วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อานิสงส์ของศีล


       ศีล คือข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น ศีลนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวินัย ในทางศาสนากล่าวว่ามีความจำเป็นต่อทุกคน เพราะเมื่อรักษาดีแล้ว จะได้อานิสงส์มากหลาย ที่เห็นได้ชัดก็มี ๓ ประการ คือ 

      ๑. ทำให้รวย คนมีศีล เมื่อได้ทรัพย์มาอย่างถูกต้องก็สามารถใช้จ่ายได้อย่างเป็นสุข หรือเมื่อจะเก็บรักษาไว้ก็ทำได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวใครมาจับผิด ส่วนการได้ทรัพย์มาอย่างผิดศีลก็จะได้ความสะดุ้งระแวงมาพร้อมกันด้วย เมื่อจะใช้ก็ได้ประโยชน์เพียงครึ่งเดียวคือแค่วัตถุสิ่งของที่ซื้อมา แต่ไม่ได้ความปลอดโปร่งแช่มชื่นอันเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทรัพย์จะมีให้ได้ เมื่อจะเก็บรักษาก็มีความหวาดหวั่นวิตกกังวลแฝงอยู่ แต่ถ้ามีศีลก็จะทำให้รวยทรัพย์จริง ๆ ไม่ใช่รวยความทุกข์มาพร้อมกัน

       ๒. ทำให้สวย คนมีศีลย่อมมีการแสดงออกที่ดีงาม สงบเรียบร้อย เป็นที่พอใจของผู้พบเห็น ตรงกันข้าม ต่อให้รูปร่างหน้าตาดีอย่างไร แต่ถ้าเรื่องที่ทำคำที่พูดมีแต่หยาบกระด้าง เสียหาย หรือไว้วางใจไม่ได้ ก็ย่อมจะเป็นที่รังเกียจ คนมีศีลจึงเป็นคนสวยงาม มีเสน่ห์ เป็นที่รักใคร่พอใจของผู้อื่น

      ๓. ทำให้สูง คนรักษาศีลนั้นจิตใจจะสูงขึ้น มีความสงบประณีต โดยเฉพาะคนที่ปฏิบัติธรรมชั้นสูงขึ้นไปเช่นสมาธิ เป็นต้น จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานรองรับไว้ก่อน มิฉะนั้นคุณธรรมเบื้องสูงจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะคนทุศีลย่อมมีแต่ความฟุ้งซ่านเดือดร้อน จิตใจไม่สงบ

        ถ้าทำตัวเองให้สวย ให้รวย และให้สูงอย่างชนิดที่เป็นสาระจริง ๆ ก็ไม่ต้องขวนขวายลงทุนในเรื่องไกลตัวออกไปให้มากนัก เพราะทั้งเครื่องมือและวิธีการมีอยู่ในตัวเรานี่เอง เพียงปฏิบัติให้ได้อย่างจริงจังเท่านั้น ก็จะประจักษ์แก่ตนเองว่า อานิสงส์ของศีลนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก
                                                    ...................................



การทำบุญ


     ชาวพุทธเป็นจำนวนมาก กำลังมีความคิดสับสน เกี่ยวกับการทำบุญ ในพระพุทธศาสนาว่า คืออะไร และมีวิธี ทำบุญอย่างไร จึงจะถูกต้อง ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะปัจจุบันนี้ มีบางสำนักสอนว่า ให้ทานมากเท่าไร ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น หรือบริจาคเงิน มากเท่าไร ยิ่งจะมีผล ตอบแทนเป็นทวีคูณ   ซึ่งเป็นการจูงใจ ให้ประชาชน "เมาบุญ"  หวังผลตอบแทน เป็นวัตถุ หรือทำบุญ เป็นการลงทุน เพื่อกำไรทางวัตถุ แทนที่จะสอน ให้บริจาค ตามกำลังศรัทธา เพื่อขัดเกลาจิตใจ ให้สะอาคบริสุทธิ์ ขึ้นตามลำดับ เพราะ ความสะอาด บริสุทธิ์แห่งจิตใจ นั่นเอง ที่ทางพุทธศาสนา เรียกว่า "บุญ"

