วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำบูญเลี้ยงพระ

การทำบุญเลี้ยงพระ
1. การนิมนต์พระ เจ้าภาพจะต้องแจ้ง วัน เดือน ปี เวลา และพิธีที่จะกระทำให้พระทราบล่วงหน้า เพราะบทสวดมนต์จะมีเพิ่มเติมในโอกาสที่ทำบุญซึ่งไม่เหมือนกัน
ส่วนจำนวนพระนั้นมีจำนวนแน่นอนเฉพาะสวดพระอภิธรรม คือ 4 รูป
ถ้าเป็นงานมงคล มักนิมนต์ 5 รูป 7 รูป 9 รูปและ 10 รูปหรือมากกว่านั้นตามกำลังศรัทธาของเจ้าภาพ
ถ้าเป็นงานมงคลสมรสนิยมนิมนต์พระคู่คือ 6 รูป 8 รูป 10 รูป หรือจะนิมนต์ 5 รูป 7 รูป 9 รูป โดยรวมพระพุทธรูปเข้าอีก 1 องค์เพื่อให้เป็นจำนวนคู่ก็ได้
2. สถานที่ การจัดอาสนะสงฆ์นั้นต้องจัดให้สูงกว่าคฤหัสถ์และอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป ถ้าสถานทีไม่อำนวยหรือจำเป็นจะต้องจัดให้พระสงฆ์นั่งทางขวาของพระพุทธรูปก็ควรจัดพระพุทธรูปให้หันพระพักตร์มาทางพระสงฆ์โดยไม่ต้องเข้าแถวกับพระสงฆ์
เครื่องสักการะ หมายถึงโต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ แจกันดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 ที่ เป็นอย่างน้อย ( หมู่ 5 ) ถ้าเป็นหมู่ 7และหมู่ 9 ก็ให้จัดดอกไม้เพิ่มตามจำนวนแจกันเทียนตามจำนวนเชิงเทียนและธูป 3 ดอก
3. การจัดภาชนะเครื่องใช้สำหรับพระให้ตั้งทางขวามือของพระถ้าของมีน้อยจะจัดเพียง 2 องค์ต่อ 1 ที่ก็ได้
4. ภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์ จะใช้บาตรหรือหม้อน้ำมนต์ก็ได้ใส่น้ำสะอาดประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 3 ใน 4 ส่วนจะใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนากก็ได้สุดแต่คตินิยม
5 .เครื่องประกอบน้ำพระพุทธมนต์ เตรียมเทียนทำน้ำมนต์ไว้ 1 เล่ม ควรใช้เทียนขี้ผึ้งอย่างดี หนัก 1 บาท เตรียมใบเงิน ใบทอง ใส่ลงในขันน้ำมนต์ ส่วนเครื่องประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ควรใช้หญ้าคามัดเป็นกำ ตัดปลายและรากทิ้ง กะให้ยาวประมาณ 1 ศอก เพราะถือว่าหญ้าคาเป็นหญ้ามงคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ทรงประทับนั่งบนมัดหญ้าคาอันเรียกว่า รัตนบัลลัง
6. การโยงด้ายสายสิญจน์ ให้โยงทักษิณาวัฏ (ตามเข็มนาฬิกา) คือเวียนจากซ้ายไปขวาอย่างเลข 1 ไทย โดยเริ่มต้นที่โต๊ะหมู่บูชา วนรอบเคหสถานแล้วนำมาวงรอบฐานพระพุทธรูป 3 รอบแล้ววงรอบภาชนะน้ำมนต์ 3 รอบแบบทักษิณาวัฏเช่นเดียวกันเสร็จแล้วม้วนสายสิญจน์วางไว้บนพานที่บูชาเพื่อให้พระสงฆ์โยงเวลาสวดพระพุทธมนต์
*ถ้าในพิธีศพ ตั้งแต่ถึงแก่กรรมจนกระทั่งเผา ไม่มีการตั้งบาตรน้ำมนต์และวงด้ายสายสิญจน์*
7 .ลำดับพิธี
7.1 ประธานจุดเทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย
7.2 ประธานกราบพระพุทธรูป 3 หน แล้วเข้านั่งประจำที่
7.3 พิธีกรนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย
7.4 พิธีกรอาราธนาศีล
7.5 ผู้ร่วมพิธีรับศีล
7.6 พิธีกรอาราธนาพระปริตร
7.7 ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง อเสวนา จพาลานัง
7.8 ประธานจุดเทียนน้ำมนต์ถวายพระ
7.9 เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ ถวายข้าวพระพุทธ ถวายภัตตาหาร
7.10 เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วเข้านั่งประจำที่อาสนะ
7.11 ถวายไทยธรรม
7.12 พระสงฆ์อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยะถา ให้เริ่มกรวดน้ำ พอพระว่าบท สัพพี พึงประนมมือรับพร ไปจนจบแล้วกราบ
7.13 กราบพระ ( นมัสการพระรัตนตรัย )
7.14 พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์หรือเจิม ( ตามที่เจ้าภาพกราบเรียน )


