วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ปฏิเสธตัวเองเสียบ้าง

ปฏิเสธตัวเองเสียบ้าง
                มีคนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่รู้จักปฏิเสธหรือไม่กล้าปฏิเสธ อาจเป็นเพราะความเกรงใจหรือต้องการตอบแทนพระคุณ แม้ในเรื่องผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี ก็ไม่กล้าปฏิเสธ ผลตามมาคือความเดือดร้อน คนเราจึงต้องมีความกล้าหาญพอที่จะต้องปฏิเสธ เมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้วเห็นว่า ควรปฏิเสธ ความเกรงใจหรือความใจอ่อนไม่กล้าปฏิเสธมักจะนำความยุ่งยากมาสู่ชีวิตเราเสมอ
                การปฏิเสธที่สำคัญที่สุดก็คือการปฏิเสธตัวเอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการหักห้ามใจตัวเอง ผู้ที่สามารถปฏิเสธตัวเองได้นับว่าเป็นยอดคน เพราะจะต้องใช้ ทมะคือความข่มใจอย่างแรงกล้า เนื่องจากใจคนจะมีธรรมชาติอยู่ ๒ อย่างอยู่ภายใน คือ ธรรมชาติฝ่ายสูงและธรรมชาติฝ่ายต่ำ ความคิดฝ่ายสูงจะให้ความคิดและความรู้แก่เราในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ แต่ความคิดฝ่ายต่ำจะชักนำเราไปทางที่ผิด ไร้สาระ และเข้าข้างตนเอง คนส่วนมากมักจะพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติฝ่ายต่ำก็เพราะไม่เข้มแข็งหรือไม่กล้าหาญพอที่จะปฏิเสธตัวเอง จึงตกอยู่ใต้อำนาจของ โลภะ โทสะ และโมหะ ตลอดเวลา
                พระพุทธศาสนาสอนว่า การเอาชนะคนอื่นได้ยังไม่ถือว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริง เพราะชนะแล้วก็ยังมีโอกาสเกิดทุกข์ ก่อเวร หรือกลับแพ้อีกได้ แต่บุคคลที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้ชนะเลิศนั้น จะต้องสามารถเอาชนะตัวเองได้ และการรู้จักปฏิเสธตัวเองไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำ เป็นวิธีการสำคัญที่จะนำไปสู่การชนะตัวเองได้ในที่สุด

............................................

สิ่งที่รู้ไม่ได้

สิ่งที่รู้ไม่ได้
                ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการศึกษาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ และวิชาความรู้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาไปจนตาย เรียนกันไม่มีวันจบ และแม้ปัจจุบัน มนุษย์จะมีการศึกษาดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีการเปิดเผยความรู้ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเสมอ หรือจะกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดในพิภพนี้ที่มนุษย์จะรู้ไม่ได้” ก็คงไม่ผิด แต่มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่รู้และไม่อาจจะรู้ได้ นั่นคือชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องความตาย พระพุทธศาสนากล่าวว่ามีสิ่งที่รู้ไม่ได้ ๕ ประการ คือ
                ๑.ชีวิต เรารู้ไม่ได้เลยว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด
                ๒.ความป่วยไข้ รู้ไม่ได้ว่าจะตายด้วยโรคอะไร หรือด้วยสาเหตุอะไร
                ๓.เวลาตาย คนส่วนใหญ่รู้วันเวลาที่ตนเกิดแน่นอน แต่ไม่มีใครที่รู้ว่าตัวเองจะต้องตายวันไหน เวลาใด
                ๔.สถานที่ตาย รู้ไม่ได้ว่าจะตายในบ้านหรือนอกบ้าน ในน้ำ หรือบนบก
                ๕.ตายแล้วไปไหน จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ หรือเป็นเทพ เป็นอะไร อยู่ที่ไหน รู้ไม่ได้
                ผู้ไม่ประมาท ถึงจะรู้หรือไม่รู้ก็มีค่าเท่ากัน เพราะจะพิจารณาเห็นว่าชีวิตนี้น้อยนัก พร้อมที่จะแตกดับเสมอ แค่หายใจเข้าแล้วไม่ออก หรือหายใจออกแล้วไม่เข้า ก็ตาย จึงต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้มากเข้าไว้  เพื่อเป็นที่พึ่งทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ
                สิ่งที่รู้ไม่ได้มักทำให้คนทั่วไป หวาดหวั่นหรืออย่างน้อยก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนจะดีหรือร้าย ยิ่งเกี่ยวกับชะตาชีวิตด้วยแล้วบางคนถึงขั้นเป็นทุกข์ ความไม่ประมาท คือทำตัวเองให้เป็นคนดีมีค่าเสียแต่บัดนี้ เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับเผชิญหน้ากับสิ่งที่รู้ไม่ได้ในทุกสถานการณ์