           คำสอนในลักษณะนี้ เป็นการยั่วให้ คนทำบุญด้วยหวัง สิ่งตอบแทน แทนที่จะเป็นการ บรรเทากิเลส กลับกลายเป็นการ เพิ่มพูนกิเลส ทำให้จิตใจ เศร้าหมองมากยิ่งขึ้น โดยผู้สอน กำหนดแนวคิดว่า "บุญเป็นสินค้าที่ขายได้" จึงได้ขายบุญ หลากหลายรูปแบบ เพื่อดูดทรัพย์ จากประชาชน ผ่านบุคคลที่เรียกว่า "ผู้นำบุญ" คล้ายเซลส์แมน ไปหาลูกค้า ชักชวน เชิญชวน ทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชน บริจาคทรัพย์ ทำให้ธรรมเนียม การบอกบุญ กลายเป็นระบบ ขายตรง เหมือนขายสินค้าไป

           วิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มีทั้งหมด ๑๐ วิธี คือ  
  -ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปัน  
  -สีลมัย ทำบุญด้วยการ รักษาศีล  
  -ภาวนามัย ทำบุญด้วยการ ฝึกอบรมจิตใจ  
  -อปจายนมัย ทำบุญด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม 
  -เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการ ช่วยเหลือสังคม    
  -ปัตติทานมัย   ทำบุญด้วยการแบ่งปัน ความดีให้ผู้อื่น  
  -ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยยินดี ในความดีของผู้อื่น 
  -ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วย การฟังธรรม  
  -ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วย การแสดงธรรม  
  -ทิฏฐธุกัมม์   ทำบุญด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง ถูกต้องตาม ทำนองคลองธรรม 

           การทำบุญในพระพุทธศาสนาเป็นกิจกรรม ที่แสดงถึงศรัทธาและปัญญา ตัวอย่างเช่น ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปัน ก็ไม่มีการบังคับ ไม่มีการเร่งรัด ไม่มีการหลอกล่อ ใครมีศรัทธา และมีทุนทรัพย์ จะบริจาคมากน้อย แล้วแต่ความสมัครใจ เพราะบุญที่ทำแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ และผลแห่งบุญ ที่บุคคลทำแล้ว มีอานิสงฆ์ ๖ ประการ คือ สุวัณณตา มีผิวพรรณดี  สุสรตา มีเสียงไพเราะ  สุสัณฐานัง มีทรวดทรงดี  สุรูปตา มีรูปร่างสวย อาธิปัจจัง มีความเป็นใหญ่ และ  ปริวาโร   มีพวกพ้องบริวารมาก

   ฉะนั้น บุญจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอย่างยิ่ง ดังพุทธภาษิตว่า   
                      "สุโข ปุญญัลสะ อุจจะโย แปลว่า การสั่งสมบุญ นำสุขมาให้"

