วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เปิดใจ

เปิดใจ
                ชีวิตของทุกคนเปรียบเหมือนขุมทรัพย์อันมหาศาล เพราะแม้จะเกิดมาตัวเปล่า แต่ถ้าใช้ศักยภาพได้ถูกต้องเต็มที่ก็จะประสบความสำเร็จสูงสุดได้อย่างน่าพิศวง จะเห็นว่าผู้ที่สร้างตัวจนเป็นมหาเศรษฐีก็ดี ผู้นำที่เพียบพร้อมด้วยอำนาจยศศักดิ์ก็ดี ศิลปินผู้มีชื่อเสียงก้องโลกก็ดี ตลอดจนผู้ประสบความสำเร็จด้านอื่นๆ ล้วนใช้ศักยภาพที่ขุดค้นเอามาจากชีวิตที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อ ลมหายใจ และหนึ่งสมองสองมือนี้เองเป็นเครื่องมือ ชีวิตของแต่ละคนจึงเป็นแหล่งมหาสมบัติอย่างแท้จริง
                แต่ขุมทรัพย์นี้ มักมีมารคอยปิดกั้นซ่อนเร้นไว้ไม่ให้เจ้าของใช้ประโยชน์ได้ พูดให้ง่ายเข้าก็คือความบกพร่องด้านต่างๆ เช่น ความเกียจคร้าน ความเห็นแก่ตัว ความประพฤติชั่วอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตตกต่ำ ข้อบกพร่องเหล่านี้บางครั้งมองเห็น บางครั้งมองไม่เห็น ถ้ามองเห็นก็มีโอกาสกำจัดออกไปได้ แต่ถ้ามองไม่เห็นจะทำอย่างไร
                ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงบัญญัติการทำปวารณาสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ สาระสำคัญคือเมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ภิกษุสงฆ์ต้องประชุมกันแล้วกล่าวคำปวารณาต่อกันมีใจความว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ หากสงฆ์ได้เห็น ได้ฟัง หรือแม้แต่เพียงเกิดความระแวงสงสัย ว่าข้าพเจ้าประพฤติบกพร่องอย่างไร ขอจงว่ากล่าวตักเตือน เพื่อข้าพเจ้าจะได้แก้ไขต่อไป” การปวารณาจึงเป็นการเปิดใจอย่างแท้จริง ทั้งเปิดให้ผู้อื่นทราบความประสงค์และเปิดเพื่อยอมรับและแก้ไข ซึ่งเป็นวิธีสำคัญที่จะขจัดข้อบกพร่องที่มองไม่เห็นออกไป
                สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปีเป็นวันมหาปวารณา นอกจากมีการประกอบบุญกุศลตามประเพณีแล้ว สมควรอธิษฐานจิตเปิดใจตัวเองให้กว้าง ยินดีและน้อมรับคำตักเตือนชี้แนะจากผู้อื่นด้วย เพราะหากเปิดใจตัวเองไม่ได้ ก็ยากที่จะเปิดขุมทรัพย์ใดๆ ได้

............................................

มหาศาลา


                มีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง มีประตูเข้าออกได้เพียง ๒ ประตู คือ ชาติทวารและมรณทวาร บนเพดานของศาลาประดับด้วยโคมไฟใหญ่ ๒ ดวง ชื่อ ตาวัน ดวงหนึ่ง และ ตาคืน อีกดวงหนึ่ง นอกจากนี้ ก็มีโคมเล็กประดับที่เพดานอีกนับไม่ถ้วน ศาลาหลังนี้เป็นศาลาที่ใหญ่ที่สุด ภายในมีสิ่งของสารพัด ใครอยากได้อะไรก็สามารถไขว่คว้าหาเอาได้ แต่ผู้ที่จะเข้าไปภายในศาลาต้องเข้าทางประตูชาติทวาร และเวลาจะออกก็ต้องออกทางประตูที่ชื่อมรณทวารเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในศาลาหลังนี้มีกฎเหล็กอยู่ข้อหนึ่งใครก็ตามจะละเมิดมิได้ นั่นก็คือ เมื่อได้เข้าพักในศาลานี้จะกอบโกยเอาข้าวของสมบัติพัสถานไว้เท่าไรก็ได้ แต่เวลาจะออกจากศาลาหลังนี้ไป จะนำสิ่งของอะไรติดตัวไปแม้แต่นิดเดียวไม่ได้เด็ดขาด ต้องไปแต่ตัวเท่านั้น
                ศาลาหลังนี้ ก็คือโลกมนุษย์นี้เอง โลกมนุษย์ที่เราทุกคนต้องเข้ามาทางประตู คือการเกิด และออกไปทางประตู คือความตาย มีแสงสว่างจากกลางวันและกลางคืน เป็นที่ประชุมทรัพย์สินเงินทองและผลประโยชน์ที่แล้วแต่ใครจะสามารถไขว่คว้าไว้ได้ แต่เมื่อตายไม่สามารถนำติดตัวไปได้สักอย่าง
                การคิดว่าโลกนี้เป็นเพียงที่พักชั่วคราว เป็นทั้งที่พบและที่จาก เป็นทั้งที่ได้และที่เสีย จะช่วยฝึกใจให้มองเห็น ความจริง รู้จักโลกและชีวิตดีขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมใน ๓ ด้าน คือ
                ๑.ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นสาระแก่นสารได้จริง นอกจากความดี
                ๒.ปฏิบัติต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น เพราะมองไม่เห็นว่าจะเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบไปเพื่ออะไร สู้อยู่กันด้วยไมตรีเห็นอกเห็นใจกันจะเป็นสุขกว่า
                ๓.ปฏิบัติต่อจิตใจได้ถูกต้องขึ้น เพราะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นลงได้ ไม่ว่าได้มาหรือเสียไป ก็จะไม่เป็นทุกข์เกินเหตุ เพราะรู้เท่าทันความจริงของชีวิต
                หากทบทวนด้วยปัญญาถึงการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติต่อผู้อื่น และการปฏิบัติต่อจิตใจของตนเสียแต่บัดนี้ก็จะได้ประโยชน์ อย่างน้อยชีวิตก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ ตราบเท่าที่ยังนั่งอยู่ในมหาศาลาแห่งนี้

