วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สำคัญที่ตนเอง

สำคัญที่ตนเอง
                มีคนจำนวนหนึ่งมักพูดในทำนองว่า การที่ตัวเขาทำชั่วลงไปบ้าง ชีวิตต้องตกอับบ้าง ต้องพลาดหวังจากลาภยศตำแหน่งบ้าง ถูกคนอื่นรังเกียจบ้าง ถูกจับกุมคุมขังบ้าง ก็เพราะมีคนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นสาเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น โดยที่ไม่ได้เหลียวมองถึงจุดบกพร่องของตนเอง
                ทั้งนี้ก็เพราะปกติคนเรานั้นมักจะเข้าข้างตัวเองเสมอ คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก พูดถูก คิดถูก และทำถูกต้องแล้ว ถึงแม้จะมีผิดบ้างก็มีเหตุผลที่น่าเห็นใจ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่สบปรารถนาเกิดขึ้นกับตนจึงมักจะโทษผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เช่น กล่าวโทษว่าดวงไม่ดี โทษว่าเพราะมีคนบังคับให้ทำบ้าง มีสิ่งล่อใจให้ทำบ้าง ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือถูกใส่ร้ายป้ายสีบ้าง แต่โดยข้อเท็จจริง สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยข้อเท็จจริง แม้สังคมและสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์อยู่บ้างก็ตาม แต่หลักการใหญ่ก็อยู่ที่การปฏิบัติของตนเองเป็นสำคัญ
                เราห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้ แต่ห้ามตัวเองไม่ให้เปียกฝนได้
                เราห้ามไม่ให้แดดออกไม่ได้ แต่ห้ามตัวเองไม่ให้โดนแดดได้
                ดังนั้น เมื่อสิ่งที่ไม่พึงปรารถนามากระทบชีวิต ผู้มีปัญญาก็จะพิจารณาถึงตนเองก่อนเป็นอันดับแรกว่าจะปฏิบัติตนเองอย่างไรจึงจะเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะอยู่ในวิสัยที่ทำได้อย่างเต็มที่ ทำได้ทุกเวลา และหวังผลได้แน่นอน ต่างจากการจะปฏิบัติต่อคนอื่นหรือสิ่งอื่น แม้หลักพระพุทธศาสนาก็ยังระบุว่า “คนจะดี จะชั่ว จะบริสุทธิ์ หรือเศร้าหมอง อยู่ที่ตนเองว่าทำดีหรือชั่วเป็นสำคัญ ส่วนผู้อื่นจะมาทำให้เราดีหรือชั่ว ให้บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง มิได้” ฉะนั้นจึงควรเพ่งพิจารณาที่ตนเป็นสำคัญ ดังโคลงโลกนิติที่ว่า
                                อย่าโทษไทท้าวท่วย            เทวา
                                อย่าโทษสถานภูเผา             ย่านกว้าง
                                อย่าโทษหมู่วงศา                 มิตรญาติ
                                โทษแต่กรรมเองสร้าง        ส่งให้เป็นเอง

............................................

