วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน

ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน
                การทำใจ โดยความหมายก็คือ การปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อจิตใจ ดังนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติ แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติ อาจมีผู้สงสัยบ้างว่าเราควรทำใจของเราให้เป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีทำใจไว้อย่างหนึ่งที่ทุกคนควรนำไปฝึกฝนก็คือ การทำใจให้เหมือนแผ่นดิน โดยทรงยกคุณลักษณะของแผ่นดินไว้ ๕ ประการคือ
                ๑.แผ่นดินนั้นแม้ใครจะเอาของหอม หรือของเหม็นก็ตามเททิ้งลงไป แผ่นดินก็วางเฉยเป็นปกติ ข้อนี้ท่านสอนให้หัดทำใจวางเฉย ไม่ว่าใครจะติหรือชมอย่างไรก็ไม่ต้องหวั่นไหวสะทกสะท้าน
                ๒.แผ่นดินแม้จะไร้เครื่องประดับตกแต่ง แต่แผ่นดินก็ทรงคุณค่านานัปการในตัวของมันเอง ข้อนี้ท่านสอนให้รักษาศีล เพราะศีลเป็นคุณค่าพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี เพราะจะทำให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ แม้ปราศจากค่าที่ใครๆ จะสถาปนาให้ก็ตาม
                ๓.แผ่นดินมีลักษณะแน่นหนา คงทน ข้อนี้ท่านสอนว่า เมื่อมีความดีแล้วต้องรักษาไว้ให้ดี มั่นคง ยืนหยัดในความดีนั้น ไม่หวั่นไหว
                ๔.แผ่นดินแม้ต้องรับน้ำหนักมากมายเพียงใด ก็ไม่เคยย่อท้อ ข้อนี้ท่านสอนให้มีความบากบั่น ไม่ท้อแท้ แม้ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ เมื่อยังไม่บรรลุผลสำเร็จก็ไม่ละความเพียรพยายามนั้น
                ๕.แผ่นดินไม่ยินดียินร้ายในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน ไม่ว่าน้ำจะท่วม พายุจะพัด ภูเขาไฟจะระเบิดก็ตามที ในข้อนี้ท่านสอนไม่ให้ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะสุขหรือทุกข์ จะรวยหรือจน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของการต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ยึดติดจนหาความสุขไม่ได้
                การพัฒนาจิตใจให้รู้จักวางเฉย มีศีล ยึดมั่นในความดี ไม่ท้อแท้ และรู้จักปล่อยวาง แม้จะไม่ง่ายนักแต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะจะเป็นการช่วยปรับสภาพจิตใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ไม่ว่าชีวิตจะเผชิญกับสิ่งใด ก็จะไม่กวัดแกว่งรวนเร ไม่พินาศแตกสลายอย่างแน่นอน

............................................