วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561

สะเดาะเคราะห์


 สะเดาะเคราะห์
                ในบรรดาความเชื่อทั้งหลาย ความเชื่อเรื่องโชคเคราะห์เป็นเรื่องที่มีมาแต่โบราณกาล และคนทั่วไปเมื่อคิดว่ากำลังประสบเคราะห์ ก็มักจะแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ กันไปที่เรียกรวมๆ ว่าสะเดาะเคราะห์ ด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งว่า จะได้สบายใจ และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือพอทำเสร็จส่วนมากจะรู้สึกว่าสบายใจขึ้น จึงขอเสนอวิธีสะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่คิดว่ากำลังมีเคราะห์ ดังนี้
                ๑. ไถ่ชีวิตสัตว์ เช่น ปล่อยปลา ไถ่ชีวิตโค กระบือ โดยเฉพาะที่จะถูกนำไปฆ่า
                ๒. ให้ทาน เช่น บริจาคโลหิต ตักบาตร ถวายทาน รวมถึงสงเคราะห์ผู้ยากไร้ต่างๆ
                ๓. สวดมนต์ภาวนา ไหว้พระสวดมนต์เพื่อนำตัวเองเข้าหาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หรือนับถือศาสนาใดก็เข้าปฏิบัติพิธีกรรมในศาสนานั้น เพื่อให้จิตใจสงบ มั่นคง เกิดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป
                ถ้าเชื่อว่าเคราะห์ร้ายหรือผลร้ายจากสิ่งที่มองไม่เห็นมีจริง ก็ต้องเชื่อว่าบุญกุศลหรือผลแห่งการทำดีมีอยู่จริงเช่นกัน การจะคุ้มครองตัวเองจากเภทภัยความชั่วร้ายเหล่านั้น จึงไม่มีอะไรดีกว่าให้อำนาจบุญกุศลเข้าต่อสู้ การสะเดาะเคราะห์ด้วยวิธีนี้ ทั้งสบายใจ ได้บุญ และมีความปลอดภัย ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของนักหลอกลวง ซึ่งจะเป็นการสร้างเคราะห์ร้ายซ้ำเติมเข้ามาอีก
............................................

ปฏาจารา



                ปฏาจารา เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีสมบัติ ๔๐ โกฏิ มีรูปงาม ตระกูลสูง แต่พบรักกับหนุ่มรับใช้ในบ้าน และหนีออกไปครองรักกันสองคน ใช้ชีวิตด้วยการทำไร่ไถนา เก็บผักหาฟืน แม้จะยากลำบากแต่ก็มีความสุข จนกระทั้งมีลูกคนหนึ่ง
                เมื่อตั้งครรภ์ครั้งที่สองและใกล้คลอด นางอ้อนวอนให้สามีพากลับไปหาพ่อแม่ แต่ถูกห้ามจึงพาลูกน้อยหนีไปตามลำพัง สามีตามมาทันเมื่อพลบค่ำ ระหว่างนั้น พายุฝนได้กระหน่ำลงมาอย่างหนัก นางเจ็บท้องใกล้คลอดอย่างกะทันหันสามีจึงฉวยมีดวิ่งออกไปหาตัดกิ่งไม้มาทำที่พักชั่วคราว ขณะตัดไม้ เขาถูกงูพิษกัดจนสิ้นชีวิตลง ฝ่ายนางปฏาจาราก็คลอดบุตรคนที่สองอย่างทุกข์ทรมาน ทารกทั้งสองถูกพายุฝนพัดกระหน่ำจนนางไม่อาจทนรอสามีต่อไปได้ จึงกอดลูกทั้งสองไว้มือหนึ่งแล้วคลำทางไปในป่า ตามหาสามีท่ามกลางราตรีมืดมิดและพายุฝนที่บ้าคลั่ง พอสว่างจึงพบร่างไร้วิญญาณของสามี
                แม้จะประสบทุกข์อย่างสาหัส นางก็ยังสู้นำลูกน้อยทั้งสองมุ่งหน้าต่อไป ถึงแม่น้ำอจิรวดีซึ่งลึกระดับอกไม่สามารถพาลูกข้ามไปพร้อมกันได้ จึงพักลูกคนโตไว้ฝั่งนี้ อุ้มคนเล็กข้ามไปฝั่งโน้น วางไว้ แล้วย้อนกลับมารับอีกคนหนึ่ง ขณะที่กลับมาถึงกลางแม่น้ำนั่นเอง เหยี่ยวตัวหนึ่งก็โฉบเอาลูกที่เพิ่งคลอดไป นางตกใจแทบสิ้นสติ ยกมือขึ้นโบกและตะโกนไล่สุดเสียงแต่ก็ไม่สำเร็จ ฝ่ายลูกคนโตเห็นกิริยาดังนั้นก็สำคัญไปว่าแม่ร้องเรียกด้วยความไม่เดียงสาจึงเดินลงน้ำไปหาแม่และถูกกระแสน้ำพัดหายไปอีกคนหนึ่ง
                ชีวิตของนางไม่เหลืออะไรอีก กัดฟันมุ่งสู่บ้านเกิดเพื่อเป็นที่พึ่งสุดท้าย พบชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา เมื่อสอบถามจึงรู้ว่าพายุใหญ่เมื่อคืนนี้ได้พัดถล่มบ้านเกิดของนางจนพินาศ พ่อแม่และพี่ชายเสียชีวิตลงพร้อมกันทั้งหมด ทันทีที่ได้ฟังข่าวร้าย สติสัมปชัญญะอันเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ก็ขาดสะบั้นลง ณ บัดนั้น นางกลายเป็นคนเสียสติ เดินเปลือยกาย หัวเราะ ร้องไห้ เพ้อรำพัน ซมซานไปตามถนนเป็นที่รังเกียจสมเพชแก่ผู้พบเห็น จนถึงเชตะวันมหาวิหาร
                พระพุทธเจ้าประทับนั่งในทามกลางพุทธบริษัท ทอดพระเนตรเห็นนางผู้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงตรัสเรียกให้นางได้สติ แสดงธรรมโปรดจนหายเศร้าโศกและขอบวชในพระพุทธศาสนาได้รับยกย่องว่าเป็นพระเถรีผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในด้านพระวินัยในเวลาต่อมา
                เรื่องนี้ ไม่มีบทสรุป แต่สำหรับผู้ที่คิดว่ากำลังประสบกับมรสุมชีวิตอยู่ อาจได้ข้อคิดอะไรบ้าง
............................................

