วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลักษณะผู้มีวินัย



                ในสังคมคนหมู่มาก มีความจำเป็นต้องกำหนดกติกาให้ส่วนรวมปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขและความก้าวหน้าของหมู่คณะ หรือเพื่อเป้าหมายขององค์กร กฎเกณฑ์หรือกติกาที่จะมีประสิทธิภาพและทำให้บรรลุผลการเป้าหมายที่สำคัญ นั่นก็คือ “วินัย” ผู้ที่ปฏิบัติตามก็จะเรียกว่า “ผู้มีวินัย” ซึ่งผู้มีวินัยนั้นมีลักษณะที่พอสังเกตได้โดยประมาณ คือ
                ๑.มีสัมมาคารวะ ผู้มีวินัยจะให้ความสำคัญกับการแสดงความเคารพ ซึ่งแสดงออกด้วยการทำความเคารพบ้าง ด้วยการระมัดระวังไม่ล่วงเกินผู้อื่นด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง หรือหากต้องมีการล่วงเกินเพียงน้อยนิดแค่การเดินผ่านในที่ที่อยู่สูงกว่าก็มีการขอโทษ ปฏิบัติต่อสิ่งเคารพและสถานที่สำคัญด้วยความระมัดระวัง ฯลฯ
                ๒.มีความถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ก็ตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองอยู่ในฐานะที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ยิ่งขึ้นไป ความรู้ความสามารถและยศศักดิ์ที่มีอยู่เป็นความได้เปรียบที่จะใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความรู้ความสามารถและความดีที่สูงขึ้นไป ไปอีกเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับอวดอ้างหรือใช้เป็นอภิสิทธิ์ 
                ๓.เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ธรรมดาการถูกว่าถูกสอนเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความรู้สึก บางคนฟังเรื่องจริงก็ไม่มีความสุข พูดเรื่องถูกก็รับไม่ได้ แต่สำหรับผู้มีวินัยจะรับฟังโดยเคารพ พิจารณาถูกผิดด้วยปัญญา ยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข ใช้วินัยนั้นเองปกครองตัวเองก่อนที่จะปกครองคนอื่น
                ๔.รักดี ผู้มีวินัยจะมองเห็นความดีเป็นสิ่งมีเกียรติ แม้ว่าการทำความดีนั้นจะเป็นเหตุให้ต้องเข้มงวดกับตนเองบ้าง ก็พร้อมจะทำด้วยความเต็มใจ ซื่อสัตย์ต่อความดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง
                ๕.กล้าหาญ โดยเฉพาะกล้าที่จะปฏิเสธความชั่ว ไม่ยอมให้สิ่งล่อใจมามีอำนาจเหนือตน ทั้งๆ มีโอกาสแต่ก็สามารถกล้าตัดสินใจจะไม่ทำ
                การจะมีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย หรือการจะเชิดชูหมู่คณะให้สง่างาม บางครั้งก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เพียงสร้างวินัยให้เกิดในตัวเองให้ได้ ความดีอื่นๆ ก็จะตามมาอีกมากมาย
............................................

คนของโลก


 คนของโลก
                ชายชราผู้หนึ่งนั่งขุดหลุมอยู่อย่างขะมักเขม้นท่ามกลางแดดร้อนจัดในเวลาบ่าย ขณะนั้นเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินมาพบเข้าจึงถามว่า กำลังทำอะไร ชายชราตอบว่า กำลังขุดหลุมเพื่อปลูกมะม่วง คำตอบนั้นยิ่งทำให้เด็กหนุ่มแปลกใจยิ่งขึ้น จึงถามอีกว่า นี่ลุงอายุเท่าไรแล้ว พอทราบว่าชายชราผู้นั้นอายุแปดสิบปีแล้ว จึงพูดขึ้นว่า มะม่วงต้นนี้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าห้าปี จึงจะออกผล ลุงอาจจะตายเสียก่อนที่จะได้กินก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่คุ้มกับที่ต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้นะลุง
                ชายชราอธิบายว่า มะม่วงที่ปลูกนี้ ถึงลุงจะตายไปเสียก่อน แต่ประโยชน์ก็จะตกแก่คนอื่นต่อไป เหมือนตัวหลานชายนี่แหละ ตอนที่เกิดมาก็ไม่ได้เกิดในบ้านที่ตัวเองสร้างไว้ เกิดมาแล้วก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านที่คนอื่นสร้างไว้เหมือนกัน การทำสิ่งใดๆ จึงไม่ควรมองแค่ประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย
                การกระทำที่มุ่งประโยชน์เพื่อตนเองแม้จะเป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็ยังแคบ ถ้านักวิทยาศาสตร์คิดว่าเราจะคิดค้นพลังงานและอุปกรณ์ไฟฟ้าไปทำไมทนอยู่มืดๆ ไปอีกไม่กี่ปีเราก็ตายแล้ว คนอื่นเขาก็ยังอยู่กันได้ โลกเราก็คงยังไม่มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างทุกวันนี้ แม้กรณีตัวอย่างอื่นๆ ที่เห็นได้ทั่วไปก็ชี้ชัดว่า การที่เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบายทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะได้เสวยผลที่ผู้อื่นคิดค้น และสร้างสรรค์ไว้นั่นเอง
                คนที่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวม เป็นคนที่โลกต้องการทุกยุคทุกสมัย เพราะช่วยพัฒนาโลกให้มีคุณค่า สวยงาม และน่ารื่นรมย์แม้จะปลูกมะม่วงต้นเดียวซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่วิธีคิดและความมุ่งหวังของเขายิ่งใหญ่และทรงคุณค่า สมกับที่เกิดมาเป็น “คนของโลก” อย่างแท้จริง
............................................