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ธรรมที่ตั้งไว้ในใจ


ธรรมที่ตั้งไว้ในใจ
คนที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว อาจจะทำการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ไม่สามรรถที่จะเป็นที่รักเป็นที่นับถือของคนรอบข้างได้ เพราะปราศจากคุณธรรมที่สมควรจะมีไว้ในตนเอง ดังภาษิตที่ว่า ความรู้ คู่คุณธรรม นั่นเอง
                ธรรมะหมวดหนึ่ง ที่เรียกว่า อธิษฐานธรรม คือธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ
                ประการที่ 1 ปัญญา แปลว่า ความรู้ชัด รู้ทั่ว เช่น การศึกษาเล่าเรียนจะเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็จะต้องศึกษาในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจ แจ่มแจ้ง ชัดเจน จึงจะเรียกได้ว่า สำเร็จประโยชน์ในการเรียน ไม่มีความบกพร่อง จนในที่สุดก็สามารถที่จะรู้เหตุและผลของสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง และปัญญานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุ 3 ประการ คือสุตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากากรคิด และ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจาการอบรม
                ประการที่ 2 สัจจะ แปลว่า ความจริง คือ จริงใจ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้ทำจริง เช่น ตั้งใจไว้ว่า จะศึกษาเล่าเรียน จะปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาเบียดเบียน ขัดขวาง ก็จะต้องใช้ความพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้ จนสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ และความจริงใจนี้จะต้องแสดงต่อบุคคลอื่นทางกาย วาจา และใจ อีกทั้งเวลาจะทำ พูดและคิด ก็จะต้องมีแต่ความจริง คนจริงต่อหน้าที่ ต่อเวลา ต่อบุคคล ย่อมมีแต่คนเคารพนับถือยกย่อง ดังภาษิตที่ว่า คนได้เกียรติ เพราะความสัตย์
                ประการที่ 3 จาคะ แปลว่า ความสละ ได้แก่ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ เริ่มต้นตั้งแต่การเสียสละ ให้ปันสิ่งของแก่คนอื่น จนถึงการสละกิเลสที่มีอยู่ในตน เช่น เมื่อตั้งใจจะทำความดี แต่มีตัวกิเลสมากั้นไว้ไม่ให้ทำความดีนั้น ซึ่งกิเลสตัวนี้ก็ได้แก่ นิวรณ์ 5 คือ อันประกอบด้วย
                                1. พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบ ซึ่งเมื่อไม่ได้ ใจก็ไม่สงบ ควรสละเสีย ด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและคนอื่น ให้เป็นสิ่งที่ไม่งาม น่าเกลียด
                                2. ปองร้อยผู้อื่น ผู้ที่มีแต่ความพยาบาทจะไม่ความสุข มีแต่ความเดือดร้อน ควรสละเสียด้วยการนึกถึงคุณความดีของผู้นั้น แล้วยึดหลัก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เข้าช่วย
                                3. ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ผู้ที่เล่าเรียน หรือทำงานแล้วไม่สำเร็จตามประสงค์ เพราะถูกถีนมิทธะครอบงำ ทำให้ง่วงซึม ใจลอย ควรสละเสียด้วยการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น
                                4. ความฟุ้งซ่านและรำคาญ จิตใจของคนเราเป็นสิ่งที่รักษาได้ยากย่อมจะดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา เหมือนปลาที่เขาโยนขึ้นไว้บนบก ควรสละเสียด้วยการบำเพ็ญปฐวีกสิณ เป็นต้น
                                5. ความลังเลไม่ตกลงใจได้ คือ มีความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในธรรมะว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว มีความสงสัยในพระพุทธเจ้า เป็นต้น
                ประการที่ 4 อุปสมะ แปลว่า ความสงบคือ สงบกาย สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ คือ กิเลส ระงับความขัดข้อง วุ่นวายอันเกิดจากการถูกกิเลส เข้าครอบงำเสียได้ ทำให้จิตใจมีแต่ความสงบปราศจากกิเลส ความเศร้าหมองใจ
                คนทุกคนที่เกิดมา ล้วนไม่มีสิ่งใดติดตัวมา เมื่อโตขึ้น ก็สั่งสมสติ ปัญญา จนสามารถที่จะสร้างความเจริญให้แก่ตนเองโดยลำดับ การคบหากันก็จะมีมากขึ้น จำต้องมีสัจจะ ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน จึงจะได้รับการยกย่องนับถือ ต้องมีจาคะ เสียสละปัน การอยู่รวมในสังคมหมู่มาก ย่อมที่จะกระทบกระทั่งกันบ้าง จำต้องมีความสงบใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจตกไปในอำนาจกิเลส ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไป
ธรรมมะวันหยุด
                                                                   หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำวันเสาร์ที่ ๒๒ พ.ค.๕๓



โอวาท.. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)


โอวาท.. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
                “ ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือ บารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีเจ้าไม่พอ จึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สิน ในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว... เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมาก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว... แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้... แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...”
                “จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นถึงเวลา... ทั่วฟ้าจบดิน ก็ต้านเจ้าไม่อยู่
                จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดินเมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า...”
นี่คือคำเทศนา ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิตหลังจากที่ท่านล่วงลับไปแล้ว เมื่อ ๑๐๐ กว่าปี อันเป็นปฐมเหตุที่ต้องสร้างความดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุ
สพพทาน ธมมทาน ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง ขอตั้งจิตอธิษฐาน อุทิศผลบุญกุศล อันเกิดจากยอดพระคาถานี้แด่ท่านครูอาจารย์ และญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงล้บไปแล้ว เจ้าที่เจ้าทางผู้มีพระคุณเจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
------------

