วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จงอยากแต่อย่าโลภ

จงอยากแต่อย่าโลภ
                ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ มักจะเห็นหรือได้ยินข่าวที่น่าสลดสังเวชและสวนทางกับศีลธรรมมากขึ้น เช่น ทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย ก็ลงมือกันถึงแก่ชีวิต หรือมีการลักเล็กขโมยน้อย ปล้นจี้ เพียงเพื่อจะเอาเงินทองไปเสพสุขในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
                ถ้าจะถามว่า เพราะเหตุใดคนจึงทำความผิดความชั่วมากขึ้น ก็อาจตอบได้ว่า เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความจำเป็นบังคับ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เป็นต้น เมื่อจนหนักเข้าหาทางออกไม่ได้ ไม่อยากโกงก็ต้องโกง ไม่อยากขโมยก็ต้องขโมย ไม่อยากปล้นก็ต้องปล้น ในความเป็นจริงแล้ว ความจนเป็นเพียงข้ออ้างในการกระทำนั้นๆ เท่านั้นเอง ทางเลือกในการแก้ปัญหา สามารถทำในทางที่ถูกที่ต้องได้เสมอโดยไม่จำเป็นต้องทำไม่ดี แต่ความโลภในใจคนต่างหากที่เป็นมูลเหตุให้คนทำไม่ดี ความโลภหรือก็คือความอยากนั่นเอง ความอยากอาจไม่ใช่ความโลภไปเสียทุกอย่าง ความอยากที่ผิดทำนองคลองธรรมเท่านั้นจึงจะเป็นความโลภ ส่วนความอยากที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรมไม่จัดว่าเป็นความโลภ เช่น ข้าราชการคนหนึ่งอยากได้เงินเดือนเพิ่มก็หาทางประจบประแจงเจ้านาย ทำงานเอาหน้า หรือถึงขั้นติดสินบน พฤติกรรมอย่างนี้เรียกว่าคนโลภ ส่วนข้าราชการอีกคนหนึ่งอยากได้เงินเดือนเพิ่ม แต่ขยันทำงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน หนักเอาเบาสู้ไม่ทำดีเอาหน้า พฤติกรรมอย่างนี้คือคนไม่โลภ
                อยากร่ำรวย อยากก้าวหน้าในชีวิต อยากมีหน้าที่การงานที่ดี อยากมีเกียรติยศชื่อเสียงในสังคม จงอยากไปเถิด ตราบใดที่ความอยากนั้นยังถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเราโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและบุคคลรอบข้างหรือสังคม
                จงอยากเถิดแต่อย่าโลภ  ความโลภเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการทำความดีทั้งปวง

............................................

สร้างนิสัยให้เป็นคนขยัน


                สิ่งที่จะให้โทษแก่มนุษย์มากที่สุดสิ่งหนึ่งก็คือ ความเกียจคร้านของมนุษย์ บางคนปล่อยวันเวลาให้สูญเปล่าไปตั้งครึ่งชีวิต โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ในวัยเด็กไม่ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ในวัยทำงานก็ขาดความเอาใจใส่ต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย ผลสุดท้ายก็ประสบความล้มเหลวในหน้าที่การงาน ก่อให้ปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น การที่คนขาดศีลธรรม เล่นการพนัน ค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย ฉ้อฉล ฯลฯ
                ความเจริญของสังคมและประเทศชาติจะมีขึ้นได้ ก็ด้วยอาศัยความขยันของแต่ละคนที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนด้วยความเอาใจใส่ และมีความรับผิดชอบ ส่วนคนเกียจคร้าน เป็นได้แค่ผู้ถ่วงความเจริญ จึงไม่มีสังคมใดปรารถนา ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ความเกียจคร้านเกิดขึ้นจึงควรสร้างนิสัยความเป็นคนขยันด้วยวิธีการ ดังนี้
                ๑.หัดเป็นคนตื่นแต่เช้า และอาบน้ำทันทีเมื่อตื่นขึ้น เป็นการปลุกเส้นประสาทให้ตื่นตัว พร้อมสำหรับการทำงาน และเริ่มต้นกับชีวิตของวันใหม่
                ๒.อย่าคิดแสวงหาความสุขสบายในการนอนอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ให้พยายามหาธุระอะไรทำเสมอ ไม่หยุดนิ่ง
                ๓.อย่าคิดเลือกทำแต่ของง่ายๆ ตามปกติกิจการอันใดที่ทำได้ง่าย กิจการอันนั้นมักไม่ช่วยให้เกิดความเข้มแข็งบากบั่น พยายาม และความมุ่งมานะ
                ๔.ต้องเป็นคนตรงต่อเวลา ถึงเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะทำอะไรแล้ว ต้องทำตามเวลานั้นให้ได้จริง
                ๕.ต้องคิดก้าวหน้าเสมอ ก่อนจะหลับในแต่ละคืนควรกำหนดไว้ให้แน่นอน พรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง
                ๖.ต้องคิดพึ่งตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใดหรือหวังผลใดๆ จะต้องไม่หมายพึ่งผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
                ความเกียจคร้านเป็นหนทางแห่งความเสื่อมอย่างหนึ่ง ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเอง และไกลไปถึงเป็นตัวถ่วงความเจริญของบ้านเมือง ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้าควรฝึกความขยันให้ได้ตามที่กล่าว จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน

............................................

ข้อคิดดีๆ

         ความ "ไม่รู้" ที่ทำให้เสื่อม...
 รู้ "รอบตัว"มากมาย แต่ไม่ "รู้ดีรู้ชั่ว "ก็เสื่อม
 รู้ "เว้นงู เว้นเสือ เว้นมีด เว้นปืน" แต่ไม่รู้ "เว้นอบายมุข" ก็เสื่อม
 รู้ "ภาษาต่างประเทศ" แต่ไม่รู้ "คุณค่าภาษา ไทย" ก็เสื่อม
 รู้ "ตอบคำถาม "แต่ไม่รู้ "ตอบคุณ แผ่นดิน" ก็เสื่อม
 รู้ "ที่กินที่เที่ยว" แต่ไม่รู้ "ที่ต่ำที่สูง" ก็เสื่อม
 รู้ "วัน เดือน ปีเกิด" แต่ไม่รู้ "กาลเทศะ" ก็เสื่อม
 รู้ "พยากรณ์อากาศ" แต่ไม่รู้ว่า "ชีวิตมี ขึ้นมีลง" ก็เสื่อม
 รู้" จักรวาลวิทยา นภากาศ" แต่ไม่รู้จัก "ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ" ก็เสื่อม
 รู้จัก "คนมากมาย หลายวงการ" แต่ไม่ "รู้จักตนเอง" ก็เสื่อม
 รู้จัก "บริหารคน บริหารงาน" แต่ไม่รู้จัก "วิธีบริหารใจ" ก็เสื่อม
 รู้จักวิธี "หาเงินมากมาย" แต่ไม่รู้วิธี "บริหารเงิน" ก็เสื่อม
 รู้จัก "สร้างตึกสูง นับร้อยชั้น" แต่ไม่รู้วิธี "ฝึกใจให้สูง" ก็เสื่อม
 รู้จัก "โกรธ" แต่ไม่รู้จัก "ให้อภัย" ก็เสื่อม
 รู้จัก "กติกามารยาท" แต่ไม่รู้จัก "กฏแห่ง กรรม" ก็เสื่อม
 รู้จัก "สวมนาฬิกา แพงๆ" แต่ไม่รู้จัก "คุณค่าของเวลา" ก็เสื่อม
 รู้จัก "การเข้าสังคม" แต่ไม่รู้จักการ "เข้าหาสังฆะ" ก็เสื่อม
 รู้ "เรียนเอา ปริญญาสูงๆ" แต่ไม่รู้จัก "ยกพฤติกรรมให้สูง" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "มีลูก" แต่ไม่รู้จัก "เลี้ยงลูก" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "รัก" แต่ไม่รู้จัก "รับผิดชอบ" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "ดู" แต่ไม่รู้ที่จัก "เห็น" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "นับถือ" แต่ไม่รู้ที่จะ "นับถืออย่างไร" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "พูด" แต่ไม่รู้จัก "ศิลปะการพูด" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "สวมหัวโขน" แต่ไม่รู้ที่ "จะถอดหัวโขน" ก็เสื่อม
 รู้ว่า "วันหนึ่งจะต้องตาย" แต่ไม่รู้วิธี "เตรียมตัวตาย" ก็เสื่อม
 รู้คุณ "ของเงินทอง" แต่ไม่รู้ "คุณพ่อคุณแม่" ก็เสื่อม

