วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศีลห้า แปด สิบ

ศีลห้า
1.ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า
2.อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ
3.กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4.มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น
5.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่างๆ


ศีลแปด หรือ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกาทั่วไป มิใช่สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน จัดเป็นศีลขั้นต่ำของพระอนาคามี
โดยปกติผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีลตั้งแต่เช้าของวันนั้น หากรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า "ปกติอุโบสถ" และหากรักษา 3 วัน เรียกว่า "ปฏิชาครอุโบสถ"
ศีลแปด
1.ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการฆ่าสัตว์
2.อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการลักสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้
3.อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
4.มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
5.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6.วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงวันใหม่)
7.นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม
8.อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี


ศีล 10 หรือ ทศศีล สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล 8 แต่แยกข้อ 7 เป็น 2 ข้อ เลื่อนข้อ 8 เป็น 9 และเติมข้อ 10 คือ
ศีลสิบ
1.เว้นจากทำลายชีวิต
2.เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
3.เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
4.เว้นจากพูดเท็จ
5.เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6.เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
7.เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ
8.เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ
9.เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ
10.เว้นจากการรับทองและเงิน
     ศีล 10 นี้ เป็นข้อปฏิบัติของ สามเณร สามเณรี และสิกขมานา (ผู้ที่ขอบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งต้องบวชเป็นสามเณรี และไม่ผิดศีลข้อ1 2 3 4 5 6 เป็นเวลาถึง 2 ปีโดยไม่ขาดศีลทั้ง 6 ข้อโดยไม่ขาดเลย แต่ข้อ 7 8 9 10 ขาดได้บ้าง ) รวมทั้งเป็นข้อปฏิบัติของ สมณะนักบวชนอกพระศาสนา (หนึ่งในเทวทูต4) ก็ถือศีล10 มาก่อน เป็นศีลขั้นต่ำของพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายมีปกติไม่ผิดศีลข้อ1 ถึงข้อ 9 ตลอดชีวิต และมีปกติรักษาศีลข้อ10เป็นธรรมชาติ ถ้าพระอรหันต์มีปกติผิดศีลข้อ 10 หรือครองเพศฆราวาสอันมิใช่สมณะเพศย่อมละสังขารนิพพานไป ภายใน 1 วัน
.........................

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลักธรรมตามแบบ ทศพิธราชธรรม

1. อาชชวะ ซื่อตรง ปฏิบัติการกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ
2. ศิล ความประพฤติดีงาม รักษากิตติคุณ ประพฤติให้เป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือ มิมีข้อให้ผู้ใดดูแคลน
3. อวิหิงสา ไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ ไม่หาเหตุเบียดเบียนหรือลงโทษ ด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
4. อักโกธะ ไม่เกรียวกราด ไม่วินิฉัย ด้วยอำนาจ ความโกรธ วินิฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามธรรม
5. มัทฑวะ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคาย ถือตัว กระด้าง มีความสง่างาม กิริยาสุภาพนุ่มนวล ได้รับภักดี แต่มิขาดยำเกรง
6. ทาน การให้ บำรุงเลี้ยงเท่าที่สามารถ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์
7. บริจาค การเสียสละเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และชนส่วนใหญ่ โดยไม่หลังตอบแทน
8. ตะบะ แผดเผากิเลสตัณหามิให้ครอบงำจิต ระงับใจไม่ให้หลงไปกับความสำราญ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ ง่าย ๆ สามัญ แต่มุ่งมั่นทำกิจในหน้าที่ของตนให้บรรลุผลสมบูรณ์
9. ขันติ อดทน ต่องาน ต่อความเหนื่อยยากลำบาก แม้จะน่าเบื่อหน่ายเพียงใดก็ไม่ย่อท้อ ไม่หมดกำลังใจ ไม่ละทิ้งกิจที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
10. อวโรธนะ วางตนเป็นหลัก หนักแน่นในธรรมคงที่ ไม่เอนเอียงและหวั่นไหวเพราะเหตุจาก ถ้อยคำ ดี ร้าย ลาภ สักการะ สถิตมั่นในธรรม ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนวิบัติไปจาก ความเพียรในธรรม นิติธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

วิธีการครองใจคน

การครองใจคนหรือการทำให้คนอื่นรักนั้น เป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะแก่คนที่หวังความเจริญก้าวหน้า และหวังที่จะมีชีวิตอยู่เป็นปกติในสังคม คนที่ครองใจคนอื่นได้ย่อมได้รับการยอมรับและการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่เราครองใจไว้ได้นั้นเป็นอันดี ทั้งในยามปกติและตกทุกข์ได้ยาก วิธีครองใจหรือการทำให้คนรัก มี 2 แบบ คือ
1. แบบโลกวิธี คือ วิธีที่ชาวโลกนิยมทำกัน เช่น การให้เกจิอาจารย์ ผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า สัก เสก ลงเลขยันต์ ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรืออาบน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก การใช้วัตถุมงคล ตลอดจนเครื่องรางของขลังและว่านเสน่ห์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้ตนเองมีเสน่ห์เป็นที่รักและเป็นที่นิยมของผู้คน ทังนี้สุดแท้แต่ทัศนคติ ความคิดเห็น ความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งผลที่ได้รับยังหาความแน่นอนไม่ได้ ส่วนมากมักถูกหลอกลวงต้มตุ๋น จากพวงมิจฉาชีพที่อาศัยเป็นช่องทางทำมาหากินในทางทุจริต ทำให้สูญเสียเงินทองไปกับเรื่องแบบนี้ไม่น้อย ถึงกระนั้น ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ทั่วไป
2. แบบพุทธวิธี คือ วิธีที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ โดยเน้นไปที่การเริ่มต้นที่ตนเองจัดการกับตัวเองให้เป็นคนน่ารัก ยึดหลักว่า “ถ้าเราทำตัวให้น่ารัก คนอื่นเขาก็รัก ถ้าเราทำตัวให้ น่าเกลียด คนอื่นเขาก็เกลียด” โดยปฏิบัติตามหลักธรรม ดังนี้
* โอบอ้อมอารี (ทาน) คือให้เป็นคนมีน้ำใจ สมัครใจที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ รู้จักเผื่อแผ่เจือจานสิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้อื่น ในสิ่งที่เขาขาดแคลนบกพร่อง
* วจีไพเราะ (ปิยวาจา) คือให้เป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวลด้วยน้ำใสใจจริง ไม่แสแสร้งแกล้งทำ หลีกเลี่ยงคำพูดอันเป็นเท็จ คำพูดส่อเสียด ยุให้รำตำให้รั่ว คำพูดหยาบคาย และคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
* สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา) คือ ให้ทำตนเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่นช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจการต่าง ๆ ด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ด้วยความเต็มใจ เต็มความรู้ความสามารถ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้เขาเห็นว่าเราเต็มใจช่วยเขา
* วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา) คือ ให้เป็นคนดีที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำต่อเนื่องไม่เป็นคนขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย และให้เป็นคนที่รู้จักทำตัวเป็นกันเอง เข้ากับผู้อื่นได้ ใครคบค้าด้วยก็สบายใจ ไม่เครียด ไม่ทำตัวให้สูงหรือต่ำเกินไปนัก รู้จักกาลเทศะในการวางตัว
วิธีครองใจคนทั้ง 2 แบบนี้ หากเราเคยปฏิบัติแบบโลกวิธีมาแล้ว ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลขอแนะนำให้ปฏิบัติแบบพุทธวิธีดูบ้าง แล้วจะรู้สึกว่าวิธีครองใจคนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไรเลย

ตัวอย่างสิบวิธีสร้างรอยยิ้มในครอบครัว

- สัญญากับตนเองไม่ทำผิดซ้ำ
- ชมกันหน่อย
- ให้กำลังใจกันบ้าง
- ฟังเขาพูดมากกว่าพูดให้เขาฟัง
- ถามไถ่ทุกข์สุขกันบ้าง
- รู้จักปฏิเสธงานสังคมเมื่อต้องปฏิเสธ
- ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
- กล่าวคำขอโทษ ให้เป็น
- อดทน อดกลั้น ระงับโทสะ
- ลดทิฐิ หมั่นกล่าวคำขอบคุณ

