วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ธรรมที่ตั้งไว้ในใจ


ธรรมที่ตั้งไว้ในใจ
คนที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว อาจจะทำการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ไม่สามรรถที่จะเป็นที่รักเป็นที่นับถือของคนรอบข้างได้ เพราะปราศจากคุณธรรมที่สมควรจะมีไว้ในตนเอง ดังภาษิตที่ว่า ความรู้ คู่คุณธรรม นั่นเอง
                ธรรมะหมวดหนึ่ง ที่เรียกว่า อธิษฐานธรรม คือธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ
                ประการที่ 1 ปัญญา แปลว่า ความรู้ชัด รู้ทั่ว เช่น การศึกษาเล่าเรียนจะเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็จะต้องศึกษาในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจ แจ่มแจ้ง ชัดเจน จึงจะเรียกได้ว่า สำเร็จประโยชน์ในการเรียน ไม่มีความบกพร่อง จนในที่สุดก็สามารถที่จะรู้เหตุและผลของสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง และปัญญานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุ 3 ประการ คือสุตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากากรคิด และ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจาการอบรม
                ประการที่ 2 สัจจะ แปลว่า ความจริง คือ จริงใจ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้ทำจริง เช่น ตั้งใจไว้ว่า จะศึกษาเล่าเรียน จะปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาเบียดเบียน ขัดขวาง ก็จะต้องใช้ความพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้ จนสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ และความจริงใจนี้จะต้องแสดงต่อบุคคลอื่นทางกาย วาจา และใจ อีกทั้งเวลาจะทำ พูดและคิด ก็จะต้องมีแต่ความจริง คนจริงต่อหน้าที่ ต่อเวลา ต่อบุคคล ย่อมมีแต่คนเคารพนับถือยกย่อง ดังภาษิตที่ว่า คนได้เกียรติ เพราะความสัตย์
                ประการที่ 3 จาคะ แปลว่า ความสละ ได้แก่ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ เริ่มต้นตั้งแต่การเสียสละ ให้ปันสิ่งของแก่คนอื่น จนถึงการสละกิเลสที่มีอยู่ในตน เช่น เมื่อตั้งใจจะทำความดี แต่มีตัวกิเลสมากั้นไว้ไม่ให้ทำความดีนั้น ซึ่งกิเลสตัวนี้ก็ได้แก่ นิวรณ์ 5 คือ อันประกอบด้วย
                                1. พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบ ซึ่งเมื่อไม่ได้ ใจก็ไม่สงบ ควรสละเสีย ด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและคนอื่น ให้เป็นสิ่งที่ไม่งาม น่าเกลียด
                                2. ปองร้อยผู้อื่น ผู้ที่มีแต่ความพยาบาทจะไม่ความสุข มีแต่ความเดือดร้อน ควรสละเสียด้วยการนึกถึงคุณความดีของผู้นั้น แล้วยึดหลัก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เข้าช่วย
                                3. ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ผู้ที่เล่าเรียน หรือทำงานแล้วไม่สำเร็จตามประสงค์ เพราะถูกถีนมิทธะครอบงำ ทำให้ง่วงซึม ใจลอย ควรสละเสียด้วยการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น
                                4. ความฟุ้งซ่านและรำคาญ จิตใจของคนเราเป็นสิ่งที่รักษาได้ยากย่อมจะดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา เหมือนปลาที่เขาโยนขึ้นไว้บนบก ควรสละเสียด้วยการบำเพ็ญปฐวีกสิณ เป็นต้น
                                5. ความลังเลไม่ตกลงใจได้ คือ มีความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในธรรมะว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว มีความสงสัยในพระพุทธเจ้า เป็นต้น
                ประการที่ 4 อุปสมะ แปลว่า ความสงบคือ สงบกาย สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ คือ กิเลส ระงับความขัดข้อง วุ่นวายอันเกิดจากการถูกกิเลส เข้าครอบงำเสียได้ ทำให้จิตใจมีแต่ความสงบปราศจากกิเลส ความเศร้าหมองใจ
                คนทุกคนที่เกิดมา ล้วนไม่มีสิ่งใดติดตัวมา เมื่อโตขึ้น ก็สั่งสมสติ ปัญญา จนสามารถที่จะสร้างความเจริญให้แก่ตนเองโดยลำดับ การคบหากันก็จะมีมากขึ้น จำต้องมีสัจจะ ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน จึงจะได้รับการยกย่องนับถือ ต้องมีจาคะ เสียสละปัน การอยู่รวมในสังคมหมู่มาก ย่อมที่จะกระทบกระทั่งกันบ้าง จำต้องมีความสงบใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจตกไปในอำนาจกิเลส ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไป
ธรรมมะวันหยุด
                                                                   หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำวันเสาร์ที่ ๒๒ พ.ค.๕๓