วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

เกราะกันทุกข์

เกราะกันทุกข์
                คำว่า “เกราะ” ตามพจนานุกรม ให้ความหมายไว้หลายอย่าง ในที่นี้ เกราะ หมายถึงเครื่องสวมใส่หรือเครื่องหุ้มสำหรับป้องกันอาวุธหรืออันตราย เช่น เสื้อเกราะ รถเกราะ เป็นต้น ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายแต่เพียงร่างกายภายนอกเท่านั้น
                ยังมีเกราะอีกชนิดหนึ่งได้แก่ ศีล ซึ่งเป็นเกราะภายใน สามารถป้องกันตนให้รอดพ้นจากความทุกข์ ความชั่ว ความเสื่อมเสียในชีวิตได้แน่นอน ทำให้ได้ความสบายใจ เย็นใจ ไม่ต้องหวาดผวาเพราะระแวงว่าคนนั้นจะฟ้องร้องคนนี้จะจองเวร คนโน้นจะกล่าวโทษ เพราะคนมีศีลนั้น จะอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี ยินดีในสิทธิของตน ไม่สบสนในประเวณี เปล่งวจีโดยซื่อสัตย์ และเคร่งครัดในความไม่ประมาท ศีลจึงเป็นหลักประกันที่มั่นคง เพื่อความสุขและความปลอดภัยของชาวโลกดังคำว่า สีลัง กะวะจะมัพภุตัง แปลว่า ศีลเป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์
                แต่การจะให้คนมีศีล รักษาศีลโดยปราศจากค่านิยมในศีลย่อมเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องมีธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะคุณธรรมคือ เมตตา สัมมาอาชีพ ความรู้จักพึงพอใจในคู่ครอง ความซื่อสัตย์ และสติปัญญา รู้จักแยกแยะผิดถูกบาปบุญ จะช่วยปรุงแต่งจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบ มีความประณีตโน้มเอียงเข้าหาความสงบสำรวมสามารถตั้งมั่นอยู่ในศีลได้ตลอดไป
                เมื่อพูดถึงการป้องกันตนเอง คนทั้งหลายมักมุ่งถึงการป้องกันตนเองจากคนอื่นหรือสิ่งอื่นซึ่งแม้จะจำเป็นแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยแท้ แต่การป้องกันตนเองจากตนเองที่ย่อหย่อนศีลธรรมด้วยการดำรงมั่นอยู่ในศีลธรรม เป็นความปลอดภัยสูงสุด เป็นเกราะวิเศษ เพราะคุ้มครองได้ทั้งตนเองและเพื่อนมนุษย์ ดังคำสุภาษิตว่า
                                ศีลธรรมนำโลกให้              จำเริญ
                                โลกห่างธรรมธรรมเหิน    โลกเศร้า
                                ธรรมกับโลกร่วมเดิน         เคียงคู่ สราญพ่อ
                                โลกสุขทุกค่ำเช้า                  ชิดเชื้อธรรมเสมอ

............................................