ปฏิทินชีวิต



                ของใช้จำเป็นอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อเปลี่ยนศักราชใหม่ก็คือ ปฏิทิน เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติงาน การนัดหมายและการปฏิบัติภารกิจอื่นๆ คำว่า “ปฏิทิน” แปลตามตัวว่า เฉพาะวัน หรือสำหรับวัน แปลโดยความหมายว่า แบบสำหรับดูวันเดือนปี แต่ถ้าจะให้ปีใหม่มีความหมายเพิ่มขึ้นเป็นจุดเริ่มของชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องมีแบบไว้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญรุ่งเรือง ในด้านสังคม พระพุทธเจ้าทรงวางแบบสำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีไว้ ๔ แบบ คือ
                ๑.แบบของการเสียสละ ที่เรียกว่า ทาน คือการให้ รู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ทั้งวัตถุข้าวของความสะดวกสบาย เพื่อสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันบ้าง เพื่อขัดเกลาและยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
                ๒.แบบของการพูด ท่านสอนให้พูดด้วยปิยวาจา คือพูดสุภาพไพเราะ มีความจริงใจไม่เสแสร้งพูดแล้วเกิดความสบายใจทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
                ๓.แบบของการบำเพ็ญประโยชน์ ได้แก่หลัก อัตถจริยา รู้จักอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบางครั้งแม้จะต้องเสียเวลาสำหรับประโยชน์ตนไปบ้าง แต่ก็จำเป็นเพราะตนเองจะได้ประโยชน์หรือเป็นคนมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อรู้จักสละประโยชน์ของตนเอง
                ๔.แบบของการวางตัว ได้แก่หลัก สมานัตตตา วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะของตน ไม่ก้าวก่ายขัดแย้งหรือผิดต่อกาลเทศะ
                แบบสำหรับดูวันเดือนปีหรือปฏิทินประจำปีที่มีอยู่ จะบอกได้เพียงวันเวลา แต่วันเวลาที่เรารู้แล้วนั้น จะดีหรือเลวและนำพาชีวิตให้เป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับแบบสำหรับดำเนินชีวิตอีกทีหนึ่ง ทุกคนจึงควรมีปฏิทินประจำชีวิตคือแบบแผนที่ดีงาม ไว้เป็นเครื่องกำกับตรวจสอบตัวเองเสมอ อย่างน้อยก็ สี่แบบดังกล่าว
............................................