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำอธิษฐานก่อนนั่งสมาธิ

คำอธิฐานก่อนนั่งสมาธิ อีกแบบหนึ่ง
ให้อธิษฐานจิตว่า “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลให้ บุญกุศลที่เกิดจากการนั่งภาวนาของข้าพเจ้าคราวนี้ต่อไปนี้ จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวร ทั้งที่อยู่ภายในทั้งที่อยู่ภายนอกร่างกายข้า และที่จะกำลังจะมาถึงตัวข้าในเร็วๆ รวมทั้งจงสำเร็จแก่เทวดาประจำตัวข้า จงสำเร็จแก่นาค ครุฑ อสูร คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ ยักษ์ กินราที่อยู่บริเวณนี้ บ้านนี้ เมื่อพวกท่านเห็นบุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิของข้าไปถึงแก่พวกท่าน ขอให้พวกท่านยินดีรับเอาไว้เลยแล้วอย่าได้ขัดขวางการปฏิบัติภาวนาของข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะอุทิศบุญให้อีก” ดังนี้
หมายเหตุ.- ถ้าต้องการจะอุทิศเจาะจงให้ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ให้อธิษฐานเอาเอง แต่บุญที่เกิดจากการภาวนานั้นผู้ที่อยู่ในภพภูมิต่ำๆ เช่น ผี ปีศาจ ผีเชื้อโรค ฯลฯ รับได้ยาก ฉะนั้นหากเราต้องการโอนบุญที่เกิดจากการภาวนาให้เขาเหล่านั้นก็ให้อธิษฐานแปรสภาพบุญให้เหมาะสมกับเขาเหล่านั้นก่อนเพื่อเขาจะรับได้ง่ายขึ้น

“บุญกุศลใดที่เกิดจากการเผยแพร่ข้อความทั้งหมดนี้ เมื่อบุญเกิดแล้ว ขอบุญนี้จงเป็นของผู้ที่อยู่ในโลกทิพย์ดังต่อไปนี้
จงเป็นของเหล่าอมนุษย์ที่ดูแลรักษาหลวงพ่อเกษม อาจิณณสีโล จงเป็นของนายเวรของหลวงพ่อทั้งที่เดินทางมาถึงและที่กำลังก่อกวนอยู่ตามร่างกายขององค์ท่าน
จงเป็นของเหล่าอมนุษย์ที่ดูแลรักษาคณะผู้จัดพิมพ์หนังสือ จงเป็นของนายเวรของคณะผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้งที่เดินทางมาถึงและที่กำลังก่อกวนอยู่ตามร่างกายของคณะผู้จัดพิมพ์
จงเป็นของเหล่าอมนุษย์ที่ดูแลรักษาผู้นำบทความนี้มาเผยแพร่ จงเป็นของนายเวรของผู้นำบทความนี้มาเผยแพร่ทั้งที่เดินทางมาถึงและที่กำลังก่อกวนอยู่ตามร่างกายของผู้นำบทความนี้มาเผยแพร่
จงเป็นของเหล่าอมนุษย์ที่ดูแลรักษาผู้อ่าน จงเป็นของนายเวรของผู้อ่านทั้งที่เดินทางมาถึงและที่กำลังก่อกวนอยู่ตามร่างกายของผู้อ่าน รวมทั้งเป็นของเหล่าญาติทิพย์ของทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อความทั้งหมดนี้
และจงเป็นของเหล่าอมนุษย์ทุกๆ ตนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อความทั้งหมดนี้
เมื่อทุกๆ ท่านได้รับบุญแล้วจงสนับสนุนส่งเสริมญาติของท่านให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถ้าหากญาติของท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่พ้นไปจากอาสวะแล้วขอให้ท่านทั้งหลายจงช่วยให้ท่านเป็นอยู่ด้วยความผาสุกตามที่ท่านทั้งหลายปรารถนาเทอญ...

หากมีข้อความใดผิดไปจากหนังสือเดิมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ เพราะข้อความทั้งหมดนี้พิมพ์ขึ้นมาใหม่จากหนังสือเล่มเดิมของคณะศิษย์วัดสามแยก ทั้งนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ คำสอนของพระอาจารย์เกษม อาจิณณสีโล เพื่อเป็นธรรมทาน ในอีกช่องทางหนึ่ง..

การเบิกบุญ การโอนบุญ

การเบิกบุญที่เคยทำไว้โอนออกไปให้ญาติในโลกทิพย์
“ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญที่ข้าให้ถึงแก่ ปอบ เปรต ผี ปีศาจ เทวดา มาร พรหม ยักษ์ คนธรรพ์ ภุมภัณฑ์ เงือก นาค ครุฑ อสูร กินราที่เป็นญาติข้า จงเป็นสุขจากบุญที่ข้าให้นี้เถิด” (กลุ่มญาติ พอเราส่งบุญให้ ได้บุญก็จะดูแลปกป้องรักษาให้เราปลอดภัยจากเจ้ากรรมนายเวรที่จะมาถึงตัวเราและก็จะดูแลบ้าน กิจการค้าขายให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป หลวงพ่อท่านว่า เหมือนเรามียามแล้วให้เงินเดือนกินได้กินอิ่มก็ดูแลบ้านเราดี ไม่จ่ายเงินเดือนให้และกินไม่อิ่ม จะเอาแรงที่ไหนมาปกป้องบ้านเรา)
การเบิกบุญที่เคยทำไว้โอนออกไปให้เจ้ากรรมนายเวร
“ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญข้าให้นายเวรข้าที่เดินทางมาถึงและกำลังก่อกวนข้าอยู่ในเวลานี้เมื่อรับบุญแล้วจงเป็นสุขเถิด ข้าขออภัยในความผิดที่ข้าเคยทำกับพวกท่านไว้ เรามาสร้างบุญร่วมกันมามีความสุขไปด้วยกันเถิด”
การเบิกบุญที่ทำไว้โอนออกไปให้นายเวรฆ่า
“ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญข้าให้แปรสภาพเป็นร่างกายข้าไปให้นายเวรที่จะเข้ามาทำร้ายข้า ให้เขาได้แก้แค้นร่างกายที่เกิดจากบุญที่ข้าพเจ้า ส่งไปให้นั้นเถิด” (หลวงพ่อบอกว่า บุญที่เราโอนให้จะเนรมิตเป็นตัวเราไปให้เจ้ากรรมนายเวรฆ่า คือในกรณีที่เจ้ากรรมนายเวรไม่ยอม เขาต้องการจะล้างแค้นเราอย่างเดียว เขาก็จะได้ฆ่าตัวปลอมที่เราแปรสภาพบุญส่งไป ใครเจอเหตุการณ์ไม่ดีในชีวิตก็ลองเอาไปปฏิบัติพิสูจน์ดูมันไม่ยากอะไร เงินก็ไม่เสียเหมือนมีคนเอาผลไม้ให้เราชิมบอกว่าหวาน เราไม่ชิมจะรู้ได้อย่างไรว่าหวาน) วิธีนี้ได้มา คณะศิษย์วัดสามแยกได้เข้าไปกราบหลวงพ่อเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2548)
วิธีปฏิบัติการเบิกโอนบุญประจำวัน
ตื่นเช้า เบิกบุญให้ผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับเราโดยทางฝันรวมทั้งให้เทวดาประจำตัว เจ้ากรรมนายเวรที่เบียดเบียนทั้งภายนอกและภายในกายของเราตลอดถึงภูตผี ปีศาจ เปรต ปอบ นาค ครุฑ อสูร ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ ยมทูต เทวดา มาร และพรหมที่เป็นญาติของเรา ที่อยู่บริเวณบ้านนี้
เข้าห้องน้ำ เบิกบุญให้แบคทีเรียจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ตายจากการที่เราอาบน้ำชำระร่างกายต่างๆ รวมทั้งให้เชื้อโรคต่างๆ ที่ออกไปจากร่างกายของเราเพราะการขับถ่ายด้วย ก่อนออกจากห้องน้ำก็เบิกบุญให้กับเชื้อโรคทั้งหมดที่อยู่ในห้องน้ำ
เวลากินข้าว เบิกบุญให้กับวิญญาณสัตว์ที่สถิต ในผัก ในข้าว ในเนื้อสัตว์ ในน้ำ ในอาหารทั้งหมดนั้นรวมทั้งให้กับดวงใจสัตว์ตัวที่เรานำมาทำอาหารด้วย
ไปทำงาน เบิกบุญให้เทวดาประจำรถ และภูตผีปีศาจที่อยู่กับรถและบอกเทวดาให้คุ้มครองป้องกันให้การเดินทางปลอดภัย
ขณะเดินทาง เบิกบุญให้ภูตผีปีศาจ ปอบ เปรต เทวดา ฯลฯ ที่อยู่ตามถนนหนทาง
ถึงที่ทำงาน เบิกบุญให้เทวดาประจำตัวผู้ร่วมงานทั้งหลาย และภูตผีปีศาจ ปอบ เปรต อสูร ฯลฯ ที่อยู่ในที่ทำงาน
กลับจากทำงาน เบิกบุญให้เทวดาประจำรถ และภูตผีปีศาจ ปอบ เปรต ฯลฯ ที่อยู่ในรถ และตามถนนที่จะเดินทางกลับ
เมื่อถึงบ้าน ก็เบิกบุญให้ หมู่ภูตผีปีศาจ ปอบ เปรต อสูรกาย นาค ครุฑ อสูร ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ ยมทูต เทวดา มาร และพรหมที่เป็นญาติ ของเรา ทำกิจธุระส่วนตัวใดๆ ก็เบิกบุญให้ เหมือนตอนเช้า
ถ้านอนไม่หลับ ให้เบิกบุญให้เจ้ากรรมนายเวรที่เบียดเบียนอยู่ทั้งภายนอกและภายในและรอบดวงจิตของเรา หรือให้ผู้ที่ทำให้ข้านอนไม่หลับอยู่ในเวลานี้ เป็นต้น
(ทุกครั้งที่เบิกบุญให้ว่า “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญข้าให้...........)
วิธีอนุโมทนาบุญ
คือร่วมยินดีในขณะที่เห็นผู้อื่นทำความดี เช่น ถวายสังฆทานใส่บาตร ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น บุญจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อเราร่วมยินดีกับการที่เห็นผุ้อื่นทำความดีนั้นแล้วให้คิดว่า “สาธุบุญนี้ให้..........” (อธิษฐานให้ตามที่ปรารถนา)
ประโยชน์ของการโอนบุญ
1.ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เพราะเจ้ากรรมนายเวรไม่มาเบียดเบียนหรือหากป่วยอยู่ก็ทำให้หายเร็วขึ้น
2.ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจและมุ่งหวัง เพราะเทวดาที่ดูแลเราช่วยเหลือและเจ้ากรรมนายเวรที่เป็นศัตรูกลับกลายเป็นมิตร
3.ครอบครัวมีความสุข ลูกเชื่อฟัง พ่อแม่
4.ช่วยให้จิตใจอ่อนโยนมีเมตตา
5.การเดินทางปลอดภัย เพราะเป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์
6.ปฏิบัติธรรม เจริญในธรรมปัญญาเกิดขึ้นง่าย