สมาธิในชีวิตประจำวัน

สมาธิในชีวิตประจำวัน
                คำว่า สมาธิ แปลว่า “ความตั้งมั่นแห่งจิต” ในทัศนะทางพระพุทธศาสนา ความตั้งมั่นแห่งจิตให้ประโยชน์แก่คนมากมาย ทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การทำงานให้ได้ผลรวดเร็ว และรวมถึงการเกิดในภูมิภพที่ดี เราสามารถสร้างสมาธิในชีวิตประจำวันได้ดังนี้
                ๑.สมาธิตามวิธีธรรมชาติ วิธีเจริญสมาธิแบบนี้ ก็เพียงแต่นึกถึงการกระทำที่ดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราภาคภูมิใจ เช่น ความมีน้ำใจขอตนที่ให้กับคนอื่น ความกตัญญูกตเวทีที่มีกับพ่อแม่และผู้มีพระคุณ การละความชั่วทำดี เป็นต้น เมื่อระลึกเป็นอารมณ์ไว้เช่นนี้ ความที่จิตตั้งมั่นโดยวิธีนี้เรียกว่า “สมาธิตามวิธีธรรมชาติ
                ๒.สมาธิตามหลักการทำงาน หลักการทำงานให้ได้ผลสำเร็จนั้น ต้องประกอบด้วยความมีใจรักงาน พากเพียรทำเอาจิตฝักใฝ่ และใช้ปัญญาสอบสวน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้ปฏิบัติเป็นผู้กำหนดเอางานที่ทำ หรือจุดหมายที่ต้องการมาเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว ใส่ความรัก ความพากเพียร การเอาจิตฝักใฝ่ และใช้ปัญญาสอบสวนลงไปในงานอย่างตั้งใจ หากทำได้ สมาธิก็จะเกิดขึ้น เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ สมาธิก็จะแข็งกล้า ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี
                คนผู้หวังความสุขและความสำเร็จของชีวิต หากไม่มีปัจจัยอื่นใดมาสนับสนุนแล้ว ขอได้โปรดฝึกสมาธิในชีวิตประจำวันไว้เถิด จะพบว่าความสุขและความสำเร็จอยู่ในตัวเรานี่เอง

............................................

สอนลูกให้ถูกวิธี

สอนลูกให้ถูกวิธี
                คนที่อยากมีลูก ถ้าไม่มีก็เป็นทุกข์เพราะไม่มีลูก แม้มีลูกแล้วก็คงไม่พ้นทุกข์ สองอย่าง คือทุกข์เพราะลูกตายและทุกข์เพราะลูกชั่ว บรรดาความทุกข์เหล่านี้ ทุกข์เพราะลูกชั่วเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ต้องเสียใจทุกข์ระทม และคอยแก้ปัญหาอยู่ไม่รู้จบสิ้น
                พระพุทธองค์ตรัสหน้าที่ของพ่อแม่ไว้ข้อหนึ่งว่า ปาปา นิวาเรนติ แปลว่า ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอก็คือพ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะอบรมสั่งสอนลูก โดยยกสภาพสังคมปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบแข่งขันในการประกอบอาชีพขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ชวนให้คิดต่อไปว่า แท้จริง งานสั่งสอนลูกนั้นต้องใช้เวลาเท่าไหร่กันแน่ และถ้าทุกคนถูกปิดกั้นด้วยเวลาเช่นนั้นจริงแล้ว จะทำอย่างไร
                ปัญหานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความเคยชินและยึดติดในภาพของการสอน คือพอพูดถึงคำว่าสอน ก็มองเห็นเป็นภาพว่า ต้องมีผู้สอน ผู้รับการสอน ต้องมีเวลาอย่างนั้น มีบรรยากาศอย่างนี้ เป็นต้น แต่ความจริงการสอนประกอบด้วยหลักสำคัญ ๒ ประการคือ สอนให้จำ และทำให้ดู ใน  ๒ อย่างนั้น การทำให้ดูไม่มีข้อจำกัดทั้งเวลาหรืออุปกรณ์ ข้อสำคัญการทำให้ดูทำให้เกิดความประทับใจ จูงใจ และฝังใจได้ดีกว่า ดังคำสุภาษิตจีนว่า ภาพภาพเดียว มีค่ากว่าคำพูดพันคำ แต่ต้องมีการปรับพฤติกรรมของตนเอง เลือกแสดงออกแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วแนะนำชี้แจงให้รู้จักผลของความดีความชั่วประกอบกันไป
                การสอนคนนั้น หากเป็นเรื่องเกี่ยวพันด้วยพฤติกรรม แบบอย่างจะมีบทบาทสำคัญมาก ดังนั้น หากสามารถทำได้ทั้งสอนให้จำ ทั้งทำให้ดู ก็มั่นใจได้ว่า การสอนไม่ให้ลูกทำความชั่ว จะประสบความสำเร็จได้ และถ้าทำได้เช่นนั้นแล้วถึงพ่อแม่จะทุกข์เพราะจน ทุกข์เพราะเจ็บป่วย หรือทุกข์เพราะงานหนัก แต่จะไม่ต้องทุกข์เพราะลูกชั่วเลย

............................................