วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลักษณะผู้มีวินัย



                ในสังคมคนหมู่มาก มีความจำเป็นต้องกำหนดกติกาให้ส่วนรวมปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขและความก้าวหน้าของหมู่คณะ หรือเพื่อเป้าหมายขององค์กร กฎเกณฑ์หรือกติกาที่จะมีประสิทธิภาพและทำให้บรรลุผลการเป้าหมายที่สำคัญ นั่นก็คือ “วินัย” ผู้ที่ปฏิบัติตามก็จะเรียกว่า “ผู้มีวินัย” ซึ่งผู้มีวินัยนั้นมีลักษณะที่พอสังเกตได้โดยประมาณ คือ
                ๑.มีสัมมาคารวะ ผู้มีวินัยจะให้ความสำคัญกับการแสดงความเคารพ ซึ่งแสดงออกด้วยการทำความเคารพบ้าง ด้วยการระมัดระวังไม่ล่วงเกินผู้อื่นด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง หรือหากต้องมีการล่วงเกินเพียงน้อยนิดแค่การเดินผ่านในที่ที่อยู่สูงกว่าก็มีการขอโทษ ปฏิบัติต่อสิ่งเคารพและสถานที่สำคัญด้วยความระมัดระวัง ฯลฯ
                ๒.มีความถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ก็ตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองอยู่ในฐานะที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ยิ่งขึ้นไป ความรู้ความสามารถและยศศักดิ์ที่มีอยู่เป็นความได้เปรียบที่จะใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความรู้ความสามารถและความดีที่สูงขึ้นไป ไปอีกเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับอวดอ้างหรือใช้เป็นอภิสิทธิ์ 
                ๓.เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ธรรมดาการถูกว่าถูกสอนเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความรู้สึก บางคนฟังเรื่องจริงก็ไม่มีความสุข พูดเรื่องถูกก็รับไม่ได้ แต่สำหรับผู้มีวินัยจะรับฟังโดยเคารพ พิจารณาถูกผิดด้วยปัญญา ยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข ใช้วินัยนั้นเองปกครองตัวเองก่อนที่จะปกครองคนอื่น
                ๔.รักดี ผู้มีวินัยจะมองเห็นความดีเป็นสิ่งมีเกียรติ แม้ว่าการทำความดีนั้นจะเป็นเหตุให้ต้องเข้มงวดกับตนเองบ้าง ก็พร้อมจะทำด้วยความเต็มใจ ซื่อสัตย์ต่อความดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง
                ๕.กล้าหาญ โดยเฉพาะกล้าที่จะปฏิเสธความชั่ว ไม่ยอมให้สิ่งล่อใจมามีอำนาจเหนือตน ทั้งๆ มีโอกาสแต่ก็สามารถกล้าตัดสินใจจะไม่ทำ
                การจะมีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย หรือการจะเชิดชูหมู่คณะให้สง่างาม บางครั้งก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เพียงสร้างวินัยให้เกิดในตัวเองให้ได้ ความดีอื่นๆ ก็จะตามมาอีกมากมาย
............................................