............................................

คุณธรรมผู้ใหญ่

คุณธรรมผู้ใหญ่
                ในเรื่อง “รามเกียรติ์” มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายตอนด้วยกัน มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ วิธีที่จะแก้ไขก็คือ ต้องไปหาสรรพยาอันได้แก่ สังกรณี ตรีชวา และน้ำจากปัญจมหานที มาแก้ไขพิษหอกโมกขศักดิ์ และต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผู้ที่รับอาสาไปเอาสรรพยาก็คือ หนุมาน แต่หนุมานมีปฏิภาณว่องไว แทนที่จะรีบไปหาสรรพยามาให้ทันชั่วคืนเดียว กลับเหาะไปยึดรถพระอาทิตย์ เพื่อมิให้ส่องสว่างมายังพื้นโลก อันเป็นเงื่อนไขความเป็นความตายของพระลักษมณ์ หลังจากพระอาทิตย์หันมาทอดพระเนตรจนหนุมานร่างไหม้เป็นจุลแล้วชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ถามถึงความประสงค์ เมื่อทราบความต้องการ แต่พระอาทิตย์ไม่สามารถตอบสนองได้เพราะผิดวิสัยราศีจักร แต่ก็สามารถยืดหยุ่นให้ได้โดยชักราชรถเข้าไปหลบในกลีบเมฆมิให้ส่องแสง มายังพื้นโลก ทำให้หนุมานสามารถไปเอาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ได้ทันท่วงที
                ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คือ พระอาทิตย์แม้มีอานุภาพมาก แต่ก็ยังมีความเห็นอกเห็นใจ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว แก้ปัญหาด้วยวิธีนุ่มนวล เป็นการประสานประโยชน์ผู้อื่นและตนเองก็ไม่เสียหลักการ พร้อมสร้างคุณธรรมตรึงใจ ๕ ประการ คือ
                ๑.พึ่งพาได้ เมื่อใดที่ผู้น้อยมีปัญหา ก็ขวนขวายช่วยเหลือ หรือแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาได้
                ๒.ใช้หลักการ คือมีเป้าหมายที่ชัดเจน และดำเนินไปตามหลักการนั้นๆ มิใช่ว่า วันนี้มีหลักการอย่างหนึ่ง รุ่งขึ้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
                ๓.หาญรับหน้า เมื่อเกิดความผิดพลาดเสียหาย ก็พร้อมรับผิดชอบ มิใช่ว่า ผิดไม่รับ แต่ชอบนั้นต้องการ
                ๔.กล้าตัดสินใจ อันเป็นเครื่องแสดงออกถึงความกล้าหาญทางความคิดและการตัดสินใจ
                ๕.ไม่ไร้มนุษยสัมพันธ์ คือมีคุณธรรม ได้แก่ ความโอบอ้อมอารี มีวจีไพเราะ สงเคราะห์ทุกคน วางตนได้เหมาะสม อันเป็นฐานทำให้สามารถประสานสัมพันธ์กับคนได้ทุกระดับชั้น
                ดังนั้น ผู้ใหญ่หรือผู้กำลังเป็นใหญ่ ควรศึกษาวิธีการและคุณธรรมดังกล่าวแล้วนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหลักชัยตรึงใจผู้น้อยต่อไป

............................................