ที่มา : facebook.com/Thaigardenstore/posts/632392640238132

ยาอายุวัฒนะ


                ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชน ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในสถานที่ชุมชนต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่สดใส และมีอายุยืนยาว ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย เพื่อเน้นในทางป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข
                ในทางศาสนาได้มีคำสอนที่ว่า ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตที่สดใสอายุที่ยืนยาว ให้ปฏิบัติ ดังนี้
                ๑.สัปปายการี ต้องรู้จักทำความสบายให้กับตัวเอง ด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องงดเว้นสิ่งเสพติดให้โทษต่อร่างกายทุกชนิด
                ๒.สัปปาเย มัตตัญญู ต้องรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารที่ทำให้ตัวเองสบายนั้น ไม่มากและไม่น้อยเกินไป การไม่รู้จักประมาณในการบริโภค แม้แต่อาหารที่ดี ย่อมเป็นเหตุทำให้ร่างกายไม่สบายได้
                ๓.ปริณตโภชี บริโภคแต่อาหารที่ย่อยง่าย ควรงดเว้นเนื้อสัตว์บางชนิดที่ย่อยยาก ซึ่งปัจจุบันเนื้อสัตว์จำพวกนี้นอกจากจะเป็นเนื้อหยาบย่อยยากแล้ว ยังมีสารปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อบริโภคเข้าไปย่อมทำให้เกิดโรคร้ายแรง ต่างๆ
                ๔.กาลจารี ต้องรู้จักเวลาในการทำกิจต่างๆ เช่น ต้องรู้ว่าเวลานี้ควรทำอะไร ต้องทำให้ถูกเวลา ต้องทำให้เป็นเวลา และต้องทำให้เหมาะแก่เวลาด้วย
                ๕.พรหมจารี ต้องประพฤติให้เหมือนพรหม คือไม่ใช้ชีวิตที่หมกมุ่นมัวเมาในกามารมณ์มากนัก ต้องรู้จักงดเว้นเสียบ้าง จะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจดีอย่างสม่ำเสมอ
                หลักธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ หากปฏิบัติได้สม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างชีวินให้มีสุขภาพดี มีพลนามัยแข็งแรง มีชีวิตที่สดใส และมีอายุยืนยาวในที่สุด

............................................

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นิทานเตือนสติ

หญิงอายุ 40 กว่าๆคนหนึ่งพาลูกชายของเธอเดินเข้าไปในสวนดอกไม้ภายในอาคารสำนักงานใหญ่ของ บริษัทที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง และนั่งลงบนม้านั่งยาวตัวหนึ่งเพื่อกินอาหาร  ผ่านไปครู่หนึ่งผู้หญิงคนนั้นก็โยนทิ้งเศษกระดาษลงบนพื้น ในที่ไม่ไกลนักมีชายชราคนหนึ่งกำลังตัดแต่งดอกไม้ เขาไม่พูดอะไรสักคำ เดินเข้ามาหยิบเศษกระดาษแล้วทิ้งเข้าไปในถังขยะที่อยู่ข้างๆ  ผ่านไปอีกครู่หนึ่ง หญิงคนนั้นก็โยนเศษกระดาษลงบนพื้นอีก ชายชราก็เดินเข้ามาหยิบเศษกระดาษทิ้งเข้าไปในถังขยะอีก  .และก็เป็นเช่นนี้ อีก ชายชราต้องเก็บเศษกระดาษถึง 3 ครั้ง
หญิงคนนั้นชี้ไปที่ชายชราแล้วพูดกับลูกชายว่า : เห็นไหม ถ้าเธอตอนนี้ไม่เรียนหนังสือให้ดีๆ ในภายหน้าเธอก็จะเป็นเหมือนเขาไม่มีอนาคต ทำได้แต่เพียงงานที่ต่ำต้อยเช่นนี้
ชายชราได้ยินเช่นนั้น ก็วางกรรไกรแล้วเดินเข้ามาพูดว่า : สวัสดี ที่นี่เป็นสวนส่วนบุคคลของเครือบริษัทนี้ เธอเข้ามาได้อย่างไร?
หญิงวัยกลางคนนั้นพูดอย่างหยิ่งๆว่า : ฉันคือผู้จัดการฝ่ายที่บริษัทเพิ่งรับเข้ามา
ตอนนั้นเองก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาอย่างเร่งรีบ และมายืนอยู่ตรงหน้าชายชราอย่างเคารพนอบน้อม แล้วพูดว่า : ท่านประธาน การประชุมกำลังจะเริ่มแล้วครับ
ชายชราจึงพูดว่า : ตอนนี้ฉันขอเสนอว่าให้เลิกจ้างผู้หญิงท่านนี้
ครับ ผมจะรีบไปดำเนินการตามคำสั่งของท่านครับ ชายคนนั้นรีบขานรับ
ชายชราสั่งเสร็จก็เดินมาที่เด็กชาย เขาเอามือลูบที่ศีรษะของเด็กชายหนึ่งครั้ง แล้วพูดว่า : ฉันหวังว่าเธอจะเข้าใจนะ  “ในโลกนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเรียนรู้ที่จะให้เกียรติคนทุกคนและผลงาน จากการลงแรงของคนทุกคน”
หญิงวัยกลางคนนั้นถูกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ตกตะลึง หล่อนอ่อนระทวยอยู่บนม้านั่งยาวนั้น ถ้าหล่อนรู้ว่าชายชรานั้นเป็นประธานบริษัท ก็ย่อมไม่ทำเรื่องเช่นนั้นแน่นอน แต่ว่าหล่อนทำไปแล้ว แต่ที่ทำก็เฉพาะต่อหน้าประธานบริษัทที่ดูคล้ายฐานะคนดูแลสวน เพราะอะไรล่ะ ???
นี่เพราะฐานะตัวตนที่สูงต่ำใช่ไหม ? การให้เกียรติคน อย่าได้แยกแยะจากฐานะตัวตน นี่คือลักษณะในตัวที่สง่างาม ลักษณะในตัวที่สง่างามแสร้งทำออกมาไม่ได้ ในที่สุดก็จะเผยธาตุแท้ออกมา

ทรัพย์สินความร่ำรวยไม่ใช่เป็นเพื่อนชั่วชีวิต การเรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้อื่นจึงจะเป็นทรัพย์สินความร่ำรวยชั่วชีวิต มีเพียงสิ่งนี้จึงจะเป็นสภาพเขตแดนที่สูงที่สุดของชีวิตคนเรา