การอุทิศบุญให้ผู้ที่อยู่ในโลกทิพย์

การอุทิศบุญให้ผู้ที่อยู่ในโลกทิพย์มี 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1.กลุ่มที่เขาเป็นญาติของเราตั้งแต่อดีตชาติและปัจจุบันชาติ ที่ตายไปแล้ว ไปเกิดเป็นอยู่ในกลุ่มเหล่านี้มี ผี ปีศาจ เปรต ปอบ ยมทูต ยมบาล เงือก นาค กินรา ครุฑ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ ยักษ์ เทวดา มารพรหม
2.กลุ่มที่คอยติดตามดูแลรักษาไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนๆ มี ผี ปีศาจ ยมทูต (เป็นบางครั้ง) เงือก นาค กินรา ครุฑ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ ยักษ์ เทวดา มาร พรหม
3.กลุ่มนายเวรหรือกลุ่มที่คอยเล่นงานเรา เพราะมีความเคียดแค้นเรามี ผี ปีศาจ เปรต นาค ครุฑ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ ยักษ์ เทวดา มาร ฯลฯ แม้พวกที่มาคอยสิงคอยทรงก็ถือว่าเป็นนายเวรด้วยเช่นกัน
กลุ่มนี้จะทำให้เราไม่สบายทำอะไรก็ติดขัดไปหมดมีกิจการก็ซบเซา ยิ่งคนที่ฆ่าสัตว์มาก ยิ่งมีเวรมาก (หลวงพ่อท่านว่าอย่างฆ่าไก่ ไปตัวหนึ่งไรที่อยู่กับไก่ เป็นหมื่นๆ ตัว ก็ตายไปด้วย ผีไก่ผีไรมันก็แค้นเรา เราต้องส่งบุญให้มัน เมื่อมันได้แล้วมันเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิที่ดีขึ้นมันก็หายแค้นเรา)
4.กลุ่มเชื้อโรคเชื้อจุลินทรีย์ กลุ่มนี้บางพวกก็เป็นนายเวรบางพวกก็เป็นผู้ดูแลรักษาอาศัยอยู่ตามระบบต่างๆ ของร่างกาย ถ้าเราอุทิศบุญให้เขา เขาก็จะเปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิที่ดีขึ้นไม่กลับมาเกิดในร่างกายของเราอีก บางพวกเขาจะรับบุญได้ทันที แต่บางพวกก็ต้องตายก่อนจึงจะรับบุญได้ แต่ไม่ต้องห่วงเพราะเขามีมากมายหลายล้าน ย่อมมีตัวตายตัวเกิดอยู่เนืองๆ เมื่อเราอุทิศบุญให้แล้ว เขาก็ได้รับทันที

การอุทิศบุญหรือการโอนบุญในชีวิตประจำวัน

การอุทิศบุญหรือการโอนบุญในชีวิตประจำวัน
ตอนเช้า -- ทำกับข้าให้บิดา มารดา หรือสามี ภรรยา รับประทาน
-- ป้อนเข้าให้ลูก -- ให้เงินลูกไปโรงเรียน
-- ให้ข้าวสุนัข -- ดูทีวีแล้วจิตมีความสุข
บุญเหล่านี้สามารถโอนบุญได้ทันทีโดยตั้งจิตอธิษฐานว่า “บุญที่เกิดจากการ .................... ( ทำกับข้าให้บิดา มารดา หรือสามี ภรรยา รับประทาน ป้อนเข้าให้ลูก ให้เงินลูกไปโรงเรียน ให้ข้าวสุนัข ดูทีวีแล้วจิตมีความสุข) ขอยกให้กับ ...........................(เจ้ากรรมนายเวรที่เบียดเบียนข้าพเจ้า เทวดาผู้รักษาข้าพเจ้า เทวดาผู้รักษาพ่อแม่ ข้าพเจ้า ฯลฯ)
ขณะทำงาน (ตอนกลางวัน) -- ขณะยื่นงานให้เจ้านาย -- เลี้ยงอาหารผู้ร่วมงาน ฯลฯ
-- หยิบสิ่งของส่งให้เพื่อนตามที่เพื่อนบอก
ตอนกลางคืน -- ห่มผ้าให้ลูก หรือสามี ภรรยา เมื่อได้ดู ฟังธรรม แล้วเกิดความรู้หรือเมื่อได้ปฏิบัติธรรมภาวนาอบรมใจ ฯลฯ
เมื่อได้กระทำต่างๆ ดังว่ามานี้ สามารถโอนบุญออกไปให้ผู้ที่อยู่ในโลกทิพย์ที่เราต้องการให้ได้ทันที “แต่บุญที่เกิดจากการภาวนานั้นผู้ที่อยู่ในภพภูมิต่ำๆ เช่น ผี ปีศาจ ผีเชื้อโรค ฯลฯ รับได้ยาก ฉะนั้นหากเราต้องการโอนบุญที่เกิดจากการภาวนาให้เขาเหล่านั้น เราต้องอธิษฐานแปรสภาพบุญให้เหมาะสมกับเขาเหล่านั้นก่อนเพื่อเขาจะรับได้ง่ายขึ้น โดยคิดก่อนที่จะภาวนาดังนี้ “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลให้บุญที่เกิดขึ้นในขณะที่ข้าพเจ้า ภาวนาคราวนี้ แปรสภาพเป็นสิ่งต่างๆ (ปัจจัยสี่) ตามแต่อมนุษย์แต่ละดวงใจ ที่มาเกี่ยวข้องกับข้าอยู่ในเวลานี้เขาต้องการ แล้ว ขอให้บุญที่แปรสภาพแล้วนั้นเป็นของอมนุษย์แต่ละดวงใจเหล่านั้นตามที่เขาปรารถนานั้นเทอญ” ดังนี้
หมายเหตุ.- ตรงถัดจากคำว่า “..แปลสภาพเป็นนั้น..” เราจะระบุชัดๆ ลงไปเลยก็ได้ว่า “แปรสภาพเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ก็ได้เช่นกัน แล้วตรงที่ว่า “..ตามแต่อมนุษย์แต่ละดวงใจ..” เราจะเปลี่ยนเป็นว่า “..ตามแต่เทวดา เปรต ผี ปีศาจ ที่อยู่บริเวณบ้านข้า..” หรือ “..ตามแต่เจ้ากรรม นายเวรของข้า / ของสามี ภรรยา ของลูก ของบิดา มารดา ฯลฯ..ที่เดินทางมาถึงแล้วในเวลานี้..” ดังนี้ (คำคิดนี้จะไม่ตามนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ สุดแต่จะพลิกแพลงใช้เอาแต่อย่าให้หนีจากหลักนี้ เป็นใช้ได้)
ก่อนจะนอนให้คิดอุทิศบุญดังนี้
“ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญข้าพเจ้าให้เทวดาผู้เฝ้าอยู่บริเวณนี้ จงจัดการวางยามให้เรียบร้อย ให้ตัวข้าพเจ้าได้นอนหลับอย่างสบาย ท่านผู้ใดเป็นหมอยา ให้มาตรวจรักษาข้าได้ในเวลาที่ข้าหลับเพื่อให้ข้าปลอดภัย บุญนี้ให้แก่พวกท่าน”

