วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วางลง ก็เป็นสุข


วางลง ก็เป็นสุข

ชายหนุ่มคนหนึ่งรู้สึกว่าชีวิตของตนน่าเบื่อหน่าย จึงขอพบพระอาจารย์เซ็นอู้จี้เพื่อขอคำชี้แนะ ว่าทำอย่างไรตนจึงจะมีความสุข
พระอาจารย์ไม่กล่าวว่าอะไร ได้แต่หยิบตะกร้าไผ่ใบหนึ่ง นำชายหนุ่มมายังริมแม่น้ำเล็ก ๆ 
ลมเย็นโบกพัด พวกเขาเดินเลาะริมฝั่ง
แล้วอยู่ ๆ พระอาจารย์อู๋จี้ก็บอกกับชายหนุ่มว่า 

" เจ้าเห็นก้อนหินที่อยู่ตามทางนั่นไหม นับจากนี้เมื่อเจ้าเดินก้าวหนึ่ง 
ก็จงหยิบขึ้นมาก้อนหนึ่ง แล้วใส่ไว้ในตะกร้าไผ่ข้างหลัง ตกลงไหม "

ถึงแม้ชายหนุ่มจะไม่เข้าใจเจตนาของพระอาจารย์ แต่เมื่อเห็นก้อนหินรูปทรงประหลาดมากมายริมแม่น้ำ
ก็พยักหน้าด้วยความยินดี พลางเดินหยิบก้อนหินไปพลาง
ไม่นานนัก เขาก็รู้สึกเหนื่อยล้า ตะกร้าไผ่ที่สะพายอยู่ด้านหลังก็หนักอึ้งเกินกว่าจะทำให้จิตใจเบิกบาน

ในที่สุดเขาก็เดินไปจนสุดทาง พระอาจารย์ถามเขาว่า
" รู้สึกอย่างไรบ้าง "

เขาส่ายหน้าอย่างจนใจ 
" ตะหร้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะแบกไม่ไหวแล้ว ! "

พระอาจารย์กล่าวยิ้ม ๆ ว่า 
" รู้ไหม เหตุใดจึงไม่เป็นสุข เพราะเจ้าแบกสิ่งของเอาไว้มากเกินไป "

จากนั้นพระอาจารย์ก็หยิบก้อนหินในตะกร้าออกมาทีละก้อน พลางพูดว่า..
" ก้อนนี้คืออำนาจ ก้อนนี้คือเงินทอง ก้อนนี่คือหญิงงาม ก้อนนี้คือความกลัดกลุ้ม นี่คือความเหงา..."

เมื่อก้อนหินเหล่านั้นถูกโยนทิ้งไป ชายหนุ่มสะพายตะกร้าไผ่ขึ้นมาอีกครั้ง 
ความรู้สึกเบาโล่ง ทำให้เขาได้สติขึ้นในฉับพลัน 
แค่วางลง ก็เป็นสุขแล้ว !

ขอเพียงแค่ยอมวางลง ความสุขก็จะล้นปรี่อยู่ทุกวัน
เราจงฝึกฝนการวางลงด้วยกันเถิด 
.............................................



ก็แค่วางลง 
     พระนิกายเซ็นรูปหนึ่ง ชื่อโป้วต่อฮั่วเสียง แปลว่าหลวงพ่อย่ามใหญ่ เพราะไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ท่านจะสะพายย่ามคู่ชีพที่ทั้งใหญ่ทั้งหนักไปด้วยเสมอ 
    วันหนึ่งท่านเดินผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทราบข่าวต่างก็พากันไปนมัสการกันเนืองแน่น ระหว่างนั้นมี   มัคนายกผู้หนึ่งถามถึงการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ว่าต้องทำอย่างไร 
           หลวงพ่อไม่ตอบ แต่ยืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก็ค่อย ๆ ปลดย่ามออกจากบ่า วางลงบนพื้นแล้วนั่งประนมมือเฉยอยู่ ไม่ยอมพูดอะไร 
            มัคนายกจึงถามขึ้นอีกว่าวิธีดับทุกข์มีแค่นี้หรือ 
            ท่านก็ไม่พูด แต่เอาย่ามขึ้นสะพายบ่าตามเดิมแล้วเดินจากไป 

         ความหมายของหลวงพ่อย่ามใหญ่ก็คือว่า 
     วิธีดับทุกข์ก็แค่วางลงเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรอื่น 
     ส่วนการเอาย่ามขึ้นสะพายบ่าอีกครั้ง หมายถึงว่าการวางนั้นต้องวางเฉพาะความยึดมั่น แต่ไม่วางหน้าที่และความรับผิดชอบ เพราะความยึดมั่นกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังเป็นคนละอย่าง ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน 
     บางคนงานน้อยแต่ยึดมาก โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ยอม แตะนิดติงหน่อยก็เป็นเรื่อง บางทีต่อให้ไม่มีใครมาข้องแวะเลย แต่คิดโน่นคิดนี่ไม่หยุดก็เลยวิตกทุกข์ร้อนไปเองก็มี ซึ่งเป็นอาการของใจไม่ใช่อาการของงาน 
     ส่วนบางคนงานมากแต่ยึดน้อย จิตใจมุ่งแต่เรื่องที่ต้องทำ ระหว่างทำงาน ถึงจะมีความอยาก ความคาดหวัง หรือเรื่องราวที่เกิดจากคนนั้นคนนี้ ก็รู้ทันและวางเสียได้ ไม่ปล่อยให้แปรสภาพเป็นความทุกข์อันเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

        ถ้าเป็นเรื่องภายนอก ตอนยึด ตอนแบกจะยาก ตอนวางจะง่าย 
        ถ้าเป็นเรื่องของใจ ตอนยึดจะง่าย เพราะเข้ากันได้กับกิเลส แต่ตอนวางจะยาก 
        ...แต่ก็ฝึกได้ โดยเริ่มหัดวางความยึดติดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อน แล้วจะเห็นว่าถ้าวางได้อย่างหนึ่งก็เบาไปเรื่องหนึ่ง เรื่องอื่น ๆ ก็ลักษณะนี้ 
        จนที่สุด จะประจักษ์แก่ใจว่าการแก้สรรพสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่แท้ก็แค่วางลงเท่านั้น
................