค์ของคมคือมีไว้เพื่อเฉือนอย่างอื่น ไม่ใช่เฉือนกันเอง ดุจไหวพริบสติปัญญาที่ต่างคนก็ต่างมีจะต้องใช้ความแหลมคมของสติปัญญาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ให้เกิดความดีงามด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อรองรับความโกรธแค้น ความสะใจ หรือเป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันเอง เพราะเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เหมือเอาคมเฉือนคม มีแต่จะเกิดความเสียหายในทั้งสองคมในที่สุดนั่นเอง
............................................

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

น้ำใจ


 น้ำใจ
                คำว่า “น้ำใจ” แม้จะเข้าใจตรงกันแล้วว่าหมายถึงใจจริง นิสัยใจคอและความเอื้อเฟื้อ แต่ในแง่ของการใช้ถ้อยคำก็ชวนให้ฉงนว่า “น้ำ” ก็มีความหมายชัดเจนอย่างหนึ่ง “ใจ” ก็มีความหมายเฉพาะไปอีกอย่างหนึ่งเหตุใดเมื่อพูดถึงจิตใจที่ดีงามจึงต้องเอาคำว่าน้ำมาเกี่ยวข้องด้วย
                เรื่องนี้ถ้าจะตีความเพื่อมุ่งให้เกิดแง่คิดที่เป็นประโยชน์ ก็น่าจะเป็นเพราะเพื่อให้คนที่ได้ยินได้ฟังและได้คิดไปพัฒนาจิตใจในด้านต่างๆ โดยถือเอาคุณสมบัติของน้ำเป็นตัวอย่าง
                ๑.น้ำ มีลักษณะชุ่มเย็น ใจก็ควรมีความเมตตา รู้จักเห็นอกเห็นใจ ชุ่มเย็นด้วยคุณธรรม ไม่รุ่มร้อนด้วยริษยาอาฆาต เป็นต้น
                ๒.น้ำ รวมกันเป็นเนื้อเดียว ใจก็ควรน้อมไปในความสามัคคี สมานน้ำใจ ไม่ถือดี ขัดแย้งแบ่งฝ่าย แต่คิดไปในทางที่จะรวมพลังเพื่อการสร้างสรรค์ความดีให้เกิดขึ้น
                ๓.น้ำ บอกระดับได้เที่ยงตรง ใช้วัดระดับของสิ่งต่างๆ ได้ ใจก็ควรเที่ยงธรรม ปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยยึดความถูกต้อง อย่างเสมอหน้า ไม่ลุแก่อำนาจคติ
                ๔.น้ำปรับตัวเข้าได้กับทุกภาชนะ ใจก็ควรรู้จักปรับให้เข้ากับสถานการณ์ รับรู้และเข้าใจตามเหตุผล ความจริง ไม่ยึดติดเฉพาะความคิดของตน เวียนวนอยู่กับมานะและทิฐิ แต่เปิดกว้างสำหรับเหตุผลเสมอ
                น้ำเป็นที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตฉันใด ผู้ที่ชุ่มเย็นด้วยเมตตา ใฝ่ความสามัคคี มีความเที่ยงธรรม และยอมตามเหตุตามผล ก็เป็นที่ปรารถนาของโลกนี้ฉันนั้น เพราะเขาเป็นผู้มีน้ำใจ เป็นผู้หล่อเลี้ยงโลกนี้ให้อยู่เป็นสุขได้นั่นเอง
............................................