การจุดเทียน
1. พิธีกรถือเทียนชนวนด้วยมือขวาหงายฝ่ามือ ใช้นิ้วมือสี่นิ้วรองรับฐานเชิงเทียน ให้หัวแม่มือจับข้างบนกดฐานเชิงเทียนไว้ ไม่ควรจับกึ่งกลางเชิงเทียน อันจะทำให้ผู้เป็นประธานรับไม่สะดวก
2. อย่าจับเทียนชนวนสูงกว่าประธาน
3. จุดเทียนเล่มเบื้องขวาพระพุทธรูปก่อน แล้วจุดเล่มซ้าย และธูปตามลำดับ

สิ่งที่ควรทราบ
1. ภัตตาหารที่ประเคนแล้วห้ามคฤหัสถ์จับต้องเป็นอันขาด ถ้าจะเติมหรือเปลี่ยนใหม่ต้องประเคนใหม่ทุกครั้ง
2. พระจับต้องเงินไม่ได้จึงใช้ใบปวารณาแทนและใช้คำว่า จตุปัจจัย ( ปัจจัย 4 )
3. งานมงคลสมรสใช้คำว่า เจริญพระพุทธมนต์ ส่วนงานศพใช้คำว่า สวดพระพุทธมนต์

คำภาวนา บูชา อาราธนา ถวาย
คำนมัสการพระพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
คำบูชาพระรัตนตรัย
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ
  หมายเหตุ,-  ถ้ากล่าวนำ หลายคนใช้ ปูเชมะ

คำนมัสการพระรัตนตรัย(กล่าวนำ)
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธังภะคะวันตังอะภิวาเทมิ ( กราบ 1 หน )
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ( กราบ 1 หน )
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ( กราบ 1 หน)

คำอาราธนาศีล 5 (กล่าวพร้อมกัน)
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
   หมายเหตุ -ถ้าศีล 8 เปลี่ยน ปัญจะ เป็น อัฏฐะ

คำอาราธนาพระปริตรพิธีกรกล่าวคนเดียว)
วิปัตติ ปะฏิพา หายะ สัพพะ สัมปัตติ สิทธิยาสัพพะ ทุกขะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติ ปะฏิพา หายะ สัพพะ สัมปัตติ สิทธิยา สัพพะ ภะยะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติ ปะฏิพา หายะ สัพพะ สัมปัตติ สิทธิยา สัพพะ โรคะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

คำอาราธนาธรรม
พรัหมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ
สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง
คำถวายข้าวพระพุทธ ( กล่าวนำ )
อิมัง สูปะ พยัญชะนะ สัมปันนัง สาลีนัง โอทะนังอุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ (หลายคนใช้ ปูเชมะ)
คำถวายสังฆทาน (กล่าวนำ )
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตังหิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร
กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร
กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข
แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ
สังฆทาน คือทานที่อุทิศแก่สงฆ์ มิได้เจาะจงแก่บุคคล ที่เข้าใจกันทั่วไป
หมายถึงการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับการถวายทานวัตถุอย่างอื่น

คำลาข้าวพระพุทธ
เสสัง มังคะลา ยาจามิ

ตัดตอนมาจาก หนังสือมนต์พิธี รวบรวมโดย พระครูสมุห์ เอี่ยม สิริวัณโณ วัดราษฎร์บำรุง อ.เมือง จ.ชลบุรี