วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จงอยากแต่อย่าโลภ

จงอยากแต่อย่าโลภ
                ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ มักจะเห็นหรือได้ยินข่าวที่น่าสลดสังเวชและสวนทางกับศีลธรรมมากขึ้น เช่น ทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย ก็ลงมือกันถึงแก่ชีวิต หรือมีการลักเล็กขโมยน้อย ปล้นจี้ เพียงเพื่อจะเอาเงินทองไปเสพสุขในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
                ถ้าจะถามว่า เพราะเหตุใดคนจึงทำความผิดความชั่วมากขึ้น ก็อาจตอบได้ว่า เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความจำเป็นบังคับ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เป็นต้น เมื่อจนหนักเข้าหาทางออกไม่ได้ ไม่อยากโกงก็ต้องโกง ไม่อยากขโมยก็ต้องขโมย ไม่อยากปล้นก็ต้องปล้น ในความเป็นจริงแล้ว ความจนเป็นเพียงข้ออ้างในการกระทำนั้นๆ เท่านั้นเอง ทางเลือกในการแก้ปัญหา สามารถทำในทางที่ถูกที่ต้องได้เสมอโดยไม่จำเป็นต้องทำไม่ดี แต่ความโลภในใจคนต่างหากที่เป็นมูลเหตุให้คนทำไม่ดี ความโลภหรือก็คือความอยากนั่นเอง ความอยากอาจไม่ใช่ความโลภไปเสียทุกอย่าง ความอยากที่ผิดทำนองคลองธรรมเท่านั้นจึงจะเป็นความโลภ ส่วนความอยากที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรมไม่จัดว่าเป็นความโลภ เช่น ข้าราชการคนหนึ่งอยากได้เงินเดือนเพิ่มก็หาทางประจบประแจงเจ้านาย ทำงานเอาหน้า หรือถึงขั้นติดสินบน พฤติกรรมอย่างนี้เรียกว่าคนโลภ ส่วนข้าราชการอีกคนหนึ่งอยากได้เงินเดือนเพิ่ม แต่ขยันทำงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน หนักเอาเบาสู้ไม่ทำดีเอาหน้า พฤติกรรมอย่างนี้คือคนไม่โลภ
                อยากร่ำรวย อยากก้าวหน้าในชีวิต อยากมีหน้าที่การงานที่ดี อยากมีเกียรติยศชื่อเสียงในสังคม จงอยากไปเถิด ตราบใดที่ความอยากนั้นยังถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเราโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและบุคคลรอบข้างหรือสังคม
                จงอยากเถิดแต่อย่าโลภ  ความโลภเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการทำความดีทั้งปวง

............................................