วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

บารมีไม่ถึง


                มีเรื่องกล่าวขานว่า บุคคลผู้นั้น ผู้นี้แต่เดิมเป็นคนมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงดี พอได้ลาภก้อนโตหรือได้รับเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไม่นานนัก เกิดเจ็บป่วย สามวันดี สี่วันไข้ บ้างก็ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ หรือถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นเพราะแพ้ภัยตนเอง เป็นทุกขลาภ พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ไม่ดูเลิกยามตอนเข้ารับตำแหน่ง หรือเป็นเพราะบารมีไม่ถึง จึงมีข้อสงสัยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่
                ในทางพระพุทธศาสนามีหลักอยู่ว่า บรรดาเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไม่มีเรื่องใดที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยและมีที่ไปที่มา ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะสามารถสืบสาวให้ถึงสาเหตุหรือมองย้อนไปตลอดสายของเรื่องนั้นๆ ได้หรือไม่เท่านั้น
                สำหรับลาภยศ ตามที่โลกนิยมจะมีข้อแม้หรือกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ ต่างๆ รองรับอยู่ ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้หรืออยู่ในฐานะตำแหน่งนั้นได้ และถ้าเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า นายดึง ลูกน้องดัน คนเสมอกันสนับสนุน ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางพระพุทธศาสนาสอนว่า มีความรู้ดี มีความสามารถดี มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เท่านั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องมีความประพฤติดีงามรวมอยู่ด้วย ความประพฤติดีงามดังกล่าวมิได้หมายเฉพาะความดีงามในชาตินี้เท่านั้น ยังรวมถึงความประพฤติดีงามที่เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา คือความเป็นผู้ได้เคยทำความดีงามหรือทำบุญมาแต่ชาติปางก่อน จึงจะไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง
                ดังนั้น ก่อนที่อยากจะได้หรืออยากจะเป็นอะไร ควรระลึกไว้เสมอว่า ความรู้ ความสามารถ ที่เรียกว่าศักยภาพ และคุณความดีหรือบุญบารมี เรามีพอหรือยัง ถ้าแม้นว่าความรู้ก็ดี ความสามารถก็มาก แต่ยังไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ก็ขอให้คิดเสียว่า บารมียังไม่ถึง เพราะถ้ายังฝืนได้หรือฝืนเป็นโดยที่ยังไม่ถึงเวลาอันสมควรได้ อาจจะแพ้ภัยตนเอง ทำให้เสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้

........................................