ที่มา: ไม่ทราบ
 ต้องขออภัยเจ้าของบทความ ที่นำมาเผยแพร่โดยไม่แจ้ง

การแก้ปัญหา

การแก้ปัญหา
                ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ใกล้หมู่บ้านชื่อขานุมตะ ในแคว้นมคธ มีพราหมณ์ชื่อ กูฏทันตะ ผู้ปกครองหมู่บ้าน เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบ้านเมือง พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังว่า “มีพระเจ้าแผ่นดินในอดีต พระองค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มากมาย พระองค์ทรงดำริถึงความสมบูรณ์และความมั่งคั่งในแผ่นดินของพระองค์ วันหนึ่งได้ตรัสเรียกพราหมณ์ที่ปรึกษาการแผ่นดินเข้ามาเฝ้าและถามถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในปกครอง ได้ทรงทราบถึงความไม่สงบสุขในชนบทและตามหัวเมืองต่างๆ ว่ายังมีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการปล้นฆ่าเบียดเบียนทำร้ายร่างกายกันปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามที่พราหมณ์กราบทูล จึงดำริว่า การที่จะรื้อฟื้นประกอบพิธีกรรมบูชายัญและการจะปราบปรามโจรผู้ร้าย เช่น ประหารชีวิต จองจำคุมขังอย่างเดียวคงจะไม่ได้ผลเด็ดขาด และไม่มีที่สิ้นสุด เห็นควรใช้วิธีอื่นที่ดีกว่าคือ การสงเคราะห์ กล่าวคือสนับสนุนอาชีพของประชน โดยส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม ตลอดจนการรับราชการ เช่น ให้พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์แก่เกษตรกร ให้ทุนแก่ผู้ประกอบการค้าขาย ให้เพิ่มเงินเดือนและรางวัลตอบแทนตลอดจนบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการ เป็นต้น จึงมีรับสั่งให้ดำเนินการตามนั้น ผลปรากฏว่าประชาชนมีความสงบสุขอยู่ดีกินดี บ้านเมืองปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่มีการเบียดเบียนกัน บ้านเมืองก็ปลอดภัยถึงขนาดไม่ต้องลงกลอนประตูหน้าต่างอีกต่อไป”
                จากเรื่องดังกล่าวทำให้มองเห็นปัญหา สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ปัญหาต่างๆ มีสาเหตุกดดันมาจากปัญหาปากท้องเป็นส่วนสำคัญ วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นมิใช่จะแก้ได้ด้วยการปราบปรามอย่างเดียว หากแต่ควรแก้ไขที่สาเหตุอันจะทำให้เกิดผลและเป็นผลที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง จึงจำต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีสงเคราะห์ประชาชนในด้านความเป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย

............................................

รอยร้าวของชีวิต


                ตึกที่ก่อสร้างไม่ดี มักจะปรากฏรอยร้าวตามจุดต่างๆ ให้เห็น รอยร้าวนั้นแม้เป็นเพียงรอยเล็กๆ ก็ทำให้ตึกนั้นขาดความคงทนถาวร และเป็นที่หวาดระแวงสำหรับคนอยู่อาศัยได้ ชีวิตของบางคนนั้น ถ้าไม่บริหารให้ดีก็อาจเกิดรอยร้าวในชีวิตขึ้นได้เช่นกัน รอยร้าวที่ว่านี้มี ๕ ประการ คือ
                ๑.โหดร้าย ความโหดร้ายส่วนใหญ่เกิดจากความโกรธ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำใจให้เดือดพล่าน เร่าร้อน กระวนกระวาย สามารถสังเกตอาการนี้ได้ทางใบหน้า น้ำเสียง และการกระทำ ที่ออกมาในลักษณะทำลายล้างบุคคลอื่น
                ๒.มือไว อาการมือไวส่วนใหญ่เกิดจากความโลภอยากได้ในทางทุจริต เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้ใจหิวกระหายคิดกอบโกยโดยทางที่ผิด เช่น ค้าของผิดกฎหมาย ทุจริต คอรัปชั่น เป็นต้น
                ๓.ใจเร็ว การใจเร็วเป็นอาการของคนที่หวั่นไหวต่อเพศตรงข้ามได้ง่าย คนประเภทนี้แม้จะมีครอบครัวเป็นตัวตนแล้ว จิตใจก็ยังไม่นิ่งพอ ถ้าไม่สำรวมตนให้ดีก็อาจเกิดปัญหาครอบครัวจนบ้านแตกสาแหรกขาดได้
                ๔.พูดปด คือพูดให้คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงด้วยเจตนาเป็นอกุศล เพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด ประสบกับความเดือดร้อน เสียทรัพย์ หรือเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
                ๕.หมดสติ การหมดสติเป็นอาการของคนที่ขาดความยั้งคิด ครองตนไม่ได้เพราะเสพของมึนเมาจนติดรอยร้าวที่เกิดจากการเสพของมึนเมาจนติดนี้ นับว่าเป็นอันตรายมากที่สุดเพราะเมื่อหมดสติแล้ว ก็อาจทำให้รอยร้าวข้ออื่นๆ ที่มีอยู่บ้างแล้วแตกร้าวหนักขึ้นไปอีกได้
                ชีวิตเป็นของมีค่ายิ่งนัก อย่าปล่อยให้รอยร้าวเกิดขึ้นในชีวิตของเราเลย

............................................

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ธรรมนูญชีวิต


                พระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติอันเป็นเสมือนธรรมนูญชีวิตของชาวพุทธ พอสรุปได้เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติได้ ดังนี้
                ๑.พระรัตนตรัย เป็นสิ่งเคารพสูงสุดลำดับที่หนึ่ง ได้แก่
                  - พระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้ความจริงโดยชอบด้วยพระองค์เอง ทรงเผยแผ่พุทธธรรม และทรงเป็นผู้ประกาศอิสรภาพของมนุษย์แก่ชาวโลกให้หลุดพ้นจากกิเลสและจำอำนาจของเทพเจ้ามาเป็นไทแก่ตนเอง
                  - พระธรรม เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว สามารถทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติพ้นจากทุกข์ได้
                  - พระสงฆ์ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม
                ๒.พึ่งตนเอง ไม่อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยแบ่งกิจคือสิ่งที่พึงกระทำเป็นสองประเภท ได้แก่
                  - กิจภายนอก แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสอนมนุษย์ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น เริ่มต้นชีวิตต้องพึ่งพ่อแม่ พึ่งครูอาจารย์และพึ่งสังคม แต่ทรงสอนให้พึ่งตนเองเป็นหลัก เพราะที่พึ่งภายนอก เช่น พ่อแม่ ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง และไม่สามารถทำกิจให้แก่เราได้ในทุกๆ อย่าง
                  - กิจภายใน คือ การทำความดีเหมือนการรับประทานอาหาร การละความชั่วและการชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสเหมือนการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทุกคนต้องทำเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ความบริสุทธิ์และความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตัว คนอื่นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่อาจทำแทนได้”
                ๓.เก่งทำ คือทำงานอย่างมีระบบและเชื่อมั่นในผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
                ๔.ย้ำเพียร โดยยึดหลัก อิทธิบาทสี่ คือ ๑.ฉันทะ ความรัก ๒.วิริยะ ความขยัน ๓.จิตตะ ความใฝ่ใจ และ ๔.วิมังสา ความไตร่ตรอง
                ๕. เกษียณทุกข์ คือบรรลุประโยชน์สามขั้น คือ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์สูงสุด คือ นิพพาน หมายถึงภาวะดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
                ธรรมนูญชีวิตทั้งห้าประการนี้ เราชาวพุทธทั้งหลายควรฝึกปฏิบัติให้ได้เป็นนิจ จะถือว่าเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง

............................................

