วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อย่าเติมฟืนให้ไฟ


                พระเถระรูปหนึ่ง รับนิมนต์ไปแสดงธรรมต่างจังหวัด พอลงจากรถไฟ พบแม่ค้าสองคนกำลังโต้เถียงด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคายชนิดไม่มีใครยอมใคร หลังจากยืนฟังได้พักหนึ่งจึงเดินเข้าไปหา แม้ค้าทั้งสองหันมามองด้วยความไม่พอใจและพูดเป็นทำนองว่า ไม่ใช่เรื่องของพระ วันนี้ไม่อยากได้บุญ จะขอด่ากันให้หายแค้น ไม่ต้องมาอบรมสั่งสอนใดๆ ทั้งสิ้น
                พระเถระจึงเอ่ยขึ้นว่า “อาตมาไม่ได้มาสั่งสอน แต่จะมาช่วยแนะให้ด่ากันได้อย่างที่ต้องการต่างหาก” แล้วอธิบายว่า การด่าแบบเอ็ดตะโร ไม่มีใครยอมฟังใครอย่างนี้มันเปล่าประโยชน์ เพราะแทบจะฟังไม่รู้ว่าใครด่าใครว่าอย่างไร จึงขอให้ด่าอย่างเป็นระเบียบ คือ จับเวลาให้คนละ ๕ นาที ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเริ่มด่า อีกฝ่ายต้องฟังอย่างเดียวรอจนครบ ๕ นาที จึงจะเริ่มด่าตอบได้และฝ่ายตรงข้ามจะต้องหยุดพัก ผลัดกันไปอย่างนี้ จึงจะด่ากันได้เต็มที่ชัดเจน และสำเร็จตามที่ต้องการ พร้อมกันนั้น ท่านก็ล้วงนาฬิกาออกมาจากย่ามจับเวลา
                แม่ค้าทั้งสองเริ่มลังเลในท่าทีของพระ แต่ก็เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น จึงเริ่มด่ากันใหม่ ปรากฏว่าคนแรกกว่าจะด่าได้ครบ ๕ นาที ก็ทำเอาเหงื่อแทบตก คนที่สองยิ่งกว่านั้น เพราะด่าไปได้แค่ ๓ นาทีก็เริ่มอึกๆ อักๆ หาคำด่าไม่ได้ ที่นึกได้ก็มีแต่คำซ้ำๆ ที่ใช้ด่าไปแล้ว จะหยุดก็ไม่ได้ จะด่าต่อไปก็นึกไม่ออก รู้สึกอึดอัดกระดากใจ ทั้งสองฝ่าย ที่สุดก็เลยต้องเลิกรากันไปเอง
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า ถ้าจุดไฟขึ้นมากองหนึ่ง อย่างไรเสียมันก็ต้องดับ แต่ถ้าเอาฟืนเติมเข้าไปอีก ไฟก็ไม่ดับ ความโกรธก็เป็นดังนี้ คือถ้าปล่อยให้โกรธ ปล่อยให้ด่าไปเสีย ไม่นานก็จบ ถ้าโกรธตอบ ด่าตอบ ก็คือช่วยกันโหมไฟเป็นสองแรง โอกาสที่จะไหม้จนพินาศก็มีสูง ปัญหาอยู่ที่ว่า มนุษย์เราจะอดทนให้คนอื่นโกรธหรือด่าทอได้เพียงนั้นเชียวหรือ คำตอบก็คืออยู่ที่การฝึก โดยเฉพาะฝึกคิด ถ้าคิดว่าเราต้องเป็นฝ่ายทน บางทีก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องหนักและเสียศักดิ์ศรี แต่ถ้าคิดว่า เมื่อเราดับไฟไม่ได้ ธุระอะไรจะต้องเอาฟืนไปเติมอีก คิดให้ได้ดังนี้ ก็จะช่วยให้สบายใจได้มากขึ้น ปัญหาหรือเรื่องราวอื่นๆ ก็จะไม่ตามมา

............................................