วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นักโทษคดีธรรม

นักโทษคดีธรรม
                การจัดแบ่งประเภทโทษทัณฑ์คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ ในทางพุทธศาสนา ได้จัดแบ่งไว้เป็นสองทางได้แก่ คดีโลก และคดีธรรม ในทางคดีโลกนั้นยึดกฎหมายหรือระเบียบของสังคมเป็นเครื่องตัดสิน ส่วนคดีธรรมมีผลกรรมเป็นเครื่องตัดสิน ในโทษทัณฑ์ทั้งสองอย่างนี้มีความกว้างแคบต่างกันคือ ถ้าทำผิดคดีโลก ก็จะต้องผิดคดีธรรมด้วย ในขณะที่ผิดคดีธรรมอาจไม่ผิดคดีโลกก็ได้ ในทางกลับกัน ทำถูกในทางคดีโลกอาจยังผิดคดีธรรมได้ แต่ถ้าทำถูกคดีธรรมแล้ว จะไม่ผิดคดีโลกเลย จึงมีคำพูดที่ว่า “ถ้ามนุษย์ทุกคนมีศีลห้าบริบูรณ์ โรงพัก ศาลสถิตยุติธรรม และเรือนจำ ก็ไม่จำเป็น”
                ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ กฎทางคดีโลกที่วางไว้อาจไม่เสมอภาคกันได้ เพราะผู้ทำผิดอาจหลบหนีหรือมีวิธีต่อสู้จนพ้นผิด หรือผู้บังคับใช้อาจย่อหย่อนเอนเอียง แต่กฎในคดีธรรมมีความเที่ยงตรงแน่นอน เพราะเป็นกฎแห่งกรรม ไม่มีการอภัยโทษ ไม่มีอายุความ และไม่มีที่ให้หลบซ่อน เรียกว่าหมดโอกาสลอยนวลจริงๆ
                ดังนั้น ผู้หวังความมั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง ควรระมัดระวังความผิดในคดีธรรมให้มากด้วยอย่างน้อยก็ควรมีศีลห้าเป็นเครื่องคุ้มครองตัวเอง เพราะเมื่อไม่ต้องโทษในคดีธรรมเสียแล้ว ก็จะไม่ต้องถูกพิพากษาให้เป็นผู้รับผิดในทุกคดีความ

............................................

คุณสมบัติของคนดี

คุณสมบัติของคนดี
                ถ้าถามว่า “ผู้ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร” คำตอบจะมีหลากหลายไม่ตรงกัน บางคนอาจเล็งไปถึงชาติตระกูล บางคนอาจเห็นว่าต้องมีความรู้ดี มีมรรยาทดี แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงคุณสมบัติของคนดีที่ครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ไว้มีชื่อเรียกว่า “สัปปุริสธรรม” ๗ ประการ ได้แก่
      ๑.รู้จักเหตุ คือรู้ว่าเมื่อทำเหตุเช่นนี้ย่อมได้รับผลอย่างนี้ เมื่อเห็นชัดอย่างนั้นแล้ว ก็เว้นเหตุชั่ว ประกอบแต่เหตุที่ส่งผลดีเท่านั้น
      ๒.รู้จักผล คือรู้ว่าผลที่ได้รับอย่างนี้มาจากสาเหตุนี้ แล้วยินดีรับผลเท่าที่ประกอบเหตุไว้ หรือเมื่อได้รับผลชั่วก็ไม่โวยวาย เข้าใจในสิ่งที่ผิดพลาดและยินดีที่จะแก้ไข
      ๓.รู้จักตน คือรู้ว่าตนเองเป็นเช่นไร ในด้านฐานะ ความรู้ ความสามารถ หน้าที่การงาน และคุณธรรม แล้วประพฤติให้เหมาะสมกับภาวะที่เป็นอยู่
      ๔.รู้จักประมาณ คือรู้จักความพอดี ทั้งความพอดีในการแสงหา การบริโภคใช้สอย และการดำรงชีวิต ในทุกๆ ด้าน
       ๕.รู้จักกาล คือรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไร แล้วทำให้ถูกเวลา ทำให้ทันเวลา ทำให้คุ้มกับเวลา
       ๖.รู้จักชุมชน คือเข้าใจชุมชนหรือสังคม รวมทั้งมารยาท วัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนนั้นๆ แล้วปฏิบัติหรือปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งที่ดีงามในสังคมนั้น
        ๗.รู้จักบุคคล คือเข้าใจถึงอัธยาศัยของแต่ละบุคคลว่าผิดถูก ดีเลว หยาบหรือประณีตอย่างไร แล้วเข้าไปสัมพันธ์กับผู้นั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
                ผู้ใดมีคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนั้น จัดว่าเป็นผู้ดีสมบูรณ์ ไม่ว่าชาติตระกูลจะเป็นอย่างไร ยากจนแค่ไหน หรือหน้าตาอัปลักษณ์เพียงใด แต่จะเป็นที่ต้องการของคนทั้งหลาย เพราะมีสมบัติของคนดีอยู่กับตัว
............................................

โจรทิม

โจรทิม
                ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับฎีกาจากโจรทิมซึ่งติดคุกด้วยข้อหาปล้นทรัพย์ในฎีการะบุว่า ตั้งแต่ต้องโทษก็ตั้งใจฝึกฝนวิชาจักสานมาโดยลำดับ บัดนี้ล่วงเลยมาถึงสิบปี มั่นใจฝีมือเป็นเลิศไม่มีใครสู้ได้ จึงผลิตงานฝีมือถวาย หากทรงโปรด ก็จะขอพระราชทานอภัยโทษสักครั้งเพื่อออกบวชเลิกประพฤติชั่วไปตลอดชีวิต และเมื่อได้ทอดพระเนตรกาถังน้ำร้อนฝีมือจักสานของโจรทิมที่เจ้าพักงานนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงพอพระทัยในฝีมืออันประณีตงดงามไม่มีใครเทียบ จึงพระราชทานอภัยโทษ และโปรดให้จัดบวชเป็นนาคหลวง
                ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พระทิมได้มาแจ้งต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ตนเองได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับการต่อสู้มาบ้าง บัดนี้ บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม จะมาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขาออกไปช่วยรบกับข้าศึก เพื่อทดแทนพระมหากรุณาธิคุณ ต่อเมื่อสิ้นการศึกหากรอดชีวิตจะขอกลับมาบวชอีกครั้งหนึ่ง
                สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อทรงทราบ ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า “มนุษย์เรานี้ ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” และโปรดให้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งไปถึงพระทิมว่าทรงขอบใจ แต่พระทิมอายุมากแล้ว ขออาราธนาให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด จนภายหลังเมื่อพระทิมมรณภาพ ยังได้พระราชทานจัดการศพอย่างมีเกียรติยศยิ่ง
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดสำคัญ ๒ ประการ
                ๑.ความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนจนรู้จริง ดีจริง ย่อมอำนวยประโยชน์ให้ชีวิตได้จริงเมื่อโอกาสมาถึง จึงไม่ควรดูหมิ่นวิชาความรู้แม้ในเรื่องเล็กน้อยว่าไม่สำคัญ
                ๒.มนุษย์ปุถุชนไม่มีใครถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด แต่ถ้าผิด ต้องพร้อมที่จะกลับตัวหรือแก้ไข
                วิชาความรู้และการแก้ไขปรับปรุงตนเอง เป็นตัวกำหนดชีวิตของคนให้ดีหรือเลว สูงหรือต่ำได้อย่างจริงแท้แน่นอนเพียงใด โปรดดูโจรทิมเป็นตัวอย่าง

............................................