วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศิลปะในการพูด


                 พระพุทธศาสนาถือว่า การพูด เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จัดเป็นมงคลข้อต้นๆ ในบรรดามงคล ๓๘ ประการ ดังนั้นคำพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนเราควรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคำพูดสามารถสร้างสรรค์หรือทำลายล้างขณะเดียวกันได้ คนที่ได้ดี มีความสำเร็จเพราะคำพูดก็มีมาก คนที่ล้มเหลวเพราะคำพูดก็มีไม่น้อย ดังคำประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ว่า
                                เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก             จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
                                แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา                    จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
                ตามทัศนะในพระพุทธศาสนา คนที่จัดว่ามีปากเป็นมงคล คำพูดจะต้องอยู่ในองค์ประกอบ ๕ ประการ
                ๑.พูดถูกกาลสถานที่ (กาเลนะ ภาสิตา) คือก่อนจะพูดทุกครั้งต้องพิจารณาว่า สิ่งที่กำลังจะพูดนั้นควรพูดหรือไม่ แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดี แต่ต้องถูกตามกาลเทศะ
                ๒.พูดมีความจริง (สัจจา ภาสิตา) สิ่งที่พูดนั้น ต้องเป็นความจริง จริงในคำพูดและจริงจากใจผู้พูด
                ๓.พูดสิ่งที่ไพเราะโสต (สัณหา ภาสิตา) คำพูดต้องสุภาพ ไพเราะไม่กระทบกระทั่งให้ร้ายผู้อื่น
                ๔.พูดประโยชน์เป็นหลัก (อัตถะสัณหิตา ภาสิตา) เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ สร้างสรรค์ เกิดความดีงามแก่ชีวิต
                ๕.พูดด้วยรักเมตตา (เมตตาจิตเตนะ ภาสิตา) คือพูดด้วยมุ่งดี หวังดีต่อผู้ฟัง หวังจะให้เกิดประโยชน์ไม่มุ่งให้เป็นโทษ เป็นพิษภัยแก่ใครๆ
                การพูดที่เกิดจากความไม่สุจริตใจ ปิดบังความจริง หรือแอบแฝงไว้ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ผู้อื่นรู้จะทำให้หมดความน่าเชื่อถือ จะร่วมงาน ร่วมสังคมกับใครก็ลำบาก ดังนั้น หากใช้ศิลปะแห่งการพูดตามหลักที่ว่า ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจ และทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข

..................................