คนดี


คนดี
                การเลือกคนดีเป็นปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะความคิดจิตใจของคนเป็นเรื่องยากจะหยั่งถึงได้ ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ได้แสดงลักษณะสำคัญของคนดีที่พอมองเห็น ไว้ห้าประการ คือ
                ๑. นานะยัง นะยะตี ไม่ชักนำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น ชักนำให้เสพของมึนเมา เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านการทำงาน ฯ
                ๒. อธุรายัง นะ ยุญชะติ ไม่ทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ คือรู้จักเคารพในฐานะและหน้าที่ของผู้อื่นไม่ก้าวก่ายแทรกแซง หรือสร้างความวุ่นวาย แต่มุ่งทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
                ๓. สุนะโย เสยยะโส โหติ เป็นผู้นำในทางที่ดี เช่น นำให้เว้นจากอบายมุข มีเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน แม้การทำดีบางครั้งจะต้องพบอุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ สามารถยืนหยัดบนความถูกต้องได้อย่างมั่นคง
                ๔. สัมมา วุตโต นะกุปปะติ ไม่โกรธเมื่อถูกชี้แนะ เพราะมุ่งต่อความดีเป็นสำคัญ เมื่อมีใครแนะนำทักท้วงในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็จะยินดี รู้สึกเหมือนผู้นั้นมาบอกขุมทรัพย์ให้
                ๕. วินะยัง ปะชานาติ ชอบระเบียบวินัย เคารพกฎหมายและกติกาของสังคม แม้มีโอกาสก็ไม่ใช้อภิสิทธิ์ เพราะเห็นกฎหมายว่าเป็นทั้งเครื่องคุ้มครองและเป็นเครื่องจัดสรรความเท่าเทียมกันของมนุษย์การทำลายกฎหมายก็คือการทำร้ายเพื่อมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเพื่อนมนุษย์อ่อนแอหรือเกิดปัญหาก็ยากที่จะมีความสุขอยู่ได้ตามลำพัง
                ถ้าเลือกคนให้มากวาดถนน รดน้ำต้นไม้ก็เป็นเรื่องง่ายเพราะถึงจะได้คนไม่ดีแต่ความเสียหายก็คงไม่มาก แต่ถ้าเลือกมาเป็นเพื่อน เป็นคู่ชีวิต หรือมาทำงานใหญ่ให้ประเทศชาติ ควรจะพิจารณาให้มาก เพราะถ้าเลือกผิดก็จะผิดหวัง กลัดกลุ้ม และหงุดหงิดไปนาน เข้าทำนองว่า “ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย” นั่นแล
............................................

ความพอดี



                ความพอดี หมายถึง ความลงตัว ความพอเหมาะพอสม ความเป็นเหตุเป็นผลในตัวเอง
                การที่ดวงอาทิตย์ส่องในเวลากลางวัน พระจันทร์สุกสว่างในเวลากลางคืน ดาวนับล้านๆ ดวงล่องลอยอยู่ในท้องฟ้า โลกหมุนรอบตัวเอง พร้อมกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สมดุล นี้คือความพอดีทางธรรมชาติ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทุกชีวิตบนโลก การที่สัตว์ขั้วโลกเหนือมีขนหนาไว้กันหนาว สีขาวกลมกลืนกับหิมะ ในขณะที่สัตว์เขตร้อนมีขนน้อย สีสันฉูดฉาดกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ก็ถือเป็นความพอดีซึ่งเป็นประโยชน์และเกื้อกูลป้องกันภัยในชีวิตตามธรรมชาติเช่นกัน
                สำหรับชีวิตมนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักความพอดีที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตไว้ ๒ ระดับ คือ
                ๑.ความพอดีระดับสูง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุถึงปัญญาขั้นสูงสุด จนเข้าใจสรรพสิ่งได้ถูกต้องตามที่มันเป็นและปฏิบัติได้ถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่กะเกณฑ์หรือเข้าใจไปตามที่ตนอยากให้เป็น แล้วปฏิบัติไปตามที่อำนาจความอยากชักพา ข้อปฏิบัตินี้คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือย่อให้สั้นเป็น ศีล สมาธิ และปัญญา
                ๒.ความพอดีระดับสามัญ เรียกว่า มัตตัญญุตา- ความรู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดีในการดำเนินชีวิตในเรื่องสำคัญๆ  ตัวอย่างเช่น
ในการกิน ให้กินแต่พอดี ไม่น้อยไปจนเป็นโรคขาดอาหาร ไม่มากไปจนเป็นโรคอ้วน กินตามความต้องการของธรรมชาติ ไม่กินตามความต้องการของกิเลส
                ในการแสวงหา ให้รู้จักยินดีในสิ่งที่ได้มา แสวงหาให้เหมาะสมแก่กำลัง และระมัดระวังเรื่องดี-ชั่ว
                ในการทำหน้าที่ ต้องทำให้ถูกคือไม่ให้ผิดหน้าที่ ทำให้ครบคือไม่ให้บกพร่องเสียหาย
                หากยังเข้าถึงความพอดีในระดับสูงไม่ได้ จำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องยึดความพอดีในระดับสามัญไว้ หาไม่แล้วชีวิตจะไม่เหลือความพอดีสักอย่างจนทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา ดุจธรรมชาติและทรัพยากรในโลกที่ถูกทำลายจนขาดความสมดุลและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มาจากการขาดความสมดุลอันเกิดจากการกระทำที่ขาดสมดุลของมนุษย์นั่นเอง
............................................