วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เสียศีลไม่เสียธรรม


                                ลองสังเกตดูว่าหลักปฏิบัติ กฎระเบียบ และข้อห้ามในทางโลกตามหน่วยงานทั้งทางราชการและเอกชน จะมีหลายข้อที่ตรงกันกับหลักปฏิบัติในทางธรรม โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับการดื่มของมึนเมา ซึ่งโทษจากการดื่มน้ำเมา จะทำให้เกิดความประมาทขาดสติและโทษอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น ทำให้เสียทรัพย์ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดโรค ทำให้ถูกตำหนินินทา ทำให้กล้าทำในสิ่งน่าละอาย ทำลายสติปัญญา รวมทั้งทำให้เสียงาน ฯลฯ
                ในทางธรรมะ ได้แบ่งผู้ที่ดื่มน้ำเมาเป็น ๒ ลักษณะ คือ
                ๑. ดื่มน้ำเมาแล้ว เกิดความมึนเมาจนขาดสติสัมปชัญญะ เสียความระลึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำงานบกพร่อง พูดจาผิดพลาด ความคิดเลอะเลือนเหลวไหล กิริยาอาการผิดปกติ ดื่มลักษณะอย่างนี้ได้ชื่อว่า เสียศีลเสียธรรม
                ๒. ดื่มน้ำเมาแล้วยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่ ไม่เสียความระลึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำงานได้ ไม่บกพร่องพูดจาไม่ผิดพลาด คิดอ่านได้รอบคอบ ไม่เลอะเลือนเหลวไหล ควบคุมกิริยาอาการได้เป็นปกติ ดื่มลักษณะอย่างนี้ชื่อว่า เสียศีลแต่ไม่เสียธรรม
                เมื่อมีเจตนาดื่มน้ำเมาจนล่วงลำคอลงไป จะดื่มมากหรือน้อยก็ตาม ถือว่าเสียศีลแล้ว หากมึนเมาจนขาดสติสัมปชัญญะ ก็ถือว่าเสียธรรมเข้าไปอีก เป็นการเสียทั้งศีลเสียทั้งธรรม  ดังนั้น หากจะดื่มน้ำเมาต้องประคองรักษาสติสัมปชัญญะไว้ให้ได้ แม้จะเสียศีลแต่ก็ยังไม่เสียธรรม ข้อสำคัญที่สุดหากงดเว้นการดื่มน้ำเมาได้โดยเด็ดขาด ชื่อว่า เป็นคนมีทั้งศีล มีทั้งธรรม ย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นคนประเสริฐโดยแท้

.............................................