การพึ่งพาอาศัยกัน


                                                     ป่าพึ่งเสือหมู่ไม้            มากมูน
                                                เรือพึ่งพายพายูร-                 ยาตรเต้า
                                                นายพึ่งบ่าวบริบูรณ์             ตามติด มากแฮ
                                                เจ้าพึ่งข้าค่ำเช้า                     ช่วยสิ้นเสร็จงานฯ
                เมื่อพิจารณาเนื้อความของโคลงโลกนิติข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่า มนุษย์เราจะอยู่โดยไม่พึ่งพาอาศัยบุคคลอื่นหรือสิ่งใดเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น และสิ่งอื่นไม่มากก็น้อย และสิ่งที่สัมพันธ์กันนี้ช่วยให้แต่ละฝ่ายได้รับประโยชน์หรือเกิดผลดีแก่กันและกัน ลองมาแยกการพึ่งพาอาศัยกันตามโคลงบทนี้ได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ
                ๑.ป่าพึ่งเสือ ป่าไม้ที่มีเสืออาศัยอยู่ ย่อมทำให้ต้นไม้ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนกลัวเสือ จึงไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกัน ป่านั้นก็เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่หากินและที่อยู่อาศัยให้กับเสือ
                ๒.เรือพึ่งพาย เรือที่อาศัยไม้พายย่อมแล่นไปถึงที่หมาย ไม้พายจึงมีความหมายกับเรือมาก เพราะถ้าขาดไม้พายเสียแล้ว เรือก็จะลอยเคว้งคว้างไปตามกระแสน้ำและไร้ทิศทาง ดังนั้น คุณค่าของไม้พายจึงอยู่ที่ช่วยให้เรือไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการ ไม้พายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรือ
                ๓.นายพึ่งบ่าว การที่เจ้านายมีบริวารคอยปรนนิบัติรับใช้ ก็เพราะมีน้ำใจไมตรีต่อบริวาร เข้าทำนองว่า “บริวารมา เพราะน้ำใจมี บริวารหนี เพราะน้ำใจลด บริวารหมด เพราะน้ำใจแห้ง” เมื่อมีไมตรีต่อกันจึงเกิดความอบอุ่นทั้งสองฝ่าย คือเจ้านายให้ความเมตตารักใคร่ ฝ่ายบริวารก็จงรักภักดี คอยเป็นหูเป็นตา และช่วยป้องกันภัยให้เจ้านาย ในทุกสารทิศ เจ้านายดี มีลูกน้องดี ย่อมเกิดความสุข ต่างพึ่งพาอาศัยกันได้
                ๔.เจ้าพึ่งข้า การที่นายจ้างพึ่งลูกจ้างหรือเจ้านายพึ่งคนรับใช้ จะช่วยให้การงานสำเร็จลุล่วงไป โดยที่นายจ้างหรือเจ้านายให้รางวัล และคำชมเชยในการทำงาน ไม่ดูถูกผู้น้อย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีกำลังใจขึ้น เมื่อคนเรามีกำลังใจดี สุขภาพจิตดี ก็จะตั้งใจทำงานและทุ่มเทจนสุดกำลัง ทำงานให้ลุล่วงไปด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และต่อผู้เป็นนายจ้าง หรือเจ้านายนั้น
                เห็นได้ว่า การถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆ เมื่อต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ดีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่กันและกัน โดยเฉพาะมนุษย์ เมื่อไปสัมพันธ์กับบุคคลใดหรือสิ่งใดแล้ว ไม่ไปสร้างปัญหาหรือไม่ไปทำลายสิ่งนั้น ก็จะช่วยให้โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและน่าอยู่ยิ่งขึ้น

............................................

กล้วยไม้หรือกาฝาก


                น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักไม้ ๒ ชนิดนี้ คือ กล้วยไม้และกาฝาก ไม้ทั้ง ๒ ชนิดนี้มีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ กล้วยไม้บางชนิดและกาฝากเป็นไม้ที่ต้องเกาะอาศัยต้นไม้อื่น มิฉะนั้นก็อยู่ไม่ได้ แต่ที่ต่างกันคือกล้วยไม้รากไม่เป็นพิษ อาศัยอาหารจากต้นไม้ที่ตัวเองเกาะ มีดอกสวยงาม บางชนิดมาราคาแพงมาก เป็นที่ปรารถนาโดยทั่วไป นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีเสน่ห์ น่าชื่นชม ส่วนกาฝากมีรากเป็นพิษ แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันไปเกาะอยู่ เป็นไม้ไร้ความสวยงาม ไม่มีอะไรน่าอภิรมย์ยินดี เป็นไม้ที่อาภัพ ไม่มีใครปรารถนา และเนื่องจากรากของกาฝากจะเจาะเข้าไปในเนื้อของต้นไม้ที่มันอาศัยแล้วแย่งอาหารจากต้นไม้นั้น ต้นไม้ที่มันเกาะอาศัยอยู่จึงมักมีอันเหี่ยวแห้งอับเฉาและตายไปในที่สุด
                หากเปรียบเทียบคนกับกล้วยไม้และกาฝากจะพบว่า คนประเภทกล้วยไม้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นลูกเต้าเหล่าใคร พ่อแม่ก็โปรดปราน เป็นศิษย์ใคร ครูบาอาจารย์ก็รักใคร่ อยู่สังคมไหนก็ทำให้สังคมนั้นเจริญ ส่วนคนประเภทกาฝาก เป็นคนมีพิษ เป็นลูกใครพ่อแม่ก็เดือดร้อน เพราะสร้างความเสื่อมเสียให้แก่วงศ์ตระกูล เป็นศิษย์ใคร ครูบาอาจารย์ก็เอือมระอา ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง อยู่ในสังคมไหนก็เป็นที่เอือมระอาต่อคนในสังคมนั้น ลองพิจารณาดูตัวเองว่า ตัวเราเป็นคนประเภทกล้วยไม้หรือกาฝาก

............................................

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2559

ช้างตกหล่ม


                มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีชาวต่างประเทศ คนหนึ่ง มาติดต่อ ธุรกิจ ที่เมืองไทย และได้ไปเที่ยว ณ สถานเริงรมย์ แห่งหนึ่ง ครั้งแรก เขาตั้งใจ ทดลอง ไปเที่ยว เพียงครั้งเดียว แล้วก็เลิก แต่เมื่อมี ครั้งที่หนึ่งแล้ว ครั้งที่สอง ที่สามก็ตามมา ต่อมา เขาสำนึกได้ว่า เขามีภรรยาแล้ว การกระทำเช่นนั้น เป็นการไม่ซื่อสัตย์ ต่อภรรยา เป็นบาป จึงเข้าไปสนทนา กับพระไทย ที่วัดแห่งหนึ่ง เพื่อถามถึง อุบายวิธี ที่จะเลิก จากการทำชั่ว ต่อไป พระท่านตอบว่า ไม่ควรให้โอกาสตัวเอง กับการทำความชั่ว ควรหักห้ามใจ ตนเองไว้ เพราะถ้าให้โอกาส อาจทำความชั่ว ได้บ่อย ๆ จนเกิด ความติดใจ ในการทำความชั่วได้ แล้วจะเลิก จากการทำความชั่ว ได้ยาก คนที่พอใจ ในการทำความชั่วแล้ว ถอนตัวได้ยาก เหมือนกับช้างตกหล่ม
                ธรรมชาติ ของช้างนั้น เมื่อตกหล่มแล้ว จะขึ้นจากหล่ม ได้ยาก เนื่องจาก ช้างตัวใหญ่ บางที ยิ่งดิ้น ก็ยิ่งจะจมลึกลงไป แต่ช้าง จะมีวิธีขึ้น จากหล่ม ๒ วิธี คือ
              ๑. ส่งเสียงร้อง เพื่อขอความช่วยเหลือ จากช้างตัวอื่น หรือ ควาญช้าง ให้ช่วยฉุดลาก ขึ้นจากหล่ม
              ๒. ช่วยตัวเอง ด้วยการใช้งวงจับกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใกล้ตัว เพื่อพยุงตัวเอง ให้ขึ้นจากหล่ม
                วิธีการ ที่จะถอนตัว จากทำชั่ว ต่าง ๆ เช่น การเสพสิ่งเสพติด การติดสุรา การเล่นการพนัน และการเที่ยวกลางคืน เป็นต้น ให้ใช้วิธีการ เช่นเดียวกับ ช้างขึ้นจากหล่ม กล่าวคือ
                ๑. อาศัย ความช่วยเหลือ จากผู้อื่น เช่น ญาติมิตร ผู้บังคับบัญชา คอยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ หรือให้คำปรึกษา ในการลด ละ เลิก จากความชั่วนั้น ๆ
                ๒. ต้องช่วยตัวเอง คือ ต้องมีสามัญสำนึก ที่จะเลิก เพราะตระหนัก ถึงโทษภัย ของสิ่งนั้น ๆ และตั้งใจเด็ดเดี่ยว ที่จะลด ละ เลิก ให้ได้
                ปัจจุบัน ในสังคมเรา มีคน เป็นจำนวนมาก ที่กำลังตกหล่ม คือ ถูกสิ่งยั่วเย้า  อบายมุข  ชักชวน ให้ทำชั่ว ถ้าพบเห็น จงนำ วิธีการ แบบช้างตกหล่ม ไปให้ความช่วยเหลือ เขาด้วยเถิด และพึงระมัดระวัง ด้วยว่า อย่าเป็น ผู้ตกหล่มเสียเอง ก็แล้วกัน

