วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การครองใจคน


                ทุกๆ คนล้วนต้องการเป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่เคารพรัก นับถือ นิยมชมชอบของบุคคลอื่นด้วยกันทั้งนั้น บางคนถึงกับไปทำเสน่ห์ด้วยวิธีการต่างๆ การทำเสน่ห์ดังกล่าวถือว่าเป็นเสน่ห์ภายนอก แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักการครองใจคน ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ภายใน เป็นเสน่ห์ที่ดีแท้ ใครมีแล้วย่อมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่รักของทุกๆ คน หลักการครองใจคนดังกล่าว ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จิตใจมีสี่ประการคือ
                ๑.ทาน แปลว่า ให้ปัน หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บุคคลผู้มีน้ำใจ ไม่ตระหนี่ รู้จักให้สิ่งของที่ควรให้ปันแก่ผู้อื่นเขาย่อมครองใจคนไว้ได้ สมดังคำพระที่ว่า “ทะทัง มิตตานิ คันถะติ  ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้”
                ๒.ปิยวาจา แปลว่า พูดถ้อยคำที่น่ารัก หรือพูดแต่คำไพเราะอ่อนหวานประสานประโยชน์และสร้างสรรค์ เขาย่อมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่รักของทุกๆ คน สุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้ว่า
                                ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์                มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
                                แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร            จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
                ๓.อัตถจริยา แปลว่า การบำเพ็ญประโยชน์ หรือสงเคราะห์ผู้คน บุคคลผู้ที่ทำประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น นับว่าเป็นคนมีน้ำใจ เขาย่อมเป็นคนมีคุณค่า เป็นที่รัก เป็นที่ต้องการของทุกๆ คน
                                ผู้มีใจใฝ่ช่วยอวยประโยชน์               เป็นที่โปรดปรารถนาน่ารักหนอ
                                คนรักใคร่ใจภักดีไม่รีรอ                     ทั้งชอบพอผู้ที่มีน้ำใจ
                ๔.สมานัตตตา แปลว่า ผู้มีตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือวางตนพอดี ไม่เย่อหยิ่งถือตัว มีมนุษย์สัมพันธ์เข้ากับผู้อื่นได้ดี ผู้ปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมเป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง
                บุคคลที่ต้องการให้เป็นคนมีเสน่ห์มัดใจผู้อื่น นั่งอยู่ในหัวใจของคนรอบข้าง เป็นที่เคารพรักของผู้คนทั่วไป หรือสามารถครองใจผู้อื่นได้ จึงควรปฏิบัติตนตามหลักการครองใจคนทั้งสี่ ประการ ดังกล่าว อาจท่องจำให้ขึ้นใจว่า “เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พูดแต่คำไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน และวางตนให้พอดี”

....................................