หัวใจของความสำเร็จ


 หัวใจของความสำเร็จ
                มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วจะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องทำงาน ต้องปฏิบัติหน้าที่ และการทำงานนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตทั้งชีวิต ผู้ทำงานจึงต้องทำให้เต็มที่อย่างน้อยสามเรื่อง
                ๑.เต็มเวลา เวลาที่กำหนดไว้สำหรับการทำงานมีอยู่เท่าใด ก็ใช้เวลานั้นทำงานให้ครบ ให้เต็มที่เพราะงานแต่ละเรื่อง ยิ่งมีเวลาลงมือทำใคร่ครวญและวางแผนแก้ไขปรับปรุงมาก ก็ยิ่งมีความสมบูรณ์ ถูกต้องและเกิดประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย เวลาของการทำงานยังมีอยู่ก็คือโอกาสที่ดีที่ยังเหลืออยู่นั่นเอง
                ๒.เต็มกำลัง คือใช้ความสามารถของตนให้เต็มที่ ทั้งกำลังกายกำลังความรู้ และสติปัญญา ไม่ใช่ทำแค่ให้เสร็จๆ ไป โดยไม่คำนึงถึงว่าได้ใช้ความสามารถไปแค่ไหนบ้าง
                ๓.เต็มใจ ยินดีและเต็มใจที่จะทำงานนั้น เพราะจะทำให้รักงาน ไม่ฝืนใจ ไม่จำใจ มีความสุขกับงาน พร้อมที่จะแก้ไขอุปสรรค เสียสละเพื่อให้งานที่ตนรักและรับผิดชอบนั้นสำเร็จตามเป้าหมายและได้ผลดีที่สุด
                ที่พูดๆ กันว่า “คนนั้น คนนี้ประสบความสำเร็จในชีวิต...” นั่น ก็คือการทำงานของเขาประสบความสำเร็จนั่นเอง เพราะไล่เลียงดูการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่การกิน นอน อาบน้ำ พักผ่อน เดินทาง ฯลฯ ไม่มีเรื่องใดเลยที่จะถือว่าเป็นความสำเร็จได้ มีแต่การทำงานเท่านั้น ผู้ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตจึงควรทำงานของตนนั่นแหละให้เต็มเวลา เต็มกำลัง และเต็มใจ ดีกว่าที่จะไปหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ทั้งนั้น
............................................

ยึดมั่นถือมั่น



                ในที่ประชุมของราชสำนักแห่งหนึ่ง มีการพิจารณาความเดือดร้อนของชาวเมืองตามที่เชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะตัวอุบาทว์ แต่ก็พบทางตันตรงที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวอุบาทว์นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร พระราชาจึงโปรดให้ทหารผู้หนึ่งไปหาตัวอุบาทว์มาให้ได้ภายในเจ็ดวัน ทหารผู้นั้นพยายามเสาะหาจนได้มาพบกับฤๅษีตนหนึ่ง และได้บอกความประสงค์ให้กับฤๅษีฟัง  ฤๅษีจึงได้เอาสิ่งของสิ่งหนึ่งใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่พร้อมกับปิดไว้อย่างแน่นหนา มอบให้และกำชับว่านี่คือตัวอุบาทว์ ฤทธิ์เดชของมันร้ายกาจยิ่งนัก เมื่อเปิดดูต่อหน้าพระที่นั่งก็ให้ส่องดูในกระบอกนี้เท่านั้น ห้ามเทออกมาเด็ดขาด
                เมื่อทหารผู้นั้นนำตัวอุบาทว์ในกระบอกไม้ไผ่มาถึงราชสำนัก การพิสูจน์ทราบก็เริ่มขึ้น อำมาตย์คนแรกเปิดออกและส่องดูก่อน แต่การมองเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่นั้นเป็นเรื่องอยากที่จะให้เห็นได้ชัดเจน จึงทำให้อำมาตย์คนแรกบอกว่าตัวอุบาทว์นี้เหมือนลูกเขียด คนที่สองรับไปดูบ้างส่องไปส่องมาหามุมที่ว่าชัดที่สุด แล้วบอกว่าไม่เหมือนลูกเขียด แต่เหมือนอึ่งอ่างมากที่สุด คนที่สาม ที่สี่ และคนต่อๆ ไป พอรับไปดูก็ทำเช่นกันและก็เห็นกันไปคนละอย่าง แตกต่างกันและต่างก็ยืนยันแข็งขันตามที่ตนเห็น จึงเกิดความขัดแย้งอยู่อื้ออึง พวกที่เถียงสู้ไม่ได้ถึงกับบันดาลโทสะ ในที่สุดก็ลุกขึ้นวางมวยชกต่อยกันเป็นโกลาหน พระราชาจึงทรงระงับเหตุด้วยการรับสั่งให้ผ่ากระบอกไม้ไผ่ออกมาดูเดี๋ยวนั้น และพบว่าเป็นแค่ชานหมาก จึงทำให้อำมาตย์ทุกคนคิดได้และเห็นตรงกันว่า ตัวอุบาทว์นั้น แท้ที่จริงก็คือ ความคิดเห็นที่ยึดมั่นชนิดไม่มีใครยอมใครนั่นเอง
                การมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคู่ไปกับการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นยิ่งเป็นความเห็นหรือเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ ยิ่งต้องให้ความสำคัญเพราะผิดพลาดได้น้อยกว่า หลายๆ คนที่คิดได้จึงถือเอาส่วนรวมเป็นมาตรฐานตรวจสอบตนเอง เมื่อส่วนรวมเห็นว่าดีมีประโยชน์ แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับ ไม่ยึดมั่นในความเห็นของตนแต่ถ่ายเดียว เพราะการยึดมั่นถือมั่น ถึงจะไม่เกิดความรุนแรงมากมาย แต่ก็เป็นทุกข์แก่ผู้ที่ยึดติดนั่นเอง ไม่เว้นแม้แต่การยึดมั่นถือมั่นในการทำความดี ก็อาจเป็นทุกข์ได้เช่นกัน
............................................