การบำรุงพระศาสนา


การบำรุงพระศาสนา
                การบำรุงพระศาสนา ก็คือการทำให้พระศาสนามั่นคง เจริญ เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกได้จริง ปัญหาว่าจะต้องทำอย่างไร คือการที่ตัวเองปฏิบัติเอง หรือช่วยเหลือกิจการพระศาสนาบำรุงวัดวาอาราม เป็นต้น
                ทายกทายิกา ส่วนมาก ทำกันแต่บำรุงให้พระเณรได้กินดีอยู่ดี แต่แล้วก็ไม่สนใจว่า ตัวแท้ของพระศาสนานั้นคืออะไร ธรรมะนั้นเป็นอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร เพราะมานอนใจเสียว่า ได้บำรุงพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้บุญได้กุศลจนเหลือเฟือแล้ว จะต้องการอะไรอีกเล่า
                นี่แหละคือการบำรุงพระศาสนาชนิดที่ถ้าจะเปรียบกันให้ดีแล้ว ก็เหมือนกับการเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน สมมติว่า เราจะมีแต่วัดวาอารามเฉยๆ ไม่มีพระที่เป็นเหมือนหมอ ไม่มีธรรมะที่เป็นเหมือนยา มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
                ตัวศาสนานั้นมันอยู่ที่ตัวการดับทุกข์ หรือตัวการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์นั่นเอง ดังนั้น ถ้าจะบำรุงพระศาสนากันให้ถูกตัวจริงแล้ว ก็ต้องบำรุงให้เกิดความดับทุกข์ขึ้นมาจริงๆ ตามพระพุทธประสงค์ที่ว่า “ภิกษุ ท. เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอ ท. จะยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
หมายเหตุ  เมื่อการบำรุงพระศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติเอง จนได้รับผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบ เย็น ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเราทุกคนจึงมีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติจนได้รับผลพอสมควรจึงจะนับว่าเราได้บำรุงพระศาสนา ปัญหาว่าเราจะมีวิธีศึกษาปฏิบัติให้ลัดสั้นได้อย่างไร ก็โดยทำวัตรสวดมนต์แปลเพราะจะทำให้เกิดการปฏิบัติจนได้รับผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบ เย็นในชีวิตและขอกราบเรียนว่า หากท่านผู้ใดได้รับประโยชน์จากการศึกษาและปฏิบัติพอสมควรแล้ว จะนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ จะต้องหาทางทำให้แพร่หลายออกไป และนี่แหละคือการบำรุงศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง
.......................................



กาลเวลา
 อันเวลาและวารี   มิได้มีจะคอยใคร
เรือเมล์และรถไฟ   ย่อมไปตามเวลา
โอ้เอ้และอืดอาด   มักจะพลาดปรารถนา
ชวดแล้วจะโศกา   อนิจจาเราช้าไป.
         "ผู้ชอบธรรมเป็นผู้เจริญ"

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ถูกใจใช่จะถูกต้อง


       ถูกใจ หมายถึงการที่บุคคลทำสิ่งใด พูดเรื่องใด หรือได้อะไรที่ตรงกับความประสงค์ของตน เมื่อตรงกับความประสงค์ก็เกิดความพอใจหรือสุขใจ ทั้งนี้รวมถึงการกระทำหรือคำพูดของผู้อื่น การสัมผัสกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เข้ากับความต้องการของตนด้วย ส่วนถูกต้อง หมายถึงพฤติกรรมและเหตุการณ์ข้างต้นที่เป็นไปโดยธรรม สอดคล้องกับหลักของเหตุผล เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งความจริง กฎแห่งศีลธรรม เป็นต้น ซึ่งอาจถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง 

      ถ้ามุ่งความถูกใจเป็นใหญ่ ส่วนมากก็จะเสียหลัก เพราะธรรมชาติของใจที่ยังไม่ได้ฝึกฝน มักจะถูกใจเฉพาะในเรื่องที่เพลิดเพลินสนุกสนาน เช่น การเที่ยวเตร่ การกิน การดื่ม การจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น เมื่อชีวิตถูกปล่อยไปตามความถูกใจจนเคยชิน หนักเข้าก็ลุกลามไปถึงการทำงาน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และวิธีคิดวินิจฉัยเรื่องราวต่าง ๆ ด้วย คืออะไรที่ไม่ถูกใจมักจะยอมรับไม่ได้ สุดท้ายก็เกิดความทุกข์แก่ตัวเองบ้าง สร้างปัญหาให้ผู้อื่นบ้าง แต่สำหรับคนดีทั้งหลาย จะทำหรือพูดสิ่งใดมักคำนึงถึงความถูกต้องเสมอ แม้การกระทำหรือคำที่พูดนั้นอาจไม่ถูกใจตนหรือไม่ถูกใจคนอื่น แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามก็ยินดีทำ บางครั้งแม้จะเหนื่อยยากหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ย่อท้อ