การอบรมลับทางกระแสจิต

การอบรมลับทางกระแสจิต
คือการที่เราอบรมคน ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน สามี ภรรยา ลูกน้อง ฯลฯ ให้เขาเป็นคนดีโดยใช้วิธีอบรมเขา เพราะเมื่อเราอบรมเขาตรงๆ เขาไม่เชื่อฟัง –ไม่ยอมฟัง จึงต้องใช้วิธีอบรมในทางลับ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการจะอบรมลูกให้เป็นคนดี ตั้งใจเรียน เชื่อฟังพ่อแม่ ก็ให้วาดมโนภาพขึ้นว่าตอนนี้เราไปอยู่ข้างๆ ลูก (สมมติเราอยู่คนละห้องกับลูก) แล้วก็คิดอบรมสั่งสอนเขาตามที่เราต้องการ วิธีนี้ใครที่มีลูกไม่ดี สามี ภรรยาไม่เข้าท่า สามารถนำเอาไปใช้ได้ แล้วอย่าลืมอุทิศบุญให้กับผู้ดูแลรักษาเขา นายเวรที่ก่อกวนเขาอยู่ด้วยก็จะเห็นผลเร็วยิ่งขึ้น
การเปิดโอกาสให้ญาติต่างๆ เข้าสิงสถิตในทรัพย์สมบัติ
“ข้าขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลให้................. เปิดโอกาสให้ ปอบ เปรต ผี ปีศาจ เทวดา มาร พรหม ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ เงือก นาค ครุฑ อสูร กินรา ที่เป็นญาติข้าพเจ้าและผู้อยากเป็นญาติข้าจงตั้งใจขอเป็นญาติข้าแล้วเข้าสถิตตามสมควรแก่ภูมิของตนเถิด ข้าจะทำบุญให้เมื่อได้รับบุญแล้วจงช่วยข้าให้กิจการที่ข้าทำอยู่นี้เจริญรุ่งเรือง เรามามีความสุขร่วมกัน ตลอดไปเถิด” ดังนี้
หมายเหตุ.- ตรงที่เว้นวรรค .... ไว้นั้น หากใครจะเปิดโอกาสให้เขาเข้าสถิตตามบ้านก็ให้บอกว่า “บ้านข้าพเจ้า” หากใครจะเปิดโอกาสให้เขาเข้าสถิตตามรถก็ให้บอกว่า “รถคันนี้” ดังนี้ตามสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เปิดให้เขาเข้าสถิตได้ทั้งนั้น วิธีนี้จะทำให้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มีผู้ช่วยดูแลรักษาอีกทางหนึ่ง เช่นเวลารถเสียอยู่ในที่เปลี่ยวเขาก็จะสามารถช่วยให้วิ่งไปจนถึงอู่ซ่อมได้ หากเป็นบ้านเรือนหรือรถหรือเรือก็ตาม ให้นำกระดาษมาเขียนตามข้อความดังกล่าวนั้น แล้วนำไปติดที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเป็นบ้านก็นำไปติดไว้ที่หน้าประตูหรือที่ใดก็ได้ตรงด้านหน้าบ้านที่เห็นว่าเหมาะ ถ้าเป็นรถ เรือ ก็ติดไว้ที่ด้านในของหัวเก๋งรถ เรือนั้นเอง แล้วก็ให้อธิษฐานตามนั้น แล้วก็อย่างลืมอุทิศบุญให้เขาบ่อยๆ ด้วยเช่นกัน

วิธีที่จะให้เทพที่เป็นหมอมาทำการรักษาตัวเรา

ให้ตั้งจิตก่อนที่จะนอนหลับดังนี้
       “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลให้เหล่าเทพเทวาที่เป็นญาติข้าพเจ้า จงได้ยินเสียงข้าพเจ้า ในเวลานี้ด้วยเถิด ขอให้ท่านทั้งหลายจงไปนำเทพที่เป็นหมอมาทำการตรวจรักษาข้าในเวลาที่ข้าหลับด้วย ข้าจะเปิดโอกาสไว้ ข้าพเจ้า มีอาการ......................(บอกอาการไป) เมื่ออาการดีขึ้นข้าพเจ้า จะทำบุญให้แก่พวกท่านยิ่งๆ ขึ้นไป” ดังนี้
         แล้วแต่ไปให้คิดดังนี้ว่า
       “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลร่างกายข้า ให้เปิดโอกาสแก่เหล่าเทพที่เป็นหมอให้เข้าตรวจร่างกายข้าพเจ้า ในเวลาที่ข้าหลับได้ด้วยเถิด” ดังนี้
แล้วให้คิดจ่ายบุญดังนี้ว่า
        “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญของข้าพเจ้า จงไหลรวมมาสู่ข้าพเจ้า ในเวลานี้ แล้วขอให้บุญนี้จงอยู่กับข้าพเจ้า แล้วหากผู้ใดไปนำหมอเทพมา และหมอเทพใดที่มาทำการตรวจรักษาข้าพเจ้า ขอบุญนี้จงเป็นของท่านผู้นั้น” ดังนี้
         หมายเหตุ.- แล้วอย่าลืมเอาบุญให้ญาติทิพย์ของตนและเหล่าเทพที่มาทำการรักษาบ่อยๆ ด้วย ยาก็ให้กินด้วย หากเป็นยาสมุนไพรก็ให้เอาบุญให้แก่เหล่าเทพที่รักษาต้นยาที่เอามากินนั้นด้วย แล้วก็เอาบุญให้ผู้ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตรงนั้นๆ ด้วย
           อนึ่งวิธีนี้สามารถสลับสับเปลี่ยน - ซิกแซกตามแต่ใครจะคิดเอา แต่อย่าให้หนีจากหลักนี้ เช่น ขอเชิญเอานาค มาทำการรักษา ฯลฯ ก็ได้เช่นกัน

ผลของการส่งบุญ

ผลของการส่งบุญ

ทำให้เทวดาที่ได้รับบุญแล้วมีอิทธิฤทธิ์ขึ้น สามารถช่วยเหลือผู้ส่งบุญให้ได้รับความสำเร็จเทวดาที่รักษาเคหะสถานบ้านเมืองบางแห่งสามารถจำแลงแปลงกายเป็นเจ้าของบ้าน เปิด-ปิด ทีวี วิทยุ และไฟฟ้าในบ้านได้เอง ทำให้พวกลักเล็กขโมยน้อยไม่กล้าเข้าไปลักขโมยเพราะเข้าใจว่าเจ้าของบ้านอยู่ในบ้าน ทั้งที่ความจริงไม่มีคนอยู่ในบ้านเลย เทวดาสามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดไฟไหม้บ้าน ป้องกันอันตรายจากพายุ ต้นไม้หักโค่นล้มทับบ้าน บ้านไหนถูกไฟไหม้แสดงว่าเทวดาไม่รักษาเพราะเจ้าของบ้านมีบาปกรรม และไม่เคยส่งบุญให้เทวดาและเจ้ากรรมนายเวร หากทำการส่งบุญอยู่เสมอจะมีเหตุแปลกเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น พัดลมปิดเอง ไฟฟ้าปิดเอง ถ้าทำอะไรที่ไม่เหมาะสมจะมีสิ่งบอกเตือนเกิดขึ้นให้ได้สังเกต
ทำให้เจ้ากรรมนายเวรหยุดการจองเวรแล้วกลับมาเป็นเทวดาที่คอยช่วยเหลือปกปักรักษาเรา
ทำให้เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์-สัตว์ทั้งหลายไปทางไหนมีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
สามารถห้ามฟ้าฝน หรือขอฝนให้ตกได้
การเดินทางจะไม่มีอุบัติภัยตามท้องถนน เมื่อจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นข้างหน้า จะมีเหตุให้รถเราต้องติดขัดไม่สามารถวิ่งต่อไปข้างหน้าได้ เมื่อเหตุผ่านพ้นไปแล้วรถเราจะกลับมาดีเอง
ธุรกิจการค้า หน้าที่การงาน จะเจริญรุ่งเรือง จะพบช่องทางทำมาหากินที่แจ้งชัด ถ้าตกงานก็จะได้งานทำ ถ้าเจ้านายเกลียดไม่ชอบหน้า ก็จะรักชอบขึ้นมา
ร้านอาหาร ร้านขายของ จะมีแขกเข้าร้านมากกว่าเดิม อย่าลืมถ้ามีคนมาอุดหนุนให้อธิษฐานบุญให้แก่เทวดาที่รักษาลูกค้าด้วย ต่อมาเทวดาที่รักษาลูกค้าจะดลใจให้ลูกค้ากลับมาอุดหนุนเราอีก
นอนหลับสบาย ไม่สะดุ้ง ผวาด้วยภัยอันตรายรอบทิศทางแม้ฝันก็ฝันดี
ร่างกายจะแข็งแรงสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน เทวดาประจำตัวจะดลใจให้ออกกำลังกาย และดื่มกินแต่ของที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ครอบครัวจะอยู่กันอย่างมีความสุข มีความเข้าอกเข้าใจกัน
เพื่อนบ้านจะรักใคร่ปรองดองกัน ไม่เบียดเบียนส่อเสียดกัน ให้ความเกรงอก เกรงใจซึ่งกันและกัน

