วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เศรษฐีทางธรรม


เศรษฐีทางธรรม
                  สมัยหนึ่ง พระนางยโสธราได้ให้พระราหุลกุมารไปทูลขอทรัพย์จากพระพุทธเจ้าตามสิทธิ์ที่จะพึงได้ในฐานะเป็นพระโอรส พระพุทธองค์ไม่ทรงประทาน เพราะทรงเห็นว่าทรัพย์ที่ขอเป็นสมบัติภายนอก ไม่ทำให้พ้นความทุกข์ได้ แต่เพื่อมิให้พระราหุลกุมารเสียพระทัย จึงทรงประทานทรัพย์ภายในที่เรียกว่า อริยทรัพย์ แทน อริยทรัพย์นั้นมีด้วยกัน ๗ ประการ คือ
                ๑.ศรัทธา - เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
                ๒.ศีล - รักษากายวาจาให้เรียบร้อย เช่น สำรวมระวังไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนผู้อื่น ฯลฯ
                ๓.หิริ - ละอายแก่ใจ คือละอายใจตัวเองต่อการกระทำความชั่ว
                ๔.โอตตัปปะ - เกรงกลัว คือสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว เช่น การถูกจับกุมลงโทษจากการกระทำผิด
                ๕.พาหุสัจจะ - เป็นคนคงแก่เรียน คือ สนใจในการสดับตรับฟัง ศึกษาค้นคว้าหาความรู้อยู่เป็นนิจ
                ๖.จาคะ - เสียสละแบ่งปัน เช่น เสียสละวัตถุสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม
                ๗.ปัญญา - รอบรู้ คือรู้บาปบุญคุณโทษ รู้ดีรู้ชั่ว รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้สิ่งที่ควรไม่ควร
                ทรัพย์สินภายนอ เช่น เงิน ทอง เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และใครๆ ก็ปรารถนา แต่เป็นเพียงของนอกกาย มีวันหมดสิ้นหรือบางกรณีอาจก่อให้เกิดโทษได้ หากไม่ระมัดระวังในการใช้สอย แต่อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ภายใน ใช้จ่ายเท่าใดก็ไม่มีวันหมดสิ้น มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และไม่ก่อให้เกิดโทษแต่อย่างใด
............................................

กำลังชีวิต



                 มีผู้กล่าวไว้ว่าหาก “ชีวิตคือการเดินทาง” เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง ชีวิตจำเป็นต้องมีเรี่ยวแรงเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน หรือหาก “ชีวิตคือการต่อสู้” เพื่อให้ชนะอุปสรรคต่างๆ ชีวิตก็จำเป็นต้องมีอาวุธเป็นเครื่องช่วยในการต่อสู้นักปราชญ์เรียกตัวช่วยชีวิตเหล่านี้ว่า “กำลังชีวิต”
                คติความเชื่อดังกล่าว สอดคล้องกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “มนุษย์มีศักยภาพในตัวเองเพียงพอที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกช่วยดลบันดาลให้ แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน อบรมตนเองเป็นสำคัญ”  ศักยภาพที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมนั้น มนุษย์สามารถสร้างได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักพลธรรมหรือธรรมอันเป็นกำลังชีวิต ๔ ประการ ได้แก่
                ๑.ปัญญาพละ-กำลังปัญญา คือได้ศึกษา มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องชัดเจนในเรื่องราวและกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง เปรียบเสมือนมีแสงสว่างส่องทางให้ชีวิต และเป็นเสมือนมีอาวุธสำหรับต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” และ “ปัญญาประดุจดังอาวุธ”
                ๒.วิริยพละ-กำลังความเพียร คือประกอบกิจทำหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความบากบั่นพยายามกล้าหาญเข้มแข็ง ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคต่างๆ โดยยึดหลักว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
                ๓.อนวัชชพละ-กำลังความสุจริต หรือกำลังความบริสุทธิ์ คือมีความประพฤติและหน้าที่การงานสุจริต ไร้โทษ สะอาดบริสุทธิ์ อันจะก่อให้เกิดพลังการป้องกันภยันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “สุจริตคือเกราะบังสาตร์พ้อง”
                ๔.สังคหพละ-กำลังสงเคราะห์ คือบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กัน อันจะก่อให้เกิดพลังความรัก ความผูกพัน ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ความพร้อมเพียงของหมู่คณะยังประโยชน์ให้สำเร็จ”
                พลธรรม หรือกำลังชีวิตทั้ง ๔ ประการ นั้น เป็นหลักประกันชีวิตที่สำคัญยิ่ง หากบุคคลฝึกฝนอบรมให้เกิดมีในตัวแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิด พลานุภาพที่ยิ่งใหญ่ เข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความสำเร็จสมความปรารถนาที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์
............................................