วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ภาพลวงตา


ภาพลวงตา
                คนที่ไม่อยากเข้าวัด รับศีล หรือฟังเทศน์ ย่อมมีเหตุผลต่างๆ กัน เหตุผลประการหนึ่งก็คือคิดว่าเป็นเรื่องโบราณ ไม่ทันสมัย ไม่เหมาะแก่ตัวเอง แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า ความคิดชนิดนี้ก็น่าจะมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดกันในปัจจุบันนี้ คนโบราณเมื่อร้อยปี พันปีก่อนก็คงต้องมีส่วนหนึ่งที่คิดเช่นนี้เช่นกัน ที่น่าสงสัย คือเหตุใดความคิดนี้จึงไม่เป็นความคิดที่ตกยุค ล้าสมัยไปด้วยนะ
                ในความเป็นจริงหลักของศีลธรรมมีแต่ทำให้คนทันสมัย เช่น “ความสำรวม” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ฟังชื่อแล้วน่าจะคร่ำครึสุดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นว่า ในสังคมที่มีความเจริญ เขาจะต้องสำรวมระวังคำพูด การกระทำ และกิริยามารยาทต่างๆ อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ ยิ่งการสำรวมใจด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะต้องรู้จักสำรวม ควบคุมใจ ไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ หรือสัญชาตญาณของตนเอง เพราะนั่นเป็นลักษณะดั้งเดิมของมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา พัฒนา จึงมีแต่ความซื่อสัตย์ต่ออารมณ์และความต้องการของตนเองแต่ฝ่ายเดียว การขาดสำรวมระวังตน จึงถือว่าเป็นคนทันสมัยไม่ได้แน่ ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมไหนก็ตาม
                สำหรับบางคนพอลืมตาขึ้น มองออกไปข้างหน้า ก็เห็นสิ่งหนึ่งทั้งที่สิ่งนั้นไม่มีจริง หรือมีจริงแต่เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราเรียกสิ่งที่เห็นนั้นว่าภาพลวงตา ซึ่งอาจทำให้วาดมโนภาพไปได้ร้อยแปด วิธีแก้ก็คือ เข้าไปดูใกล้ๆ ดูให้เห็นจริง เหมือนผู้ที่คิดว่าศีลธรรมเป็นเรื่องล้าสมัย ถ้าจะให้ยกตัวอย่างว่าข้อใดที่ล้าสมัยและข้อนั้นสอนว่าอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบได้ แต่ทั้งที่ตอบไม่ได้นั่นแหละความรู้สึกลึกๆ ก็ยืนยันกับตัวเองด้วยความมั่นใจอยู่อย่างนั้น วิธีแก้มีอย่างเดียว คือศึกษาคำสอนนั้นๆ ให้รู้จริงเสีย แล้วอาจจะพบความจริงว่า ความคิดที่ว่าศีลธรรมนั้นล้าสมัย แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น
............................................

วันแห่งความมืด

 วันแห่งความมืด
                 วันและคืนที่มาถึงและผ่านไป แม้โดยข้อเท็จจริงจะเป็นเพียงกาลเวลาที่เป็นไปตามธรรมชาติแต่มนุษย์ก็อดที่จะเอาความเข้าใจของตนเองเข้าไปปรุงแต่งไม่ได้ ดังนั้น จึงเกิดมีวันดี วันร้าย วันมงคล และวันไม่เป็นมงคล ต่างๆ ขึ้นมากมาย ความเชื่อเช่นนี้ไม่ใช่มีอยู่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีอยู่กันทั่วโลก
                พระพุทธองค์ เมื่อจะทรงพยายามชักนำความเชื่อดังกล่าวให้เข้ามาสู่ทางแห่งเหตุผลมากที่สุด เกิดประโยชน์แก่มนุษย์มากที่สุด จึงทรงเปรียบเทียบวันและคืนว่าจะดีหรือไม่ดีย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะความประพฤติของคน ดังปรากฏในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า “ใครก็ตามที่มีลักษณะ ๖ ประการนี้ วันและคืนของผู้นั้นย่อมมีแต่ความมืด เสื่อมจากความดีทั้งหลาย หาความจริงมิได้” ลักษณะ ๖ ประการนั้น คือ
                ๑.เป็นคนมีความต้องการมากจนเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะไม่รู้จักพอในเรื่องปัจจัยสี่
                ๒.เป็นคนไม่ศรัทธาในศาสนา คือขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ไม่รู้จักทางที่จะพัฒนาตัวเองให้ประณีตขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น
                ๓.เป็นคนทุศีล ประพฤติตรงข้ามกับหลักศีลธรรมอยู่เป็นอาจิณ
                ๔.เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ขยัน มักเพ้อฝัน แต่ขาดการลงมือทำ
                ๕.เป็นคนมีสติฟั่นเฟือน ไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้หนักแน่นมั่นคง
                ๖.เป็นคนเขลา ไม่พยายามพัฒนาปัญญาให้มองเห็นเหตุผลและความจริง
                หลักคำสอนนี้นอกจากจะชักนำความเชื่อเรื่องความดีร้ายของวันคืนให้เข้ามาสู่ทางแห่งเหตุผลมากที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุดแล้ว ยังเป็นความจริงมากที่สุดอีกด้วย และความจริงที่ประกอบด้วยเหตุผลเช่นนี้นี่แหละ ที่จะเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ใช้แก้ปัญหาด้วยปัญญาได้อย่างยั่งยืนถาวรดีที่สุด
............................................