การให้ทาน

การให้ทานแก่บุคคลย่อมมีผลบุญแตกต่างกัน
ให้ในพระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานย่อมเกิดผลมากกว่าให้พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว
ให้ในพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีผลมากกว่าให้ในพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ในสถานภาพปกติ
ให้ในพระพุทธเจ้า ย่อมมีผลมากกว่าให้ในพระอรหันต์
ให้ในพระอรหันต์ ย่อมมีผลมากกว่าให้ในพระอนาคามี
ให้ในพระอนาคามี ย่อมมีผลมากกว่าให้ในพระสกทาคามี
ให้ในพระสกทาคามี ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่พระโสดาบัน
ให้ในพระโสดาบัน ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ผู้ทรงฌาน
ให้ในพระผู้ทรงฌาน ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่พระผู้ประพฤติศีลตามปกติ
ให้ในผู้มีศีล ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ผู้ไม่มีศีล
ให้ในคน ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่สัตว์
ให้ในสัตว์ผู้โพธิสัตว์ ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่สัตว์ธรรมดา
ให้ในสัตว์ที่มีคุณ ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่สัตว์ที่ไม่มีคุณ แม้กระทั่งแต่การให้อาหารมด ปลวก ก็ยังเกิดบุญกุศล ดังคำกล่าวว่า “การให้ย่อมเกิด บุญกุศลทั้งสิ้นแต่มากน้อยต่างกัน” นี่คือความแตกต่างของนาบุญ ถ้ารู้จักเลือกให้เลือกเถิด ถ้าเลือกไม่ได้ก็ให้ถวายในสงฆ์รวมก็มีอานิสงส์มาก
เมื่อตั้งใจรักษาศีล ก็ย่อมเกิดบุญกุศลขึ้นทุกครั้งที่ระลึกถึงศีลตัวเอง รักษาดีแล้วไม่ด่างพร้อย ก็อธิษฐานส่งบุญได้ว่า “บุญที่ข้าพเจ้าได้รักษาศีลนี้ขอบมอบแก่ ....(จะให้ใครก็คิดอุทิศได้เลย)”
ก่อนนั่งภาวนาทุกครั้งให้เริ่มคิดดังนี้ “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงดลบันดาลบุญที่ข้าพเจ้ากำลังจะภาวนาเวลานี้ จงสำเร็จแก่ผู้ต้องการบุญนี้ ผู้ใดคิดอยากได้ขอให้บุญภาวนาที่กำลังจะทำนี้เป็นของท่านตามปรารถนา” หรือเราจะให้ใครก็ได้ให้อธิษฐานเอาเอง แล้วก็เริ่มภาวนา หลังจาเลิกภาวนาก็ให้อุทิศบุญนี้ไปอีกครั้งหนึ่ง
.- บุญที่ภาวนานี้กำลังแรง พวกภูตผีชั้นต่ำมักรับไม่ค่อยได้จึงต้องเปิดจ่ายไว้ก่อนทำ เขาจะได้รับตามความสามารถของเขาเอง ถ้าภาวนาแล้วจึงให้ก็เปรียบเหมือนเราเปิดน้ำจากท่อดับเพลิงแล้วให้เขาภาชนะมารอง เขาจะรับไม่ได้เนื่องจากฐานจิตของเขาไม่แข็งแรงพอ ถ้าเราอธิษฐานเปิดไว้ก่อนแล้วก็เหมือนเปิดก๊อกน้ำออกค่อยๆ ใครมีภาชนะน้อยก็เอามารอง แต่สำหรับเทวดาบุญหนักศักดิ์ใหญ่ท่านสามารถรับบุญใหญ่หลังภาวนาได้ เปรียบเหมือนท่านมีโอ่งมีถังขนาดใหญ่สำหรับรองรับน้ำที่พุ่งจากท่อดับเพลิงนั่นเอง
การทำคุณงามความดีทุกครั้ง เช่นการได้ช่วยเหลือคน การได้ทำประโยชน์ส่วนรวม ย่อมก่อให้เกิดความปิติดีใจ นั่นแหละคือบุญให้รีบส่งบุญถึงผู้ที่เราต้องการให้บุญทันที
ส่งบุญเก่าที่ทำไว้แล้ว บุญที่เราทำไว้มีมากมายที่สะสมอยู่ในสรวงสวรรค์ ทั้งที่ทำไว้ในอดีตชาติหรือในชาตินี้ เราสามารถเบิกบุญนั้นมาแจกจ่าย อุทิศให้แก่ผู้ที่อยู่ในโลกวิญญาณได้ เหมือนเรามีเงินเก็บไว้ในธนาคาร เราก็อาศัยบัตร เอทีเอ็ม กดเงินออกมาใช้จ่ายได้ การเบิกบุญนั้นต้องอาศัยอำนาจ พระรัตนตรัย คือ ให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลให้บุญของข้าพเจ้า ถึงแก่ ...” จะให้ใครก็คิดเอาเอง การเบิกบุญแจกจ่ายนี้สามารถให้ได้ทุกเวลาเมื่อระลึกขึ้นได้ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน นั่ง นอน กิน ดื่ม อุจจาระ ปัสสาวะ ก็สามารถอธิษฐานส่งบุญได้
คนในศาสนาไหนก็ส่งบุญได้ ไม่ว่า คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิก ฯลฯ ล้วนมี วิธีสร้างกุศลผลบุญสะสมคุณงามความดีด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อเกิดบุญกุศลขึ้น สามารถส่งถึงผู้อยู่ในโลกทิพย์ได้ด้วยวิธีเดียวกัน ถึงเช่นกัน ก่อผลลัพธ์แบบเดียวกัน พุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่นตรงที่มีจุดสุดยอดของการหลุดพ้นจากทุกข์ คือนิพพาน มีแนวทางปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่จุดนั้นโดยเฉพาะ มีคำสอนเต็มไปด้วยเหตุและผลสามารถพิสูจน์ได้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งศาสนาอื่นไม่มี ส่วนการทำคุณงามความดีนั้นถึงแม้จะมีแนวทางแตกต่างกันก็เพียงปลีกย่อยเท่านั้น ไม่เป็นที่ขัดแย้งกัน

