การแก้ปัญหา
ครั้งหนึ่ง
พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ใกล้หมู่บ้านชื่อขานุมตะ ในแคว้นมคธ มีพราหมณ์ชื่อ
กูฏทันตะ ผู้ปกครองหมู่บ้าน เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบ้านเมือง
พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังว่า “มีพระเจ้าแผ่นดินในอดีต
พระองค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง
มีพระราชทรัพย์มากมาย พระองค์ทรงดำริถึงความสมบูรณ์และความมั่งคั่งในแผ่นดินของพระองค์
วันหนึ่งได้ตรัสเรียกพราหมณ์ที่ปรึกษาการแผ่นดินเข้ามาเฝ้าและถามถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในปกครอง
ได้ทรงทราบถึงความไม่สงบสุขในชนบทและตามหัวเมืองต่างๆ ว่ายังมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
มีการปล้นฆ่าเบียดเบียนทำร้ายร่างกายกันปรากฏอยู่ทั่วไป
ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามที่พราหมณ์กราบทูล จึงดำริว่า
การที่จะรื้อฟื้นประกอบพิธีกรรมบูชายัญและการจะปราบปรามโจรผู้ร้าย เช่น
ประหารชีวิต จองจำคุมขังอย่างเดียวคงจะไม่ได้ผลเด็ดขาด และไม่มีที่สิ้นสุด เห็นควรใช้วิธีอื่นที่ดีกว่าคือ
การสงเคราะห์ กล่าวคือสนับสนุนอาชีพของประชน โดยส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม
ตลอดจนการรับราชการ เช่น ให้พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์แก่เกษตรกร
ให้ทุนแก่ผู้ประกอบการค้าขาย ให้เพิ่มเงินเดือนและรางวัลตอบแทนตลอดจนบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการ
เป็นต้น จึงมีรับสั่งให้ดำเนินการตามนั้น ผลปรากฏว่าประชาชนมีความสงบสุขอยู่ดีกินดี
บ้านเมืองปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่มีการเบียดเบียนกัน
บ้านเมืองก็ปลอดภัยถึงขนาดไม่ต้องลงกลอนประตูหน้าต่างอีกต่อไป”
จากเรื่องดังกล่าวทำให้มองเห็นปัญหา
สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ปัญหาต่างๆ
มีสาเหตุกดดันมาจากปัญหาปากท้องเป็นส่วนสำคัญ
วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นมิใช่จะแก้ได้ด้วยการปราบปรามอย่างเดียว
หากแต่ควรแก้ไขที่สาเหตุอันจะทำให้เกิดผลและเป็นผลที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง
จึงจำต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีสงเคราะห์ประชาชนในด้านความเป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย
............................................