เคล็ดลับการขับรถ


                ชีวิตคนในสังคมปัจจุบัน การไปมาหาสู่โดยการใช้ยวดยานพาหนะนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก บางคนถึงกับกล่าวว่า รถยนต์คือปัจจัยที่ห้า เนื่องจากให้ทั้งความรวดเร็วทันอกทันใจ ให้ทั้งความสะดวกสบายสนุกสนานในการขับขี่ และให้ทั้งความภาคภูมิใจที่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมอีกด้วย จนบางครั้งรู้สึกว่าชีวิตนี้จะขาดรถยนต์เสียมิได้ แม้ว่า อุบัติเหตุเภทภัยอันเกิดจากรถจะมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่ก็ดูเหมือนว่าปริมาณรถยนต์จะมีเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นธรรมดาว่าสิ่งใดมีคุณ สิ่งนั้นก็มักมีโทษอยู่ด้วย รถยนต์ก็เช่นกัน แม้จะให้คุณประโยชน์มากมาย แต่เมื่อถึงคราวที่เกิดโทษ ก็อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ปัญหามีอยู่ว่าทำอย่างไรเราจะรอดพ้นจากเหตุร้ายนั้นได้ จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญการขับรถยนต์มาแต่เยาว์วัย และอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงบั้นปลายชีวิต บอกให้ยึดหลักความปลอดภัยสี่ประการคือ ไปดี หยุดเป็น ถอยได้ ไม่ประมาท คือไม่ควรมุ่งแต่จะไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การหยุดในกรณีที่ควรหยุด การถอยหลังในกรณีที่ควรถอย ก็มีความสำคัญและจำเป็นไม่น้อยกว่าการขับไปข้างหน้า เพราะถ้าหยุดไม่เป็น ถอยไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ และที่สำคัญที่สุดคือความไม่ประมาท ดังคำที่ว่า ไม่ประมาท มีวินัย คือหัวใจจราจร
                แม้การดำเนินชีวิตของคนเราก็มีส่วนคล้ายกับการขับรถยนต์ ถ้าประพฤติไม่ดีมีความประมาทก็อาจประสบทุกข์โทษร้ายแรงได้เช่นกัน จึงควรนำหลักความปลอดภัยทั้งสี่ประการนี้ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ
                ไปดี หมายถึง ประพฤติตนอยู่ใน กฎ ระเบียบ วินัย ประเพณี วัฒนธรรม และศีลธรรมทางศาสนา
                หยุดเป็น หมายถึง เมื่อรู้ตัวว่ากำลังทำผิด ก็ให้หยุด ละ เลิก การกระทำนั้นเสีย
                ถอยได้ หมายถึง ให้รู้จักลดทิฐิมานะ เสียสละความเห็นแก่ตัว รู้จักแก้ไขและเริ่มต้นใหม่ในทางที่ถูก
                ไม่ประมาท หมายถึง การมีสติสัมปชัญญะ สำรวมระวัง ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส
                การขับรถ การดำเนินชีวิต หากยึดถือปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยเหล่านี้ ทั้งรถทั้งชีวิตก็ย่อมดำเนินสู่จุดหมายปลายทางและรอดพ้นจากอุบัติภัยสมตามความตั้งใจทุกประการ

..................................

ศิลปะในการพูด


                 พระพุทธศาสนาถือว่า การพูด เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จัดเป็นมงคลข้อต้นๆ ในบรรดามงคล ๓๘ ประการ ดังนั้นคำพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนเราควรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคำพูดสามารถสร้างสรรค์หรือทำลายล้างขณะเดียวกันได้ คนที่ได้ดี มีความสำเร็จเพราะคำพูดก็มีมาก คนที่ล้มเหลวเพราะคำพูดก็มีไม่น้อย ดังคำประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ว่า
                                เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก             จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
                                แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา                    จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
                ตามทัศนะในพระพุทธศาสนา คนที่จัดว่ามีปากเป็นมงคล คำพูดจะต้องอยู่ในองค์ประกอบ ๕ ประการ
                ๑.พูดถูกกาลสถานที่ (กาเลนะ ภาสิตา) คือก่อนจะพูดทุกครั้งต้องพิจารณาว่า สิ่งที่กำลังจะพูดนั้นควรพูดหรือไม่ แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดี แต่ต้องถูกตามกาลเทศะ
                ๒.พูดมีความจริง (สัจจา ภาสิตา) สิ่งที่พูดนั้น ต้องเป็นความจริง จริงในคำพูดและจริงจากใจผู้พูด
                ๓.พูดสิ่งที่ไพเราะโสต (สัณหา ภาสิตา) คำพูดต้องสุภาพ ไพเราะไม่กระทบกระทั่งให้ร้ายผู้อื่น
                ๔.พูดประโยชน์เป็นหลัก (อัตถะสัณหิตา ภาสิตา) เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ สร้างสรรค์ เกิดความดีงามแก่ชีวิต
                ๕.พูดด้วยรักเมตตา (เมตตาจิตเตนะ ภาสิตา) คือพูดด้วยมุ่งดี หวังดีต่อผู้ฟัง หวังจะให้เกิดประโยชน์ไม่มุ่งให้เป็นโทษ เป็นพิษภัยแก่ใครๆ
                การพูดที่เกิดจากความไม่สุจริตใจ ปิดบังความจริง หรือแอบแฝงไว้ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ผู้อื่นรู้จะทำให้หมดความน่าเชื่อถือ จะร่วมงาน ร่วมสังคมกับใครก็ลำบาก ดังนั้น หากใช้ศิลปะแห่งการพูดตามหลักที่ว่า ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจ และทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข

..................................