....................................

อุบายสุขใจ


                เป็นความจริงที่ว่าทุกคนย่อมปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น และอยากจะมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปจึงพยายามขวนขวายแสวงหาความสุขด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่ตนคิดว่าจะได้รับความสุขสมปรารถนา แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนจำนวนมากในโลกนี้ได้รับความสุขอย่างขาดตกบกพร่อง บ้างก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่บนกองเงินกองทอง บ้างก็นั่งระทมทุกข์เพราะความยากจนข้นแค้น จึงเห็นได้ว่า ทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียวไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าจะให้ความสุขที่สมบูรณ์แบบได้ ในสมัยโบราณมีผู้สอนอุบายเพื่อสร้างเสริมความสุขด้านจิตใจให้เกิดมีอยู่เสมอ คือได้แนะกลวิธีเอาชนะทุกข์และสร้างสุขให้แก่ชีวิต ว่าอยู่ที่การรู้จักใส่ใจ เข้าใจ และทำใจโดยรู้จักยอมรับในความเป็นจริง และความเป็นไปของชีวิต ตลอดถึงรู้จักแบ่งปัน เสียสละ เพื่อสร้างสรรค์สังคม ด้วยอุบาย ๕ ประการ คือ
                ๑.รู้จักพอ คือรู้จักพอใจ พอได้ พอมี พอดี พอเพียง ไม่โลภ ไม่ริษยา
                ๒.รู้จักให้ คือรู้จักเสียสละ แบ่งปัน ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว
                ๓.รู้จักทำใจ คือ มีการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ ไม่ประมาท พร้อมที่จะยอมรับความจริงได้ในทุกสถานการณ์
                ๔.รู้จักปล่อยวาง คือรู้ว่าอะไรที่ควรปลง ควรปล่อยวาง ก็ปลงก็วาง ไม่ยึดติด ถือมั่นจนเป็นทุกข์
                ๕.เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา คือมีการฝึกฝนเรียนให้รู้ถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่ว่า ทุกสิ่งมีได้ มีเสีย มีชื่นชม มีขมขื่น มีเกิด มีดับ มีจากไป
                หากทุกคนได้มีการเตรียมพร้อม เรียนรู้ และฝึกฝนตอยู่อย่างนี้ ก็จะเชื่อว่า มีอุบายสำหรับสร้างความสุขใจ อยู่อย่างพร้อมมูล อุบายทั้ง ๕ นี้ จะส่งเสริมความสุขให้เกิดขึ้นทั้งแก่ผู้มีทรัพย์สินเงินทองและผู้ที่ยากจนอย่างเสมอกัน ลองหันมาฝึกตนให้เป็นคนรู้จักพอ รู้จักให้ รู้จักทำใจ รู้จักปล่อยวาง และเห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา กันเถิด

............................................

อย่าปล่อยให้กิเลสลอยนวล

อย่าปล่อยให้กิเลสลอยนวล
                สังคมไทย เชื่อกันว่า ศัตรูสำคัญ ของชีวิต คือ ยาเสพติด โดยเฉพาะ ยาเสพติด ตระกูลยาบ้า โดยประเมิน จากผลงานการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาบ้าว่า ทำให้สังคมวิกฤต เช่น คนมียศ ต้องถูกถอดยศ คนมีเกียรติ กลายเป็นคนไร้เกียรติ คนมีงานทำ ต้องตกงาน ครอบครัว ต้องแตกแยก คนที่ควรจะก้าวหน้า กลับต้องตกต่ำ และคนที่ควรจะมีชีวิตอยู่ เพื่อยังประโยชน์ แก่สังคมต้องมาตาย ไปเสียก่อนวัยอันควร ดังนั้น รัฐบาล จึงใช้มาตรการ ทางกฎหมายประกาศสงครามขั้นแตกหักกับยาเสพติดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นต้นมา และนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตไปเพราะยาเสพติด เป็นต้นเหตุ จำนวนหลายราย
                ในแง่ แนวคิดทางธรรม ซึ่งมองการแก้ปัญหาชีวิต ผ่านหลักธรรม คำสอน ของพระพุทธศาสนา ก็มีความเชื่อ เช่นกันว่า ยาเสพติด ทุกชนิด เป็นศัตรู ชีวิต ของคนเรา แต่ถือเป็น ศัตรูรายย่อย ส่วนศัตรูรายใหญ่ ผู้บงการ ที่แท้จริง คือ กิเลส ๓ ตระกูล ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง เพราะโลภะ บงการให้คนเราอยากได้ โดยวิธีไม่ถูกต้อง โทสะ บงการ ให้คนเราทำลายผู้ที่ขัดขวางความปรารถนาของตน และทำร้ายตัวเองด้วยการ เสพยาเสพติดทำลายสังคม ด้วยการ ผลิต และค้ายาเสพติด และโมหะบงการ ให้หลงผิด เกิดโลภะ และโทสะ อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
                การแก้ปัญหายาเสพติด ในระดับ ศัตรูรายย่อยด้วยมาตรการทางกฎหมายโดยการวิสามัญฆาตกรรม บ้าง ฆ่าตัดตอนบ้าง ย่อมเสี่ยง ต่อการ ทำผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิ มนุษยชน แต่การแก้ปัญหา ยาเสพติด ในระดับ ศัตรูรายใหญ่ ด้วยมาตรการ ทางศาสนา จะโดย วิสามัญ ฆาตกรรม หรือ ฆ่าตัดตอน กิเลส ภายใน จิตใจ รับรองว่า ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ ละเมิดสิทธิ ใครอย่าง แน่นอน

....................................