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562

ได้สติ


 ได้สติ
                เหตุที่ทำให้คนกลับตัวกลับใจได้ง่ายที่สุดคือการได้สติ การได้สติที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือนึกถึงความตาย แต่การนึกถึงความตายนั้น จะทำได้ยากหรือง่ายย่อมขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของแต่ละคน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยเปรียบเทียบกับม้า ๔ ประเภทคือ
                ๑.เพียงเห็นเงาปฏักก็สะดุ้งกลัว สำเหนียกถึงสิ่งที่สารถีสั่งให้ทำ เปรียบได้กับคนที่ได้ทราบข่าวว่าคนโน้นเจ็บ คนนั้นตาย ก็เกิดสังเวชสลดใจ เริ่มเพียรพยายามทำความดี
                ๒.เห็นเงาปฏักอย่างเดียวยังไม่รู้เรื่อง ต่อเมื่อถูกแทงจนถึงขน รู้สึกได้ถึงผิวหนังจึงทำตามคำสั่ง เปรียบได้กับคนที่ต้องเห็นคนอื่นเจ็บหรือตายด้วยตนเองเสียก่อนจึงจะเกิดสังเวชสลดใจ
                ๓.แม้จะถูกปฏักแทงจนถึงขนก็ยังเฉย ต้องแทงทะลุผิวหนังจนเลือดไหลนั่นแหละจึงจะยอมทำตามคำสั่ง เปรียบได้กับคนที่ ต่อเมื่อได้เห็นญาติพี่น้องของตนเจ็บหรือตายจึงจะสลดใจได้คิด
                ๔.ต้องถูกแทงจนถึงกระดูกจึงจะละพยศ ยอมทำตามคำสั่งโดยดี เปรียบได้กับคนที่ต้องเจ็บหรือเกือบตายเสียเองถึงจะคิดได้ และเร่งประกอบคุณงามความดี
                ที่ว่าการได้สติที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งคือนึกถึงความตายนั้น ก็เพราะโลกนี้มีคนตายทุกวัน ตายไม่หยุด เป็นครูสอนที่หาง่ายที่สุด สอนดีที่สุด เพราะสอนด้วยการลงมือตายให้ดูจริงๆ ให้รู้ว่าก่อนจะตายได้ทำอะไรไว้อย่างไร ให้รู้ว่าตายแล้วเป็นอย่างไร ยังมีชีวิตอยู่ควรทำอย่างไร เมื่อเห็นคนโน้นเจ็บ คนนั้นตายจึงควรได้สติดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงาม เหมือนม้าที่ฉลาด เห็นแค่เงาปฏักก็ขวนขวายทำหน้าที่ของตนโดยมิชักช้า
............................................

ชัยชนะ


 ชัยชนะ

                หากตั้งคำถามว่า “ชีวิตคืออะไร” คงจะได้คำตอบที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น ชีวิตคือความเป็นอยู่ ชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตคือการแสวงหา ชีวิตคือละคร ชีวิตคือความไม่แน่นอน ฯลฯ โดยที่ในคำตอบทุกคำตอบนั้นสามารถสรุปลงไปหนึ่งเดียวได้คือ ชีวิตคือการต่อตู้ จากด้วยเหตุผลว่าในทุกๆ ความหมายของชีวิตที่กล่าวถึงย่อมมีการต่อสู้แฝงอยู่ด้วยเสมอ โดยมีจุดหมายเพื่อเอาชนะความทุกข์ให้ได้ ข้อนี้สอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาที่แม้จะมีจำนวนมาก แต่โดยสรุปก็มุ่งสอนให้รู้จักเรื่องความทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการให้ถึงความดับทุกข์  เมื่อเป็นดังนี้แล้ว การวัดผลแพ้ชนะจากการต่อสู้จึงต้องวัดกันที่ใครจะบริหารชีวิตได้ดีกว่า มีความทุกข์น้อยกว่า
                แม้พระพุทธศาสนาจะไม่ปฏิเสธชัยชนะในเรื่องทั่วไป แต่ก็สรรเสริญการเอาชนะตนเองว่าเป็นชัยชนะที่สูงสุด การเอาชนะตนเองก็คือเอาชนะกิเลสในใจให้ได้ก่อน เพราะเป็นฐานให้การเอาชนะคนอื่นเป็นไปโดยธรรม ไม่เกิดโทษตามมา ไม่ใช่ถูกกิเลสบังคับให้ต้องเอาชนะคนโน้นคนนี้ แล้วก็หลงภูมิใจว่าเป็นผู้ชนะ ทั้งที่ผู้ชนะตัวจริงคือกิเลส ตนเองหามีอิสรภาพแท้จริงไม่ ที่สำคัญ ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการที่ชีวิตต้องต่อสู้นั้นคือสู้กับคนอื่น ไม่สนใจที่จะเอาชนะตนเอง
                มักจะเข้าใจผิดกันว่า ถ้าทำให้เขาแพ้ได้เราก็ชนะ ที่ว่าเข้าใจผิดก็เพราะในความเป็นจริงบางครั้ง เมื่อเขาแพ้เราก็แพ้ด้วย ดังในชีวิตจริง อาจมีสักครั้งที่เราเอาชนะคนอื่นได้ แต่พอชนะแล้วกลับต้องเป็นทุกข์เครียด และวิตกกังวล ความสุขที่มีอยู่ลดลง แต่ความทุกข์เพิ่มขึ้น หากตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ควรหาคำตอบให้ได้โดยพลันว่านี่หรือคือชัยชนะ และชนะอะไร ชนะเพื่ออะไร
............................................