คนมีสี

คนมีสี
                คนมีสี ความหมายก็คือคนในเครื่องแบบ หรือข้าราชการ ผู้มียศศักดิ์ มีอำนาจหน้าที่ในทางราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ ตลอดจนข้าราชการพลเรือน ส่วนบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์แต่งเครื่องแบบของทางราชการก็ถือกันว่าเป็นคนไม่มีสี บุคคลประเภทนี้ถ้าจะพึงมีอำนาจ หรือเป็นผู้กว้างขวางขึ้นมา ก็มักนิยมเรียกกันไปอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อ
                ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนที่เกิดมาต่างก็มีชีวิตที่มีส่วนประกอบสำคัญอยู่สองส่วนเหมือนกันคือ กายส่วนหนึ่ง กับใจอีกส่วนหนึ่ง ทั้งกายและใจของทุกคนก็มีสีอยู่อย่างน้อยสองสี คือ สีดำกับสีขาว สีขาวดำที่อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น เป็นเรื่องของรูปธรรมตามธรรมชาติและสังเกตได้ง่าย แต่ในส่วนของจิตใจนั้นมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยการคบค้าสมาคม ใช้เวลาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันจึงจะรู้ได้ เมื่อว่าโดยสภาวะ ใจคนจะขาวหรือดำนั้นย่อมขึ้นอยู่กับมโนธรรมของคนคนนั้น ถ้าเป็นคนมีจิตใจบริสุทธิ์ มีคุณธรรม ก็ถือว่าเป็นคนมีใจสีขาว ส่วนคนที่มีใจไม่บริสุทธิ์ คิดอกุศล ตกอยู่ในอำนาจความโลภ โกรธ หลง ก็ถือว่าเป็นคนมีน้ำใจสีดำ ดังนั้น คนมีสีจะพึงพอใจเฉพาะเครื่องแบบ อาชีพและยศถาบรรดาศักดิ์เท่านั้นหาเพียงพอไม่ เพราะเป็นแต่เพียงสีภายนอก จำเป็นต้องตกแต่งขัดเกลาความคิดจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรืออย่างน้อยก็ต้องมีการพัฒนาคุณธรรมที่สำคัญ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละอดทน ให้มีขึ้นในใจ จึงจะชื่อว่ามีสีสดใสงดงามอย่างครบถ้วน แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่องแบบเป็นสีประจำชีวิตหรือแม้แต่คนที่สีกายอัปลักษณ์ การพัฒนาตนเองไปสู่ความสะอาดบริสุทธิ์และมีคุณธรรม จะทำให้จิตใจมีสีสันที่งดงาม มีชีวิตที่ทรงคุณค่า เข้าทำนอง “ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ”
                คนมีสีตามความหมายทั่วไปมักมีความภาคภูมิใจ มั่นใจ และอบอุ่นใจ เพราะหมายถึงมีสถาบัน มีองค์กรเป็นที่พึ่ง และหากชำระจิตใจของตนให้ขาวบริสุทธิ์ได้ด้วย ก็จะมีตนเองเป็นที่พึ่งอีกชั้นหนึ่ง ความภาคภูมิใจ มั่นใจและอบอุ่นใจ ย่อมจะเพิ่มเป็นทวีคูณแน่นอน

............................................

ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน

ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน
                การทำใจ โดยความหมายก็คือ การปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อจิตใจ ดังนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติ แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติ อาจมีผู้สงสัยบ้างว่าเราควรทำใจของเราให้เป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีทำใจไว้อย่างหนึ่งที่ทุกคนควรนำไปฝึกฝนก็คือ การทำใจให้เหมือนแผ่นดิน โดยทรงยกคุณลักษณะของแผ่นดินไว้ ๕ ประการคือ
                ๑.แผ่นดินนั้นแม้ใครจะเอาของหอม หรือของเหม็นก็ตามเททิ้งลงไป แผ่นดินก็วางเฉยเป็นปกติ ข้อนี้ท่านสอนให้หัดทำใจวางเฉย ไม่ว่าใครจะติหรือชมอย่างไรก็ไม่ต้องหวั่นไหวสะทกสะท้าน
                ๒.แผ่นดินแม้จะไร้เครื่องประดับตกแต่ง แต่แผ่นดินก็ทรงคุณค่านานัปการในตัวของมันเอง ข้อนี้ท่านสอนให้รักษาศีล เพราะศีลเป็นคุณค่าพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี เพราะจะทำให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ แม้ปราศจากค่าที่ใครๆ จะสถาปนาให้ก็ตาม
                ๓.แผ่นดินมีลักษณะแน่นหนา คงทน ข้อนี้ท่านสอนว่า เมื่อมีความดีแล้วต้องรักษาไว้ให้ดี มั่นคง ยืนหยัดในความดีนั้น ไม่หวั่นไหว
                ๔.แผ่นดินแม้ต้องรับน้ำหนักมากมายเพียงใด ก็ไม่เคยย่อท้อ ข้อนี้ท่านสอนให้มีความบากบั่น ไม่ท้อแท้ แม้ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ เมื่อยังไม่บรรลุผลสำเร็จก็ไม่ละความเพียรพยายามนั้น
                ๕.แผ่นดินไม่ยินดียินร้ายในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน ไม่ว่าน้ำจะท่วม พายุจะพัด ภูเขาไฟจะระเบิดก็ตามที ในข้อนี้ท่านสอนไม่ให้ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะสุขหรือทุกข์ จะรวยหรือจน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของการต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ยึดติดจนหาความสุขไม่ได้
                การพัฒนาจิตใจให้รู้จักวางเฉย มีศีล ยึดมั่นในความดี ไม่ท้อแท้ และรู้จักปล่อยวาง แม้จะไม่ง่ายนักแต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะจะเป็นการช่วยปรับสภาพจิตใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ไม่ว่าชีวิตจะเผชิญกับสิ่งใด ก็จะไม่กวัดแกว่งรวนเร ไม่พินาศแตกสลายอย่างแน่นอน

............................................