วัฒนธรรมมือถือ


                ปัจจุบัน การสื่อสารมีความก้าวล้ำทันสมัยกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้น สะดวดรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็สามารถติดต่อกันได้ฉับไว หากใครไม่มีโทรศัพท์มือถือก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าล้าหลังไม่ทันสมัย
                คำกล่าวที่ว่าทุกอย่างเมื่อมีคุณก็ต้องมีโทษนั้น ยังคงเป็นความจริงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือหากมองอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่ามีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนเราไม่น้อย ดั่งเช่น
                ๑.คนใช้อารมณ์ความรู้สึกกันมากขึ้นและใช้ความคิดน้อยลง ซึ่งแต่ก่อนนั้นการจะตกลงรับปากกับใครในเรื่องอะไรก็ตาม มักมีเวลาไตร่ตรองผัดผ่อนหรือมีทางเลือก แต่ในยุคโทรศัพท์มือถือนี้ดูเหมือนจะไม่เปิดโอกาสให้มีเวลาในการไตร่ตรองปัญหาเหมือนก่อน ต้องคิดไว ทำไว ซึ่งมักมีข้อผิดพลาดได้มากตามมา
                ๒.มีเวลาเป็นของตัวเองน้อยลง แต่ก่อนโทรศัพท์อยู่ที่บ้านกว่าจะได้ใช้ก็ต่อเมื่ออยู่บ้านเท่านั้น มีเวลาส่วนตัวมาก ปัจจุบันเมื่อมีโทรศัพท์มือถือระบาด สามารถใช้ได้ทุกเวลา จึงเหลือเวลาที่เป็นส่วนตัวน้อยลง และบางครั้งการพูดคุยกันทางโทรศัพท์มือถือก็ไม่ค่อยได้สาระเท่าไรนัก โทรถึงคนโน้น จบแล้วก็โทรถึงคนนี้ต่อ ดูวุ่นวายเป็นบันเทิงอารมณ์มากกว่าจะประเทืองปัญญา
                ๔.เป็นช่องทางให้เกิดโจรกรรม เนื่องจากโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น ใช้เป็นกล้องถ่ายรูป หรือดูโทรทัศน์ได้ และมีราคาสูง จึงเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจให้โจรในคราบต่างๆ หาช่องทางช่วงชิงหรือปล้น มาเป็นของตนเอง แม้บางครั้งเป็นแค่เพียงอารมชั่ววูบก็ยังมีให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอๆ
                โทรศัพท์มือถือแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ขณะเดียวกันก็พึงสังวรถึงผลเสียหายต่างๆ ที่จะตามมา ที่สำคัญคือต้องรู้จักใช้ ไม่เช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดความเสียหายได้ไม่จบสิ้น ดังคำที่ว่า “ใช้สิ่งใดไม่เป็น ก็จะเป็นทาสของสิ่งๆ นั้นนั่นเอง”

....................................

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อิทธิพลเบื้องล่าง


                การถือล่างถือบน ถือฤกษ์ถือยาม เช่น นิยมยึดถือกันว่า ศีรษะเป็นของสูง ส่วนเท้าเป็นของต่ำ ดังนั้น การก้มศีรษะให้แก่ใคร ก็เท่ากับเป็นการทำความเคารพ แม้การกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ก็ต้องให้ศีรษะจรดพื้นเป็นส่วนที่ห้า การลูบหัว เล่นหัวนั้น ถ้าไม่เป็นที่เคารพรักใคร่กันจริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ ส่วนเท้าที่ถือว่าเป็นของต่ำนั้นจำเป็นที่จะต้องสำรวมระวังอย่างยิ่งในการเหยียดย่างหรือยก หากไม่สำรวมระวังอาจส่อเป็นการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเท้าไม่ทำหน้าที่หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้ว ศีรษะเป็นของสูงก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้เช่นกัน
                รอบๆ ตัวเรานั้น มีบุคคลหลายระดับทั้งสูงและต่ำ อาจแบ่งได้เป็น ๖ จำพวก ตามทิศทั้ง ๖ คือ
                ๑. ปุรัตถิมทิศ       ทิศเบื้องหน้า        ได้แก่ บิดามารดา
                ๒. ทักขิณทิศ        ทิศเบื้องขวา          ได้แก่ ครูอาจารย์
                ๓. ปัจฉิมทิศ         ทิศเบื้องหลัง         ได้แก่ บุตร สามมี/ภรรยา
                ๔. อุตตรทิศ          ทิศเบื้องซ้าย          ได้แก่ มิตรสหาย
                ๕. เหฏฐิมทิศ       ทิศเบื้องล่าง          ได้แก่ คนรับใช้ และคนงาน
                ๖. อุปริมทิศ          ทิศเบื้องบน           ได้แก่ นักบวช
                จะเห็นได้ว่า คนรับใช้และคนงาน ถูกจัดอยู่ในทิศเบื้องล่าง หรือบุคคลระดับล่าง สังคมจะไม่ให้ความสำคัญเท่าใดนัก แต่ในความจริงแล้ว ถ้าไม่มีเบื้องล่าง เบื้องบนก็มีไม่ได้ เหมือนเจดีย์ มียอดได้ก็ต้องมีฐาน ถ้าเบื้องล่างมีปัญหาก็จะกระทบกระเทือนเบื้องบนด้วย เหตุนี้ ทางพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติสำหรับบำรุงดูแลบุคคลระดับล่างไว้ ๕ ประการ คือ ๑. จัดงานให้เหมาะกับคน ๒.ให้ค่าจ้างรางวังที่เหมาะสม ๓. จัดสวัสดิการดี ๔.มีน้ำใจแบ่งปันสิ่งดีๆ ๕.ให้มีวันหยุดพักผ่อน สันทนการตามควร
                ด้วยหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ประการ จะทำให้เบื้องล่างมั่นคง เบื้องบนดำรงมั่น สังคมเกิดภาวะสมดุลสอดคล้อง สงบสุข และยั่งยืนได้สืบต่อไป

....................................

พระคุณแม่

แม่
                “แม่” มีความหมายสำหรับลูกทุกๆ คน แต่น้อยคนนักที่จะซาบซึ้งในความหมายนี้อย่างแท้จริง เพราะได้ยินคำนี้มาจนชินชาและดูเป็นธรรมดาไปเสียแล้ว ความจริงแม่ได้ทำหน้าที่ของท่านไปตามลำดับ ตั้งแต่ลูกๆ ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ กล่าวคือ
                ๑.เมื่อแม่ต้องการมีลูกชายหญิง ก็ได้อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิที่นับถือ เพื่อให้ได้ลูกตามที่ปรารถนา
                ๒.เมื่อแม่ตั้งครรภ์ แล้วก็พยายามรักษาครรภ์อย่างดีที่สุด
                ๓.เมื่อคลอดลูกแล้วได้ปลอบโยนเลี้ยงดูลูกอย่างดีตามความสามารถ
                ๔.แม่พยายามรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้เพื่อลูกๆ
                                ฯลฯ
                ในทางพระพุทธศาสนาได้เปรียบแม่เป็นหลายๆ อย่างต่อลูก
                ๑.เปรียบได้ดั่งพระพรหม เพราะมีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อลูก
                ๒.เปรียบได้ดั่งบุรพเทพ เพราะคอยระวังป้องกันภัยต่างๆ ให้ลูกก่อนเทพอื่น
                ๓.เปรียบได้ดังบุรพาจารย์ของลูก เพราะได้สอนลูกก่อนอาจารย์อื่นๆ
                ๔.เปรียบเป็นอาหุเนยยบุคคลของลูก เพราะเป็นผู้ที่เหมาะสมแก่การรับข้าว น้ำ เป็นต้น ของลูก
                                ฯลฯ
                แม่ได้ทำหน้าที่ของตนต่อลูกอย่างยิ่งยวด ด้วยการ ห้ามลูกไม่ให้กระทำความชั่ว แนะนำให้ลูกกระทำแต่ความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยา หาคู่ครองที่เหมาะสม มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาที่ควรมอบให้ ฯลฯ
                เพื่อเป็นการรำลึกถึงแม่และพระคุณของท่าน ลูกต้องหาโอกาสตอบแทนพระคุณโดยปฏิบัติ เลี้ยงดูท่านทั้งทางกายและจิตใจ ช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลของท่าน ปฏิบัติตัวเหมาะสมที่เป็นทายาทของท่าน เมื่อท่านล่วงลับไปทำบุญอุทิศให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ
                เมื่อลูกได้ทำการตอบสนองคุณของแม่แล้ว ลูกและแม่ก็จะมีความสุขใจสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นลูกจงปฏิบัติต่อแม่ตามที่กล่าวมาแล้วเถิด

....................................