ทางเสื่อมสายที่๒



                ในบรรดาอบายมุขที่แปลว่าทางเสื่อมของชีวิตตามหลักคำสอนของพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกัน ๖ สาย อันได้แก่ ๑.การติดสุราและของมึนเมา ๒.การชอบเที่ยวกลางคืน ๓.การชอบเที่ยวดูการละเล่น ๔.การติดการพนัน ๕.การคบคนชั่วเป็นมิตร และ ๖.การเกียจคร้านในหน้าที่การงาน สำหรับเส้นทางสายที่ ๒ นั้น คือการเที่ยวกลางคืน เป็นทางเสื่อมที่ในอดีตมองเห็นได้ยาก เนื่องจากไม่มีสถานบันเทิงที่มีแสงสีทันสมัย จูงใจให้เข้าไปใช้บริการอย่างในทุกวันนี้  ปัจจุบันสถานบันเทิงต่างๆ มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการที่ดึงดูดจิตใจ ล่อตาล่อใจ ได้มากขึ้น และผลของการเที่ยวกลางคืนนี้มีผลทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา เฉพาะโทษก็มีปรากฏเป็นหัวข้อได้ ๖ ประการ คือ
                ๑.ไม่รักษาตัวเอง เพราะนำตัวเองข้าไปสู่สถานที่และเหตุการณ์ที่อาจมีการเสพสิ่งเสพติดมึนเมา การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม อุบัติเหตุ และความสำส่อนทางเพศ
                ๒.ไม่รักษาครอบครัว โดยปกติ คนเราต้องรัก ดูแลรักษาครอบครัวของตน การละทิ้งครอบครัวในยามวิกาลโดยไม่มีเหตุเหมาะสม ย่อมถือว่าตั้งอยู่ในความประมาท อีกประการหนึ่ง เป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์และความอบอุ่น ทำให้ครอบครัวขาดความมั่นคงได้
                ๓.ไม่รักษาทรัพย์สิน เพราะมีแต่ทางสิ้นเปลือง บางรายถึงกับต้องเป็นหนี้สินเพราะการกิน เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน
                ๔.มักถูกระแวงสงสัย เพราะการไม่รักษาตัว ไม่รักษาครอบครัว ย่อมไม่ใช่วิสัยของบุคคลทั่วๆ ไป  เป็นที่ถูกให้มองได้ว่าขาดความรับผิดชอบ สนใจแต่ความสุขของตนเอง
                ๕.เป็นเป้าหมายให้ถูกใส่ความ แม้จะไม่ได้ทำความผิด แต่ก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ปรารถนาดีได้ง่าย เป็นที่ต้องระแวงสงสัยในอันดับต้นๆ
                ๖.ได้รับความลำบาก เปรียบเหมือนปลาที่หลงกินเหยื่อของพรานเบ็ด ทั้งเจ็บปวด ดิ้นรน และอาจถึงตายในที่สุด เพราะในเบื้องต้นหลงว่าเป็นเหยื่ออันโอชะ
                การพักผ่อนให้หายเครียด เกิดความสุขใจ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่ แต่ถ้าเลือกวิธีไม่ถูกก็อาจถลำลงสู่ทางเสื่อมสายที่ ๒ ซึ่งทำให้ชีวิตพังมานักต่อนักแล้ว
............................................