วันแห่งความมืด
วันและคืนที่มาถึงและผ่านไป
แม้โดยข้อเท็จจริงจะเป็นเพียงกาลเวลาที่เป็นไปตามธรรมชาติแต่มนุษย์ก็อดที่จะเอาความเข้าใจของตนเองเข้าไปปรุงแต่งไม่ได้
ดังนั้น จึงเกิดมีวันดี วันร้าย วันมงคล และวันไม่เป็นมงคล ต่างๆ ขึ้นมากมาย ความเชื่อเช่นนี้ไม่ใช่มีอยู่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง
แต่มีอยู่กันทั่วโลก
พระพุทธองค์
เมื่อจะทรงพยายามชักนำความเชื่อดังกล่าวให้เข้ามาสู่ทางแห่งเหตุผลมากที่สุด
เกิดประโยชน์แก่มนุษย์มากที่สุด จึงทรงเปรียบเทียบวันและคืนว่าจะดีหรือไม่ดีย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะความประพฤติของคน
ดังปรากฏในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า “ใครก็ตามที่มีลักษณะ ๖ ประการนี้
วันและคืนของผู้นั้นย่อมมีแต่ความมืด เสื่อมจากความดีทั้งหลาย หาความจริงมิได้”
ลักษณะ ๖ ประการนั้น คือ
๑.เป็นคนมีความต้องการมากจนเป็นทุกข์เดือดร้อน
เพราะไม่รู้จักพอในเรื่องปัจจัยสี่
๒.เป็นคนไม่ศรัทธาในศาสนา
คือขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ไม่รู้จักทางที่จะพัฒนาตัวเองให้ประณีตขึ้น
บริสุทธิ์ขึ้น
๓.เป็นคนทุศีล
ประพฤติตรงข้ามกับหลักศีลธรรมอยู่เป็นอาจิณ
๔.เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ขยัน
มักเพ้อฝัน แต่ขาดการลงมือทำ
๕.เป็นคนมีสติฟั่นเฟือน ไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้หนักแน่นมั่นคง
๖.เป็นคนเขลา
ไม่พยายามพัฒนาปัญญาให้มองเห็นเหตุผลและความจริง
หลักคำสอนนี้นอกจากจะชักนำความเชื่อเรื่องความดีร้ายของวันคืนให้เข้ามาสู่ทางแห่งเหตุผลมากที่สุด
เกิดประโยชน์มากที่สุดแล้ว ยังเป็นความจริงมากที่สุดอีกด้วย และความจริงที่ประกอบด้วยเหตุผลเช่นนี้นี่แหละ
ที่จะเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ใช้แก้ปัญหาด้วยปัญญาได้อย่างยั่งยืนถาวรดีที่สุด
............................................