ยาขมหม้อใหญ่


                “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” คำกล่าวนี้เป็นการเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ เรามักจะรู้สึกว่าขมขื่นกลืนกินยาก แต่เมื่อกลืนเข้าไปแล้ว ที่ว่าขมนั้นจะเป็นยาแก้โรคได้ ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เราชอบเราจะรู้สึกว่าเอร็ดอร่อย เมื่อกลืนกินผ่านลำคอเข้าไปแล้วก็เท่านั้นเอง คือผ่านเลยไปทำให้รู้สึกว่าสบาย แต่หลังจากนั้นอาจจะมีโทษภัยติดตามมา เปรียบเสมือนการดำเนินชีวิตของบุคคลเรา ถ้าหากเราทำตัวตามสบายจนเกินไป ก็จะเกิดผลเสียไม่ได้อะไรเลย กาลเวลาก็ล่วงเลยไปเปล่าๆ จะแก่ก็แก่ไปดังมีคำกล่าวที่ว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน นั่นเอง
                “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ในเบื้องต้นของชีวิต ถ้าบุคคลทำตัวสบาย มักง่าย เกียจคร้าน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ในเบื้องปลายของชีวิตย่อมจะประสบความล้มเหลว ตรงกับ “หวานเป็นลม” แต่ถ้าในเบื้องต้นของชีวิต บุคคลมีความขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ บังคับฝืนใจตนเองให้กระทำหน้าที่การงาน ดุจฝืนใจตนเองดื่มยาขมหม้อใหญ่ ในเบื้องปลายชีวิตก็ย่อมจะประสบความสำเร็จเสมอ ตรงกับ “ขมเป็นยา”
                ดังนั้น บุคคลผู้อยากได้ดีมีความสำเร็จสมหวังในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงควรฝืนใจดื่ม ยาขมหม้อใหญ่ ด้วยการทำอะไรให้ทำจริงๆ
                                หวานเป็นลม ขมเป็นยา ท่านว่าไว้ เตือนจิตให้ หวนคิด ปริศนา
                                ความเกียจคร้าน ในการกิจนานา                      ย่อมจะพา ให้ทนทุกข์ หมดสุขใจ
                                ความขยัน บากบั่น ในการกิจ                            ย่อมสัมฤทธิ์ ทุกสิ่งสรรพ์ ดังขานไข
                                ทำอะไร ให้ฟันฝ่า อย่าทิ้งไป                            ดุจยาขม หม้อใหญ่ ให้ดื่มกิน

....................................

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความรู้คู่คุณธรรม

ความรู้คู่คุณธรรม
                บุคคลผู้มีความรู้คู่กับคุณธรรมนั้น นับเป็นผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม เป็นที่น่าปรารถนาของทุกคนใครๆ ก็ต้องการมีไว้ เพราะเมื่อมีบุคคลเช่นนี้มาร่วมงานด้วยแล้ว มักจะนำชื่อเสียงและเกียรติคุณมาให้ทั้งเป็นมันสมอง เป็นสติปัญญาของหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่มีความแข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
                องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้หลักในการพิจารณาบุคคลผู้ที่จะทำให้หมู่คณะเจริญงอกงามและรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปว่า จะต้องมีหลักธรรมที่สำคัญเหล่านี้คือ ฉลาด แก้วกล้า ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีคุณธรรมนำชีวิต และประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม (ฉลาด แกล้วกล้า ศึกษาแตกฉาน การทรงธรรมและนำปฏิบัติ)
                คุณลักษณะดังกล่าว ยืนยันได้ถึงสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน นั่นคือความรู้ต้องคู่กับคุณธรรมเสมอ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น มีความฉลาดแต่ขาดความเฉลียว มีความเก่งแต่ขาดความกล้า ศึกษาเล่าเรียนมาแต่ไม่ทรงธรรมนำปฏิบัติ เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้หมู่คณะเจริญก้าวหน้าได้ คนที่มีความรู้แตกฉานแต่ขาดคุณธรรม อาจนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ก่อโทษก่อความเสียหายได้ร้ายแรงยิ่งกว่าคนไม่รู้อะไรเสียอีก ส่วนประกอบทุกส่วนจึงควรมีสมดุลกัน
                ดังนั้น บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวมา คือมีความรู้ด้วย มีคุณธรรมด้วย ย่อมจะนำพาหมู่คณะให้เจริญงอกงาม สมดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
                “ความฉลาด แกล้วกล้า เป็นสามารถ              ต้ององอาจเรียนรู้ อยู่เสมอ
                ทั้งทรงธรรม คุณค่า อย่าเผอเรอ                       คงไม่เก้อ สง่างาม นำสังคม”

....................................

กระจกหกด้าน


                กระจกเงา เป็นแก้วชนิดหนึ่ง ทำเป็นแผ่น มีปรอทเคลือบด้านหลัง ให้ส่องดูหน้าตากิริยาท่าทาง ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย ตามหน่วยงานมักมีกระจกเงามาติดไว้บริเวณบันได พร้อมกับเขียนข้อความติดไว้ในทำนองให้สำรวจตัวเองในแต่ละวันว่าดีหรือยัง เช่น “ท่านแต่งกายเรียบร้อยแล้วหรือยัง” เพื่อเป็นการเตือนสติให้กันและกันอย่างดี ผู้ส่องกระจกจะได้สำรวจดูสิ่งที่ตัวเองบกพร่องและแก้ไขต่อไป ข้อจำกัดของกระจกเงาอยู่ที่เราสามารถส่งดูตัวเองได้อย่างสะดวกเพียงด้านเดียวเท่านั้น
                ยังมีกระจกอีกชนิดหนึ่ง สามารถใช้ส่องดูตัวเราได้ทุกด้าน ทุกเวลา และส่องให้เห็นถึงพฤติกรรมของเราที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจนและเหมือนจริงมากที่สุด ในทางพระพุทธศาสนาเรียกกระจกเงานี้ว่า ทิศ๖ คือ
                ๑.กระจกด้านที่ ๑ ส่องดูด้านบนในฐานะเป็นศาสนิกชน สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่าง นักบวชกับคฤหัสถ์
                กระจกด้านที่ ๒ ส่องดูด้านหน้า สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างบิดามารดาบุตร
                กระจกด้านที่ ๓ ส่องดูด้านขวาสะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์
                กระจกด้านที่ ๔ ส่องดูดด้านหลัง สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีกับภรรยา
                กระจกด้านที่ ๕ ส่องดูด้านซ้าย สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างมิตรสหาย
                กระจกด้านที่ ๖ ส่องดูด้านล่าง สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา
                ส่องกระจกดูรูปร่างหน้าตาภายนอกก็นับว่าดีอยู่แล้วที่ได้เห็นบุคลิกอันแท้จริงของเรา ยิ่งถ้าได้ส่องกระจกทั้งหกด้านบ่อยๆ ด้วยแล้ว ก็จะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยสะท้อนภาพของเราให้เห็นพฤติกรรมเด่นชัดว่า “เราทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้วหรือยัง”

....................................