การอธิษฐานเบิกบุญเก่า

การอธิษฐานเบิกบุญเก่าอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรที่รบกวนควรทำวันละร้อยหรือพันหรือหมื่นรอบ จนเขาพอใจ อาการป่วยของเราจะหายเร็วขึ้น
วิธีการให้บุญ แก่เจ้าหรรมนายเวรควรทำดังนี้เป็นตัวอย่าง เช่น คนป่วยเป็นมะเร็ง จุดไหนก็ให้ส่งบุญตรงบริเวณนั้นให้คิดว่า “บุญนี้ ให้นายเวรที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยตรง บริเวณที่เป็นมะเร็ง เมื่อได้รับบุญแล้วขอให้พวกเจ้ามีชีวิตทีดีขึ้นมีภพภูมิที่สูงขึ้น จงหลุดจากภาวะชีวิตชั้นต่ำเดี๋ยวนี้ เมื่อเราหายแล้วจะทำบุญให้แก่พวกเจ้า ส่งชีวิตของพวกเจ้าให้สูงขึ้นเรื่อยๆ พวกเจ้าจงเลิกจองเวรจองกรรมในเราเสียทีตั้งแต่นี้เราจะตั้งตนอยู่ในศีลในธรรมเลิกการเบียดเบียนเข่นฆ่าชีวิตสัตว์อื่นของส่งบุญที่เกิดจากการรักษาศีลนี้แก่พวกเจ้าด้วย” ดังนี้
ผู้มีอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์อื่น เช่น เจ้าของโรงฆ่าสัตว์ คนขายเนื้อสัตว์ ชาวประมง คนชายปลาสดตามตลาด เชือดไก่ขาย คนเหล่านี้ต้องสร้างบาปกรรมทุกวันๆ จึงก่อความเคียดแค้นชิงชังให้แก่สัตว์ที่ถูกฆ่าอยู่ทุกๆ ทุกวัน เขาก็พยายามจองล้างจองผลาญ แต่ในขณะที่บุญเก่าของผู้นั้นยังมีอยู่เจ้ากรรมนายเวรก็ทำอะไรไม่ได้ แต่หากว่านายเวรได้ช่องทางเมื่อไรวิญญาณสัตว์ที่เคียดแค้นเหล่านั้น (นายเวร) จะตามมาทวงและให้ร้ายทันที ดังนั้น ต้องพยายามไถ่ถอนกรรมของตัวด้วยการทำบุญ แล้วอุทิศให้วิญญาณสัตว์ที่ตัวเองฆ่าทำบ่อยๆ ส่งบ่อยๆ เอาเนื้อสัตว์ที่เราขายนั้น ทำอาหารถวายพระหรือเลี้ยงผู้อื่น อธิษฐานว่า “บุญนี้ให้สัตว์ทั้งหลายที่เราได้ฆ่าหรือผู้อื่นฆ่าเพราะคำสั่งเรา เหล่าสัตว์เหล่าใดได้รับบุญแล้วขอให้มีแต่ความสุขความเจริญ มีชีวิตวิญญาณที่ดีขึ้น จงหลุดพ้นจากกรรมเวรที่ตนเองสร้างไว้ จงมีภพภูมิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นเทวบุตรเทวดาในสรวงสรรค์ เมื่อได้รับบุญแล้ว จงอโหสิกรรมให้เราด้วย อย่าได้จองเวรซึ่งกันและกันเลย เจ้าตายเพราะเราแต่ก็มีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะเรา ดีกว่าเจ้าตายเองหรือฝีมือผู้อื่นซึ่งมีชีวิตทุกข์ทรมาน”
การขับไล่ผีหรือคุณไสยออกจากร่างผู้ป่วย เอาของให้ทานแก่ผู้ทรงศีล จะเป็นพระหรือฆราวาสก็ได้ แล้วอุทิศบุญเจาะจงถึงผีในร่างผู้ป่วยขอให้ได้รับบุญนี้เมื่อได้รับบุญแล้วโปรดออกจากร่างกายผู้ป่วยเดี๋ยวนี้ถ้าไม่ยอมออก็ให้บ่อยๆ ให้สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ให้เงินห้าบาท สิบบาท ให้กาแฟหนึ่งแก้ว โอวัลตินหนึ่งแก้ว ฯลฯ แล้วอุทิศได้ทั้งนั้น แต่ห้ามถวายของที่ผิดวินัยพระ
หลีกเลี่ยงการสวดมนต์เพื่อขับไล่วิญญาณ บทสวดมนต์แต่ละบทมีอำนาจขับไล่และเบียดเบียนวิญญาณในโลกทิพย์ให้ได้รับความเดือดร้อน ถ้าหยุดสวดไปเลยยิ่งดีจะได้ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับภูตผีปิศาจ หรือวิญญาณต่อไปอีก เพราะเขาเหล่านั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น ก็เป็นญาติ พี่ น้อง ของเรานี่เอง ถึงแม้เป็นพี่ น้องกันก็ตามหากก่อกวนเขาบ่อยๆ ก็กลายเป็นนายเวรขึ้นมาได้ ฉะนั้นก็ยังไม่ต้องสวดถ้ายังใช้ไม่เป็น ก็เพียงแต่ กราบ...พุทโธ แล้วก็อุทิศว่า “บุญนี้อุทิศให้แก่เหล่าเทพที่ดูแลข้า” รักษาบ้านข้า กราบ...ธัมโม “บุญนี้ให้เหล่านายเวรข้าที่เดินทางมาถึงและที่กำลังเล่นงานข้าอยู่” กราบ...สังโฆ “บุญนี้ใหแก่เหล่าเปรตผีปีศาจ ผีสัตว์เดรัจฉานที่มีอยู่ในบริเวณบ้านเรือนของข้า” หรืหากต้องอุทิศไปให้ใครก็ให้คิดเอาได้เลย เมื่อได้กราบอย่างนี้แล้วต่อไปแทนที่จะสวดมนต์ก็ให้คิดอธิฐานเบิกบุญมาจ่าย จ่ายแล้วจ่ายเล่า รอบแล้วรอบเล่า อยู่อย่างนั้น จนกว่าถึงเวลาพักผ่อนหลับนอนจึงหยุด ถ้าทำได้อย่างนี้ความสุขสบายจะเกิดกับครอบครัวนั้นๆ แน่นอน ทุกวันนี้กลายเป็นว่าไปที่วัดไหนๆ ก็สอนให้สวดมนต์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะครูบาอาจารย์เหล่านั้นไม่ได้เห็นว่าอานุภาพการสวดมนต์เป็นอันตรายแก่ผู้ที่เขาอยู่ในภพภูมิต่ำๆ หรือถ้าเห็นก็ไม่นำมาพูด เพราะต้องทำให้พูดมากอธิบายมาก เดี๋ยวคนโน้นก็ว่าครูบาอาจารย์ทำมา เดี๋ยวกว่าสวดแล้วดี ต่างๆ นานา ไม่อยากพูดก็เฉยเงียบไปเลย... อย่างนี้ก็มี
แต่หากผู้ใดจะต้องการสวดให้ได้ ก่อนสวดก็ให้ตั้งจิตคิดประกาศบอกเขาก่อนว่า “ภูตผีปีศาจชั้นต่ำทั้งหลาย บัดนี้เราจะสวดมนต์ใครชอบฟังเอาบุญ เอากุศลก็ให้ตั้งใจฟัง หากใครไม่ชอบหรือฟังแล้วทรมานก็ให้หลีกหนีไปที่อื่นจนกว่าเราจะสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกลับมาเถิด” ดังนี้ ขอให้รู้ว่ายังมีผู้ที่เขาเดือดร้อนอยู่
การนิมนต์พระมาทำพิธีขับไล่ผีในบ้าน ไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวงและควรงดให้เด็ดขาดเพราะวิญญาณนั้นเขาอยู่อาศัยที่นั้นมาก่อนเราอย่างสงบสุข หรือบางทีก็เป็นญาติที่เราเคารพรักมาก่อน ตายแล้วมีบุญน้อยก็เป็นภูตผีอาศัยอยู่ในบ้านนั้น บางตนมีความเดือดร้อน พยายามส่งกระแสความเดือดร้อนให้เรารู้สึกเพื่อจะได้ทำบุญส่งให้เขา แต่คนไม่เข้าใจคิดว่าเขาเบียดเบียนหลอกหลอน จึงนิมนต์พระมาสวดขับไล่ เมื่อเราไปทำพิธีขับไล่ เขายิ่งเดือดร้อนใหญ่จึงรวมตัวกลั่นแกล้งผู้คนในบ้านให้เดือดร้อนวุ่นวายกันมากขึ้น มีแต่เรื่องทะเลาะขัดแย้งกันเนืองๆ
สังเกตดู บ้านไหนที่มีคนถือวิชาอาคมสวดมนต์ไล่ผีบ่อยๆ คนในบ้านนั้นจะหาความรักความสามัคคีกันไม่ได้เลย พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ทะเลาะขัดแย้งกัน “ต่อไปเมื่อมีเหตุเดือดร้อนกัน ควรทำบุญอุทิศให้เขา เมื่อเขาอยู่สุขสบายก็เลิกรบกวนเรา” แล้วจะกลับเป็นเทวดาชั้นดีที่คอยปกปักรักษาเราต่อไป
หลีกเลี่ยงการติดผ้ายันต์กันภูตผีในบ้าน หรือการพกพาเครื่องรางของขลังที่เบียดเบียนวิญญาณชั้นต่ำ เพราะสิ่งเหล่านี้กระทบกระเทือนถึงวิญญาณให้ได้รับความเดือดร้อนและเครียดแค้นอันจะส่งผลให้เขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรจองล้างจองผลาญเราไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่เราไม่รู้ตัว หากใครมีผ้ายันต์ เหรียญหรือเครื่องรางปลุกเสกต่างๆ ก็ให้นำมาคลายมนต์ออก ด้วยการอธิฐานว่า “ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลให้อำนาจเวทมนต์หรืออำนาจต่างๆ ที่อยู่กับสิ่งของเหล่านี้จงหมดฤทธิ์ หมดอำนาจไปด้วยเถิด” บ้านใครที่มีผ้ายันต์หรือสายสิญญ์ก็ให้แกะออกแล้วนำมาอธิฐานคลายมนต์ออกแล้วไปเผาไฟทิ้งเสีย จะได้ไม่เป็นอันตรายกับผู้อื่นอีกเพราะบ้านเรือนเคหะสถานไม่ใช่เป็นที่อยู่เฉพาะของคนในโลกนี้เพียงอย่างเดียวแต่เป็นที่อยู่ของผู้ที่อยู่ในอีกมิติหนึ่งที่เรามองไม่เห็น จึงไม่ควรเห็นแก่ตัวว่าเป็นที่อยู่ของเราแต่เพียงผู้เดียว ควรอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พวกวิญญาณต้องอาศัยบุญกุศลถึงอยู่ได้ ถ้าได้รับบุญจากมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกันเขาย่อมพึงพอใจ และจะรักษามนุษย์ให้มีความสุขความเจริญ แม้พระพุทธเจ้าพุทธโคดม ก็ตรัสสอนไว้ใน “เทวตาทิสสทักขิณานุโมทนา” ว่า
ยัสมิง ปะเทเส กัปเปติ วาสัง ปัณฑิตะชาติโย
สีลวันเตตถะ โภเชตะวา สัญญะเต พรหมะจาริโน
ยา ตัตถะ เทวตา อาสุง ตาสัง ทักขิณะมาทิเส
ตา ปูชิตา ปูชะยันติ มานิตา มานะยันติ นัง
ตะโต นัง อนุกัมปันติ มาตา ปุตตังวะ โอระสัง
เทวะตานุกัมปิโต โปโส สะทา ภัทรานิ ปัสสติ
แปลว่า ผู้ฉลาดชาติบัณฑิต เมื่ออาศัยอยู่ ณ สถานที่แห่งใด ควรเชื้อเชิญผู้ทรงศีลเข้าไปเลี้ยงดูในสถานที่แห่งนั้น แล้วอุทิศบุญให้แก่เทวดาผู้อาศัย ณ สถานที่แห่งนั้น เทวดาเมื่อได้รับการบูชาแล้วย่อมบูชาตอบ คือ ทำความอนุเคราะห์ช่วยเหลือผู้อุทิศบุญให้แล้วนั้นเหมือนบิดามารดา ผู้รักบุตรย่อมอนุเคราะห์บุตร ผู้ใดได้รับการช่วยเหลือจากเทวดาแล้ว ย่อมประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นนิจ