      ในชีวิตของคนเรานี้ ถ้าพบกับเรื่องที่ถูกใจด้วยถูกต้องด้วยก็หมดปัญหา แต่ถ้าต้องเจอกับเรื่องที่ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง หรือเรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ แล้วแก้ความถูกใจเข้าไปหาความถูกต้องได้ ก็เท่ากับมีพลังใจที่เข้มแข็ง และความถูกต้องนั้นจะกลับมาคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุข แต่ถ้าใช้วิธีแก้ความถูกต้องเข้าไปหาความถูกใจ ก็จะสูญเสียความดีไปเรื่อย ๆ เท่ากับค่อย ๆ ทำลายตัวเองไปทีละนิดโดยไม่รู้ตัว 

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แค่นิดหน่อย


      ทุกคนคงเคยได้ยินคำพูดว่า "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" กันมาแล้ว คำพูดนี้จะเท็จจริงเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
      แต่มีข้อที่น่าคิดว่า การทำตามใจตัวเองโดยยอมละทิ้งกฎเกณฑ์ทั้งที่เป็นของดีนั้น สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากความคิดว่า "ก็แค่นิดหน่อย" คือในส่วนของผิดถูกนั้นรู้อยู่เต็มอก แต่เรื่องนี้มันแค่นิดหน่อยเท่านั้น คงไม่เป็นอะไร
        ความคิดนี้ เป็นเหตุให้ตัวเองทำผิดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เมื่อทำได้ครั้งสองครั้งก็จะรู้สึกว่า ไม่เห็นเป็นอะไร จนเคยชิน เห็นเป็นเรื่องถูกต้องไปในที่สุด ทำให้เกิดผลเสียที่แก้ได้ยากตามมา 
       ตัวอย่างที่เห็น ได้ง่ายในปัจจุบันก็คือปัญหาการจราจร ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเอาเปรียบกันเพียงเล็กน้อย ทำให้ติดขัดล่าช้า หรือเพราะไม่ระมัดระวังด้วยเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ จนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตนาน นับชั่วโมง เป็นต้น

       ความจริง ความคิดว่า ก็แค่นิดหน่อยนี้ เป็นประโยชน์มากถ้าเอามาใช้ในเรื่องดี เช่น ถึงคราวต้องเสียสละ ก็คิดว่าไม่เป็นไร แค่นิดหน่อยเท่านั้น ถึงคราวต้องอดทนหรือเหนื่อยยาก ก็คิดว่าเรื่องแค่นี้ไม่ได้เหลือวิสัยอะไร แล้วพอใจในการทำดี กลายเป็นความเคยชิน ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

        เรื่องใหญ่ย่อมมาจากเรื่องเล็ก เหมือนไฟที่เผาผลาญอาคารหรือชุมชนจนเป็นเถ้าถ่าน ย่อมเกิดจากไฟจุดเล็ก ๆ เท่านั้น ความคิดว่า ก็แค่นิดหน่อย ก็เป็นเรื่องเล็กที่นำไปสู่เรื่องใหญ่ได้ คือถ้าใช้ในทางที่ถูก ก็จะทำให้เกิดกำลังใจ ทำความดีจนผลดีแผ่ไพศาล ถ้าใช้ผิด ก็จะเป็นเหตุให้ทำผิดไม่รู้จบ กลายเป็นนิดหน่อยแต่ถาวร เกิดความเสียหายยาวนาน เหมือนเปลวไฟเล็ก ๆ ที่ทำลายล้างได้กว้างไกลจนอาจคิดไม่ถึงเลยทีเดียว 
.............................

วางลง ก็เป็นสุข


วางลง ก็เป็นสุข

ชายหนุ่มคนหนึ่งรู้สึกว่าชีวิตของตนน่าเบื่อหน่าย จึงขอพบพระอาจารย์เซ็นอู้จี้เพื่อขอคำชี้แนะ ว่าทำอย่างไรตนจึงจะมีความสุข
พระอาจารย์ไม่กล่าวว่าอะไร ได้แต่หยิบตะกร้าไผ่ใบหนึ่ง นำชายหนุ่มมายังริมแม่น้ำเล็ก ๆ 
ลมเย็นโบกพัด พวกเขาเดินเลาะริมฝั่ง
แล้วอยู่ ๆ พระอาจารย์อู๋จี้ก็บอกกับชายหนุ่มว่า 