ประโยชน์ของสมาธิ


                เคยมีข่าวหญิงสาวคนหนึ่งปีนเสาไฟฟ้าเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย กว่าตำรวจและญาติๆ จะช่วยพูดคุยเกลี้ยกล่อมและช่วยลงมาได้ต้องใช้เวลาอยู่เป็นชั่วโมง ท้ายข่าวยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน หญิงผู้นี้ได้เข้าวัดไปนั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบ แต่กลับยิ่งเครียดหนักจนก่อเหตุดังกล่าว ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยในทำนองว่า การทำสมาธิทำให้เกิดผลดีจริงหรือ ในเรื่องนี้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของสมาธิ ไว้ดังนี้
                ๑.ประโยชน์ขั้นแรก ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเมื่อเกิดปัญหาถ้าจะใช้พุทธในการแก้ไข คือต้องปฏิบัติธรรมด้วยการ บำเพ็ญสมาธิ แต่ความจริงก็คือ สมาธิที่จะช่วยป้องกันปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเป็นสมาธิที่ผ่านการบำเพ็ญอบรมมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเป็นอย่างดีก่อนจนเกิดผลเป็นความมั่งคงของจิต เป็นสมาธิพร้อมใช้ จิตที่เป็นสมาธิอยู่เสมอนี้ย่อมมีพลังที่จะควบคุมตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์และเหตุการณ์ที่ประสบ จึงเป็นเหมือนเครื่องช่วยป้องกันปัญหาได้เป็นด่านแรก นี้เป็นประโยชน์ในเบื้องต้นของสมาธิ
                ๒.ประโยชน์สูงสุด ได้แก่การใช้สมาธิเป็นทางไปสู่ปัญญา ขั้นนี้เป็นวัตถุประสงค์แท้จริงของสมาธิในพระพุทธศาสนา เพราะโดยปกติแม้จะคิดอ่านการงานอะไรก็จำเป็นต้องมีสมาธิเป็นตัวสร้างโอกาสให้จิตใจได้ทำงานอยู่แล้วยิ่งเรื่องของชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่มีกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้องครอบงำอยู่ทุกขณะ การจะแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยจิตใจที่มั่นคงเพิ่มขึ้นเพื่อประครองจิตให้คิดอ่านอยู่ในแนวของเหตุและผลให้มากที่สุด ไม่คิดไปตามอารมณ์ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจกิเลส สมาธิยิ่งกล้าแกร่งสมบูรณ์เท่าใดโอกาสที่จะเห็นหนทางที่ถูกต้องที่สุด ดีงามที่สุดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้เห็นตามที่เป็นจริงได้”
                สรรพสิ่งในโลกย่อมมีความจริงกำกับอยู่ทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดจากเหตุ ถ้าเข้าไปค้นพบเหตุหรือความจริงของเรื่องนั้นได้ ก็แก้ปัญหาทุกอย่างได้ เครื่องมือสำคัญก็คือสมาธินี้เอง” เพียงแต่ต้องฝึกฝนและใช้ให้ถูกต้องเท่านั้น
............................................