วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความพอดี



                ความพอดี หมายถึง ความลงตัว ความพอเหมาะพอสม ความเป็นเหตุเป็นผลในตัวเอง
                การที่ดวงอาทิตย์ส่องในเวลากลางวัน พระจันทร์สุกสว่างในเวลากลางคืน ดาวนับล้านๆ ดวงล่องลอยอยู่ในท้องฟ้า โลกหมุนรอบตัวเอง พร้อมกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สมดุล นี้คือความพอดีทางธรรมชาติ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทุกชีวิตบนโลก การที่สัตว์ขั้วโลกเหนือมีขนหนาไว้กันหนาว สีขาวกลมกลืนกับหิมะ ในขณะที่สัตว์เขตร้อนมีขนน้อย สีสันฉูดฉาดกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ก็ถือเป็นความพอดีซึ่งเป็นประโยชน์และเกื้อกูลป้องกันภัยในชีวิตตามธรรมชาติเช่นกัน
                สำหรับชีวิตมนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักความพอดีที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตไว้ ๒ ระดับ คือ
                ๑.ความพอดีระดับสูง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุถึงปัญญาขั้นสูงสุด จนเข้าใจสรรพสิ่งได้ถูกต้องตามที่มันเป็นและปฏิบัติได้ถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่กะเกณฑ์หรือเข้าใจไปตามที่ตนอยากให้เป็น แล้วปฏิบัติไปตามที่อำนาจความอยากชักพา ข้อปฏิบัตินี้คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือย่อให้สั้นเป็น ศีล สมาธิ และปัญญา
                ๒.ความพอดีระดับสามัญ เรียกว่า มัตตัญญุตา- ความรู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดีในการดำเนินชีวิตในเรื่องสำคัญๆ  ตัวอย่างเช่น
ในการกิน ให้กินแต่พอดี ไม่น้อยไปจนเป็นโรคขาดอาหาร ไม่มากไปจนเป็นโรคอ้วน กินตามความต้องการของธรรมชาติ ไม่กินตามความต้องการของกิเลส
                ในการแสวงหา ให้รู้จักยินดีในสิ่งที่ได้มา แสวงหาให้เหมาะสมแก่กำลัง และระมัดระวังเรื่องดี-ชั่ว
                ในการทำหน้าที่ ต้องทำให้ถูกคือไม่ให้ผิดหน้าที่ ทำให้ครบคือไม่ให้บกพร่องเสียหาย
                หากยังเข้าถึงความพอดีในระดับสูงไม่ได้ จำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องยึดความพอดีในระดับสามัญไว้ หาไม่แล้วชีวิตจะไม่เหลือความพอดีสักอย่างจนทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา ดุจธรรมชาติและทรัพยากรในโลกที่ถูกทำลายจนขาดความสมดุลและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มาจากการขาดความสมดุลอันเกิดจากการกระทำที่ขาดสมดุลของมนุษย์นั่นเอง
............................................