" เจ้าเห็นก้อนหินที่อยู่ตามทางนั่นไหม นับจากนี้เมื่อเจ้าเดินก้าวหนึ่ง 
ก็จงหยิบขึ้นมาก้อนหนึ่ง แล้วใส่ไว้ในตะกร้าไผ่ข้างหลัง ตกลงไหม "

ถึงแม้ชายหนุ่มจะไม่เข้าใจเจตนาของพระอาจารย์ แต่เมื่อเห็นก้อนหินรูปทรงประหลาดมากมายริมแม่น้ำ
ก็พยักหน้าด้วยความยินดี พลางเดินหยิบก้อนหินไปพลาง
ไม่นานนัก เขาก็รู้สึกเหนื่อยล้า ตะกร้าไผ่ที่สะพายอยู่ด้านหลังก็หนักอึ้งเกินกว่าจะทำให้จิตใจเบิกบาน

ในที่สุดเขาก็เดินไปจนสุดทาง พระอาจารย์ถามเขาว่า
" รู้สึกอย่างไรบ้าง "

เขาส่ายหน้าอย่างจนใจ 
" ตะหร้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะแบกไม่ไหวแล้ว ! "

พระอาจารย์กล่าวยิ้ม ๆ ว่า 
" รู้ไหม เหตุใดจึงไม่เป็นสุข เพราะเจ้าแบกสิ่งของเอาไว้มากเกินไป "

จากนั้นพระอาจารย์ก็หยิบก้อนหินในตะกร้าออกมาทีละก้อน พลางพูดว่า..
" ก้อนนี้คืออำนาจ ก้อนนี้คือเงินทอง ก้อนนี่คือหญิงงาม ก้อนนี้คือความกลัดกลุ้ม นี่คือความเหงา..."

เมื่อก้อนหินเหล่านั้นถูกโยนทิ้งไป ชายหนุ่มสะพายตะกร้าไผ่ขึ้นมาอีกครั้ง 
ความรู้สึกเบาโล่ง ทำให้เขาได้สติขึ้นในฉับพลัน 
แค่วางลง ก็เป็นสุขแล้ว !

ขอเพียงแค่ยอมวางลง ความสุขก็จะล้นปรี่อยู่ทุกวัน
เราจงฝึกฝนการวางลงด้วยกันเถิด 
.............................................



ก็แค่วางลง 
     พระนิกายเซ็นรูปหนึ่ง ชื่อโป้วต่อฮั่วเสียง แปลว่าหลวงพ่อย่ามใหญ่ เพราะไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ท่านจะสะพายย่ามคู่ชีพที่ทั้งใหญ่ทั้งหนักไปด้วยเสมอ 
    วันหนึ่งท่านเดินผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทราบข่าวต่างก็พากันไปนมัสการกันเนืองแน่น ระหว่างนั้นมี   มัคนายกผู้หนึ่งถามถึงการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ว่าต้องทำอย่างไร 
           หลวงพ่อไม่ตอบ แต่ยืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก็ค่อย ๆ ปลดย่ามออกจากบ่า วางลงบนพื้นแล้วนั่งประนมมือเฉยอยู่ ไม่ยอมพูดอะไร 
            มัคนายกจึงถามขึ้นอีกว่าวิธีดับทุกข์มีแค่นี้หรือ 
            ท่านก็ไม่พูด แต่เอาย่ามขึ้นสะพายบ่าตามเดิมแล้วเดินจากไป 

         ความหมายของหลวงพ่อย่ามใหญ่ก็คือว่า 
     วิธีดับทุกข์ก็แค่วางลงเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรอื่น 
     ส่วนการเอาย่ามขึ้นสะพายบ่าอีกครั้ง หมายถึงว่าการวางนั้นต้องวางเฉพาะความยึดมั่น แต่ไม่วางหน้าที่และความรับผิดชอบ เพราะความยึดมั่นกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังเป็นคนละอย่าง ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน 
     บางคนงานน้อยแต่ยึดมาก โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ยอม แตะนิดติงหน่อยก็เป็นเรื่อง บางทีต่อให้ไม่มีใครมาข้องแวะเลย แต่คิดโน่นคิดนี่ไม่หยุดก็เลยวิตกทุกข์ร้อนไปเองก็มี ซึ่งเป็นอาการของใจไม่ใช่อาการของงาน 
     ส่วนบางคนงานมากแต่ยึดน้อย จิตใจมุ่งแต่เรื่องที่ต้องทำ ระหว่างทำงาน ถึงจะมีความอยาก ความคาดหวัง หรือเรื่องราวที่เกิดจากคนนั้นคนนี้ ก็รู้ทันและวางเสียได้ ไม่ปล่อยให้แปรสภาพเป็นความทุกข์อันเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

