วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การทำบุญ


     ชาวพุทธเป็นจำนวนมาก กำลังมีความคิดสับสน เกี่ยวกับการทำบุญ ในพระพุทธศาสนาว่า คืออะไร และมีวิธี ทำบุญอย่างไร จึงจะถูกต้อง ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะปัจจุบันนี้ มีบางสำนักสอนว่า ให้ทานมากเท่าไร ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น หรือบริจาคเงิน มากเท่าไร ยิ่งจะมีผล ตอบแทนเป็นทวีคูณ   ซึ่งเป็นการจูงใจ ให้ประชาชน "เมาบุญ"  หวังผลตอบแทน เป็นวัตถุ หรือทำบุญ เป็นการลงทุน เพื่อกำไรทางวัตถุ แทนที่จะสอน ให้บริจาค ตามกำลังศรัทธา เพื่อขัดเกลาจิตใจ ให้สะอาคบริสุทธิ์ ขึ้นตามลำดับ เพราะ ความสะอาด บริสุทธิ์แห่งจิตใจ นั่นเอง ที่ทางพุทธศาสนา เรียกว่า "บุญ"

           คำสอนในลักษณะนี้ เป็นการยั่วให้ คนทำบุญด้วยหวัง สิ่งตอบแทน แทนที่จะเป็นการ บรรเทากิเลส กลับกลายเป็นการ เพิ่มพูนกิเลส ทำให้จิตใจ เศร้าหมองมากยิ่งขึ้น โดยผู้สอน กำหนดแนวคิดว่า "บุญเป็นสินค้าที่ขายได้" จึงได้ขายบุญ หลากหลายรูปแบบ เพื่อดูดทรัพย์ จากประชาชน ผ่านบุคคลที่เรียกว่า "ผู้นำบุญ" คล้ายเซลส์แมน ไปหาลูกค้า ชักชวน เชิญชวน ทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชน บริจาคทรัพย์ ทำให้ธรรมเนียม การบอกบุญ กลายเป็นระบบ ขายตรง เหมือนขายสินค้าไป

           วิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มีทั้งหมด ๑๐ วิธี คือ  
  -ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปัน  
  -สีลมัย ทำบุญด้วยการ รักษาศีล  
  -ภาวนามัย ทำบุญด้วยการ ฝึกอบรมจิตใจ  
  -อปจายนมัย ทำบุญด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม 
  -เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการ ช่วยเหลือสังคม    
  -ปัตติทานมัย   ทำบุญด้วยการแบ่งปัน ความดีให้ผู้อื่น  
  -ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยยินดี ในความดีของผู้อื่น 
  -ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วย การฟังธรรม  
  -ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วย การแสดงธรรม  
  -ทิฏฐธุกัมม์   ทำบุญด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง ถูกต้องตาม ทำนองคลองธรรม 

           การทำบุญในพระพุทธศาสนาเป็นกิจกรรม ที่แสดงถึงศรัทธาและปัญญา ตัวอย่างเช่น ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปัน ก็ไม่มีการบังคับ ไม่มีการเร่งรัด ไม่มีการหลอกล่อ ใครมีศรัทธา และมีทุนทรัพย์ จะบริจาคมากน้อย แล้วแต่ความสมัครใจ เพราะบุญที่ทำแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ และผลแห่งบุญ ที่บุคคลทำแล้ว มีอานิสงฆ์ ๖ ประการ คือ สุวัณณตา มีผิวพรรณดี  สุสรตา มีเสียงไพเราะ  สุสัณฐานัง มีทรวดทรงดี  สุรูปตา มีรูปร่างสวย อาธิปัจจัง มีความเป็นใหญ่ และ  ปริวาโร   มีพวกพ้องบริวารมาก

   ฉะนั้น บุญจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอย่างยิ่ง ดังพุทธภาษิตว่า   
                      "สุโข ปุญญัลสะ อุจจะโย แปลว่า การสั่งสมบุญ นำสุขมาให้"