การใช้บุญสร้างความสำเร็จในปัจจุบัน (1)

การใช้บุญสร้างความสำเร็จในปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าโคดมทรงแสดงการเกิดบุญไว้ 3 ประการย่อๆ คือ
1. บุญเกิดจากการให้ทาน
2. บุญเกิดจากการรักษาศีล
3. บุญเกิดจากการภาวนาอบรมจิตใจ
โดยสรุปแล้ว การสร้างความดีทุกประการล้วนเป็นแหล่งของการเกิดผลบุญกุศลทั้งสิ้น แล้วก่อให้เกิดอานิสงส์ที่จะสร้างความสำเร็จในชีวิตได้ทั้งสิ้น
เมือกำลังให้ของแก่ใคร ไม่ว่าจะถวายของแก่พระสงฆ์ ให้ของแก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติมิตร แม้เอาข้าวให้หมากิน เอาอาหารโยนให้ปลากิน เอาเศษอาหารโปรยให้มดกิน ย่อมเกิดกระแสบุญขึ้นเป็นกระแสเรืองรอง แผ่ออกจากตัวผู้กำลังให้ เพียงไม่กี่วินาทีแสงนี้จะพุ่งหายขึ้นไปเบื้องบน แล้วสะสมเป็นกองบุญของผู้ให้อยู่บนเทวโลก ดังนั้นขณะให้ของแก่ใครจึง ควรอธิษฐานจิต คิดทันทีว่า
“บุญนี้ให้เทวดาผู้รักษาตัวข้า” หรือ “บุญนี้ให้นายเวรข้าที่เดินทางมาถึง” หรือ
“บุญนี้ให้ ภูต ผี ปีศาจ เปรต ครุฑ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ มาร พรหม เหล่าเทพยดาทั้งสิ้นที่อาศัยอยู่ในสถานที่เรือกสวน ไร นา หรือเคหะสถานบ้านเรือนของข้า” หรือ
“บุญนี้ให้เทวดาผู้รักษาบุตรของข้า ให้เทวดาผู้รักษาบิดามารดาข้า” เป็นต้น
ขึ้นอยู่กับว่าต้องการแก้ไขในจุดไหน เช่น
บุตรของเราเกเรเหลือเกิน ชอบสร้างแต่ความเดือดร้อน สั่งสอนไม่ฟัง แบบนี้ต้องให้เทวดาผู้รักษาตัวเขาเป็นผู้ขนาบตักเตือน วิธีที่เทวดาเตือนนั้นท่านจะสั่งการไปที่ความรู้สึกนึกคิดจิตใจของเขา ถ้าเทวดาประจำตัวเขา เป็นมิจฉาทิฏฐิเมื่อได้รับบุญบ่อยๆ เทวดารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเองมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น เขาจะทราบได้เองว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้น มาจากไหน เมื่อเราอุทิศบุญให้แล้วก็ให้อธิษฐานต่ออีกว่า “เมื่อเทวดาได้รับบุญแล้ว ขอให้มีความสุขมีกิน มีใช้ มีเสื้อผ้าที่อยู่อาศัย และขอให้อบรมตักเตือนลูกของข้าให้เป็นคนดีด้วย” ดังนี้ ไม่นานหรอกจะเกิดกรณีพิสดารขึ้นกับบุตรเกเรคนนั้นจนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนดีแน่นอน
สามีหรือภรรยา คู่ครองของตนเองเป็นที่น่าเอือมระอาเหลือเกินอยากให้คู่ครองดี รักเรา ละเลิกความประพฤติชั่วเหลวไหล ก็ให้ทำแบบเดียวกันกับที่ให้บุญแก่เทวดาที่รักษาบุตร
กิจการค้าของท่านล้มเหลวหรือซบเซา เมื่อท่านทำบุญทุกครั้งควรอุทิศให้เทวดาประจำตัวของท่านและเทวดาที่ดูแลกิจการการค้าด้วยพร้อมกันไป แล้วอธิษฐานว่า “เทวดารับบุญของข้าแล้วโปรดช่วยเหลือกิจการค้าธุรกิจของเราให้ประสบความสำเร็จด้วยเถิด ถ้าร่ำรวยขึ้นจะทำบุญให้ท่านยิ่งๆ ขึ้นไปอีก” จะใช้คำเรียกตนเองว่าข้า ว่าเรา ก็ได้ทั้งนั้น
ร้านค้าขาย จะเป็นร้านอะไรก็แล้วแต่ให้ทำบุญให้ผู้ที่สถิตอยู่กับสินค้าที่เรานำมาขายนั้นด้วยและให้ทำบุญอุทิศให้แก่เทวดาที่รักษาร้านค้านั้นด้วย แล้วบอกว่า “เทวดาเมื่อได้รับบุญแล้วโปรดเรียกลูกค้ามาอุดหนุนให้มากๆ ด้วย” ดังนี้
การอุทิศบุญ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องกรวดน้ำ ให้ใช้การคิด ต้องรีบคิดทันที อย่าชักช้าเพราะแสงบุญที่เกิดขึ้นจะดำรงอยู่ไม่กี่วินาทีแล้วก็จะหายไปอยู่สวรรค์ ถ้าฝึกบ่อยๆ เราจะชำนาญในการคิดเพราะมีกระแสแรงกว่าพูดออกจากปาก เวลาหย่อนก้อนข้าวลงในบาตรให้คิดส่งบุญทันที และคิดให้ชัดเจนอย่าลางเลือน ให้ของแก่ใครเมื่อของหลุดออกจากมือเราก็ให้คิดทันที อย่าช้า
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ที่เกิดกับตัวเราสืบเนื่องจากนายเวรผู้เคียดแค้น ชิงชัง กระทำทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าโคดม ทรงตรัสว่า “ผู้ฆ่าสัตว์ย่อมอายุสั้น ผู้เบียดเบียนสัตว์ย่อมสุขภาพไม่ดี”
ดังนั้นการรักษาโรคต้องส่งบุญไปให้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่ายนั้นๆ และให้เทวดาผู้รักษาตัวเราในขณะเดียวกันแล้วอธิษฐานว่า “หมอใด ยาใด ที่สามารถรักษาอาการนี้ให้หายขาดได้ ขอให้เทวดาจงนำหมอนั้น ยานั้น มารักษาข้า ถ้าข้าหาย ข้าจะทำบุญให้แก่ท่าน ยิ่งๆ ขึ้นไป”