หลักการครองงาน

หลักการครองงาน
                คำว่า “หลักการครองงาน” หมายถึง วิธีการที่จะทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่การงานได้สำเร็จเรียบร้อยดี มีประสิทธิภาพ ไม่ขาดตกบกพร่อง ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักการครองงานไว้ โดยเรียกรวมว่า อิทธิบาทสี่ คือ
                ๑.ฉันทะ คือ ความพอใจงานนั้น เช่น เป็นนักเรียน ก็พอใจรักในการศึกษาเล่าเรียน เป็นข้าราชการก็พอใจรักในหน้าที่การงานของทางราชการ บุคคลผู้มีฉันทะ พอใจ รักงาน ย่อมมีแรงบันดาลใจให้ต้องการทำงานนั้นอยู่เสมอ
                ๒.วิริยะ คือ เพียรประกอบการงานนั้น คือมีความขยันหมั่นเพียร บากบั่น อดทน หนักเอาเบาสู้ ไม่กลัวงานหนัก บุคคลผู้มีวิริยะ เพียรสู้งาน เมื่อเขาทำงานอะไร งานนั้นๆ ย่อมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
                ๓. จิตตะ คือ เอาใจฝักใฝ่ในงานนั้น มีจิตใจจดจ่อมุ่งมั่นในงาน ไม่ทอดธุระหรือละทิ้งงานไปเสียง่ายๆ
                ๔.วิมังสา คือ หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้น คอยวิจัยสำรวจตรวจตราดูงานนั้นๆ ว่ามีข้อดี และข้อเสียอย่างไร เมื่อพบข้อดี ก็ให้รักษามาตรฐานของหน้าที่การงานนั้นๆ ไว้ให้คงที่ ส่วนข้อเสีย ก็ให้หาทางปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาให้งานนั้นๆ เจริญก้าวหน้าดียิ่งๆ ขึ้น บุคคลผู้มีวิมังสา คอยสำรวจตรวจตราดูงานอยู่ เสมอ ผลงานของเขาย่อมออกมาดี มีประสิทธิภาพไม่ขาดตกบกพร่อง
                ผู้หวังความสำเร็จ เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกชนิด จึงควรปฏิบัติตนตามหลักการครองงานทั้งสี่ประการ คือ
                                ฉันทะ พอใจรักใคร่ในหน้าที่           วิริยะ มีความขยันมุ่งมั่นหนา
                                จิตตะ เอาใจใส่ในงานทุกเวลา          วิมังสา ตรวจตราหาข้อด้วยและข้อดี

....................................

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การครองใจคน


                ทุกๆ คนล้วนต้องการเป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่เคารพรัก นับถือ นิยมชมชอบของบุคคลอื่นด้วยกันทั้งนั้น บางคนถึงกับไปทำเสน่ห์ด้วยวิธีการต่างๆ การทำเสน่ห์ดังกล่าวถือว่าเป็นเสน่ห์ภายนอก แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักการครองใจคน ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ภายใน เป็นเสน่ห์ที่ดีแท้ ใครมีแล้วย่อมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่รักของทุกๆ คน หลักการครองใจคนดังกล่าว ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จิตใจมีสี่ประการคือ
                ๑.ทาน แปลว่า ให้ปัน หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บุคคลผู้มีน้ำใจ ไม่ตระหนี่ รู้จักให้สิ่งของที่ควรให้ปันแก่ผู้อื่นเขาย่อมครองใจคนไว้ได้ สมดังคำพระที่ว่า “ทะทัง มิตตานิ คันถะติ  ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้”
                ๒.ปิยวาจา แปลว่า พูดถ้อยคำที่น่ารัก หรือพูดแต่คำไพเราะอ่อนหวานประสานประโยชน์และสร้างสรรค์ เขาย่อมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่รักของทุกๆ คน สุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้ว่า
                                ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์                มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
                                แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร            จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
                ๓.อัตถจริยา แปลว่า การบำเพ็ญประโยชน์ หรือสงเคราะห์ผู้คน บุคคลผู้ที่ทำประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น นับว่าเป็นคนมีน้ำใจ เขาย่อมเป็นคนมีคุณค่า เป็นที่รัก เป็นที่ต้องการของทุกๆ คน
                                ผู้มีใจใฝ่ช่วยอวยประโยชน์               เป็นที่โปรดปรารถนาน่ารักหนอ
                                คนรักใคร่ใจภักดีไม่รีรอ                     ทั้งชอบพอผู้ที่มีน้ำใจ
                ๔.สมานัตตตา แปลว่า ผู้มีตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือวางตนพอดี ไม่เย่อหยิ่งถือตัว มีมนุษย์สัมพันธ์เข้ากับผู้อื่นได้ดี ผู้ปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมเป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง
                บุคคลที่ต้องการให้เป็นคนมีเสน่ห์มัดใจผู้อื่น นั่งอยู่ในหัวใจของคนรอบข้าง เป็นที่เคารพรักของผู้คนทั่วไป หรือสามารถครองใจผู้อื่นได้ จึงควรปฏิบัติตนตามหลักการครองใจคนทั้งสี่ ประการ ดังกล่าว อาจท่องจำให้ขึ้นใจว่า “เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พูดแต่คำไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน และวางตนให้พอดี”

....................................

การครองตน


                ทุกคนล้วนต้องการให้ตนเองประสบแต่ความสุข สำเร็จ สมหวัง ในชีวิตและหน้าที่การงานด้วยกันทั้งนั้น เรือจะสามารถแล่นไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ก็เพราะมีสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือหางเสือ ชีวิตเราก็เช่นกัน จะสามารถก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางคือความสุข สำเร็จ สมหวังได้ ก็เพราะมีสิ่งที่สำคัญที่สุดดุจหางเสือคือ หลักการครองตน
                บุคคลจำนวนมากที่ประสบกับความหายนะในชีวิต ไม่อาจครองตนหรือปกครองตนเองได้ ต้องสูญเสียอนาคตหรือแม้กระทั่งชีวิต เพราะปัจจุบันนี้สังคมเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนต่างๆ ที่จะทำให้เราเสียผู้เสียคน เช่น ยาเสพติด อบายมุข และสถานเริงรมย์ต่างๆ ผู้ที่สามารถครองตนเองได้เท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้ ส่วนผู้ที่ครองตนเองไม่ได้อนาคตและชีวิตจะมีแต่ความมืดมน
                พระพุทธเจ้าได้ตรัสมงคลชีวิตไว้ข้อหนึ่งว่า “อัตตะสัมมาปะณิธิ” แปลว่า การตั้งตนไว้ชอบ เป็นมงคลอันสูงสุด หมายถึง บุคคลผู้ที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานนั้น ต้องมีหลักการครองตน โดยหลักพื้นฐานของการครองตนมีด้วยกันห้าอย่างคือ
                ๑.ไม่โหดร้าย คือให้มีความเมตตากรุณา รัก สงสารผู้อื่น ไม่ก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
                ๒.ไม่มือไว คือไห้มีสัมมาอาชีวะ ในทางสุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกง ไม่หลอกลวงต้มตุ๋น
                ๓.ไม่ใจเร็ว คือ ให้พอใจในคู่ครองของตน ไม่สำส่อน
                ๔.ไม่ขี้ปด คือ ให้มีสัจจะ พูดแต่คำสัตย์จริง ไม่โกหก
                ๕.ไม่หมดสติ คือ ให้มีสติสัมปชัญญะ ระลึกได้ รู้สึกสำนึกอยู่เสมอ ไม่เสพสิ่งเสพติด
                ผู้มีหลักการครองตน ชีวิตย่อมมีแต่ความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ปลอดโปร่งอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้หวังความสุข ความเจริญ ก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงควรยึดหลักการครองตนในการดำเนินชีวิตโดย ไม่โหดร้าย ไม่มือไว ไม่ใจเร็ว ไม่ขี้ปด ไม่หมดสติ ตามที่กล่าว

....................................