วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

โจรทิม

โจรทิม
                ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับฎีกาจากโจรทิมซึ่งติดคุกด้วยข้อหาปล้นทรัพย์ในฎีการะบุว่า ตั้งแต่ต้องโทษก็ตั้งใจฝึกฝนวิชาจักสานมาโดยลำดับ บัดนี้ล่วงเลยมาถึงสิบปี มั่นใจฝีมือเป็นเลิศไม่มีใครสู้ได้ จึงผลิตงานฝีมือถวาย หากทรงโปรด ก็จะขอพระราชทานอภัยโทษสักครั้งเพื่อออกบวชเลิกประพฤติชั่วไปตลอดชีวิต และเมื่อได้ทอดพระเนตรกาถังน้ำร้อนฝีมือจักสานของโจรทิมที่เจ้าพักงานนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงพอพระทัยในฝีมืออันประณีตงดงามไม่มีใครเทียบ จึงพระราชทานอภัยโทษ และโปรดให้จัดบวชเป็นนาคหลวง
                ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พระทิมได้มาแจ้งต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ตนเองได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับการต่อสู้มาบ้าง บัดนี้ บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม จะมาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขาออกไปช่วยรบกับข้าศึก เพื่อทดแทนพระมหากรุณาธิคุณ ต่อเมื่อสิ้นการศึกหากรอดชีวิตจะขอกลับมาบวชอีกครั้งหนึ่ง
                สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อทรงทราบ ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า “มนุษย์เรานี้ ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” และโปรดให้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งไปถึงพระทิมว่าทรงขอบใจ แต่พระทิมอายุมากแล้ว ขออาราธนาให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด จนภายหลังเมื่อพระทิมมรณภาพ ยังได้พระราชทานจัดการศพอย่างมีเกียรติยศยิ่ง
                เรื่องนี้ให้ข้อคิดสำคัญ ๒ ประการ
                ๑.ความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนจนรู้จริง ดีจริง ย่อมอำนวยประโยชน์ให้ชีวิตได้จริงเมื่อโอกาสมาถึง จึงไม่ควรดูหมิ่นวิชาความรู้แม้ในเรื่องเล็กน้อยว่าไม่สำคัญ
                ๒.มนุษย์ปุถุชนไม่มีใครถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด แต่ถ้าผิด ต้องพร้อมที่จะกลับตัวหรือแก้ไข
                วิชาความรู้และการแก้ไขปรับปรุงตนเอง เป็นตัวกำหนดชีวิตของคนให้ดีหรือเลว สูงหรือต่ำได้อย่างจริงแท้แน่นอนเพียงใด โปรดดูโจรทิมเป็นตัวอย่าง

............................................