............................................

อย่าเติมฟืนให้ไฟ


                พระเถระรูปหนึ่ง รับนิมนต์ไปแสดงธรรมต่างจังหวัด พอลงจากรถไฟ พบแม่ค้าสองคนกำลังโต้เถียงด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคายชนิดไม่มีใครยอมใคร หลังจากยืนฟังได้พักหนึ่งจึงเดินเข้าไปหา แม้ค้าทั้งสองหันมามองด้วยความไม่พอใจและพูดเป็นทำนองว่า ไม่ใช่เรื่องของพระ วันนี้ไม่อยากได้บุญ จะขอด่ากันให้หายแค้น ไม่ต้องมาอบรมสั่งสอนใดๆ ทั้งสิ้น
                พระเถระจึงเอ่ยขึ้นว่า “อาตมาไม่ได้มาสั่งสอน แต่จะมาช่วยแนะให้ด่ากันได้อย่างที่ต้องการต่างหาก” แล้วอธิบายว่า การด่าแบบเอ็ดตะโร ไม่มีใครยอมฟังใครอย่างนี้มันเปล่าประโยชน์ เพราะแทบจะฟังไม่รู้ว่าใครด่าใครว่าอย่างไร จึงขอให้ด่าอย่างเป็นระเบียบ คือ จับเวลาให้คนละ ๕ นาที ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเริ่มด่า อีกฝ่ายต้องฟังอย่างเดียวรอจนครบ ๕ นาที จึงจะเริ่มด่าตอบได้และฝ่ายตรงข้ามจะต้องหยุดพัก ผลัดกันไปอย่างนี้ จึงจะด่ากันได้เต็มที่ชัดเจน และสำเร็จตามที่ต้องการ พร้อมกันนั้น ท่านก็ล้วงนาฬิกาออกมาจากย่ามจับเวลา
                แม่ค้าทั้งสองเริ่มลังเลในท่าทีของพระ แต่ก็เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น จึงเริ่มด่ากันใหม่ ปรากฏว่าคนแรกกว่าจะด่าได้ครบ ๕ นาที ก็ทำเอาเหงื่อแทบตก คนที่สองยิ่งกว่านั้น เพราะด่าไปได้แค่ ๓ นาทีก็เริ่มอึกๆ อักๆ หาคำด่าไม่ได้ ที่นึกได้ก็มีแต่คำซ้ำๆ ที่ใช้ด่าไปแล้ว จะหยุดก็ไม่ได้ จะด่าต่อไปก็นึกไม่ออก รู้สึกอึดอัดกระดากใจ ทั้งสองฝ่าย ที่สุดก็เลยต้องเลิกรากันไปเอง
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า ถ้าจุดไฟขึ้นมากองหนึ่ง อย่างไรเสียมันก็ต้องดับ แต่ถ้าเอาฟืนเติมเข้าไปอีก ไฟก็ไม่ดับ ความโกรธก็เป็นดังนี้ คือถ้าปล่อยให้โกรธ ปล่อยให้ด่าไปเสีย ไม่นานก็จบ ถ้าโกรธตอบ ด่าตอบ ก็คือช่วยกันโหมไฟเป็นสองแรง โอกาสที่จะไหม้จนพินาศก็มีสูง ปัญหาอยู่ที่ว่า มนุษย์เราจะอดทนให้คนอื่นโกรธหรือด่าทอได้เพียงนั้นเชียวหรือ คำตอบก็คืออยู่ที่การฝึก โดยเฉพาะฝึกคิด ถ้าคิดว่าเราต้องเป็นฝ่ายทน บางทีก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องหนักและเสียศักดิ์ศรี แต่ถ้าคิดว่า เมื่อเราดับไฟไม่ได้ ธุระอะไรจะต้องเอาฟืนไปเติมอีก คิดให้ได้ดังนี้ ก็จะช่วยให้สบายใจได้มากขึ้น ปัญหาหรือเรื่องราวอื่นๆ ก็จะไม่ตามมา

............................................