        ถ้าเป็นเรื่องภายนอก ตอนยึด ตอนแบกจะยาก ตอนวางจะง่าย 
        ถ้าเป็นเรื่องของใจ ตอนยึดจะง่าย เพราะเข้ากันได้กับกิเลส แต่ตอนวางจะยาก 
        ...แต่ก็ฝึกได้ โดยเริ่มหัดวางความยึดติดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อน แล้วจะเห็นว่าถ้าวางได้อย่างหนึ่งก็เบาไปเรื่องหนึ่ง เรื่องอื่น ๆ ก็ลักษณะนี้ 
        จนที่สุด จะประจักษ์แก่ใจว่าการแก้สรรพสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่แท้ก็แค่วางลงเท่านั้น
................

ไหว้พระ


ไหว้พระ
                คำขอขมาโทษและคำนมัสการพระบรมธาตุ พระอรหันตธาตุ พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ ตลอดจนไม้มหาโพธิ์ ซึ่งเป็นวัตถุที่พุทธบริษัทควรเคารพสักการะทั่วๆ ไป เพื่อให้เป็น ศิริมงคลแก่ตนเอง
                อะระหัง สัมมาสัมพุทธธ ภะคะวา                พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้เองชอบ
                ตัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ                              ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไหว้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(กราบหนึ่งครั้ง)
                สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม                          พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ดีแล้ว
                ตัง ธัมมัง นะมัสสามิ                                        ข้าพเจ้านมัสการกราบไหว้พระธรรมนั้น
(กราบหนึ่งครั้ง)
                สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ     พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคที่ท่านปฏิบัติดีแล้ว
                ตัง สังฆัง นะมามิ                                              ข้าพเจ้านอบน้อมกราบไหว้พระสงฆ์นั้น
(กราบหนึ่งครั้ง)
                นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (สามจบ)
                อุกาสะ ทวาระตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมาะถะ เม ภันเต (ถ้าพร้อมกันเปลี่ยนตอนท้าย ขะมะตุ โน ภันเต)
                วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัง สัพพัตถะ ฐาเน สุปะติฏฐิตัง สารีริงกะธาตุง มะหาโพธิง พุทธะรูปัง สักการัตถุง อหัง วันทามิ ธาตุ โย อะหัง วันทามิ สัพพะโส อิจเจตัง ระตะนัตตะยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
                พุทธะปูชา มหาเตชะวันโต ธัมมะปูชา มะหัปปัญโญ สังฆะปูชา มะหาโภคาวะโห
                พุทธัง ธัม มัง สังฆัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
                ปะริสุทโธ อะหัง ภันเต ปะริสุทโธติ มัง พุธโธ ธัมโม สังโฆ ธาเรตุ
               
                สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขีชีวิโน
                (ขอสัตว์ทั้งหลาย อย่าได้มีเวรแก่กันและกัน จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเทอญ)
                กะตัง ปุญญะผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวัน ตุ เต
                (ขอสัตว์ทั้งหลาย จงได้เสวยผลบุญที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญด้วย กาย วา จา ใจ แล้วนั้นเทอญ)
(จบแล้ว กราบสามครั้ง)