การทำบูญเลี้ยงพระ

การทำบุญเลี้ยงพระ
1. การนิมนต์พระ เจ้าภาพจะต้องแจ้ง วัน เดือน ปี เวลา และพิธีที่จะกระทำให้พระทราบล่วงหน้า เพราะบทสวดมนต์จะมีเพิ่มเติมในโอกาสที่ทำบุญซึ่งไม่เหมือนกัน
ส่วนจำนวนพระนั้นมีจำนวนแน่นอนเฉพาะสวดพระอภิธรรม คือ 4 รูป
ถ้าเป็นงานมงคล มักนิมนต์ 5 รูป 7 รูป 9 รูปและ 10 รูปหรือมากกว่านั้นตามกำลังศรัทธาของเจ้าภาพ
ถ้าเป็นงานมงคลสมรสนิยมนิมนต์พระคู่คือ 6 รูป 8 รูป 10 รูป หรือจะนิมนต์ 5 รูป 7 รูป 9 รูป โดยรวมพระพุทธรูปเข้าอีก 1 องค์เพื่อให้เป็นจำนวนคู่ก็ได้
2. สถานที่ การจัดอาสนะสงฆ์นั้นต้องจัดให้สูงกว่าคฤหัสถ์และอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป ถ้าสถานทีไม่อำนวยหรือจำเป็นจะต้องจัดให้พระสงฆ์นั่งทางขวาของพระพุทธรูปก็ควรจัดพระพุทธรูปให้หันพระพักตร์มาทางพระสงฆ์โดยไม่ต้องเข้าแถวกับพระสงฆ์
เครื่องสักการะ หมายถึงโต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ แจกันดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 ที่ เป็นอย่างน้อย ( หมู่ 5 ) ถ้าเป็นหมู่ 7และหมู่ 9 ก็ให้จัดดอกไม้เพิ่มตามจำนวนแจกันเทียนตามจำนวนเชิงเทียนและธูป 3 ดอก
3. การจัดภาชนะเครื่องใช้สำหรับพระให้ตั้งทางขวามือของพระถ้าของมีน้อยจะจัดเพียง 2 องค์ต่อ 1 ที่ก็ได้
4. ภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์ จะใช้บาตรหรือหม้อน้ำมนต์ก็ได้ใส่น้ำสะอาดประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 3 ใน 4 ส่วนจะใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนากก็ได้สุดแต่คตินิยม
5 .เครื่องประกอบน้ำพระพุทธมนต์ เตรียมเทียนทำน้ำมนต์ไว้ 1 เล่ม ควรใช้เทียนขี้ผึ้งอย่างดี หนัก 1 บาท เตรียมใบเงิน ใบทอง ใส่ลงในขันน้ำมนต์ ส่วนเครื่องประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ควรใช้หญ้าคามัดเป็นกำ ตัดปลายและรากทิ้ง กะให้ยาวประมาณ 1 ศอก เพราะถือว่าหญ้าคาเป็นหญ้ามงคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ทรงประทับนั่งบนมัดหญ้าคาอันเรียกว่า รัตนบัลลัง
6. การโยงด้ายสายสิญจน์ ให้โยงทักษิณาวัฏ (ตามเข็มนาฬิกา) คือเวียนจากซ้ายไปขวาอย่างเลข 1 ไทย โดยเริ่มต้นที่โต๊ะหมู่บูชา วนรอบเคหสถานแล้วนำมาวงรอบฐานพระพุทธรูป 3 รอบแล้ววงรอบภาชนะน้ำมนต์ 3 รอบแบบทักษิณาวัฏเช่นเดียวกันเสร็จแล้วม้วนสายสิญจน์วางไว้บนพานที่บูชาเพื่อให้พระสงฆ์โยงเวลาสวดพระพุทธมนต์
*ถ้าในพิธีศพ ตั้งแต่ถึงแก่กรรมจนกระทั่งเผา ไม่มีการตั้งบาตรน้ำมนต์และวงด้ายสายสิญจน์*
7 .ลำดับพิธี
7.1 ประธานจุดเทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย
7.2 ประธานกราบพระพุทธรูป 3 หน แล้วเข้านั่งประจำที่
7.3 พิธีกรนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย
7.4 พิธีกรอาราธนาศีล
7.5 ผู้ร่วมพิธีรับศีล
7.6 พิธีกรอาราธนาพระปริตร
7.7 ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง อเสวนา จพาลานัง
7.8 ประธานจุดเทียนน้ำมนต์ถวายพระ
7.9 เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ ถวายข้าวพระพุทธ ถวายภัตตาหาร
7.10 เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วเข้านั่งประจำที่อาสนะ
7.11 ถวายไทยธรรม
7.12 พระสงฆ์อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยะถา ให้เริ่มกรวดน้ำ พอพระว่าบท สัพพี พึงประนมมือรับพร ไปจนจบแล้วกราบ
7.13 กราบพระ ( นมัสการพระรัตนตรัย )
7.14 พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์หรือเจิม ( ตามที่เจ้าภาพกราบเรียน )


การจุดเทียน
1. พิธีกรถือเทียนชนวนด้วยมือขวาหงายฝ่ามือ ใช้นิ้วมือสี่นิ้วรองรับฐานเชิงเทียน ให้หัวแม่มือจับข้างบนกดฐานเชิงเทียนไว้ ไม่ควรจับกึ่งกลางเชิงเทียน อันจะทำให้ผู้เป็นประธานรับไม่สะดวก
2. อย่าจับเทียนชนวนสูงกว่าประธาน
3. จุดเทียนเล่มเบื้องขวาพระพุทธรูปก่อน แล้วจุดเล่มซ้าย และธูปตามลำดับ

สิ่งที่ควรทราบ
1. ภัตตาหารที่ประเคนแล้วห้ามคฤหัสถ์จับต้องเป็นอันขาด ถ้าจะเติมหรือเปลี่ยนใหม่ต้องประเคนใหม่ทุกครั้ง
2. พระจับต้องเงินไม่ได้จึงใช้ใบปวารณาแทนและใช้คำว่า จตุปัจจัย ( ปัจจัย 4 )
3. งานมงคลสมรสใช้คำว่า เจริญพระพุทธมนต์ ส่วนงานศพใช้คำว่า สวดพระพุทธมนต์

คำภาวนา บูชา อาราธนา ถวาย
คำนมัสการพระพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
คำบูชาพระรัตนตรัย
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ
  หมายเหตุ,-  ถ้ากล่าวนำ หลายคนใช้ ปูเชมะ

คำนมัสการพระรัตนตรัย(กล่าวนำ)
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธังภะคะวันตังอะภิวาเทมิ ( กราบ 1 หน )
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ( กราบ 1 หน )
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ( กราบ 1 หน)

คำอาราธนาศีล 5 (กล่าวพร้อมกัน)
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
   หมายเหตุ -ถ้าศีล 8 เปลี่ยน ปัญจะ เป็น อัฏฐะ

คำอาราธนาพระปริตรพิธีกรกล่าวคนเดียว)
วิปัตติ ปะฏิพา หายะ สัพพะ สัมปัตติ สิทธิยาสัพพะ ทุกขะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติ ปะฏิพา หายะ สัพพะ สัมปัตติ สิทธิยา สัพพะ ภะยะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติ ปะฏิพา หายะ สัพพะ สัมปัตติ สิทธิยา สัพพะ โรคะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

คำอาราธนาธรรม
พรัหมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ
สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง
คำถวายข้าวพระพุทธ ( กล่าวนำ )
อิมัง สูปะ พยัญชะนะ สัมปันนัง สาลีนัง โอทะนังอุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ (หลายคนใช้ ปูเชมะ)
คำถวายสังฆทาน (กล่าวนำ )
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตังหิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร
กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร
กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข
แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ
สังฆทาน คือทานที่อุทิศแก่สงฆ์ มิได้เจาะจงแก่บุคคล ที่เข้าใจกันทั่วไป
หมายถึงการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับการถวายทานวัตถุอย่างอื่น

คำลาข้าวพระพุทธ
เสสัง มังคะลา ยาจามิ

ตัดตอนมาจาก หนังสือมนต์พิธี รวบรวมโดย พระครูสมุห์ เอี่ยม สิริวัณโณ วัดราษฎร์บำรุง อ.เมือง จ.ชลบุรี