นักโทษคดีธรรม
การจัดแบ่งประเภทโทษทัณฑ์คดีความต่างๆ
ที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ ในทางพุทธศาสนา ได้จัดแบ่งไว้เป็นสองทางได้แก่
คดีโลก และคดีธรรม ในทางคดีโลกนั้นยึดกฎหมายหรือระเบียบของสังคมเป็นเครื่องตัดสิน
ส่วนคดีธรรมมีผลกรรมเป็นเครื่องตัดสิน
ในโทษทัณฑ์ทั้งสองอย่างนี้มีความกว้างแคบต่างกันคือ ถ้าทำผิดคดีโลก
ก็จะต้องผิดคดีธรรมด้วย ในขณะที่ผิดคดีธรรมอาจไม่ผิดคดีโลกก็ได้ ในทางกลับกัน
ทำถูกในทางคดีโลกอาจยังผิดคดีธรรมได้ แต่ถ้าทำถูกคดีธรรมแล้ว จะไม่ผิดคดีโลกเลย
จึงมีคำพูดที่ว่า “ถ้ามนุษย์ทุกคนมีศีลห้าบริบูรณ์ โรงพัก ศาลสถิตยุติธรรม
และเรือนจำ ก็ไม่จำเป็น”
ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์
กฎทางคดีโลกที่วางไว้อาจไม่เสมอภาคกันได้ เพราะผู้ทำผิดอาจหลบหนีหรือมีวิธีต่อสู้จนพ้นผิด
หรือผู้บังคับใช้อาจย่อหย่อนเอนเอียง แต่กฎในคดีธรรมมีความเที่ยงตรงแน่นอน
เพราะเป็นกฎแห่งกรรม ไม่มีการอภัยโทษ ไม่มีอายุความ และไม่มีที่ให้หลบซ่อน
เรียกว่าหมดโอกาสลอยนวลจริงๆ
ดังนั้น
ผู้หวังความมั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง ควรระมัดระวังความผิดในคดีธรรมให้มากด้วยอย่างน้อยก็ควรมีศีลห้าเป็นเครื่องคุ้มครองตัวเอง
เพราะเมื่อไม่ต้องโทษในคดีธรรมเสียแล้ว
ก็จะไม่ต้องถูกพิพากษาให้เป็นผู้รับผิดในทุกคดีความ
............................................