บทบูชาคุณก่อนที่จะทำการงานที่เป็นมงคลต่างๆ


บทบูชาคุณก่อนที่จะทำการงานที่เป็นมงคลต่างๆ
ตั้งตะโมสามจบ
                อิติปิโสภะคะวา มือข้าพเจ้าทั้ง ๑๐ นิ้ว ขอยกกรประนมบังคม กราบนะมัสสะการ ข้าพเจ้าได้รำลึกถึง คุณพระบิดา ๒๑ คุณพระมารดา ๑๒ คุณพระนางโพสพ ๓๙ คุณพระพุทธเจ้า ๕๖ คุณพระธรรมเจ้า ๓๘ คุณพระสังฆะเจ้า ๑๔ คุณพระอาจาริยะ ๑๐ ทัฒ คุณพระอะคะระ ๓๓ คุณอัสวาด คุณปัสวาท คุณนิสวาท คุณนาจน้อย ดวงแก้ว คุณศีล ๕ คุณศีล ๘ คุณศีล ๑๐ คุณศีล ๒๒๗ คุณปัญญาณุญาณ คุณโสดา คุณสุขิคาถา คุณพระอะนาคา คุณพระอะระหัตตา คุณมัคสี่ คุณผลสี่ คุณพระนิพพานหนึ่ง จึงจะเป็น ๙ คุณศีลบารมี คุณทานนะบารมี คุณพรคันตี สัจจานะบารมี คุณพระคาถา ปลุกเสกเลขยัณ ตระกูต และพิสมอนทั้ง คุณพระเจียด และมงคล ทั้งแปดหมื่น ๔ พันคุณ คุณพระกันจง คุณพระปิฎกกันตรัย คุณพระภายนอก คุณพระภายใน คุณพระฤๅษีอินสวน อิสระทั้งร้อยเอ็ดริสฑี คุณพระเจดีย์ คุณพระฤๅษีมหาโพทธิ์ ทั้งคุณพระรัตนะตรัย คุณพระสุตร คุณพระวินัย คุณพระไสยญาติ คุณพระธาตุ คุณพระโมคะลา คุณพระสาริบุตร คุณพระเจ้ากิจสามเณร คุณพระกะจัยยะณะ เทนทั้งสี่ คุณตรีนิสสังเห คุณพระวิหาญทังเจ็ดแสน จักรวาล ขออย่าให้มีมารมาผจญ ด้วยเดชะบุญกุศล ข้าพเจ้าได้รำลึกคุณพระพุทธะคุณณัง พระธรรมะคุณณัง พระสังฆะคุณณัง ข้าพเจ้าได้ทำการมงคลสิ่งใดๆ ขอจงได้มีพระสิทธิเม แก่ข้าพเจ้านี้เทอญ
**************

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ติลักขณาทิคาถา


ติลักขณาทิคาถา
หันทะ มะยัง ติลักขะณาคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงพระไตรลักษณ์เป็นเบื้องต้นเถิด
.............................................
สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
                      เมื่อใดบุคคล เห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
                      เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมดาหมดจด
สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
                      เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
                      เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมดาหมดจด
สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
                      เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
                      เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมดาหมดจด
อัปปะภา เต มะนุสเสสุ เย ชะนา ปาระคามิโน
                      ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก
อะถายัง อิตะรา ปะชา ตีระเมวานุธาวะติ
                      หมู่มนุษย์นอกนั้น ย่อมวิ่งเลาะอยู่ตาฝั่งในนี่เอง
เย จะ โข สัมมะทักขาเต ธัมเม ธัมมานุวัตติโน
                      ก็ชนเหล่าใดประพฤติสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว
เต ชะนา ปาระเมสสันติ มัจจุเธยยัง สุทุตตะรัง
                      ชนเหล่าใดจักถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน  ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุราชที่ข้ามได้ยากนัก
กัณหัง ธัมมัง วิปปะหายะ สุกกัง ภาเวถะ ปัณฑิโต
                      จงเป็นบัณฑิตละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว
โอกา อะโนกะมาคัมมะ วิเวเก ยัตถะ ทูระมัง  ตัตราภิระติมิจเฉยยะ หิตวา กาเม อะกิญจะโน
                      จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ จงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีความกังวล จงยินดีเฉพาะต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัด ซึ่งสัตว์ยินดีได้ โดยยาก
.............................................

ภารสุตตคาถา


ภารสุตตคาถา
หันทะ มะยัง ภาระสุตตะคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงภารสูตรเถิด
.............................................
ภารา หะเว ปัญจักขัณธา
                      ขันธ์ทั้งห้า เป็นของหนักเน้อ
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล
                      บุคคลแหละ เป็นผู้แบกของหนักพาไป
ภาราหานัง ทุกขัง โลเก
                      การแบกถือของหนัก เป็นความทุกข์ ในโลก
ภาระนิกเขปะนัง สุขัง
                      การสลัดของหนัก ทิ้งลงเสีย เป็นความสุข
นิกขิปิตวา คะรุง ภารัง
                      พระอริยเจ้า สลัดทิ้งของหนัก ลงเสียแล้ว
อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ
                      ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่น ขึ้นมาอีก
สะมูลัง ตัณหัง อัพพุฬหะ
                      ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้ กระทั่งราก
นิจฉาโต ปะรินิพพุโต
                      เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ
.............................................